ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์)

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ท้าวทองกีบม้า (มารี กีมาร์)
หัวหน้าห้องเครื่องต้นในราชสำนักอยุธยา
เกิดประมาณ พ.ศ. 2201 หรือ 2202
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา
ถึงแก่กรรมพ.ศ. 2265 (63–64 ปี)
กรุงศรีอยุธยา อาณาจักรอยุธยา
คู่สมรสพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) (สมรส 2225; เสียชีวิต 2231)
บุตรฌอร์ฌึ ฟอลคอน (บุตรชาย)
ฌูเวา ฟอลคอน (บุตรชาย)
บิดาฟานิก กียูมาร์
มารดาอูร์ซูลา ยามาดะ
ตำแหน่งหัวหน้าห้องเครื่องต้นในราชสำนักอยุธยา
ศาสนาโรมันคาทอลิก

ท้าวทองกีบม้า มีชื่อตัวว่า มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา (โปรตุเกส: Maria Guyomar de Pinha) แต่มักเป็นที่รู้จักในชื่อ มารี กีมาร์ (ฝรั่งเศส: Marie Guimar;[note 1] พ.ศ. 2201 หรือ พ.ศ. 2202 – พ.ศ. 2265) เป็นภริยาของพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่รับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช[1]

เธอมีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง "ท้าวทองกีบม้า" ว่ากันว่านางได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส มีทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, ทองม้วน และหม้อแกง เป็นอาทิ[2] จนได้สมญาว่าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย"[3] แต่ก็มีกระแสคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อมกับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่นางจะเกิดเสียอีก เรื่องที่นางดัดแปลงขนมไทยจากตำรับโปรตุเกสเป็นคนแรกเห็นจะผิดไป[4]

ประวัติ[แก้]

ชาติกำเนิดและครอบครัว[แก้]

หมู่บ้านญี่ปุ่น ที่ตั้งถิ่นฐานของชาวญี่ปุ่นเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา

ท้าวทองกีบม้า มีชื่อเดิมว่า มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีญา เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส, เบงกอล และญี่ปุ่น[5] เป็นธิดาคนโตของฟานิก กียูมาร์ (Fanik Guyomar) บิดามีเชื้อสายโปรตุเกส, ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัว[6] กับมารดาชื่ออูร์ซูลา ยามาดะ (Ursula Yamada; ญี่ปุ่น: 山田ウルスラ) ลูกหลานผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น[6]

จากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2135 ตามคำบัญชาของโทโยโตมิ ฮิเดโยชิ ทำให้เซญโญราอิกเนซ มาร์แตงซ์ หรืออิกเนซ มาร์ตินซ์ (ญี่ปุ่น: イグネス・マルティンス) ย่าบ้างก็ว่าเป็นยายของท้าวทองกีบม้าจึงถูกนำตัวมาไว้ที่เมืองไฮโฟในเวียดนาม ระหว่างนั้นนางได้สมรสกับลูกหลานไดเมียวตระกูลโอโตโมะ ภายหลังครอบครัวของนางจึงได้อพยพมาลงหลักปักฐานในกรุงศรีอยุธยาอีกทอดหนึ่ง[3] แต่ข้อมูลบางแห่งก็ว่า ครอบครัวของนางไปอยู่ที่กัมพูชาก่อนถูกกวาดต้อนมาสู่กรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพบุกตีเมืองละแวก ในปี ค.ศ. 1593[7] จากข้อมูลนี้มารีอาอาจมีเชื้อสายเขมรหรือจามผ่านทางมารดาด้วยก็เป็นได้[8]

ครอบครัวของยามาดะเป็นตระกูลที่เคร่งครัดในคริสต์ศาสนา เซญโญราอิกเนซ มาร์แตงซ์ ผู้เป็นยาย อ้างว่านางเป็นหลานสาวของนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ (Saint Francis Xavier) นักบุญชื่อดัง ที่ได้ประทานศีลล้างบาปและตั้งศาสนนามให้[3] แต่อย่างไรก็ตามมารดาของท้าวทองกีบม้าค่อนข้างจะมีประวัติด่างพร้อยว่านางคบชู้กับบาทหลวงทอมัส วัลกัวเนรา (Thomas Vulguaneira) บาทหลวงเยสุอิตเชื้อสายซิซิลี และกล่าวกันว่าท้าวทองกีบม้า มิใช่ลูกของฟานิก สามีตามกฎหมายของนางยามาดะ แต่เกิดกับบาทหลวงรูปดังกล่าว ดังปรากฏใน Mémoire touchant l'enlèvement et la reddition de Madame Constance ความว่า[9]

"ส่วนนางอูร์ซูลนั้นเล่า พอเข้าพิธีแต่งงานกับสามีที่ถูกต้องนามว่าฟานิกได้ไม่ทันไร ก็ไปมีความสัมพันธ์กับบาทหลวงวัลกัวเนรา ซึ่งเป็นบาทหลวงชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเยสุอิต ผู้ออกแบบการก่อสร้างป้อมค่ายกำแพงเมืองให้สยาม มาดามฟอลคอน [ท้าวทองกีบม้า] ซึ่งผิวขาวยิ่งกว่านายฟานิกและน้อง ๆ ของเธอ ถือกำเนิดในช่วงเวลานี้เอง ปรากฏว่าบาทหลวงวัลกัวเนราถูกเรียกตัวไปประจำที่มาเก๊าเพราะมีข่าวอื้อฉาวเรื่องนี้เอง ว่ากันว่าท่านบาทหลวงข้ามแม่น้ำไปยังหมู่บ้านญี่ปุ่นอีกฟากฝั่งหนึ่งเพื่อไปหานาง"

ทั้งยังปราฏใน Mémoire en forme de lettre d'un anglais catholique เช่นกัน มีเนื้อความว่า[9]

"พ่อฟานิกคนนี้ เป็นคนผิวดำลูกครึ่งเบงกอลกับญี่ปุ่น [...] ที่ข้าพเจ้าระบุว่าเขาผิวดำนี้ มิพักต้องคัดค้านดอกว่าก็บุตรธิดาของเขาบ้างบางคนนั้นผิวขาว และคนอื่น ๆ กลับผิวคล้ำ ก็นี่ล่ะที่จะเป็นเหตุให้ต้องค้นหากันละสิ [...] ข้าพเจ้าจะบอกว่า นักบวชตาชาร์... ท่านทำให้ทุก ๆ คนหัวเราะกันอยู่เรื่อย เวลาที่พูดว่า มร. กงส์ต็องส์เรียกขานบาทหลวงเยสุอิตว่าเป็นพี่เป็นน้อง"

ทั้งนี้ไม่มีการชี้ชัดว่าฟานิกเป็นบิดาแท้จริงของมารีอาหรือไม่ ขณะที่งานเขียนของ อี. ดับเบิลยู ฮัตชินสัน (E. W. Hutchinson) ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจำนวนสองเล่ม ที่มีการกล่าวถึงประวัติชีวิตของท้าวทองกีบม้า คือ Adventure in Siam in the 17th Century. และ 1688 Revolution in Siam. โดยเมื่อกล่าวถึงฟานิกเขามักใช้คำว่า "ผู้เลี้ยงดู" หรือ "พ่อเลี้ยง"[10] แต่เอกสารบางชิ้นก็ว่า ท้าวทองกีบม้าผิวคล้ำละม้ายฟานิก และเอกสารของบาทหลวงฝรั่งเศส ต่างไม่ลังเลใจที่จะเรียกฟานิกว่าเป็นบิดาของนาง[10]

ชีวิตสมรส[แก้]

เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน)

มารีอาได้สมรสกับพระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะนั้นที่นางมีอายุได้ 16 ปี เบื้องต้นบิดาของนางแสดงความไม่พอใจในพฤติกรรมและวัตรปฏิบัติของลูกเขยที่หลงลาภยศสรรเสริญและมักในโลกีย์นัก[11] ฟอลคอนจึงแสดงความจริงใจด้วยยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนนับถือ เปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตามมารีอา[12] ฟานิกจึงเห็นแก่ความรักของคอนสแตนตินและยินยอมได้ทั้งสองสมรสกัน โดยมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมงานมงคลสมรสดังกล่าวด้วย[11]

หลังการสมรส มารีอาก็ยังดำรงชีวิตอย่างปกติไม่โอ้อวดในยศถาบรรดาศักดิ์ ซ้ำยังชี้ชวนให้สามีคือเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ประพฤติและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอขึ้นกว่าเก่า ดังปรากฏในงานเขียนของบาทหลวงโกลด เดอ แบซ (Claude de Bèze) ว่า[13]

"...สตรีผู้ถือมั่นในพระคริสตธรรมนี้มีอายุได้ไม่เกิน 16 ปี ได้หลีกหนีความบันเทิงเริงรมย์ทั้งหลาย อันสตรีในวัยเดียวและฐานะเดียวกันกับนางใฝ่หากันหนักหนานั้น แล้วมุ่งแต่จะรับใช้พระผู้เป็นเจ้ากับทำความสบายอกสบายใจแก่ท่านสามีเท่านั้น นางไม่ออกจากทำเนียบไปไหนมาไหนเลย นอกจากจะไปวัด..."

ท้าวทองกีบม้าและพระยาวิไชเยนทร์มีบุตรด้วยกันสองคนคือ จอร์จ ฟอลคอน (George Phaulkon) กับคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulkon) บ้างว่าชื่อฆวน ฟอลคอน (Juan Phaulkon)[14] แต่ก่อนหน้านี้ฟอลคอนมีบุตรสาวคนหนึ่งที่เกิดกับหญิงชาววังที่ได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพเพื่อผูกมัดฟอลคอนไว้กับราชสำนัก หลังสมรสแล้วมารีอาจึงส่งหญิงผู้นั้นไปเมืองพิษณุโลก[14][15] มารีอาก็แสดงน้ำใจด้วยนำบุตรของหญิงผู้นั้นมาเลี้ยงเองเป็นอย่างดี[13] นอกจากนี้เธอและสามียังอุปถัมภ์เด็กเข้ารีตกว่า 120 คน[16]

แต่ชีวิตสมรสของเธอก็ไม่ราบรื่นนัก เหตุก็เพราะความเจ้าชู้ของพระยาวิไชเยนทร์ที่นอกใจนางไปมีสัมพันธ์สวาทกับคลารา (Clara) นางทาสชาวจีนในอุปการะของเธอ มารีอาจึงขนข้าวของและผู้คนจากลพบุรีกลับไปที่กรุงศรีอยุธยามาแล้วครั้งหนึ่ง[17]

ชีวิตตกอับ[แก้]

แต่ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของเธอก็พลันดับวูบลงเมื่อพระยาวิไชเยนทร์ผู้เป็นสามี ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตรหลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน ขณะที่พระยาวิไชเยนทร์กำลังจะถูกประหารนั้น บางบันทึกระบุว่า "[นาง]เศร้าโศกร่ำไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ" บ้างก็ว่า นางมิได้ร่ำไห้ให้สามีแม้แต่น้อย แต่นางกลับถ่มน้ำลายรดหน้าสามี และไม่ยอมให้จูบลาลูก[18] บาทหลวงอาร์ตุส เดอ ลียอน (Artus de Lionne) ที่เข้ามาเผยแผ่พระศาสนาในช่วงนั้น ได้ระบุเหตุการณ์การจัดการทรัพย์สินของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ดังกล่าวว่า[19]

"...วันที่ 30 พฤษภาคม เขาได้เรียกตราประจำตำแหน่งของสามีนางคืนไป วันที่ 31 ริบอาวุธ เอกสาร และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย วันต่อมาได้ตีตราประตูห้องหับทั่วทุกแห่งแล้วจัดยามมาเฝ้าไว้ วันที่ 2 มิถุนายน ขุนนางผู้หนึ่งนำไพร่ 100 คนมาขนเงิน เครื่องแต่งบ้านและจินดาภรณ์ไป..."

บ้านหลวงรับราชทูตหรือบ้านวิชาเยนทร์ เคหาสน์อันเป็นที่พำนักของนางและสามีที่เมืองลพบุรี

แต่กระนั้นเธอยังลอบแบ่งทรัพย์สินและเครื่องเพชรออกเป็นสามกล่อง สองกล่องแรกไว้กับบาทหลวงเยสุอิต ส่วนอีกกล่องเธอฝากไว้ที่ทหารฝรั่งเศสชั้นนายร้อยไป แต่บาทหลวงเยสุอิตเกรงจะไม่ปลอดภัยจึงฝากไว้กับนายพันโบช็อง แต่เมื่อทั้งบาทหลวงและนายพันโบช็องมาถึงบางกอก นายพลเดฟาร์ฌ (General Desfarges) จึงเก็บทรัพย์สินทั้งหมดไว้เอง ครั้นเมื่อถึงเวลาคืนทรัพย์สินของฟอลคอนแก่ออกญาโกษาธิบดีผู้แทนของไทย "ทรัพย์สินที่คงเหลือมีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น"[20]

ด้วยเหตุนี้มารีอาจึงมีสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว นางต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับกับคุมขัง ดังปรากฏในบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ ความว่า[21]

"...สุภาพสตรีผู้น่าสงสารผู้นั้น ถูกโยนเข้าไปขังไว้ในโรงม้าอันคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็นและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ไม่มีข้าวของติดตัวไปเลย มีแต่ฟากสำหรับนอนเท่านั้น"

ท่ามกลางความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี เพราะผู้คุมที่เคยได้รับการอุปการะเอื้อเฟื้อจากนางได้ลักลอบให้ความสะดวกบางประการแก่นาง ขณะที่ชาวต่างด้าวคนอื่นจะถูกกักขังและทำโทษอย่างรุนแรง[21] ต่อมาได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง แต่โชคร้ายของนางยังไม่หมดเท่านี้ เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่ ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นบาทบริจาริกา มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต ดังปรากฏในพงศาวดารว่า[21]

"...ฝ่ายภรรยาฟอลคอน ได้ถูกรังแกข่มเหงต่าง ๆ บุตรพระเพทราชาก็เกลียดนัก ด้วยบุตรพระเพทราชาได้ไปเกี้ยวภรรยาฟอลคอน แต่ภรรยาฟอลคอนไม่ยอม บุตรพระเพทราชาจึงเกลียดและขู่จะทำร้ายต่าง ๆ"

ตลอดเวลาทุกข์ลำบากนี้ นางพยายามหาทุกวิถีทางที่จะติดต่อกับชาวฝรั่งเศส เพื่อขอออกไปจากแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา นายพลเดฟาร์ฌที่ประจำการที่ป้อมวิไชยเยนทร์ที่บางกอกได้ให้สัญญากับนางว่าจะพาออกไปพ้นกรุงสยาม แต่นายพลเดฟาร์ฌได้บิดพลิ้วต่อนาง[22]

"...ถ้าพวกเขาพามาดามกงส์ต็องส์ออกไปแล้วไซร้ พวกคริสตังทั้งนั้นจะได้รับการข่มเหงจากพวกคนสยาม และจะพากันถูกลงโทษประหารอย่างอเนจอนาถ พวกคนป่าเถื่อนเหล่านั้นจะทำลายโรงคลังสินค้าของฝรั่งเศสเสีย อันจะเป็นความเสียหายใหญ่หลวงแก่กิจการค้าของบริษัทในชมพูทวีป..."

ป้อมวิไชยเยนทร์หรือป้อมเมืองบางกอก

นอกจากปฏิเสธนางแล้ว ยังได้กักขังหน่วงเหนี่ยวนางในหอรบและควบคุมอย่างเข้มงวด บาทหลวงเดอ แบซ ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "...เรายังได้ทราบต่อมาอีกถึงความทุกข์ทรมานที่เธอได้รับจากการถูกทอดทิ้งในคราวนั้น แม้กระทั่งน้ำก็ไม่มีให้ดื่ม"[22] หลังจากนั้นประวัติของนางก็หายไปช่วงหนึ่ง และปรากฏอีกครั้งว่านางกลับมายังกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง มีชาวฝรั่งเศสบันทึกถึงนางว่า "...มาดามกงสต็องส์ได้ออกจากบางกอกด้วยกิริยาองอาจ ดูสีหน้ารู้สึกว่ามิได้กลัวตายเท่าใดนัก แต่มีความดูถูกพวกฝรั่งเศสมากกว่า..."[22] แต่ขณะเดียวกันนั้น นายพลเดฟาร์ฌซึ่งเดินทางออกจากสยามหวังคืนสู่ฝรั่งเศสโดยที่เขาหอบสมบัติของนางไปด้วย ก็ได้ถึงแก่มรณกรรมที่แหลมกู๊ดโฮป ทั้งลูกน้องที่เหลือยังถูกชาวเนเธอร์แลนด์จับกุมเป็นเชลยที่นั่น ทรัพย์สินของฟอลคอนที่นางฝากมาก็พลอยถูกยึดและอันตรธานไปด้วย[20]

หมอเอ็งเงิลแบร์ท เค็มพ์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) แพทย์ชาวเยอรมัน ได้กล่าวถึงนางกับบุตรอย่างไม่แน่ใจว่า "...เจ้าเด็กน้อยกับแม่คงเที่ยวขอทานเขากินมาจนทุกวันนี้ หามีใครกล้าเกี่ยวข้องด้วยไม่..."[22]

การรับราชการและบั้นปลายชีวิต[แก้]

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14

เรื่องราวของมาดามฟอลคอน หรือมารีอา กียูมาร์ ปรากฏอีกครั้ง โดยเธอเขียนจดหมายส่งไปยังบิชอปฝรั่งเศสในประเทศจีนเมื่อปี พ.ศ. 2249[23] เพื่อขอให้บาทหลวงกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฝรั่งเศสที่สามีเคยเป็นผู้อำนวยการแก่นางบ้าง และพรรณนาความทุกข์ยากลำบากของนาง ความว่า[22]

"...พระผู้เป็นเจ้าจะไม่พิศวงในเวรกรรมและภาวะของข้าพเจ้าในขณะบ้างละหรือ ตัวข้าพเจ้านั้นหรือ เมื่อก่อนจะไปในที่ประชุมชนแห่งใดในกรุงศรีอยุธยาก็ไปเช่นพระราชินี ข้าพเจ้าได้เคยรับพระมหากรุณาโดยเฉพาะโดยเอนกประการจากสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน บรรดาเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ทั้งปวงก็นับถือไว้หน้า ตลอดจนไพร่ฟ้าประชาชนทั้งหลายก็รักใคร่ [...] ต้องทำงานถวายตรากตรำด้วยความเหนื่อยยากและระกำช้ำใจ มืดมนอนธการไปด้วยความทุกข์ยาก ตั้งหน้าแต่จะคอยว่าเมื่อใดพระเจ้าจะโปรดให้ได้รับแสงสว่างบ้าง ตอนกลางคืนนางก็ไม่มีที่พิเศษอย่างใด คงแอบพักนอนที่มุมห้องพระเครื่องต้น บนดินที่ชื้น ต้องคอยระวังเฝ้ารักษาเฝ้าห้องเครื่องต้น..."

จากจดหมายดังกล่าวก็จะพบว่า ขณะนี้นางได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานเครื่องต้นในวังแล้ว สอดคล้องกับ จดหมายเหตุฝรั่งเศสโบราณ ที่บันทึกการปฏิบัติหน้าที่ในห้องเครื่องต้นของนาง ความว่า[22]

"...ภรรยา [ของนายคอนสแตนติน] เป็นท้าวทองกีบม้าได้เป็นผู้กำกับการชาวเครื่องพนักงานหวาน ท่านท้าวทองกีบม้าผู้นี้เป็นต้นสั่งสอนให้ชาวสยามทำของหวานคือขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอด ขนมทองโปร่ง ทองพลุ ขนมผิง ขนมฝรั่ง ขนมขิง ขนมไข่เต่า ขนมทองม้วน ขนมสัมปันนี ขนมหม้อแกง และสังขยา"

ในบันทึกของเมอซีเยอโชมง (คนละท่านกับเชอวาลีเยเดอโชมง) ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในปี พ.ศ. 2262-2267 ได้ให้ข้อมูลว่าหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน[22] ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมาก ๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งจอร์จ บุตรชายของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์ ดังปรากฏจากบันทึกของเมอซีเยอโชมง ความว่า[23]

"...พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หาจอร์จ บุตรของเมอซีเยอกงส์ต็องส์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายจอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดให้เอานายจอร์จไว้ใช้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เอง สอนภาษาไทยให้แก่นายจอร์จ..."

จากความเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดปรานบุตรคนโตของนางมาก ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ[24] จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนตินถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง[25]

ในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้[23][24] ที่สุดหลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ. 2265[23]

ชีวิตส่วนตัว[แก้]

หลวงสิทธิสยามการ (Luang Sitsayamkan) เขียนบรรยายถึงบุคลิกของท้าวทองกีบม้าในหนังสือ The Greek Favorite of The King of Siam ความว่า "ท้าวทองกีบม้าเป็นหญิงสาวชาวญี่ปุ่น รูปร่างผอม ผมดำ ตาสีน้ำตาล ผิวหน้าสะอาดสดใส สูงราว 5 ฟุต รูปร่างเล็ก สดใส ร่าเริง แม้จะไม่สวยมาก แต่ก็เป็นหญิง "ผิวคล้ำ" ที่ดึงดูดใจและมีรูปร่างดี" แต่ข้อความดังกล่าวนี้หลวงสิทธิสยามการมิได้อ้างอิงแหล่งที่มาว่าใครกล่าว[26] ขณะที่ Mémoire en forme de lettre d'un anglais catholique อธิบายว่านางมีผิวขาวกว่าบิดาและในกระบวนพี่น้อง[9] และสันนิษฐานว่าท้าวทองกีบม้าน่าจะแต่งกายอย่างชาวสยามหรืออาจจะแต่งอย่างญี่ปุ่น ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าพูดภาษาไทย, ญี่ปุ่น และโปรตุเกสในการสื่อสาร เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าและสามีน่าจะสื่อสารกันด้วยภาษาโปรตุเกสมากกว่าภาษาไทย[27] ทั้งยังมีรสนิยมการแต่งบ้านแบบญี่ปุ่น ที่ตกแต่งโดยภาชนะ, ฉากญี่ปุ่น หรือแม้แต่ภาพที่ฝาผนัง และเป็นที่แน่ชัดว่าเธอไม่ชอบอาหารไทย โดยให้เหตุผลว่าไม่ถูกจริต[28]

ท้าวทองกีบม้า นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และเป็นผู้ที่เคร่งครัดในศาสนา ในงานบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซ ได้กล่าวถึงพฤติกรรมท้าวทองกีบม้าหลังการสมรสกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ความว่า[13]

"...เขา [พระยาวิไชเยนทร์] ได้รับความชุ่มชื่นใจจากความเลื่อมใสศรัทธาและความกระตือรือร้นในพระศาสนาของภรรยาเป็นที่ยิ่ง จึงทำให้บ้านเรือนของเขานั้นเปรียบเสมือนว่าเป็นบ่อแห่งคุณธรรมความดีและพระศาสนา จนแทบกล่าวได้ว่า เป็นโรงธรรมยิ่งกว่าจะเป็นทำเนียบของขุนนางผู้ใหญ่ในแผ่นดินเสียอีก..."

นอกจากนี้นางมีใจเมตตาเผื่อแผ่คนทุกข์ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ท้าวทองกีบม้าได้อุดหนุนจุนเจือพวกเขาและเผยแผ่ศาสนาคริสต์ไปในตัว ดังปรากฏว่า[16]

"...ที่บ้านของนางจะมีลูกแกะ [ผู้ที่ได้รับการอบรมให้เข้ารีต] เช่นนั้นอยู่ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบตัว ซึ่งนางได้เลี้ยงดูเพื่อส่งเข้าคอกแห่งพระผู้เป็นเจ้า และเมื่อเด็กเหล่านั้นเติบใหญ่กล้าวัยขึ้นแล้ว ก็มอบเงินทองให้ไปตั้งตัว โดยเฉพาะหญิงสาวแล้วก็จัดให้มีเหย้าเรือนเป็นหลักเป็นฐานไปพร้อมกับกำชับให้ถือเอาแบบอย่างที่นางปฏิบัติอยู่..."

ในวันเซนา (Céna) ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาด้วยเป็นมื้อสุดท้ายที่พระเยซูร่วมโต๊ะอาหารกับพระสาวกหรือวันถือศีลอด ฟอลคอนและภริยาจะบำเพ็ญกุศลด้วยการอุทิศทรัพย์และแรงกายตนดูแลคนยากจน ด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่เว้นแม้แต่การคุกเข่าเพื่อล้างเท้าให้ จนนางได้รับการขนานนามว่า "มารดาแห่งพวกคริสตชน"[16]

นางมีความเคร่งครัดในศาสนามาก แม้ขณะที่นางถูกคุมขัง นางก็ลอบออกจากที่คุมขังไปยังวัดในหมู่บ้านโปรตุเกสตอนตีสามโดยเรือเปิดประทุน และต้องกลับมาให้ทันก่อนหกโมงเช้า บางครั้งนางต้องทนความหนาวของอากาศหรือความชุ่มโชกจากฝน บาทหลวงเดอ แบซ ได้บันทึกไว้ว่า "...นางถึงกับเป็นลมหมดสติแน่นิ่งอยู่เป็นเวลา 12 ชั่วโมง"[22]

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

ปกนิยายเรื่อง "ท้าวทองกีบม้า" โดยคึกเดช กันตามระ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าทำขึ้น[แก้]

เมื่อครั้งที่ท้าวทองกีบม้า เข้ารับราชการในห้องเครื่องต้น กำกับเครื่องชาวพนักงานหวานในพระราชวัง ก็ได้สร้างสรรค์ขนมหวานหลายชนิด โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมมารวมเข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังสอนความรู้ดังกล่าวแก่เหล่าสตรีในบัญชา จนตำรับเป็นที่เผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง[29] ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่แพร่เข้าสู่สังคมไทย[30] ด้วยเหตุนี้ท้าวทองกีบม้าจึงได้การยกย่องให้เป็น "ราชินีแห่งขนมไทย"[3][31] โดยขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าได้ดัดแปลงเป็นขนมหวานของไทยนั้น มีดังต่อไปนี้[32][33]

  1. ทองม้วน
  2. ทองหยิบ
  3. ทองหยอด
  4. ทองพลุ
  5. ทองโปร่ง
  6. ฝอยทอง[34]
  7. กะหรี่ปั๊บ
  1. ขนมหม้อแกง
  2. สังขยา
  3. ขนมผิง
  4. สัมปันนี
  5. ขนมขิง
  6. ขนมไข่เต่า
  7. ลูกชุบ

ขณะที่เรโกะ ฮาดะ สตรีชาวญี่ปุ่นเชื้อสายโปรตุเกส ได้เขียนบทความชื่อ Madame Marie Guimard Under the Ayudhya Dynasty of the Seventeenth Century ลงในวารสารสยามสมาคม เสนอว่า ท้าวทองกีบม้าได้สูตรทำขนมดังกล่าวมาจากมารดาซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่น เพราะก่อนหน้านี้ชาวโปรตุเกสได้เข้าไปในประเทศญี่ปุ่นและเผยแพร่การทำขนมโปรตุเกสแก่ชาวญี่ปุ่น ปัจจุบันขนมญี่ปุ่นชนิดหนึ่งที่มาจากตำหรับโปรตุเกสมีลักษณะเหมือนฝอยทอง ยังคงทำอยู่ที่เคียวโตะและคีวชูในปัจจุบัน[35]

แต่ในทางตรงกันข้าม ปรีดิ พิศภูมิวิถี อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้คัดค้านเรื่องท้าวทองกีบม้าดัดแปลงให้เป็นขนมหวานของไทย โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อม ๆ กับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่ท้าวทองกีบม้าจะเกิดเสียอีก ทั้งยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่านางได้ผลิตขนมดังกล่าวจริง ดังนั้นความคิดที่ว่าท้าวทองกีบม้าเป็นผู้ผลิตขนมหวานที่รับอิทธิพลโปรตุเกสได้เป็นคนแรกจึงเป็นเรื่องที่ผิด[4]

สัญลักษณ์ของขนมหวานไทย[แก้]

จากการที่ท้าวทองกีบม้า เป็นชาวไทยที่เกิดจากชุมชนลูกครึ่งในกรุงศรีอยุธยาที่มีเชื้อสายทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกส ทั้งยังมีชื่อเสียงด้านขนมหวานของไทยจนเป็นสัญลักษณ์ของขนมหวานไทย[36] เรื่องราวของนางได้ถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งของการจัดนิทรรศการระหว่างประเทศ เช่น

ในปี พ.ศ. 2550 มีการจัดเทศกาลไทย ครั้งที่ 8 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดซุ้มสาธิตหัตถกรรมการทำขนมไทย ได้นำเรื่องราวของท้าวทองกีบม้าซึ่งมีเชื้อสายญี่ปุ่นที่มาเผยแพร่วัฒนธรรมด้านการประดิษฐ์ขนมหวานของไทย[37] และในปี พ.ศ. 2555 มิวเซียมสยามได้จัดนิทรรศการพิเศษชุด "Olá Sião 500 ปี ไทย-โปรตุเกส" อันเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับความสัมพันธ์และการเข้ามาของชาวโปรตุเกสตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้มีการจัดห้องของท้าวทองกีบม้าโดยเฉพาะ ซึ่งมีนักแสดงรับบทเป็นท้าวทองกีบม้า คอยบอกเล่าเรื่องราวของขนมหวานที่เกิดจากการผสมผสานของวัฒนธรรมไทยและโปรตุเกส ที่ดัดแปลงและใช้วัตถุดิบภายในประเทศคือ แป้ง, น้ำตาล และไข่[38][39]

ทายาทในชุมชนกุฎีจีน[แก้]

ในปัจจุบันคาดว่ายังมีทายาทของท้าวทองกีบม้าสืบสายอยู่ในชุมชนกุฎีจีน กรุงเทพฯ เนื่องจากพบหลักฐานว่าทายาทชั้นหลานและเหลนของท้าวทองกีบม้า ซึ่งได้พลัดไปเมืองมะริดภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ได้อพยพกลับเข้ามายังสยามและตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนกุฎีจีน โดยหญิงคนหนึ่งที่เป็นทายาทนั้น เป็นยายของ "แองเจลินา ทรัพย์" ซึ่งเป็นภรรยาของหลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช (โรเบิร์ต ฮันเตอร์)[40]

วัฒนธรรมสมัยนิยม[แก้]

ละครโทรทัศน์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง บุพเพสันนิวาส (พ.ศ. 2561) และ พรหมลิขิต (พ.ศ. 2566) ออกฉายครั้งแรกทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "แม่มะลิ" หรือ "มารี กีมาร์" รับบทโดยสุษิรา แน่นหนา

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ชื่อของเธอมีการสะกดได้หลายทาง ได้แก่
    • Maria Guyomar da Pinha (มารีอา กียูมาร์ ดา ปีญา)
    • Maria Guiomar de Pina (มารีอา กียูมาร์ ดึ ปีนา)
    • Dona Maria del Pifia (ดอญญามาริอา เดล ปิเฟีย)
    • Madame Constance (มาดามกงส์ต็องส์; ภริยาของคอนสแตนติน ฟอลคอน)
    • Catherine de Torquema (แคเทอริน เด ตอร์เกมา)
    อนึ่ง "ท้าวทองกีบม้า" มิใช่ชื่อตัว หากเป็นชื่อตำแหน่งหัวหน้าวิเสทในพระราชสำนักตามพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง

อ้างอิง[แก้]

  1. Keat Gin Ooi, Southeast Asia: A Historical Encyclopedia, from Angkor Wat to East Timor, page 1070.
  2. "หลักสูตรการทำขนมหวานพื้นเมือง" (PDF). สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 "ท้าวทองกีบม้าเจ้าตำรับขนมไทย". กระทรวงวัฒนธรรม. 22 สิงหาคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-27. สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 ""ฝอยทอง" ไม่ใช่คำตอบ "ไทย-โปรตุเกส" เปิดลึกสายสัมพันธ์ 500 ปี และงานสัมมนาที่ว่างเปล่า..." มติชน. 21 กันยายน พ.ศ. 2554. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= และ |date= (help)
  5. Smithies, Michael (2002). Three military accounts of the 1688 "Revolution" in Siam. Itineria Asiatica. Bangkok:Orchid Press, p.100
  6. 6.0 6.1 Sitsayamkan, The Greek Favourite of the King of Siam, p. 17, มารดาของนางเป็นชาวญี่ปุ่นนาม อูร์ซูลา ยามาดะ มาจากญี่ปุ่นพร้อมครอบครัว ส่วนบิดาของนางชื่อนายฟานิก เป็นคนผิวดำและเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-เบงกอล (Her mother was a Japanese woman named Ursula Yamada, who came from a noted family which had emigrated from Japan. Her father was a Mr. Fanique. He was a dusky half-breed of Bengal and Japan.)
  7. นิธิ เอียวศรีวงศ์ (5 มีนาคม 2555). "โปรตุเกส-การเดินเรือ, เครื่องเทศ, และศรัทธา". ศิลปวัฒนธรรม. 33:5, หน้า 97
  8. นิธิ เอียวศรีวงศ์ (5 มีนาคม 2555). "โปรตุเกส-การเดินเรือ, เครื่องเทศ, และศรัทธา". ศิลปวัฒนธรรม. 33:5, หน้า 102
  9. 9.0 9.1 9.2 สปอร์แดช มอร์แกน (เขียน), กรรณิกา จรรย์แสง (แปล). เงาสยาม ยามผลัดแผ่นดินพระนารายณ์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554, หน้า 40.
  10. 10.0 10.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ "ขนมหวาน" ของท้าวทองกีบม้า "มาดามฟอลคอน" "ขนมไทย" หรือ "ขนมเทศ". กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 114
  11. 11.0 11.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555, หน้า 65.
  12. Smithies, Michael (2002). Three military accounts of the 1688 "Revolution" in Siam. Itineria Asiatica. Bangkok:Orchid Press, p.183
  13. 13.0 13.1 13.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555, หน้า 66.
  14. 14.0 14.1 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ "ขนมหวาน" ของท้าวทองกีบม้า "มาดามฟอลคอน" "ขนมไทย" หรือ "ขนมเทศ". กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 30
  15. "รักทรหดของท้าวทองกีบม้า". เดลินิวส์. 7 พฤษภาคม 2555. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. 16.0 16.1 16.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555, หน้า 67.
  17. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ "ขนมหวาน" ของท้าวทองกีบม้า "มาดามฟอลคอน" "ขนมไทย" หรือ "ขนมเทศ". กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 35
  18. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ "ขนมหวาน" ของท้าวทองกีบม้า "มาดามฟอลคอน" "ขนมไทย" หรือ "ขนมเทศ". กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 47
  19. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555, หน้า 68.
  20. 20.0 20.1 ไกรฤกษ์ นานา (เมษายน 2554). "สมบัติที่อยู่ในไหฝังดินใต้บ้าน เจ้าพระยาวิไชเยนทร์". หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-05-11. สืบค้นเมื่อ 26 มิถุนายน 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  21. 21.0 21.1 21.2 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555, หน้า 69.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 22.6 22.7 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555, หน้า 70-72.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555, หน้า 73.
  24. 24.0 24.1 Smithies, Michael (2002). Three military accounts of the 1688 "Revolution" in Siam. Itineria Asiatica. Bangkok:Orchid Press, p.180
  25. Reid, Anthony (Editor). Southeast Asia in the Early Modern Era. Cornell University Press, 1993, p.258
  26. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ "ขนมหวาน" ของท้าวทองกีบม้า "มาดามฟอลคอน" "ขนมไทย" หรือ "ขนมเทศ". กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 117
  27. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ "ขนมหวาน" ของท้าวทองกีบม้า "มาดามฟอลคอน" "ขนมไทย" หรือ "ขนมเทศ". กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 118-123
  28. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ "ขนมหวาน" ของท้าวทองกีบม้า "มาดามฟอลคอน" "ขนมไทย" หรือ "ขนมเทศ". กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 124
  29. "ทองหยิบ ทองหยอด". กระทรวงวัฒนธรรม. 29 สิงหาคม 2556. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-11-16. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  30. อาณัติ อนันตภาค. หลากชาติ หลายพันธุ์ ใต้ร่มเงาสยาม. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก. 2549, หน้า 52
  31. "ท้าวทองกีบม้า". ตำรับไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-30. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  32. "ขนมไทย". สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  33. "แรกทองหยิบ ฝอยทอง...มาสยาม". หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-11. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  34. Joe Cummings, Thailand: World Food, Page 87.
  35. ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย และปรามินทร์ เครือทอง. การเมืองในประวัติศาสตร์ "ขนมหวาน" ของท้าวทองกีบม้า "มาดามฟอลคอน" "ขนมไทย" หรือ "ขนมเทศ". กรุงเทพฯ : มติชน, 2546, หน้า 127
  36. "ชวนชม "ศาลาไทย" ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่". Giude @ Bangkok. 22 มิถุนายน 2556. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  37. "สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว กำหนดจัดงานเทศกาลไทย ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2550 ณ สวนสาธารณะโยโยงิเขตชิบุยะ กรุงโตเกียว". โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นแจ๊ท. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  38. "ชวนลูก "ฟัง คุย ดม ชม ชิม" ที่มิวเซียมสยาม". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 23 กุมภาพันธ์ 2555. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  39. ชาธิป สุวรรณทอง (21 กุมภาพันธ์ 2555). "500 ปี ไทย-โปรตุเกส นิทรรศการมีชีวิต". กรุงเทพธุรกิจ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-14. สืบค้นเมื่อ 15 กรกฎาคม 2557. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  40. "ทายาทของคอนสแตนติน ฟอลคอน". โพสต์ทูเดย์. 29 มีนาคม 2561. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]