นกกีวีสีน้ำตาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกกีวีสีน้ำตาล
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Apterygiformes
วงศ์: Apterygidae
สกุล: Apteryx
สปีชีส์: A.  australis
ชื่อทวินาม
Apteryx australis
Shaw, 1813
ชนิดย่อย[2]
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์

นกกีวีสีน้ำตาล หรือ นกกีวีสีน้ำตาลใต้ หรือ นกกีวีธรรมดา (อังกฤษ: Brown kiwi, Southern brown kiwi, Common kiwi[3]; ชื่อวิทยาศาสตร์: Apteryx australis) เป็นนกกีวีชนิดหนึ่ง จัดเป็นนกกีวีชนิดที่รู้จักกันมากที่สุด

มีรูปร่างลักษณะทั่วไปเหมือนกับนกกีวีสีน้ำตาลเกาะเหนือ (A. mantelli) ที่ถูกแยกชนิดกันชัดเจนเมื่อปี ค.ศ. 2000 คือ มีขนปกปุยปกคลุมลำตัวสีน้ำตาล จะงอยปากแหลมยาว ปีกมีขนาดสั้นซ่อนอยู่ภายใต้ขนที่หนา พบกระจายพันธุ์เฉพาะเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ตั้งแต่บริเวณทิศใต้จนถึงทิศตะวันตก และยังสามารถพบได้ในพื้นที่ที่ราบสูง โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ[2]

  • A. a. australis เป็นชนิดที่พบได้ทั่วไป
  • A. a. lawryi พบกระจายพันธุ์ในพื้นที่ห่างไกลของทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะใต้ แถบฟยอร์ดแลนด์ มีความสูง 40 เซนติเมตร[3]

นกกีวีสีน้ำตาล เป็นนกที่มีอายุขัยได้ถึง 30 ปี และเป็นนกที่มีขนาดของไข่ใหญ่ที่สุดในบรรดานกทั้งหมดเมื่อกับขนาดลำตัว ไข่ของนกกีวีมีขนาดใหญ่กว่าไข่ไก่ถึง 6 เท่า มีน้ำหนักถึง 1 ปอนด์ และเมื่อตัวเมียตั้งท้อง ไข่ในช่องท้องเมื่อมีการพัฒนาจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งดันอวัยวะภายในของนกตัวเมียจนทิ่มกับกระดูก และท้องโย้จนแทบติดกับพื้นดิน ซึ่งนกตัวเมียจะได้รับความเจ็บปวดมาก จนบางครั้งต้องลงไปแช่ตัวในน้ำ ตัวเมียใช้ระยะเวลาการตั้งท้องนานเพียง 2 สัปดาห์ โดยวางไข่ครั้งละ 1 ฟอง ซึ่งตัวผู้จะทำหน้าที่เป็นผู้ฟัก โดยใช้ระยะเวลานานกว่า 80 วัน หรือ 3 เดือน เท่ากับการตั้งท้องของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเท่ากันโดยเฉลี่ย ลูกนกเมื่อฟักออกมา ยังไม่ต้องกินอาหาร เนื่องจากมีถุงไข่แดงติดกับตัวมาด้วย ลูกนกกีวีเมื่อฟักออกมาจะมีขนปกคลุมทั้งตัวแตกต่างจากนกจำพวกอื่นอย่างชัดเจน นกกีวีตัวเมียหนึ่งตัวจึงสามารถมีลูกได้ทั้งหมด 30 ตัวตลอดอายุขัย และตัวผู้ขณะที่ฟักไข่ ในบางครั้งที่ต้องออกหาอาหาร ไข่จะไม่ได้รับความอบอุ่น ความหนาวเย็นของอากาศจะซึมแทรกเข้าไปในไข่ ซึ่งอุณหภูมิแบบนี้จะส่งผลต่อพัฒนาการของตัวอ่อนที่อยู่ภายใน แต่สำหรับนกกีวีสีน้ำตาลแล้ว ช่วงเวลานั้นตัวอ่อนจะหยุดพัฒนาการได้นานราว 1 ชั่วโมง[4]

นอกจากนี้แล้ว อุณหภูมิโดยปกติในร่างกายของนกกีวีสีน้ำตาลจะอยู่ที่ 7 องศาฟาเรนไฮน์ นับว่าต่ำที่สุดในบรรรดานกทั้งหมด เนื่องจากต้องการเก็บความอบอุ่นไว้ในร่างกาย เมื่อต้องอาศัยอยู่ในป่าที่มีความหนาวเย็น

นกกีวีสีน้ำตาล เป็นสัตว์ขี้ตื่น ขี้อาย มักชอบหลบตัวในพุ่มไม้ อันเป็นสัญชาตญาณที่ตกทอดมาในพันธุกรรมตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เพื่อหลบหนีสัตว์นักล่าหรือสัตว์กินเนื้อ เช่น สโทธ ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น อันเป็นภัยคุกคาม นกกีวีสีน้ำตาลอาศัยอยู่ในโพรงที่ขุดขึ้นบนพื้นดิน และมีการป้องกันตัวด้วยการกระโดดถีบด้วยอุ้งตีน[4]

รูปภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. BirdLife International (2012). "Apteryx australis". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2012.1. สืบค้นเมื่อ 16 July 2012.
  2. 2.0 2.1 จาก itis.gov
  3. 3.0 3.1 Davies, S.J.J.F. (2003). "Kiwis". In Hutchins, Michael. Kiwis. 8 Birds I Tinamous and Ratites to Hoatzins (2 ed.). Farmington Hills, MI: Gale Group. pp. 89–92. ISBN 0-7876-5784-0.
  4. 4.0 4.1 New Zealand ดินแดนแห่งนก, "Mutant Planet", ทางแอนิมอลแพลนเน็ต. สารคดีทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 22 ธันวาคม 2555

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Apteryx australis ที่วิกิสปีชีส์