ธรรมศาสตรบัณฑิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ธรรมศาสตร์บัณฑิต)

ธรรมศาสตรบัณฑิต เป็นชื่อหลักสูตรการศึกษา ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) ซึ่งเปิดเป็นตลาดวิชา (ไม่มีการสอบเข้า) ผู้สำเร็จหลักสูตรนี้ จะได้รับปริญญาเรียกว่า ปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิต (ธ.บ.) หลักสูตรนี้เปิดสอนระหว่าง พ.ศ. 2477 จนถึง พ.ศ. 2491 ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัย เป็น ธรรมศาสตร์ ในเวลาต่อมา

ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต

เมื่อแรกก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 มีหลักสูตรที่เปิดสอน 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต (ธ.บ.) กล่าวคือ เป็นซึ่งเน้นวิชากฎหมายเป็นหลัก และหลักสูตร วิชาการบัญชี

การเรียนหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต ทำพิธีเปิดเมื่อเริ่มภาคการศึกษา วันที่ 27 มิถุนายน โดยมีระยะเวลาภาคการศึกษาที่ 1 ระหว่าง วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 กันนายน และทำพิธีเปิดภาคการศึกษที่ 2 วันที่ 10 ธันวาคม มีระยะเวลาภาคการศึกษาที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม – 15 มีนาคม

ทวี กสิยพงศ์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์และศิษย์เก่าของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า[1]

ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าได้มีโอกาสพบกับท่านผู้ประศาสน์การ ได้เรียนถามท่านถึงความคิดที่วางหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตขึ้นในสมัยนั้นว่าท่านมีความประสงค์อย่างไร ท่านผู้ประศาสน์การได้กรุณาชี้แจงให้ฟังว่าหลักสูตร ธ.บ. ที่วางไว้นั้น ได้คำนึงถึงการที่จะให้นักศึกษาที่สำเร็จไปมีโอกาสประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวง โดยมิให้จำกัดอยู่เพียงวิชาทางกฎหมาย แต่อย่างเดียวเพราะว่าอาชีพนี้มีจำกัดอยู่เฉพาะผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้น ท่านต้องการให้จบปริญญา ธ.บ. สามารถเลือกอาชีพได้โดยกว้างโดยจะไปเป็นอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ เป็นนายตำรวจ สหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ในกระทรวงการคลัง การเศรษฐกิจ การทูต หรือจะรับราชการในกระทรวงได้เรียนระเบียบปฏิบัติราชการทุกกระทรวง รวมทั้งอยากจะไปทำการค้าก็ได้ เพราะเรียนรู้หลักเศรษฐศาสตร์แล้ว ท่านบอกว่าท่านภูมิใจเหลือเกินที่ลูกศิษย์ลูกหาชาวธรรมศาสตร์ของท่านมีอยู่ในทุกสาขาอาชีพ แม้แต่ผู้ที่เรียนไม่จบปริญญา ก็ยังสามารถใช้ความรู้ทางวิชาดนตรีที่ร่ำเรียนเตรียมปริญญาเป็นหัวหน้าดนตรีได้ และการที่ท่านวางหลักสูตรให้นักศึกษาชั้นปริญญาตรีทุกคนได้วิชาเศรษฐศาสตร์ และลัทธิเศรษฐกิจด้วยนั้น ก็โดยมีเหตุผลว่ามนุษยชาติที่อยู่ร่วมกันในสังคมนั้นต้องมีเศรษฐกิจเป็นรากฐานนักกฎหมายต้องรู้หลักเศรษฐกิจด้วย เพื่อจะได้รู้ถึงพื้นฐานของสังคม กฎหมายที่ออกมาก็ต้องคำนึงถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสังคม เพราะฉะนั้นท่านจึงเห็นว่านักกฎหมายจะต้องเรียนรู้หลักเศรษฐศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย

ระดับการศึกษา[แก้]

หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตมีสามระดับ ดังนี้

ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นักศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิตรุ่นแรก จบการศึกษาปี พ.ศ. 2480
  • หลักสูตรปริญญาตรี มี 6 ภาคการศึกษา มีวิชาเรียน 28 วิชา เป็นวิชาเกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 13 วิชา กฎหมายอื่นๆ 12 วิชา วิชาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ 2 วิชา และวิชา "ระเบียบวิธีปฏิบัติราชการของทะบวงการเมือง" 1 วิชา
  • หลักสูตรปริญญาโท มี 4 ภาคการศึกษา แบ่งเป็น 4 สาขาวิชา ได้แก่ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการทูต
  • หลักสูตรปริญญาเอก มี 4 สาขาวิชาเช่นเดิม หลักสูตรกำหนดให้ต้องค้นและแต่งตำราภาษาไทย (theses) ส่งสำเนา 4 ชุดให้ประธานกรรมการ เพื่อนัดสอบปากเปล่า

เมื่อ พ.ศ. 2492 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แบ่งการศึกษาเป็น 4 คณะ แทนหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิต ได้แก่ นิติศาสตร์, พาณิชยศาสตร์และการบัญชี, รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ หลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตเป็นอันสิ้นสุด ณ บัดนั้น

จำนวนนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่เข้าเรียนหลักสูตร "ธรรมศาสตรบัณฑิต" ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 จนถึงรุ่นสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2491 มีทั้งสิ้น 21,053 คน และจบการศึกษาตามหลักสูตร 5,254 คน

หลักสูตรปริญญาตรี[แก้]

  • ระดับปริญญาตรี แบ่งเป็นหกภาคการศึกษา ดังต่อไปนี้
    • ภาคการศึกษาที่หนึ่งถึงที่สี่ เป็นการศึกษาวิชากฎหมายโดยเฉพาะซึ่งได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป ธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายการเลือกตั้ง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ กฎหมายอาญา วิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยทรัพย์ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการประกันด้วยบุคคลและทรัพย์ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยซื้อขาย แลกเปลี่ยนให้ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ จ้างแรงงาน จ้างทำของ รับขน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยยืม ฝากทรัพย์ เก็บของในคลังสินค้าประนีประนอม การพนันและขันต่อ กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน นายหน้า จัดการงานนอกสั่ง กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยบัญชีเดินสะพัด ตั๋วเงินประกันภัย กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทและสมาคม วิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายลักษณะพยานและจิตวิทยา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดก กฎหมายลักษณะล้มละลาย
    • ภาคการศึกษาที่ห้าถึงที่หก เป็นศึกษาวิชาเกี่ยวกับการเมือง คือ สิทธิเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ กฎหมายการคลัง กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง คดีบุคคล คดีอาญา กฎหมายปกครอง และระเบียบวิธีปฏิบัติราชการของทบวงการเมือง

อ้างอิง[แก้]

  • วีรศักดิ์ กีรติวรนันท์. "ประชาคมธรรมศาสตร์ : อัตลักษณ์แห่งพื้นที่สาธารณะ ท่าพระจันทร์". จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์. ฉบับที่ 13 มิถุนายน 2552 - พฤษภาคม 2553.
  1. ทวี กสิยพงศ์. (2515, สิงหาคม). "โรงเรียนกฎหมายของกรมหลวงราชบุรี". บทบัณฑิตย์, (เล่ม 26, ตอน 3). หน้า 433.