ธัมมิกประชาธิปไตย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธัมมิกประชาธิปไตย หมายถึง ประชาธิปไตยที่ประกอบด้วยธรรมที่ครบวงจรกล่าวคือ ด้านการศึกษา การปกครอง เศรษฐกิจ และการประเมินผลต้องประกอบด้วยธรรมทั้งหมด ซึ่งเกิดมาจากการบูรณาการโดยดุลยภาพของโอวาทปาติโมกข์ พุทธทาสปณิธาน เศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิด[แก้]

ธัมมิกประชาธิปไตยที่มีความสมบูรณ์ทั้งระบบโดยสอดคล้องกับโอวาทปาติโมกข์ พุทธทาสปณิธาน และเศรษฐกิจพอเพียง โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน ดังนี้ การศึกษาวิถีพุทธ เป็นการศึกษาตามหลัก ศีล สมาธิ ปัญญาจนสามารถเปลี่ยนปุถุชนให้เป็นกัลยาณชนคือคนใจสูง รู้สึกรับผิดชอบส่วนรวมเช่นกินขนมในรถแล้วไม่ทิ้งถุงพลาสติกข้างถนนเป็นต้น แม้จะไม่ถึงขั้นเป็นอริยชน แต่ก็ได้ชื่อว่า ฆราวาสวิถีพุทธ หรือธัมมิกฆราวาส ฝึกฝนตนด้วยศีล สมาธิ ปัญญา จนกลายเป็นฆราวาสวิถีพุทธหรือธัมมิกฆราวาส คือเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นกัลยาณชน

การปกครองวิถีพุทธ ฆราวาสวิถีพุทธเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวิถีพุทธจากพรรคการเมืองวิถีพุทธเพื่อสร้างรัฐสภาวิถีพุทธ บุคคลที่ประกอบด้วยธรรมหรือบุคคลวิถีพุทธนั้นมีกุศลกรรมบถ 10 เป็นตัวชี้วัด จึงจะสามารถสร้างธัมมิกนิติบัญญัติ ธัมมิกบริหารและธัมมิกตุลาการให้เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ

เศรษฐกิจวิถีพุทธ เศรษฐกิจพอเพียงที่คนมีความสุข ชุมชนพึ่งตนได้ ธรรมชาติยั่งยืนพอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกันบนฐานของความรู้คู่คุณธรรม

การประเมินผลวิถีพุทธ[แก้]

การประเมินผลวิถีพุทธ จำแนกได้ 4 ประการ

  1. กายภาวิตา มีกายเจริญแล้ว หมายถึงมีปัจจัย 4 คือ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคอย่างพอดีเป็นตัวชี้วัด
  2. สีลภาวิตา มีศีลเจริญแล้ว หมายถึง สังคมที่ดีมีศีล 5 เป็นตัวชี้วัด
    1. มีชีวิตที่ปลอดภัย ไม่อยู่ท่ามกลางสงครามและการก่อการร้าย
    2. มีทรัพย์สินที่ปลอดภัย ไม่อยู่ท่ามกลางโจร และคนฉ้อฉลโกงกิน
    3. มีคนรักที่ปลอดภัย จากการข่มเหงหรือพรากคนรักไปจากเรา
    4. มีการรับรู้ความจริงที่ปลอดภัย ไม่ถูกปิดหูปิดตาจากความจริง
    5. มีสติสัมปชัญญะปลอดภัย ไม่ถูกสารพิษมาทำลายเซลล์สมองและสติสัมปชัญญะ
  3. จิตตภาวิตา มีจิตเจริญแล้ว มีคุณภาพจิต 3 คือ ปริสุทโธ จิตบริสุทธิ์ สมาหิโต จิตมั่นคง กัมมนีโย จิตควรแก่การงาน และพรหมวิหารธรรม 4 คือเมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุขใช้กับผู้มีความสุขอยู่แล้ว กรุณา คิดช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ใช้กับผู้มีความทุกข์ มุทิตา พลอยชื่นใจเมื่อผู้อื่นทำความดีใช้กับมนุษย์และเทวดา อุเบกขา ปล่อยวางเมื่อรู้จังหวะของสิ่งทั้งหลายจนใจผ่อนคลายสู่สมดุลใช้กับใจของตนเองเป็นตัวชี้วัด
  4. ปัญญาภาวิตา มีปัญญาเจริญแล้ว มีการเห็นอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นตัวชี้วัด

อ้างอิง[แก้]

  • จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์.สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์.กรุงเทพมหานคร,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,2548.
  • ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์. นักการเมืองไทย:จริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอรัปชั่น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สายธาร, 2549.
  • ประเวศ วะสี. ยุทธศาสตร์รัตนโกสินทร์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน, 2550.
  • มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฏกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2539.
  • พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). พระไตรปิฎก สิ่งที่ชาวพุทธต้องรู้. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม, 2549.
  • พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต).รัฐศาสตร์และจริยธรรมนักการเมืองแนวพุทธ. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม, 2549.
  • พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส อินฺทปญฺโญ).ธรรมะกับการเมือง,กรุงเทพมหานคร:สุขภาพใจ,2549
  • พระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาส อินฺทปญฺโญ). สันติภาพของโลก. ไชยา: ธรรมทานมูลนิธิ, 2531.
  • พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส. “รูปแบบการจัดการความขัดแย้งโดยพุทธสันติวิธีด้วยวิถีแห่งบูรณาการ: ศึกษาวิเคราะห์กรณีลุ่มน้ำแม่ตาช้าง จ.เชียงใหม่”. ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2548.
  • นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ.การใช้การตัวชี้วัดเพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจพอเพียงโดยเปรียบเทียบกับพุทธเศรษฐศาสตร์. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2549.
  • นางมยุรา อุรเคนทร์.พระพุทธศาสนากับการเมือง:กรณีศึกษาการปฏิบัติตนของนักการเมืองในปัจจุบัน. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2546.