นางทาส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นางทาษ)

นางทาส (หรือ นางทาษ) เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวของ วรรณสิริ ผู้ประพันธ์เรื่อง วนิดา และนางครวญ ตีพิมพ์ครั้งแรกอยู่ใน รวมเรื่องสั้นชุด "สร้อยนพเก้า" ของวรรณสิริ และได้รับความนิยม ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง พร้อมกับมีการแต่งเติมเรื่องราวเพิ่มเติม ในการพิมพ์ครั้งต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น รวมเรื่องสั้นชุด "นางทาส"

โครงเรื่อง[แก้]

เย็น ถูกพ่อยิ่งกับแม่ล้วนนำมาขายเป็นทาสบ้านพระยาสีหโยธิน ตั้งแต่อายุ 15 ปี ตกอยู่ในความปกครองของทาสหญิงชราชื่อ นางฟัก ดูแลฝึกหัดให้สันทัดงานผู้ลากมากดี ภายหลังคุณหญิงแย้ม ภรรยาเอกของท่านเจ้าคุณ ก็เรียกให้ไปรับใช้บนเรือน เพราะเย็นผิวพรรณหมดจดหน้าตาสะสวย

พระยาสีหโยธินเจ้าของเรือนเป็นคนหล่อเหลาเจ้าชู้ ทำให้สาลี่ ภรรยาคนที่สองของท่านเจ้าคุณ กลัวว่าท่านเจ้าคุณจะขอเย็นจากคุณหญิงเป็นภรรยาอีกคน เพราะทั้งตนและคุณหญิง ยังไม่มีใครตั้งครรภ์กับท่านเจ้าคุณทั้งสิ้น สาลี่จึงตัดไฟแต่ต้นลม โดยการพาบุญมี ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องให้เป็นภรรยาท่านเจ้าคุณอีกคน แต่บุญมีก็ไม่สามารถตั้งครรภ์ให้ท่านเจ้าคุณได้ จนคุณสาลี่ได้สมคบกับคุณบุญมีหลอกท่านเจ้าคุณเรื่องแกล้งตั้งท้องสองครั้งเพื่อให้ท่านเจ้าคุณมาหาที่เรือนบ่อยๆและได้แกล้งแท้งโดยครั้งที่สองคุณสาลี่ได้ถีบคุณบุญมีตกบันได้เพื่อแกล้งแท้งเนื่องจากกลัวกลัวท่านเจ้าคุณจับได้

เมื่อเวลาผ่านไป ภรรยาทั้งสามคนของพระยาสีหโยธินไม่มีใครตั้งครรภ์ทั้งสิ้น ท่านเจ้าคุณขอเย็นจากคุณหญิงแย้ม เป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง เย็นไม่ลืมว่าตัวตกเป็นของบุรุษผู้มีอายุคราวบิดามารดา เพราะความกลัวเกรงบุญบารมีหาใช่เพราะสมัครรักใคร่ไม่ กระนั้นเย็นก็ตั้งหน้าสามิภักดิ์โดยสุจริต เจ้าคุณเมตตาเป็นพิเศษ จึงก่อให้เกิดริษยาในหมู่เมียน้อยด้วยกัน

เย็นอายุน้อยกว่าเขาทั้งนั้น ซ้ำมีชื่อว่าเป็นทาสมาแต่เดิมก็สงบเสงี่ยมเจียมตัว คุณหญิงจึงเอ็นดูกว่าอนุภรรยาคนอื่นๆ แปลกแสนแปลกด้วยเมื่อปีหนึ่งล่วงไป คุณหญิงและเย็นก็มีครรภ์ในเวลาไล่เลี่ยกัน เจ้าคุณตื่นเต้นดีใจเท่าไหร่ เย็นก็ถูกริษยาจากเพื่อนเมียน้อยเท่านั้น เย็นรู้ว่าถ้าเย็นเป็นมารดาลูกของเจ้าคุณ ก็อาจถูกใส่ความว่าประพฤติชั่วกับชายอื่น มันหมายถึงอันตรายยิ่งใหญ่ทีเดียว แต่โชคดีที่คุณหญิงตั้งครรภ์ด้วย หลังจากแต่งงานมานาน เมื่อเวลาใกล้กำหนดคลอด ท่านเจ้าคุณมีราชการต้องไปค้างอยู่ต่างจังหวัดมีกำหนดสามสิบวัน

และก่อนหน้าที่จะกลับสิบสองวัน คุณหญิงแย้มก็ได้คลอดลูกชายแต่ทารกเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น ซึ่งพร้อมกับเย็นให้กำเนิดเด็กหญิง โดยมิคาดฝัน นางฟักก็มาบอกว่า คุณหญิงขอเปลี่ยนเอาลูกของเย็นไปเป็นลูกของท่าน ให้เย็นรักษาเป็นความลับไว้ตลอดอายุและจะให้รางวัลอย่างงาม เย็นบอกไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร ใจหนึ่งนั้นหวงแหนเลือดในอก ปรารถนาจะได้โอบอุ้มเลี้ยงดูเองให้สมกับอุ้มท้องมาเกือบเต็มขวบปี แต่อีกใจหนึ่งนั้นหวั่นกลัวอำนาจอันยิ่งใหญ่ของภรรยาหลวง ไม่แน่ว่าการปฏิเสธจะเกิดผลร้ายแก่ตัวสักแค่ไหน แต่นางฟักชักแม่น้ำทั้งห้าหว่านล้อม อ้างว่าเพื่ออนาคตอันสดใสของลูก เป็นลูกคุณหญิงต้องดีกว่าเป็นลูกของนางทาสแน่นอน แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นลูกเจ้าคุณก็ตาม เย็นจึงยอม ค่ำวันนั้นคนในบ้านก็รู้ทั่วกันว่าลูกของเย็นตาย ส่วนลูกของคุณหญิงรอดชีวิตเป็นผู้หญิง มีชื่อว่าอุ่นเรือน

เจ้าคุณกลับมาบ้านตามกำหนด ครั้นทราบว่าลูกของเย็นเป็นชายแต่ตายเสียก็บ่นเสียดาย ส่วนคุณหญิงได้รับการเอาใจใส่อย่างดีเลิศ ทารกซึ่งได้ตำแหน่งธิดาคุณหญิงแย้ม เติบโตรวดเร็ว ผิวพรรณผ่องใส เป็นที่รักของเจ้าคุณและคุณหญิงผู้ตั้งตนเป็นมารดาอย่างยิ่ง

เย็นได้ให้น้ำนมได้อุ้มชูเลี้ยงดูโดยคำสั่งของคุณหญิงเป็นบางครั้ง ซึ่งทำให้เย็นเก็บความชื่นชมเสน่หาบุตรสาวอยู่กลายเป็นของคนอื่นไว้คนเดียว ท่านเจ้าคุณยังคงรักและเมตตาเย็น พร้อมทั้งมีความหวังว่าเย็นอาจจะมีลูกให้ท่านอีก เพราะอนุภรรยาอื่นๆ ไม่ปรากฏว่าใครจะตั้งครรภ์เลย

จนในวันหนึ่ง ยืน พี่ชายของเย็นมาบอกเย็นว่าพ่อยิ่งป่วยหนัก แม่ล้วนให้มาขอขึ้นค่าตัวเย็นไปรักษาพ่อยิ่ง เย็นไม่กล้าให้พี่ชายเอ่ยปากกับท่านเจ้าคุณ จึงให้สร้อยทองพร้อมตะกรุดทองซึ่งเจ้าคุณให้ผูกตอนตั้งท้องไปแทน แต่การณ์กลับเป็นผลร้ายแก่เย็น ด้วยบุญมี อนุภรรยาของเจ้าคุณที่ริษยาเย็นอยู่ บังเอิญมาเห็นเหตุการณ์เข้า จึงกล่าวโทษฟ้องว่าเย็นคบผู้ชายถึงให้เป็นสิ่งของกัน เย็นจึงโดนหวายเฆี่ยนเจียนตาย และถูกถอดลงมาเป็นนางทาสตามเดิม เย็นต้องมาเป็นลูกมือนางในคนครัว ตำน้ำพริก ปอกมะพร้าว ขูดมะพร้าว หุงข้าว ผ่าฟืน ล้างถ้วยชามรามไห แล้วแต่นางในจะใช้ เหนื่อยสายตัวแทบขาด ที่ร้ายที่สุดคือห่างเหินลูกรักชนิดสุดเอื้อม กระนั้นก็ตามเย็นก็คอยหาโอกาสแอบเข้าไปใกล้ชิด อุ่นเรือนอยู่เสมอ

จนวันหนึ่ง วันที่เย็นเข้าไปหา นางพุ่ม พี่เลี้ยงคุณแดง อุ้มคุณแดงเชยชม ก็ปรากฏว่าสร้อยข้อเท้าคุณแดงหายไป นางพุ่มระบุว่าเย็นมาอุ้มคุณแดง เย็นจึงถูกเฆี่ยนเป็นครั้งที่สอง จนคุณหญิงสงสารหยิบสร้อยเส้นใหม่ออกมาและบอกว่าหาพบแล้ว เย็นจึงรอดพ้นจากอาญาไปได้ ตั้งแต่นั้นมาเจ้าคุณก็สั่งห้ามเด็ดขาดไม่ให้เย็นเข้าใกล้อุ่นเรือน เวลาผ่านไปตามลำดับอุ่นเรือนโตเป็นสาวแรกรุ่นจำเริญตา ในขณะที่เย็นร่างกายเสื่อมโทรมไปเพราะงานหนัก ผิวพรรณด้านหลังงองุ้ม ผมหงอกเกือบทั่วศีรษะ

วันหนึ่งขณะที่เย็นกำลังพักผ่อน หลังจากทำงานในครัวอย่างหนัก ก็ได้ยินเสียงสาลี่ อนุภรรยารุ่นเก่าคนหนึ่งของเจ้าคุณ และอีแอบ นัดแนะกันจะล่ออุ่นเรือนมาให้ คล้อย ซึ่งอดีตเป็นพระนักเทศน์ตัวลือข่มขืน เย็นตกใจแทบสิ้นชีวิต เฝ้าตรึกตรองหาทางป้องกันอุ่นเรือนจนกระทั่งถึงวันนัด เย็นไปดัก ณ ที่นัดพบเพื่อห้ามอุ่นเรือน อุ่นเรือนโกรธจัดถึงกับตบหน้าเย็น แต่เย็นไม่ฟังเสียงเฝ้าวิงวอนจนถึงกับต้องยื่นคำขาดว่า จะขัดขวางถึงตายก็ยอม เมื่อสาลี่มาถึงรู้ว่าความแตก ก็กรีดร้องขึ้นเต็มเสียงว่า เย็นพยายามแย่งกำไลจากอุ่นเรือน อุ่นเรือนวิ่งหนีไป สาลี่จึงขู่เย็นว่าถ้านำเรื่องไปบอกท่านเจ้าคุณ จะกุเรื่องให้อุ่นเรือนถูกโบย ทำให้ท่านเจ้าคุณเข้าใจผิดว่าเย็นขโมยกำไลอุ่นเรือน จึงสั่งโบยเย็น อุ่นเรือนทนไม่ไหวที่เห็นเย็นถูกโบย จึงสารภาพความจริงว่าถูกสาลี่แนะนำให้รู้จักและนัดพบกับคล้อย ท่านเจ้าคุณโกรธมากจึงไปเฆี่ยนสาลี่ที่เรือนจนสลบคาหวาย

คุณหญิงพาอุ่นเรือนมาขอโทษเย็นถึงเรือนพัก อุ่นเรือนร้องไห้จนตัวโยน จับมือเหี่ยวแห้งมากำไว้ขณะที่กล่าวคำขอโทษ เย็นจูบปลายเท้าลูกน้ำตาไหลพรากเมื่อตอบว่า ถึงบ่าวจะตายเพราะช่วยคุณก็ไม่เสียดายชีวิต เพราะบ่าวรักคุณเหลือเกิน

จากนั้นสาลี่ถูกขังไว้ในห้องอยู่หลายวัน สาลี่โกรธแค้นท่านเจ้าคุณมาก จึงสั่งให้คล้อยฉุดอุ่นเรือนอีกครั้ง แต่คราวนี้ท่านเจ้าคุณจับได้ และทราบความจริงจากคล้อยว่าถูกบงการโดยสาลี่ ท่านเจ้าคุณจึงไล่สาลี่ออกจากบ้าน สาลี่ย้ายไปอยู่บ้านของอีแอบซึ่งเป็นกระท่อมหลังเล็กๆ ขาดข้าวขาดน้ำ จนป่วยหนักและตรอมใจตายในที่สุด

หลังจากนั้นไม่นานด้วยเดชะพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ ซึ่งมีต่อพสกนิกรแห่งพระองค์ ได้ทรงออกพระราชบัญญัติประกาศให้เลิกทาสทั่วพระราชอาณาจักร ปวงประชาราษฎร์ทั้งหลายต่างชื่นชมโสมนัส สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณนี้เป็นล้นพ้น แซ่ซ้องสรรเสริญทั่วทุกหลังคาเรือน พระอารามทั่วไปเคาะระฆังแสดงความปลื้มปิติ และเป็นความหมายให้สำเนียงนี้อุโฆษขึ้นไปถึงเทพยดาเจ้าเบี้องบนฟากฟ้าโน่น

ตามเคหะสถานท่านผู้มีทาสใช้สอย บางรายก็เสียดายอำนาจซึ่งหลุดลอยไป บางแห่งก็ยินดี โดยเฉพาะพระยาสีหโยธิน เจ้าคุณโสมนัสชื่นชมเป็นที่ยิ่ง ประกาศให้ทุกคนในบ้านมีการรื่นเริงได้เต็มที่ ปัจจุบัน เย็นไม่ต้องทำงานหนักตรากตรำแล้ว คุณหญิงให้นั่งดูแลหอนั่ง เย็นค่อยแจ่มใสอ้วนท้วนนุ่งห่มสะอาดนัยน์ตา มีโอกาสได้พบปะใกล้ชิดลูกโดยไม่มีใครรังเกียจ แม้ฝ่ายอุ่นเรือนเองจะไม่รู้จักว่าเป็นแม่ ตามวิสัยของมารดากับบุตร ย่อมมีสัมพันธ์ทางสายโลหิตใกล้ชิดอยู่เสมอ อุ่นเรือนจึงรักเย็นมาก

วันที่ความจริงปรากฏขึ้นก็มาถึง เมื่อล้วนกับยืนเดินทางมาหาเย็น หวังจะนำเงินมาไถ่ตัวเย็น พร้อมทั้งนำตะกรุดทองมาคืนท่านเจ้าคุณ ความจริงเปิดเผยว่าผู้ที่เจ้าคุณคิดว่าเป็นชู้ของเย็นเมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนนั้นคือพี่ชาย เจ้าคุณอึ้งไปด้วยสำนึกในความผิด ทั้งเสียใจและเสียดายความหลังเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีทางใดจะแก้ไขให้เหมือนเดิมได้ ได้แต่ขออโหสิต่อเย็นอยู่ในใจ และบุญมี มีความผิดฐานใส่ร้ายเย็นจึงถูกถอดลงจากอนุภรรยามาเป็นบ่าว ทำงานรับใช้ท่านเจ้าคุณ เย็นมีชีวิตเป็นสุขขึ้นมาก ความดีทุกอย่างปรากฏขึ้นแล้ว แต่ความจริงที่อุ่นเรือนคือบุตรสาวที่แท้จริงของเย็นยังไม่ปรากฏ

การดัดแปลงเป็นสื่ออื่น[แก้]

ภาพยนตร์ นางทาษ ฉบับ พ.ศ. 2498 ของละโว้ภาพยนตร์ กำกับโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่ส่งเข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน เมื่อ พ.ศ. 2504 ก่อนหน้าภาพยนตร์เรื่อง แพรดำ ของรัตน์ เปสตันยี ในปี พ.ศ. 2505 โดยในเรื่องนี้ วิไลวรรณ วัฒนพานิช ได้เข้าชิงรางวัลหมีเงิน ในฐานะนักแสดงนำยอดเยี่ยมฝ่ายหญิงด้วย แต่ไม่ได้รับรางวัล [1]

รายชื่อนักแสดง[แก้]

ปี พ.ศ. 2498 พ.ศ. 2505 พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2536 พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2559
รูปแบบ ภาพยนตร์ 16 มม. ภาพยนตร์ 35 มม. ละคร ช่อง 3 ละคร ช่อง 7 ละคร ช่อง 3
ชื่อเรื่อง นางทาษ นางทาษ นางทาส
บทการแสดง พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ศัลยา ภาวิต บทกร
ผู้กำกับ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ อดุลย์ ดุลยรัตน์ ไพรัช สังวริบุตร
จรูญ ธรรมศิลป์
สยาม สังวริบุตร
สิทธิวัชร์ ทับแป้น
กิตติศักดิ์ ชีวาสัจจาสกุล
ขับร้อง (นางทาส) ลัดดา แจ่มจ่าย อนัยยา สารภักดิ์ วาทิยา รวยนิรัตน์
เย็น วิไลวรรณ วัฒนพานิช รัชนู บุญชูดวง มนฤดี ยมาภัย สุวนันท์ คงยิ่ง มทิรา ตันติประสุต
พระยาสีหโยธิน สถาพร มุกดาประกร ม.ร.ว.ประสิทธิ์ศักดิ์ สิงหรา อดุลย์ ดุลยรัตน์ ลิขิต เอกมงคล วีรภาพ สุภาพไพบูลย์ ณัฐวุฒิ สกิดใจ
คุณหญิงแย้ม กำจาย รัตนดิลก นันทวัน เมฆใหญ่ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ ปิยธิดา วรมุสิก วิริฒิพา ภักดีประสงค์
คุณสาลี่ สุพรรณ บูรณะพิมพ์ ดวงดาว จารุจินดา วรินทร์ เชยอรุณ จีรนันท์ มะโนแจ่ม หยาดทิพย์ ราชปาล
คุณบุญมี เสาวลักษณ์ ศรีอรัญญ์ บัณฑิตา ฐานวิเศษ ณัฐฐชาช์ บุญประชม
คุณจัน-อิน ศิตา เมธาวี มนัญญา ตริยานนท์
โอฬาร / คุณทับ จุรัย เกษมสุวรรณ อดุลย์ ดุลยรัตน์ ดิลก ทองวัฒนา พลรัตน์ รอดรักษา ชนะพล สัตยา
ละออ กชกร นิมากรณ์
ด.ญ.วริศรา คำสกุล (ตอนเด็ก)
ธัญสินี พรมสุทธิ์
ด.ญ.ชนัญญา พงษ์นาค (ตอนเด็ก)
อุ่นเรือน (คุณหนูแดง) แพรวศิริ บุญแก้ว อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา ปวันรัตน์ นาคสุริยะ รชนีกร พันธุ์มณี
หยาดทิพย์ ราชปาล (ตอนเด็ก)
สุธิตา เกตานนท์ (แสดงไว้ 2 ตอน แล้วได้ถอนตัวจากละครในภายหลัง)
ธันย์ชนก ฤทธินาคา
ด.ญ.สุพิชชา พันธยอด (ตอน 5 ขวบ)
ด.ญ.รมิตา รัตนภักดี (ตอน 2 ขวบ)
ด.ญ.นภัสธนันท์ นิมจิรวัฒน์
ด.ญ.ชนัญญา เลิศวัฒนามงคล (ตอนเด็ก)
ฟัก ชั้น เฉิดฉวี จุรี โอศิริ บรรเจิดศรี ยมาภัย ดวงดาว จารุจินดา ขวัญฤดี กลมกล่อม
ยายใบ เมตตา รุ่งรัตน์ อรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา
นมแสง / พุ่ม (2551) น้ำเงิน บุญหนัก รุ่งกานดา เบญจมาภรณ์ พิศมัย วิไลศักดิ์
แอบ จันทนา ศิริผล พจนีย์ ใยละออ วิรากานต์ เสณีตันติกุล
ป่วน นริสา พรหมสุภา
บุ้ง (ลูกสาวยายใบ) มนทิพย์ พันธุ์เพ็ง จารุศิริ ภูวนัย
คุณหญิงยิ้ม สุดารัตน์ เดชากุล รชยา รักกสิกรณ์
พระยาอภัยรณฤทธิ์ / ท่านเจ้าคุณใหญ่ (สามีคุณหญิงยิ้ม) พอเจตน์ แก่นเพชร ปราบ ยุทธพิชัย
ยิ่ง (พ่อเย็น) วิทยา สุขดำรงค์ เฉลิมพร พุ่มพันธ์วงศ์ เวนย์ ฟอลโคเนอร์
ล้วน (แม่เย็น) นัยนา คชแสง ปนัดดา โกมารทัต ปริศนา กล่ำพินิจ
ยืน (พี่ชายเย็น) ปรีชา เกตุดำ วรพรต ชะเอม ชัชวาล เพชรวิศิษฐ์
คล้อย (ญาติสาลี่) มาฬิศร์ เชยโสภณ สุรวุฑ ไหมกัน
แสน สุรจิต บุญญานนท์
นุ่ม (พี่เลี้ยงคนที่สองของอุ่นเรือน) พรอนันต์ ศรีจันทร์
ผาด (หมอตำแย) ชลมารค ธ.เชียงทอง
จมื่นไวยวรนาถ เจษฎา ฉิมพลี
พ่อราม ศรราม เทพพิทักษ์ เขตต์ ฐานทัพ
เที่ยง ดนัย จารุจินดา
พระมหาเทพ เกียรติกมล ล่าทา
บุญมา (พี่ชายบุญมี) วริษฐ์ ทิพโกมุท
ม้วน น้ำทิพย์ เสียมทอง ธารธารา รุ่งเรือง
แรม ปิยะดา เพ็ญจินดา ภัทรวดี ปิ่นทอง
เครา นิรุติ สาวสุดชาติ
ขาว ปุณยวีร์ ปัจจันตโฆษิต
ขุนปราบ ธนาวุฒิ เกสโร
ทนาย กิตติพล เกศมณี
ทนายปิติ ธฤษณุ สรนันท์
คุณหนูรุ่ง ด.ช. ปัญกร จันทศร
แม่ของพระยาสีหโยธิน อำภา ภูษิต ชลมารค ธ.เชียงทอง

อ้างอิง[แก้]

  1. โรม บุนนาค. แวดวงบันเทิงเมื่อวันวาน สุดยอดเรื่องเด็ดในวงการบันเทิงไทยตั้งแต่ยุคเริ่มหนังไทย. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2551. 232 หน้า. ISBN 978-974-06-6637-0

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • ธาวิต สุขพานิช. 108 เรื่องที่ผู้หญิงไทยควรรู้ (แต่ไม่เคยรู้ เพราะหลงนึกว่ารู้ๆ ดีกันอยู่แล้ว). กรุงเทพฯ: พ๊อพบุ๊คส์ พับบลิค, 2544.