นภา เกียรติวันชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นภา เกียรติวันชัย
ชื่อจริงสุวิทย์ แซ่ตั้ง
รุ่นสตอร์วเวท
ไลท์ฟลายเวท
เกิด27 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 (56 ปี)
จังหวัดนครราชสีมา
ชกทั้งหมด25
ชนะ16
ชนะน็อก8
แพ้8 ( แพ้น็อก 6 )
เสมอ1
ผู้จัดการแก้ว โคซี่
(มวยไทย)
สหสมภพ ศรีสมวงศ์
เทรนเนอร์ชาร์ล แอตกินสัน

นภา เกียรติวันชัย เป็นอดีตแชมป์โลกในรุ่นสตอร์วเวท (105 ปอนด์) ของสภามวยโลก (WBC)

ประวัติ[แก้]

แชมป์โลกคนที่ 13[แก้]

นภามีชื่อจริงว่า สุวิทย์ แซ่ตั้ง ชื่อเล่น ไก่ เกิดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 ที่อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา มีพี่น้องทั้งหมด 8 คน เป็นชาย 7 หญิง 1 คน ซึ่งพี่น้องที่เป็นชายทั้ง 7 คนนั้นถูกฝึกให้เป็นนักมวยไทยทั้งหมด เพราะครอบครัวของนภามีกิจการค่ายมวยชื่อ "ลูกโชคชัย" กระทั่งอายุได้ 14 ปี จึงเริ่มเข้าสู่วงการมวยอย่างจริงจัง เริ่มชกครั้งแรก ได้ค่าตัวแค่ 50 บาท ตระเวนชกมวยไทยอยู่ในละแวกจังหวัดนครราชสีมาร่วม 200 กว่าครั้ง จนเริ่มมีชื่อเสียงภายในจังหวัด จึงเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครด้วยวัย 19 ปีตามพี่ชาย โดยสังกัดค่าย "ลูกมาตุลี" ของ "แก้ว โคซี่" แก้ว ดุสิตรัตนกุล[1] เป็นผู้จัดการ ขึ้นชกที่เวทีลุมพินีหลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ชกแพ้มากกว่าชนะ ในชื่อ "โชคชัยจิ๋ว ณ พัทยา" จึงมีชื่อที่แฟนมวยเรียกกันติดปากว่า ไอ้จิ๋ว โดยชกครั้งสุดท้ายถึงขั้นกรามหัก[2] จึงหันมาชกมวยสากล โดยขึ้นชกครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2530 ชนะคะแนน จอมพิชิต เกียรติธวัช จากนั้น ชกชนะรวดอีก 3 ครั้ง "บึ๊กอึ่ง" สหสมภพ ศรีสมวงศ์ ในขณะนั้นสร้างนักมวยหลายคนประสบความสำเร็จเป็นแชมป์โลก ได้สนับสนุนนภา โดยได้ชิงแชมป์อินเตอร์เนชั่นแนล (แชมป์เงา) รุ่นสตอร์วเวท ของสภามวยโลก (WBC) ที่อินโดนีเซีย ซึ่งนภาชนะคะแนน นิโก โธมัส ได้แชมป์มาครอง

เมื่อได้แชมป์อินเตอร์ฯ มาแล้ว ได้ป้องกันตำแหน่งแชมป์ครั้งหนึ่ง จึงได้มีโอกาสขึ้นชิงแชมป์โลกของจริงในรุ่นนี้ กับ ฮิโรกิ อิโอกะ เจ้าของตำแหน่งชาวญี่ปุ่น ที่เมืองโอซากะ ซึ่งนภาที่ผ่านมาชกมวยสากลมาเพียง 6 ไฟท์ เท่านั้นเอง กลับทำได้ดีกว่า น่าจะเป็นผู้ชนะ แต่เมื่อผลการรวมคะแนนออกมา กลับกลายเป็นเสมอกันไป อีกทั้งกรรมการห้ามบนเวทีได้ยุติการชกไปในยกที่ 12 ซึ่งเป็นยกสุดท้าย ทั้งที่มีเวลาเหลืออีกประมาณ 32 วินาที ทำให้การชกครั้งนี้ได้มีการประท้วงกันอย่างรุนแรงลุกลามไปถึงขั้นที่มีการประท้วงกันถึงหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยผู้ขับรถแท็กซี่[3] ในที่สุด สภามวยโลกได้ตัดสินให้มีการชกนัดล้างตาอีกครั้ง ในคราวนี้ นภาสามารถทำได้ และเป็นผู้ชนะไป กลายเป็นแชมป์โลกคนที่ 13 ของไทย และเป็นคนที่สองที่สามารถได้แชมป์ถึงต่างแดน (คนแรกคือ แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ ได้แชมป์สมัยที่ 2 จากสเปน) แต่เมื่อได้แชมป์มา นภา ก็ครองตำแหน่งอยู่ได้ไม่ถึงปี หลังจากป้องกันตำแหน่งครั้งแรกและกลับไปที่ญี่ปุ่นเพื่อป้องกันตำแหน่งกับ ฮิโรกิ อิโอกะ คู่ปรับเดิมแล้ว นภาก็ไปเสียตำแหน่งด้วยการแพ้น็อกในยกที่ 12 ในการป้องกันครั้งที่ 2 กับ ชเว จอม-ฮวัน นักมวยชาวเกาหลีใต้ ถึงโซล ประเทศของผู้ท้าชิงเอง

หลังเสียแชมป์โลก[แก้]

หลังจากเสียตำแหน่งไปแล้ว นภาขึ้นชกอุ่นเครื่องชนะคะแนน โรลันโด ปัสกวา ก่อนจะได้ไปชิงแชมป์โลกกับฮิเดยูกิ โอฮาชิ เมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2533 ซึ่งนภาเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไป จากนั้น นภาขึ้นชกชนะคะแนน ไฮเม อาลีควิน อีกเพียงครั้งเดียวเมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2533 นภาก็เลิกชกมวยไปเป็นนักร้องตามคาเฟ่อยู่ระยะหนึ่งในที่สุดก็กลับมาชกมวยอีกครั้งหนึ่งเมื่อ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ชนะคะแนนปาร์ก ยองพิลจากเกาหลีใต้ ชกชนะอีก 2 ครั้ง นภาก็ได้ไปชิงแชมป์โลกที่สหรัฐเมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2535 แพ้น็อก อุมเบร์โต กอนซาเลซ ยก 2 ที่ลอสแอนเจลิส ในการชิงแชมป์โลกรุ่นไลท์ฟลายเวท (108 ปอนด์) WBC[4] จากนั้น ไปชกที่ญี่ปุ่นเมื่อ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 แพ้น็อค อลา วิลล่ามอร์ ยก 2 นภาจึงเลิกชกมวยไปอีกครั้ง

นภาไปเป็นนักร้องตามคาเฟ่อีก แต่เนื่องจากรายได้จากการเป็นนักร้องไม่มั่นคง นภาจึงพยายามกลับมาชกมวยอีกแม้สภาพร่างกายจะไม่ไหว โดยหันมาใช้ชื่อ "นภา เกียรติสมภพ" ขึ้นชกเมื่อ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ชนะคะแนน รามิล นีลเก หลังจากนั้นนภามีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาจึงต้องหยุดชกไปอีก จนใน พ.ศ. 2540 ญี่ปุ่นได้ติดต่อนภาไปชกนอกรอบกับนักมวยของตน ซึ่งนภาได้เดินทางไปชกกับคัง ชอลโฮ นักมวยเกาหลีเหนือ เมื่อ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2540 และเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไป หลังจากนั้น นภาได้ไปชกที่ญี่ปุ่นอีก 3 ครั้ง ซึ่งนภาแพ้แบบไม่ครบยกทั้งสิ้น หลังจากที่ขึ้นชกครั้งสุดท้าย เมื่อ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2543 แพ้น็อค โอชิยากิ มัตซึมูระ ยก 7 แล้ว นภาก็ไม่ได้ขึ้นชกมวยอีกเลย

ปัจจุบัน นภา เกียรติวันชัย ก็ยังคงประกอบอาชีพเป็นนักร้องตามคาเฟ่หรือสถานบันเทิงต่าง ๆ อยู่เหมือนเดิม แต่ด้วยความที่เป็นนักร้องชายจึงมีรายได้รวมถึงค่าทิปไม่ถึง 10,000 บาทต่อเดือนด้วยซ้ำ จึงมีชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างขัดสน [5]และยังมีปัญหาสุขภาพด้านดวงตาที่เริ่มจะมองไม่เห็น[1]ซึ่งเริ่มมาจากการชกแพ้น็อกยก 2 กับกอนซาเลซ[2] ในชีวิตความเป็นนักร้องของนภา เคยตกต่ำถึงขนาดได้ค่าตัวเพียงวันละ 20 บาท[1] และยังเคยแสดงนำในมิวสิควีดีโอ เพลง หนุ่มน้อยคาเฟ่ ของสันติ ดวงสว่าง ซึ่งเสมือนเป็นการตีแผ่ชีวิตตัวเอง ซึ่งเพลงนี้ก็กลายมาเป็นเพลงประตัวของนภา ต่อมา นภาได้รับการติดต่อว่าจะมีการช่วยเหลือจากสภามวยโลกด้านการเงินเป็นจำนวน 400 ดอลล่าร์สหรัฐ (ประมาณ 12,000 บาท) ต่อเดือน และจะมีการเพิ่มขึ้นเป็น 500 ดอลล่าร์ในอนาคต[3] แต่จนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีการช่วยเหลือแต่อย่างใด[6]

เกียรติประวัติ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "ซีรีส์ จน ดัง หมดตัว วัฏจักรนักมวยจริงหรือ? ตอนที่ 1 จากแชมป์โลกสู่นักร้อง 20 บาท". ไทยรัฐ. 22 May 2015. สืบค้นเมื่อ 24 May 2015.
  2. 2.0 2.1 "เปิดชีวิต "นภา เกียรติวันชัย" จากคนจนสู่แชมป์โลก สุดท้ายหมดตัว! 1/2 #ปากโป้ง #ช่อง8 #thaich8". ยูทิวบ์. 28 May 2015. สืบค้นเมื่อ 31 January 2016.
  3. 3.0 3.1 "5เช้าข่าวดี - สภามวยโลกช่วยเงิน 'เวนิช-นภา' 2แชมป์โลกชาวไทย". ยูทิวบ์. 18 June 2013. สืบค้นเมื่อ 6 February 2014.
  4. 22 แชมป์โลกชาวไทย, นิตยสารคนเด็ด (ฉบับพิเศษ) โดย สำนักพิมพ์ดวงตา พ.ศ. 2538
  5. ชายพจน์. มวยดังไทยแลนด์ในอดีต: ไอ้จิ๋ว นภา เกียรติวันชัย นักชกไทยคนที่สองที่ได้แชมป์จากต่างแดน.นิตยสารมวยโลก. ฉบับที่ 870 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 หน้า 45 - 47
  6. "เปิดชีวิต "นภา เกียรติวันชัย" จากคนจนสู่แชมป์โลก สุดท้ายหมดตัว! 2/2 #ปากโป้ง #ช่อง8 #thaich8". ยูทิวบ์. 28 May 2015. สืบค้นเมื่อ 31 January 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]