นักบุญฟรานซิสเกิดปีติสานติ์ (การาวัจโจ)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นักบุญฟรานซิสเกิดปีติสานติ์
ศิลปินคาราวัจโจ
ปีค.ศ. 1595
ประเภทจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ
สถานที่พิพิธภัณฑ์แวดส์เวิร์ธแอนธีเนียม, ฮาร์ทฟอร์ด, คอนเนตทิคัต

นักบุญฟรานซิสเกิดปีติสานติ์ (อังกฤษ: Saint Francis of Assisi in Ecstasy) เป็นภาพเขียนสีน้ำมันที่เขียนโดยคาราวัจโจจิตรกรสมัยบาโรกคนสำคัญชาวอิตาลีที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แวดส์เวิร์ธแอนธีเนียม[1], ฮาร์ทฟอร์ด, คอนเนตทิคัตในสหรัฐอเมริกา

ภาพ “นักบุญฟรานซิสเกิดปีติสานติ์” เขียนราวปี ค.ศ. 1595 เป็นภาพเขียนภาพแรกที่คาราวัจโจเขียนที่เกี่ยวกับศาสนาและเชื่อกันว่าเป็นภาพที่เขียนไม่นานหลังจากที่ย้ายไปพักอาศัยอยู่กับคาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเต และคงเป็นภาพที่เขียนตามความประสงค์ของเดล มอนเตและคงเป็นภาพแรกที่เขียนในฐานะ “จิตรกรของเดล มอนเต” ที่เชื่อกันว่าคาราวัจโจใช้เป็นการบรรยายตัวเองอยู่หลายปีขณะที่พำนักอยู่ในวังมาดามา (Palazzo Madama) ของเดล มอนเต

ภาพนี้เป็นภาพของนักบุญฟรานซิสแห่งอาซิซิ ซึ่งเป็นชื่อที่คาร์ดินัลใช้ในชั่วขณะที่ได้รับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นรอยแผลเดียวกับตำแหน่งแผลของพระเยซูเมื่อทรงถูกตรึงกางเขน การรับรอยแผลเป็นเรื่องที่บรรยายโดยหลวงพี่เลโอผู้เป็นสหายของนักบุญฟรานซิสในปี ค.ศ. 1224 ตามคำบรรยายแล้วนักบุญฟรานซิสออกไปในป่ากับผู้ติดตามกลุ่มหนึ่งเพื่อไปทำสมาธิ เมื่อตกกลางคือนหลวงพี่เลโอก็เห็นปรากฏการณ์ของดรุณเทพ[1] หกปีกซึ่งเป็นเทวดาวรรณะหนึ่งลงมาปรากฏตัวตามคำสวดมนต์ของนักบุญฟรานซิสที่ว่ามีความเข้าใจถึงความทุกข์ทรมานของพระเยซูและในความรักของพระองค์:

ทันใดนั้นก็มีแสงส่องสว่างลงมาราวกับสวรรค์ระเบิดเป็นแสงสีที่เต็มไปด้วยสีสรรค์และดวงดาวที่พร่าพราย ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็มีแสงที่สว่างที่จัดจ้าที่พุ่งลงมาจากฟ้าด้วยความเร็วอย่างน่าหวาดหวั่นและมาหยุดลงโดยไม่เคลื่อนไหวเหนือหินแหลมหน้านักบุญฟรานซิส ที่ปรากฏเป็นรูปลักษณ์ที่เป็นเพลิงมีปีกตรึงบนกางเขน สองปีกเพลิงพุ่งขึ้นไปข้างบน อีกสองปีกกางออกไปด้านข้าง และอีกสองปีกปิดตัวพระเพลิง และแผลที่มือและที่เท้ามีเลือดกระเด็นออกมา ตัวพระเพลิงที่เรืองแสงมีใบหน้าที่งามดั่งเทพแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นใบหน้าที่เศร้า และเป็นใบหน้าของพระเยซู ในทันใดนั้นก็มีเลือดและไฟพุ่งเป็นสายออกมาจากรอยแผลของพระองค์มายังมือและเท้าของนักบุญฟรานซิสและตาปูที่หัวใจที่ทรงถูกแทงด้วยหอก นักบุญฟรานซิสเปล่งเสียงร้องดังออกมาด้วยความปิติและความเจ็บปวดเมื่อตัวพระเพลิงประทับร่างลงบนนักบุญฟรานซิสเหมือนรูปสะท้อนที่เต็มไปด้วยความรัก, ความงาม และความเศร้า เมื่อได้รับรอยแผลบนร่างกายแล้วและด้วยความปิติดั่งเพลิงของทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว นักบุญฟรานซิสก็ทรุดลงและหมดสติลงในกองเลือด[2]

ภาพที่คาราวัจโจเขียนไม่มีความเป็นนาฏกรรมที่ใกล้เคียงกับคำบรรยายของหลวงพี่เลโอแต่อย่างใด ดรุณเทพหกปีกมาแทนด้ยวเทวดาสองปีธรรมดา นอกจากนั้นคาราวัจโจก็ละเว้นฉากการเผชิญหน้าอันรุนแรงระหว่างพระเยซูกับนักบุญฟรานซิส ไม่มีสายเลือดที่พุ่งกระฉูดลงมายังนักบุญฟรานซิส ไม่มีกองเลือด ไม่มีรูปพระเยซูในรูปของดรุณเทพ ภาพของคาราวัจโจเป็นแต่เพียงภาพของเทวดาที่ประคองนักบุญฟรานซิสอย่างอย่างอ่อนโยนโดยมีสหายของนักบุญอยู่ใกลออกไปในความมืดที่แทบจะมองไม่เห็น

หัวเรื่องนี้เป็นหัวเรื่องที่นิยมวาดกันมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13: จอตโต ดี บอนโดเน เขียนหัวข้อนี้ในปีราวปี ค.ศ. 1290 และจิโอวานนี เบลลินีเขียนภาพที่เป็นที่รู้จักกันระหว่างปี ค.ศ. 1480 ถึงปี ค.ศ. 1485 งานของคาราวัจโจเป็นงานที่มีความเป็นส่วนตัว (intimate) มากกว่าภาพอื่นที่เขียนกันมา ตัวนักบุญฟรานซิสผู้มีลักษณะคล้ายกับเดล มอนเตเองดูเหมือนจะทรุดอย่างสงบลงไปในอ้อมแขนของเทวดาที่ใบหน้าละม้ายกับเด็กชายในภาพ “เด็กชายปอกผลไม้” หรือคิวปิดทางด้านซ้ายสุดในภาพ “นักดนตรี” และยิ่งเหมือนกับเด็กชายในภาพ “คนโกงไพ่

ในภาพคาราวัจโจมิได้แสดงอะไรนอกไปจากเสื้อคลุมนักบวชฟรานซิสกันของนักบุญฟรานซิส และไม่ได้แสดงแผลศักดิ์สิทธิ์, เลือด หรือเทวดาเซราฟที่น่าหวาดกลัว แต่กระนั้นบรรยากาศในภาพก็เป็นบรรยากาศของความรักและความศรัทธา บุคคลในภาพสองคนส่องด้วยแสงสว่างยามค่ำโดยมีแสงเรืองๆ ที่อยู่ไกลออกไปในขอบฟ้า ฉากนี้จึงเป็นทั้งภาพของความจริงและภาพของการจินตนาการในขณะเดียวกัน เดล มอนเตเก็บภาพนี้ไว้จนกระทั่งบั้นปลายของชีวิต

อ้างอิง[แก้]

  1. "Saint นักบุญฟรานซิส of Assisi in Ecstasy - Notes at Wadsworth Atheneum website". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-15. สืบค้นเมื่อ 2009-03-21.
  2. "St. Francis Receives the Stigmata - Brother Leo's account". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-10-20. สืบค้นเมื่อ 2009-03-21.

ดูเพิ่ม[แก้]