นกขมิ้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกขมิ้น
นกขมิ้นท้ายทอยดำ (Oriolus chinensis)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
อันดับย่อย: Passeri
วงศ์: Oriolidae
Vigors, 1825
สกุล

นกขมิ้น (อังกฤษ: Oriole, Old world oriole) เป็นวงศ์ของนกที่มีสายวิวัฒนาการอยู่ระหว่างวงศ์นกแซงแซว (Dicruridae) และวงศ์นกกา (Corvidae) ใช้ชื่อวงศ์ว่า Oriolidae แต่มีรูปร่างลักษณะและอุปนิสัย แตกต่างจากนกทั้งสองวงศ์นี้มาก คือ นกกาและนกแซงแซวส่วนใหญ่จะมีลำตัวเพรียว หางยาว หรือค่อนข้างยาว นิสัยค่อนข้างก้าวร้าวไม่กลัวคน แต่นกขมิ้นซึ่งเป็นนกที่มีลำตัวขนาดกลางถึงขนาดเล็ก มีความยาวตัวประมาณ 20-27 เซนติเมตร ขนาดเท่านกเอื้ยง หางสั้น สีตัวส่วนใหญ่เป็นสีเหลือง มีบางชนิดเป็นสีอื่นบ้าง จะงอยปากแข็งแรงและงุ้มลง ปีกยาวแหลม นกตัวผู้มีสีสดใสสวยงามกว่านกตัวเมีย ลูกนกมีลายขีดสีดำกระจายอยู่ทั่วบริเวณท้อง

นกขมิ้นเป็นนกที่ชอบอาศัยอยู่ตามต้นไม้ในป่าบก, ป่าชายเลน และตามสวนผลไม้ ส่วนใหญ่หากินอยู่ตามเรือนยอดหรือพุ่มใบของต้นไม้ รวมอยู่ กับนกชนิดอื่น ๆ เช่น นกแซงแซว, นกพญาไฟ และนกไต่ไม้ พบหากินเงียบ ๆ อยู่ตัวเดียวหรือเป็นคู่ ไม่ค่อยพบลงมาหากินตามพื้นล่าง กินผลไม้, แมลง และน้ำหวานดอกไม้เป็นอาหาร บินได้เร็วและทนนาน ชอบทำรังอยู่ตาม ง่ามไม้บนต้นไม้สูง รังอยู่สูงประมาณ 4-10 เมตร สร้างรังเป็นรูปถ้วย ก้นลึก ทำด้วยต้นหญ้าหรือเส้นใยพืชร้อยถักอย่างประณีต วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ทั้งพ่อและแม่นกจะช่วยกันกกไข่และเลี้ยงลูก นกขมิ้นชอบสร้างรังใกล้ ๆ รังของนกแซงแซวเพื่อให้นกแซงแซวช่วยป้องกันไข่และลูกนกจากศัตรู เนื่องจากนกแซงแซวจะป้องกันไข่และลูกนกของตัวเองจากศัตรู ดังนั้นจึงช่วยป้องกันไข่ และลูกนกขมิ้นด้วย [1]

นกขมิ้นพบทั่วโลก 29 ชนิด พบในประเทศไทย 6 ชนิด ได้แก่

ชื่อ ชื่อวิทยาศาสตร์ สถานะ
นกขมิ้นหัวดำเล็ก Oriolus xanthonotus
นกขมิ้นท้ายทอยดำ Oriolus chinensis นกอพยพ
นกขมิ้นปากเรียว Oriolus tenuirostris นกอพยพ
นกขมิ้นหัวดำใหญ่ Oriolus xanthornus
นกขมิ้นแดง Oriolus traillii
นกขมิ้นขาว Oriolus mellianus นกอพยพ หายาก

[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. Walther, B; Jones, P (2008). "Family Oriolidae (Orioles and Figbirds)]". In Josep, del Hoyo; Andrew, Elliott; David, Christie. Handbook of the Birds of the World. Volume 13, Penduline-tits to Shrikes. Barcelona: Lynx Edicions. pp. 692–713. ISBN 978-84-96553-45-3.
  2. Walters, Michael P. (1980). Complete Birds of the World. David & Charles PLC. ISBN 0715376667.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]