นกแคสโซแวรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นกคาสโซวารี่)
นกแคสโซแวรี
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ไพลโอซีน - ปัจจุบัน, 5.0–0Ma
นกแคสโซแวรีใต้ (Casuarius casuarius)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Struthioniformes
วงศ์: Casuariidae
Kaup, 1847[1]
สกุล: Casuarius
Brisson, 1760[1]
ชนิดต้นแบบ
Struthio casuarius
Linnaeus, 1758
ชนิด
ชื่อพ้อง
  • Casoarius Bont.
  • Struthio Linnaeus
  • Cela Moehr, 1752
  • Rhea Lacépède 1800

นกแคสโซแวรี (อังกฤษ: cassowary) เป็นนกบินไม่ได้ขนาดใหญ่สกุลหนึ่ง อาศัยอยู่ในแถบซีกโลกใต้ (โอเชียเนีย) จัดอยู่ในสกุล Casuarius ในวงศ์ Casuariidae

ศัพท์มูลวิทยา[แก้]

คำว่า "แคสโซแวรี" นั้น มาจากภาษามลายูคำว่า kasuari[2]

ลักษณะ[แก้]

จัดเป็นนกประเภทแรไทต์ (นกบินไม่ได้ขนาดใหญ่ ที่มีโครงสร้างแบบนกยุคก่อนประวัติศาสตร์) เช่นเดียวกับนกกระจอกเทศ, นกอีมู และนกกีวี โดยเป็นนกที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองมาจากนกกระจอกเทศ และนกอีมูเท่านั้น มีความสูงประมาณ 100 เซนติเมตร หรือกว่านั้น ตัวเมียโดยปกติจะใหญ่กว่าตัวผู้ อาจจะสูงได้ถึง 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 53.8 กิโลกรัม[3]

นกแคสโซแวรีมีลักษณะเด่นคือ มีขนสีดำปกคลุมลำตัว ซึ่งขนมีลักษณะแตกต่างไปจากนกจำพวกอื่น ๆ คือ ขนเส้นเดียวแต่แตกออกเป็น 2 เส้น มีไว้สำหรับป้องกันตัวยามเมื่อต้องเดินฝ่าพงหนามหรือพุ่มไม้ มีลำคอยาวไม่มีขนเหมือนนกกระจอกเทศ บริเวณใบหน้าและลำคอมีสีสันสดใสต่างกันไปตามแต่ละชนิด และมีจุดเด่น คือ หงอนขนาดใหญ่บนหัว ซึ่งเป็นสารประกอบเคอราทิน ภายในเป็นโพรงกลวง ปัจจุบันยังไม่มีทราบถึงสาเหตุการมีของหงอนนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนสันนิษฐานว่า มีไว้เพื่อช่วยในการส่งเสียงร้อง แบบเดียวกับไดโนเสาร์บางสกุลที่มีหงอนบนหัว เช่น พาราซอโรโลฟัส หรือแลมบีโอซอรัส เสียงที่ได้จะเป็นเสียงทุ้มต่ำ ซึ่งนกแคสโซแวรีจัดเป็นนกที่มีเสียงร้องต่ำที่สุดในโลก และยังมีเหตุผลนอกเหนือไปจากนี้ คือ ใช้ในการประกาศเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือเป็นการแสดงออกทางเพศ นกแคสโซแวรีในวัยอ่อน หงอนดังกล่าวจะยังไม่ปรากฏ แต่จะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อนกโตขึ้นตามวัย ซึ่งหงอนดังกล่าวสามารถยาวได้ถึง 15-17 เซนติเมตร[3][4]

นิ้วตีนของนกแคสโซแวรี มี 3 นิ้ว แตกต่างไปจากแรไทต์อย่างนกกระจอกเทศที่มี 2 นิ้ว ทุกนิ้วมีกรงเล็บที่แหลมคม โดยเฉพาะนิ้วกลางที่ยื่นยาวที่สุด ซึ่งยาวได้ถึง 5 นิ้ว (12 เซนติเมตร) เป็นอาวุธที่ใช้เป็นเครื่องป้องกันตัวด้วยการกระโดดถีบ ด้วยความแรง 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[4]

การกระจายพันธุ์และการแพร่พันธุ์[แก้]

นกแคสโซแวรีกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นของเกาะนิวกินีและบางส่วนของออสเตรเลีย เช่น รัฐควีนส์แลนด์ เป็นนกที่หากินตามลำพัง อาหารตามปกติได้แก่ ผลไม้, ลูกไม้ต่าง ๆ ที่ตกหล่นบนพื้นหรือขึ้นตามพุ่มเตี้ย ๆ, เห็ดรา และสามารถกินเนื้อสัตว์ได้ด้วย เช่น สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ๆ รวมถึงซากสัตว์ เวลาในการออกหากินอยู่ในช่วงโพล้เพล้ทั้งในตอนเช้ามืดและตอนเย็น[5][4]

มีฤดูผสมพันธุ์ราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน โดยตัวผู้จะเป็นฝ่ายตามหาตัวเมีย หลังจากจับคู่กันได้ประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะผสมพันธุ์กัน หลังจากผสมพันธุ์แล้ว นกตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ 5-6 ฟอง บนพื้นดินในรังที่ตัวผู้สร้างไว้จากใบไม้ต่าง ๆ เปลือกไข่สีเขียวเข้มหรือสีเขียวอ่อน เสร็จแล้วจะจากไป ปล่อยให้นกตัวผู้เป็นฝ่ายกกไข่และเลี้ยงดูลูกนกที่ฟักออกมา นกตัวเมียจะผสมพันธุ์กับตัวผู้หลายตัวโดยมีรัศมีการหาคู่กว้างประมาณ 7 กิโลเมตร ตัวผู้ใช้เวลาฟักประมาณ 50-52 วัน ลูกนกที่เกิดมาใหม่จะมีขนสีน้ำตาล สีสันไม่สดใส และยังไม่มีหงอน ตัวผู้ใช้เวลาเลี้ยงลูกนานประมาณ 9 เดือน ก่อนที่จะแยกย้ายกันไปหากินตามอิสระ มีอายุขัยได้ถึง 50 ปี หรือมากกว่านั้นในที่เลี้ยง แต่อายุโดยเฉลี่ยในป่าเพียง 12-19 ปี เท่านั้น[3][4]

การจำแนก[แก้]

นกแคสโซแวรีปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด โดยมีบางชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว

สถานะและความสัมพันธ์กับมนุษย์[แก้]

นกแคสโซแวรี โดยเฉพาะนกแคสโซแวรีใต้ นับเป็นนกที่ได้ชื่อว่าอันตรายที่สุดในโลก เนื่องจากมีนิสัยหงุดหงิดหรือก้าวร้าวได้ง่าย เมื่อจะทำร้ายผู้รุกรานจะใช้การกระโดดถีบอย่างรุนแรง จากกรงเล็บที่แหลมคมทำให้ได้รับแผลฉกรรจ์ได้ มีมนุษย์ถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตมาแล้ว[4]

นกแคสโซแวรี วิ่งได้เร็วเต็มที่ได้ถึง 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเมื่อต้องการหนีสามารถที่จะลงน้ำว่ายน้ำได้ด้วย จำนวนประชากรคาดว่ามีประมาณ 1,500-3,000 ตัว ในที่สถานที่เลี้ยง ในออสเตรเลียมี 40 ตัว นอกนั้นกระจายไปตามสวนสัตว์ต่าง ๆ ทั่วโลก สาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนประชากรนกลดลง คือ การตัดไม้ทำลายป่า ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา คาดว่ามีนกแคสโซแวรีหายไปถึงร้อยละ 50

ปัจจุบัน ในบางพื้นที่ของออสเตรเลีย นกแคสโซแวรีใต้ บางครั้งจะออกมาหากินตามท้องถนน ชายหาด หรือในชุมชนเมืองที่มนุษย์อยู่อาศัยด้วย ซึ่งอาจทำอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยได้[5][4]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Brands, S. (2012)
  2. Gotch, A.T. (1995)
  3. 3.0 3.1 3.2 นกคาสโซวารี นักเลงใหญ่แห่งป่าลึก
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 Cassowary Bird: Feathered Velociraptor, "Biggest & Baddest" สารคดีทางอนิมอลพลาเน็ต. ทางทรูวิชั่นส์: อังคารที่ 15 มกราคม 2556
  5. 5.0 5.1 "นกแคสโซแวรี..ขี้อาย สยบศัตรูด้วยถีบมหากาฬ". ไทยรัฐ. 2009-11-03.
  6. "Invasion of the Cassowaries". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-12-13. สืบค้นเมื่อ 2013-01-15.

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Casuarius ที่วิกิสปีชีส์