ลิงลม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นางอาย)
ลิงลม
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ต้นยุคอีโอซีน-ปัจจุบัน, 50.0–0Ma [1]
ลิงลมเบงกอล หรือ ลิงลมเหนือ (Nycticebus bengalensis)
ใบหน้าของลิงลมแต่ละชนิดที่มีลายเส้นขีดไม่เหมือนกัน
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Primates
วงศ์: Lorisidae
วงศ์ย่อย: Lorisinae
สกุล: Nycticebus
E. Geoffroy, 1812
ชนิดต้นแบบ
Tardigradus coucang
Boddaert, 1785[3]
ชนิด
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของลิงลมทั้งสามชนิด
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของลิงลมแต่ละชนิด (สีแดง: N. pygmaeus, สีน้ำเงิน: N. bengalensis, สีน้ำตาล: N. coucang, N. javanicus, N. menagensis)
ชื่อพ้อง[4][5]

ลิงลม หรือ นางอาย หรือ ลิงจุ่น (อังกฤษ: Slow lorises, Lorises; อินโดนีเซีย: Kukang) เป็นสกุลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสกุลหนึ่ง ในวงศ์ Lorisidae ในอันดับไพรเมต (Primates) ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nycticebus (/นิค-ติ-ซี-บัส/)

ศัพทมูลวิทยา[แก้]

ลิงลม โดยปกติแล้วที่เคลื่อนไหวได้เชื่องช้ามาก แต่จะว่องไวในเวลากลางคืน เมื่อหาอาหาร และเวลาที่โดนลมพัด อันเป็นที่มาของชื่อ เมื่อตกใจจะเอาแขนซุกใบหน้าไว้ อันเป็นที่มาของชื่อสามัญในภาษาไทยอีกเช่นกัน [6]

โดยคำว่า "Loris" (/ลอ-ริส/) ในภาษาอังกฤษนั้น มาจากภาษาดัตช์คำว่า "Loeris" อันหมายถึง "ตัวตลกในละครสัตว์"[7] ในขณะที่ภาษาจีนจะเรียกลิงลมว่า "懒猴" (พินอิน: Lǎn hóu) หมายถึง "ลิงขี้เกียจ" อันเนื่องจากการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้า[8]

ลักษณะ[แก้]

ลิงลมมีรูปร่างโดยรวม คือ มีขนนุ่มสั้นเหมือนกำมะหยี่ ลำตัวป้อมกลมอ้วน รูปร่างหน้าตาน่ารักเหมือนตุ๊กตา มีตากลมโต มีจำนวนฟันและเขี้ยวที่เขียนเป็นสูตรได้ว่า [9] [10] สีขนมีความหลากหลายแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่ที่อยู่อาศัย และแต่ละชนิด บางชนิดจะมีรอยขีดคาดตามใบหน้า, ส่วนหัว, ดวงตา และเส้นกลางหลัง อันเป็นลักษณะสำคัญในการแบ่งแยกชนิด มีส่วนหางที่สั้นมากจนดูเหมือนไม่มีหาง น้ำหนักเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 1 กิโลกรัม

นอกจากนี้แล้ว ลิงลมยังเป็นสัตว์ที่มีลิ้น 2 ลิ้น คือ ลิ้นสั้น กับ ลิ้นยาว ใช้ประโยชน์ในการกินอาหารแตกต่างกัน รวมถึงมีกระดูกสันหลังที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถบิดตัวได้คล้ายงูอีกด้วย จึงใช้ในการปีนป่ายต้นไม้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งสภาพของขนและสียังสามารถแฝงตัวให้กลมกลืนกับธรรมชาติได้ด้วย

ซึ่งลิงลมเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการเช่นนี้มานานกว่า 50 ล้านปีมาแล้ว[1]

การจำแนก[แก้]

ปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 8 ชนิด[11][12] ได้แก่ (ในอดีตถูกแบ่งเพียง 2 หรือ 3 หรือเคยเชื่อว่ามีเพียงชนิดเดียว แต่จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์พบว่าอาจมีได้ถึง 12 ชนิด[1])[13] [14]

พฤติกรรมและสถานะ[แก้]

โดยที่ทุกชนิดนั้นกระจายพันธุ์อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอินเดีย จนถึงหมู่เกาะต่าง ๆ ในอินโดนีเซีย มีพฤติกรรมอาศัยอยู่ตามลำพังตัวเดียว โดยปีนป่ายหากินตามต้นไม้ในเวลากลางคืน จับแมลง, สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก และไข่นกกินเป็นอาหารหลัก และมีผลไม้บางชนิดเป็นอาหารรองลงไป แต่ก็สามารถกินสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น ค้างคาว หรือ นกที่หลับบนกิ่งไม้เป็นอาหารได้ด้วย ตัวผู้มักจะกินน้ำในปริมาณที่มาก และถ่ายปัสสาวะไว้ซึ่งมีกลิ่นรุนแรงมาก เพื่อประกาศอาณาเขต โดยลิงลมจะมีกระดูกสันหลังแบบพิเศษ และมีมือที่เก็บซ่อนนิ้วเพื่อให้จับเหยื่อและเคลื่อนที่ไปทั่วได้โดยไม่เป็นที่สังเกต นิ้วชี้ของขาหลังมีเล็บยาวปลายแหลมเห็นได้ชัด ขาหน้าและขาหลังสั้นแต่แข็งแรง นอกจากนี้ยังมีพิษที่มีสภาพคล้ายน้ำมันที่ซ่อนอยู่ในข้อศอก มีฤทธิ์ในการทำลายเนื้อเยื่อ ลิงลมจะใช้ผสมกับน้ำลายเมื่อกัด ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงจำพวกเดียวที่มีพิษ พิษนี้มีความร้ายแรงถึงขนาดมีมนุษย์เสียชีวิตมาแล้วจากการถูกกัดในประเทศพม่า และไทย [1]

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการมีพิษนี้ แต่พิษนี้ใช้ประโยชน์ได้ในการล่าเหยื่อ หรืออาจจะใช้ประโยชน์ในการกำจัดปรสิตตามตัว เพราะลิงลมจะไม่มีเห็บหรือหมัดตามตัวเหมือนสัตว์ในอันดับไพรเมตจำพวกอื่น เคยมีข้อสันนิษฐานว่าลิงลมอาจจะได้พิษนี้มาจากแมลงหรือแมงมีพิษจำพวกต่าง ๆ ที่กินเป็นอาหาร เช่น มด และกิ้งกือ ซึ่งเป็นอาหารโปรดของลิงลม เพราะพบพิษลักษณะเดียวกันนี้ในมดและกิ้งกือ อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้อีกว่า มีพิษไว้สำหรับสู้กับลิงลมเพศเดียวกันตัวอื่น โดยเฉพาะตัวผู้ เพื่อประกาศอาณาเขตและแย่งชิงคู่ครอง เพราะลิงลมจะต่อสู้กันเองด้วยการกัดและเหวี่ยงอย่างรุนแรง ซึ่งอาจบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นตายได้[1]

ลิงลมที่เอาแขนซุกใบหน้าไว้
การตัดเขี้ยวของลิงลมด้วยกรรไกรตัดเล็บธรรมดา

ลิงลมสถานะในปัจจุบัน อยู่ในสถานะที่ใกล้สูญพันธุ์แล้วในธรรมชาติ ด้วยความน่ารักจึงมักถูกจับไปเป็นสัตว์เลี้ยงบ่อย ๆ โดยผู้ขายหรือผู้เลี้ยงมักจะตัดเขี้ยวหรือฟันหน้าออกทั้งซี่บนและล่าง โดยที่เหลือรากฟันอยู่ เพื่อมิให้ถูกกัด ซึ่งลิงลมบางตัวอาจจะติดเชื้อจากขั้นตอนนี้ทำให้ตายได้ ซึ่งลิงลมถูกจัดเป็นสัตว์ป่าที่มีการลักลอบขายกันมากเป็นอันดับหนึ่ง[15] ขณะที่บางพื้นที่มีการจับนำไปทำเป็นยาบำรุงตามความเชื่อ[16]

ความเชื่อ[แก้]

นอกเหนือจากความเชื่อที่ว่าเมื่อรับประทานแล้วจะเป็นยาบำรุงของชาวจีนแล้ว[16] ชาวพื้นเมืองบนเกาะชวาตะวันออก มีคำสั่งสอนสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่นว่า เมื่อเข้าไปในป่า จงหลีกเลี่ยงลิงลมเพราะเป็นสัตว์อันตราย เนื่องจากเป็นสัตว์ที่มีพิษร้ายและยังไม่มียาใดรักษา การครอบครองกระดูกลิงลมจะนำมาซึ่งโชคร้าย อีกทั้งยังมีการอาบใบมีดด้วยเลือดของลิงลมก่อนจะนำไปใช้เป็นอาวุธในการสงคราม เพราะจะทำให้ศัตรูเจ็บและไม่มียารักษา และมีนิทานพื้นบ้านเล่าว่า ภรรยาสามารถควบคุมผู้เป็นสามีได้ด้วยหัวกะโหลกของลิงลมที่แช่ไว้ในเหยือกน้ำอีกด้วย[1]

ในพื้นที่ภาคกลางตอนบนของไทย มีการละเล่นพื้นบ้านแบบทรงเจ้าเข้าผีเรียกว่า "ผีลิงลม" โดยการเป็นการอัญเชิญผีลิงลมเข้าสิงร่างผู้ทรง ผู้ที่เข้าทรงนั้นจะมีความว่องไว สมชื่อลิงลม เป็นการละเล่นที่นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลสงกรานต์[17] นายพรานบางคนมีความเชื่อผิด ๆ ว่าลิงลมเป็นตัวนำโชคร้าย ถ้าเข้าป่าล่าสัตว์แล้วเห็นลิงลมจะไม่เห็นสัตว์อื่นให้ล่า ลิงลมจึงถูกยิงทิ้งด้วยความชิงชังเสียมาก[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "จอมซนแห่งเกาะชวา". ไทยพีบีเอส. 26 May 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-14. สืบค้นเมื่อ 26 May 2014.
  2. Appendices I, II and III" (PDF). Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES). 2010. http://www.cites.org/eng/app/Appendices-E.pdf เก็บถาวร 2010-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  3. Wilson, D. E., & Reeder, D. M. (editors) (2005). Mammal Species of the World — A Taxonomic and Geographic Reference. Third edition. ISBN 0-8018-8221-4.
  4. "Table 2 b: taxonomic names and synonyms used by several authors: genus, species, subspecies, populations" (PDF). Loris and potto conservation database. loris-conservation.org. 4 February 2003. p. 3. สืบค้นเมื่อ 30 April 2013.
  5. "Synonyms of Slow Lorises (Nycticebus)". Encyclopedia of Life. eol.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-05. สืบค้นเมื่อ 30 April 2013.
  6. [https://web.archive.org/web/20120424124958/http://rirs3.royin.go.th/new-search/word-35-search.asp เก็บถาวร 2012-04-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ลิงลม น. ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542]
  7. "การจำแนกลิงลมหรือนางอายในประเทศไทย" (PDF).
  8. Untamed China with Nigel Marven, สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 19 มกราคม 2556
  9. Elliot, Daniel Giraud (1913). A Review of the Primates. Monograph series, no. 1. New York, New York: American Museum of Natural History. OCLC 1282520.
  10. Ankel-Simons, F. (2007). Primate Anatomy (3rd ed.). San Diego, California: Academic Press. ISBN 0-12-372576-3.
  11. Nekaris, K. A. I.; Munds, R. (2010). "Chapter 22: Using Facial Markings to Unmask Diversity: the Slow Lorises (Primates: Lorisidae: Nycticebus spp.) of Indonesia". In Gursky-Doyen, S.; Supriatna, J.. Indonesian Primates. New York: Springer. pp. 383–396. doi:10.1007/978-1-4419-1560-3_22 ISBN 978-1-4419-1559-7
  12. Nekaris, Anna (23 January 2013). "Experts gather to tackle slow loris trade". Prof Anna Nekaris' Little Fireface Project. nocturama.org. สืบค้นเมื่อ 30 April 2013. Anna Nekaris, ... who described the new Kayan slow loris, presented the results of her research highlighting the differences between the species.
  13. สกุล Nycticebus
  14. "Nycticebus". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  15. เปิดโผสัตว์ป่ายอดนิยม ' นางอาย ' อันดับหนึ่ง !, คมชัดลึก: 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546
  16. 16.0 16.1 "ยังไม่ทันได้รู้จักก็จะสูญพันธุ์เสียแล้ว". ผู้จัดการออนไลน์.[ลิงก์เสีย]
  17. "การละเล่นลิงลม". thaiethnicity.com. สืบค้นเมื่อ 26 May 2014.[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Nycticebus ที่วิกิสปีชีส์