นกขุนแผน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกขุนแผน
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Corvidae
สกุล: Urocissa
สปีชีส์: U.  erythrorhyncha
ชื่อทวินาม
Urocissa erythrorhyncha
(Boddaert, 1783)
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของนกขุนแผน
ชื่อพ้อง
  • Cissa erythrorhyncha

สำหรับนกขุนแผนจำพวกอื่น ดูที่: วงศ์นกขุนแผน

นกขุนแผน หรือ นกสาลิกาดง (อังกฤษ: Red-billed blue magpie; ชื่อวิทยาศาสตร์: Urocissa erythrorhyncha) จัดเป็นนกขนาดเล็กชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Corvidae อันเป็นวงศ์เดียวกับกา

นกขุนแผนเป็นนกที่มีสีสันสวยงามมาก กล่าวคือ โดยมีบริเวณหัวถึงลำคอสีดำ ขนบริเวณลำตัวมีสีฟ้าแกมม่วง ส่วนโคนปีกมีสีฟ้าแกมม่วง ด้านปลายปีกสีขาว มีหางสวยงามและยาวมาก มีสีฟ้าแกมม่วงส่วนบริเวณปลายหางมีสีขาว มีขนหางคู่บนยาวกว่าคู่อื่น ๆ ปากสีแดง ขาสีแดงส้มและตาสีดำ ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก จนยากที่จะแยกได้ออกจากการมองแค่ภายนอก

ความยาวจากปลายปากถึงปลายหางประมาณ 65-68 เซนติเมตร และมีขนหางยาวมากราว 37-42 เซนติเมตร หรือ 2 ใน 3 ของความยาวจากปากถึงปลายหาง ขนหางค่อนข้างแข็ง มี 12 เส้น ซึ่งแต่ละคู่ยาวลดหลั่นกันลงไป โดยมีขนหางคู่บนสุดยาวที่สุด ซึ่งยาวกว่าขนหางคู่ที่ 5 อย่างเห็นได้ชัด ปลายขนหางแต่ละเส้นมีลักษณะมน ขนหางทุกเส้นมีสีฟ้าอมม่วง แต่ปลายขนหางแต่ละเส้นเป็นแถบสีขาว และเฉพาะปลายขนหางคู่ที่ 1 ถึงคู่ที่ 5 มีแถบสีดำถัดจากแถบสีขาวด้วย ปลายขนหางคู่ที่ 6 ซึ่งเป็นคู่บนสุดโค้งลงมาเล็กน้อย

พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่เชิงเขาหิมาลัยจนถึงจีน, พม่า และภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบเกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้

มีพฤติกรรมชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็กๆ ตามป่าละเมาะ, ป่าโปร่ง มักส่งเสียงร้องขณะที่มันเริ่มออกหากิน บางเวลาอาจลงมาหากินตามพื้นดินหรือซอกก้อนหิน ซอกไม้ผุ ๆ อาหารได้แก่ แมลงชนิดต่าง ๆ เช่น ด้วง, ปลวก, หนอน, หอยทาก, กิ้งก่า, จิ้งจก, จิ้งเหลน, งู รวมทั้งปาด, ตะขาบ และหนู แม้แต่ไข่นกและลูกนกชนิดอื่นในรัง รวมทั้งซากสัตว์ด้วย

ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จะทำรังโดยนำกิ่งไม้เล็กมาขัดสานกันเป็นแอ่งตรงกลาง และรองพื้นด้วยรากไม้หรือใบไม้ที่พอจะหาได้ในบริเวณนั้น ตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ 3-6 ฟอง อยู่สูงจากพื้น 6-8 เมตร มีสถานะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 แต่ก็นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเพราะสีสันและหางที่สวยงาม[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2012). "Urocissa erythrorhyncha". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2013.2. สืบค้นเมื่อ 26 November 2013.
  2. "นกขุนแผน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-01. สืบค้นเมื่อ 2010-06-22.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Urocissa erythrorhyncha ที่วิกิสปีชีส์