นอร์แมน ซัตตัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นอร์แมน ซัตตัน
"ครู" นอร์แมน ซัตตัน อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบ
เกิด14 สิงหาคม พ.ศ. 2424
มณฑลยอร์คเชียร์ ประเทศอังกฤษ
เสียชีวิต24 ธันวาคม พ.ศ. 2493 (69 ปี)
เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ
อาชีพอาจารย์
คู่สมรสเอลีนอร์ รูสเวลท์
บุตร3 คน

นายนอร์แมน ซัตตัน (Norman Sutton – 14 สิงหาคม พ.ศ. 242424 ธันวาคม พ.ศ. 2493) ซึ่งนักเรียนและคนทั่วไปในสมัยนั้นเรียกท่านว่า ครูซัตตัน อาจารย์ใหญ่โรงเรียนปทุมคงคา, รักษาการอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และต่อมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ผู้วางโครงการเพิ่มหลักสูตรวิชาคำนวณและภาษาฝรั่งเศส เสนอให้นักเรียนสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 8 แทนนักเรียนมัธยมปีที่ 6 และปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการสอนให้เข้มไปพร้อมจริยศึกษาและพลศึกษา ความเข้มงวดในการอบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดีของครูซัตตันเป็นที่เลื่องลือในบรรดาลูกศิษย์และมีการเล่าต่อๆ กันมาอีกหลายรุ่น

ประวัติ[แก้]

ครูซัตตันเกิดที่ตำบลโคมซัลใกล้เมืองลีดส์ มณฑลยอร์คเชียร์ ประเทศอังกฤษ เมื่ออายุ 14 ปีได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนแยตเลย์และสอบชิงทุนเข้าเรียนต่อวิชาครูที่วิทยาลัยเบอโรโรด ที่ไอเซิลเวิธได้ในเวลา 4 ปีต่อมา วิทยาลัยครู เบอโรโรด (Borough Road College)[1] ที่มีชื่อเสียงแห่งนี้มีคนไทยได้รับทุนเล่าเรียนหลวงมาเรียนและจบการศึกษากันหลายคน ได้แก่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาราชนกูร (รื่น ศยามานนท์) พระยาภะรตราชา (มล. ทศทิศ อิศรเสนา) พระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) และอื่นๆ อีกหลายท่าน รวมทั้ง “ครูฝรั่ง” ที่รัฐบาลจ้างให้เข้ามาสอนในประเทศไทยจำนวนมาก จึงนับว่าวิทยาลัยแห่งนี้มีสัมพันธ์ด้านการศึกษาที่ดียิ่งกับประเทศสยามในขณะนั้น

เมื่อนายซัตตันจบการศึกษาก็ได้รับการว่าจ้างให้เข้ามารับราชการในประเทศไทย ครูซัตตันเดินทางถึงไทยเมื่อ พ.ศ. 2448 เมื่ออายุได้ 24 ปีโยได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบแผนกภาษาอังกฤษซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่อาคารเดิมของโรงเรียนสุนันทาลัยก่อนเป็นเวลา 6 ปี แล้วจึงย้ายไปเป็นรักษาการณ์อาจารย์ใหญ่โรงเรียนปทุมคงคาเมื่อ พ.ศ. 2454 เมื่ออาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบคือ นายเอช. อี. สไปวี ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2458 ครูซัตตันจึงได้รับคำสั่งให้ย้ายมารักษาการณ์ในตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ก่อนเป็นเวลา 2 ปีแล้วจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสวนกุหลาบเมื่อ พ.ศ. 2460 ขณะมีอายุได้ 36 ปี และหลังจากดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ได้ 13 ปี ครูซัตตันได้ถวายบังคมลาออกจากราชการเมื่ออายุได้ 49 ปี รับพระราชทานบำนาญและกลับประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2473 รวมเวลารับราชการในประเทศไทย 25 ปี

บทบาทและผลงาน[แก้]

ครูซัตตันมีบทบาทสำคัญ เกี่ยวกับการศึกษาของเมืองไทย และเป็นผู้รับผิดชอบเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาภาษาอังกฤษและพลศึกษาในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ขณะนั้นโรงเรียนใหญ่ๆของรัฐบาลมีไม่กี่แห่ง และครูฝรั่งก็มีไม่กี่คน เป็นที่เข้าใจกันว่าสมัยก่อนนี้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ส่วนมากจะต้องออกมารับราชการ ที่ออกไปประกอบอาชีพส่วนตัวนั้นมีน้อย ฉะนั้นครูซัตตันจึงพยายามผลิตนักเรียนให้มีคุณภาพดีที่สุด ทั้งทางด้านวิชาการและอนามัย โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก เพื่อให้สมกับที่นักเรียนจะเป็นผู้ทำความเจริญให้แก่ชาติในกาลต่อไป

ครูซัตตันจึงเป็นผู้วางโครงการและเพิ่มหลักสูตรวิชาคำนวณและภาษาฝรั่งเศสให้สูงขึ้นกว่าเดิมมาก วิชาตริโกณมิติก็ได้นำมาสอนเป็นครั้งแรกในเมืองไทยสมัยขยายชั้นเรียนนี้ด้วย เป็นการจัดระดับการศึกษาให้เท่าเทียมกับโรงเรียนมัธยมบริบูรณ์ในประเทศอังกฤษ (Matriculation) และคงรักษามาตรฐานหลักสูตรนี้ ตลอดเวลาที่ครูซัตตันรับราชการอยู่ในเมืองไทย การสอบชิงทุนเล่าเรียนหลวงก็เข้มงวดกว่าเดิมเป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะต้องการให้ได้นักเรียนที่เก่งจริงๆออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศ

ครูซัตตันได้วางหลักสูตรให้นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้เรียนวิชาหลัก ซึ่งหนักทางภาษาอังกฤษและคำนวณ รวมทั้งจริยศึกษาและพลศึกษาควบคู่กันไป แทบทุกบ่ายวันจันทร์มีการสอนตัวอย่างให้บรรดาครูทั้งหลายในโรงเรียนได้ดูเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ นักเรียนทุกคนต้องเป็นลูกเสือและต้องลงสนามฝึกหัดทุกบ่ายวันเสาร์ โดยครูซัตตันเองจะต้องลงมาเดินตรวจดูแลสอดส่องอยู่ด้วยเสมอ ครูซัตตันได้จัดทำกระดานป้าย “จาริกานุสร” ติดตั้งไว้ที่ห้องสมุดของโรงเรียน เพื่อให้เห็นได้ง่ายๆ กระดานป้ายซึ่งครูซัตตันเรียกว่า Honour Boards นี้ จารึกนามของนักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยทุกคนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๙ ที่สอบได้ทุนเล่าเรียนหลวง หรือทุนกระทรวงเพื่อไปศึกษาสาขาต่างๆ ณ ต่างประเทศ นามของท่านเหล่านั้นต่อมาภายหลังปรากฏว่า ล้วนแต่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กระจัดกระจายไปตามกระทรวงทบวงกรมต่างๆทั่วประเทศ มีหน้าที่รับผิดชอบสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมืองเป็นอันมาก เรื่องนี้ศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยทุกคนย่อมประจักษ์ดี แทบจะกล่าวได้ว่าในขณะที่เขียนประวัติอยู่นี้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาส่วนมากเคยเป็นลูกศิษย์ครูซัตตันมาแล้วเกือบทั้งสิ้น การที่ครูซัตตันจัดทำ “จาริกานุสร” ซึ่งมีด้วยกัน ๘ แผ่นตั้งแต่สมัยครูซัตตันยังอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ก็เพื่อให้เป็นการกระตุ้นและให้กำลังใจแก่นักเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยทุกคนที่กำลังศึกษาอยู่ให้เจริญรอยตาม เมื่อครูซัตตันกลับไปนอกแล้ว เคยเขียนมาถามข้าพเจ้าว่า Honour Boards นี้มีเพิ่มขึ้นอีกเท่าใด

ในด้านพลศึกษา ครูซัตตันก็ไม่เคยละเลยวิชาประเภทนี้ ประกอบกับทั้งตัวครูซัตตันเองเคยเป็นนักกีฬาเอกคนหนึ่ง สมัยเมื่อยังศึกษาวิชาครูที่วิทยาลัยเบอโรโรด เคยเป็นแชมเปี้ยนกีฬาหลายประเภท เช่น ฟุตบอล คริกเก็ต กระโดดข้ามรั้ว ฯลฯ และเล่นให้แก่วิทยาลัยนั้นหลายครั้ง ครูซัตตันพยายามฝึกหัดการกีฬาให้แก่นักเรียนด้วยตนเองเสมอ เฉพาะอย่างยิ่งกีฬาฟุตบอล ซึ่งศิษย์เก่าสวนกุหลาบย่อมทราบดี สมัยครูซัตตันอยู่นั้น โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้รับโล่รางวัลประจำปีเสมอ ทั้งรุ่นเล็ก รุ่นกลางและรุ่นใหญ่ นอกจากนี้ครูซัตตันยังเป็นผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงเรียนรุ่นต่างๆจัดงานกรีฑานักเรียนประจำปี ควบคุมการกีฬาชกมวย ฯลฯ

กล่าวกันว่าครูซัตตันเป็นผู้ที่นำและริเริ่มกีฬารักบี้ได้นำเข้ามาเล่นในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ. 2452 ที่ราชกรีฑาสโมสร และเป็นหัวหน้าทีมนี้อยู่หลายปี กีฬาประเภทนี้ ต่อมาภายหลังปรากฏว่าเป็นที่นิยมของนักศึกษาไทยเป็นอันมาก นอกจากนั้นครูซัตตันยังเคยได้รับถ้วยพระราชทานเมื่อ พ.ศ. 2472 เคยเป็นผู้ตัดสินฟุตบอลแข่งขันรุ่นสำคัญๆมามากครั้ง กล่าวกันว่า ครูซัตตันเป็นผู้ดัดแปลงสนามกอล์ฟที่ราชกรีฑาสโมสรจาก 9 หลุมเป็น 18 หลุม กับเป็นผู้ดัดแปลงสนามทั้งหมดให้ปลูกด้วยหญ้านวลน้อยตลอดทั้งสนามด้วย

วิชาที่ครูซัตตันสนใจมากที่สุดคือ ภูมิศาสตร์ ฉะนั้นใน พ.ศ. 2467 จึงได้รับเลือกเป็นสมาชิกสมาคมภูมิศาสตร์ ณ กรุงลอนดอน (The Royal Geographical Society) โดยแต่งตำราเรียนไว้ 3 เล่ม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้ในโรงเรียนได้ในประเภทไม่บังคับ คือ ภูมิศาสตร์สยาม, ภูมิศาสตร์สากลอย่างย่อ แต่งร่วมกับหลวงปิยวิทยาการ (ปีย ปิยวิทยาการ), How to Write English Letters

บั้นปลายชีวิต[แก้]

วันที่ครูซัตตันเดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อ วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2473 เพื่อไปขึ้นเรือที่สิงคโปร์กลับอังกฤษนั้น หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ลงข่าวใหญ่ว่าเป็นวันที่ชานชลาสถานีรถไฟหัวลำโพงมีคนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังครูซัตตันกลับอังกฤษแล้ว ยังไม่ปรากฏเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของครูซัตตันมากนักว่าได้ไปสอนที่โรงเรียนแห่งใดหรือไปทำงานอะไรอีกบ้าง ครูสวัสดิ์ จันทรงาม ลูกศิษย์ใกล้ชิดผู้หนึ่งของครูซัตตันเขียนเล่าไว้ว่า เกือบทุกๆ ปีใหม่ครูซัตตันจะส่งธนบัตรใบละ 1 ปอนด์มาฝากให้ครูสวัสดิ์นำไปให้ภารโรงคนหนึ่งอย่างสม่ำเสมอจนถึงแก่กรรม ครูซัตตันเริ่มป่วยเป็นโรคข้อเมื่อ พ.ศ. 2490 เมื่ออายุได้ 66 ปี ในอีก 2 ปีต่อมาก็เป็นโรคเส้นเลือดใหญ่หัวใจตีบเพิ่มขึ้นอีก แม้จะรักษาเป็นอย่างดีอาการก็ไม่ดีขึ้น และยังเกิดโรคแทรกจนถึงแก่กรรมที่บ้านตำบลโซลส์ เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษเมื่ออายุได้ 69 ปี ครูซัตตัน สมรสกับ เอลีนอร์ รูสเวลท์ มีบุตรชาย 2 คนและบุตรสาว 1 คน

ครูนอร์แมน ซัตตันได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายได้รับเมื่อถวายบังคมลาออกจากราชการคือชั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และด้วยความระลึกถึงครู คณะศิษย์เก่าสวนกุหลาบได้จัดตั้ง “มูลนิธิอาจารย์นอร์แมน ซัตตัน” ขึ้นในเวลาต่อมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักและทำประโยชน์ให้ไม่เฉพาะโรงเรียนสวนกุหลาบแต่รวมไปถึงความเจริญด้านวิชาการ การกีฬาและจริยธรรม

อ้างอิง[แก้]

  • สวัสดิ์ จันทรงาม. นายนอร์แมน ซัตตัน ประวัติครู, คุรุสภาจัดพิมพ์ในวันครู 16 มกราคม 2502