นริศ อารีย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นริศ อารีย์
เกิด31 ธันวาคม พ.ศ. 2473
จังหวัดธนบุรี
เสียชีวิต30 กันยายน พ.ศ. 2554 (80 ปี)
อาชีพนักร้อง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2492-พ.ศ. 2554

นริศ อารีย์ (31 ธันวาคม พ.ศ. 2473 - 30 กันยายน พ.ศ. 2554) เป็นนักร้องเพลงลูกกรุงรุ่นใหญ่ ที่ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสามขุนพลเพลงลูกกรุง ร่วมกับ สุเทพ วงศ์กำแหง และชรินทร์ นันทนาคร

ประวัติ[แก้]

นริศ อารีย์ เกิดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2473 เป็นน้องชายแท้ ๆ ของ วรนุช อารีย์ นักร้องนำวงดนตรีสุนทราภรณ์ เข้ารับการศึกวิทยาลัยบพิตรพิมุข

ชีวิตนักร้อง[แก้]

ตลอดเวลาที่เรียนอยู่นั้นไม่เคยคิดที่จะเป็นนักร้องเลย เพราะต้องการเป็นทหารอากาศ เมื่อจบก็มุ่งมั่นเข้าสอบเป็นทหารแต่พลาดไป จึงเที่ยวเตร่ประกวดร้องเพลงตามแรงยุของเพื่อนๆเข้าแข่งขันตามงานวัดต่างๆเรื่อยมา โดยใช้นามแฝงว่า “ร. ดาวรุ่ง” ผลปรากฏว่าชนะบ้างแพ้บ้างเพราะต้องเจอกับนักร้องรุ่นพี่อย่างชาญ เย็นแข, เลิศ ประสมทรัพย์ จึงทำให้มุ่งมั่นฝึกฝนที่จะเอาชนะให้ได้

จนเข้าประกวดงานปีใหม่ เมื่อพ.ศ. 2491 ที่เฉลิมกรุง ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่มากโดยมี พ.ต.โปรย อังสุกานต์ เจ้าของคณะละครวิทยุอันดับ1ในยุคนั้นเป็นประธานจัดงานและมีคุณเสน่ห์ โกมารชุน เป็นกรรมการตัดสินปรากฏว่าสามารถฝ่าฝันจนได้รับรางวัลชนะเลิศที่ 1 มาครอง และยังได้เข้าร่วมงานกับคณะละครวิทยุ “ พันตรีศิลปะ ” เป็นพระรองบ้าง ตัวประกอบบ้าง ซึ่งขณะนั้นคุณบุญช่วย หิรัญสุนทรเป็นพระเอกและร้องเพลงสลับฉากที่ศาลาเฉลิมไทย และศาลาเฉลิมกรุง รุ่นเดียวกับสุเทพ วงศ์กำแหง และชรินทร์ นันทนาคร

ครั้นปี 2492 ทางกรมโฆษณาการได้จัดการประกวดนักร้องแห่งประเทศไทยขึ้นเรียกว่าเป็นการประกวดระดับชาติทีเดียวซึ่งมีทั้งนักร้องอาชีพและสมัครเล่นจากทั่วประเทศเข้าสมัครแข่งขันราว 200 คน คุณนริศ อารีย์ ได้มีโอกาสร่วมแข่งขันในครั้งนี้ด้วยและผ่านเข้ารอบไปชิงชนะเลิศในรอบสุดท้ายโดยเป็นผู้ประกวดที่มีอายุน้อยที่สุด และได้ตำแหน่งที่ 4

จากนั้นก็เข้าสู่วงการและได้มีโอกาสบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกในเพลง “ชั่วนิจนิรันดร” ของพยงค์ มุกดา เพลง “เชียงใหม่” ของไสล ไกรเลิศ “ผู้แพ้” ของรักษ์ รักษ์พงศ์ "คอย" และ "สักวันหนึ่ง" ของป. ชื่นประโยชน์ "เปียจ๋า" และ "ม่วยจ๋า" ของสุรพล โทณะวณิก "กลิ่นเกล้า" และ "แม้พี่นี้จะขี้เมา" ของไพบูลย์ บุตรขัน เป็นต้น

คุณนริศ อารีย์ เคยร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง มาลัยสามชายและวิญญาณรักแม่นาค และแสดงละครโทรทัศน์ทางช่อง 4 บางขุนพรหม เป็นตัวนำบ้างตัวประกอบบ้าง เช่นเรื่อง ตาม่องลาย เป็นต้น

เสียชีวิต[แก้]

นริศ อารีย์ เสียชีวิตในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2554 ด้วยโรคพาร์กินสัน และโรคเบาหวาน ซึ่งตรงกับช่วงที่ กาเหว่า เสียงทอง ผู้เป็นนักร้องชาวไทย ได้เสียชีวิตในช่วงเดียวกัน[1] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

อ้างอิง[แก้]

  1. "วงการเพลงสูญเสียสองนักร้องดัง"นริศ อารีย์" และ "กาเหว่า เสียงทอง"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-05. สืบค้นเมื่อ 2011-10-01.