ทุ่งศรีเมือง

พิกัด: 15°13′48.8″N 104°51′26.3″E / 15.230222°N 104.857306°E / 15.230222; 104.857306
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทุ่งศรีเมือง
อภิมหาเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ
ที่ตั้งอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์15°13′48.8″N 104°51′26.3″E / 15.230222°N 104.857306°E / 15.230222; 104.857306
ผู้ดำเนินการเทศบาลนครอุบลราชธานี
สถานะเปิด

ทุ่งศรีเมือง เดิมชื่อ "นาทุ่งศรีเมือง" เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่ในอดีตของจังหวัดอุบลราชธานี เดิมเป็นที่ทำนาของเจ้าเมืองอุบลราชธานี และใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเผาศพแบบนกหัสดีลิงค์ของเจ้าเมืองและเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมที่สำคัญของจังหวัด และเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมืองเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

ทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีหลังเก่า (ปัจจุบันคือ พิพิธภัณฑ์เมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไล) ประกอบด้วยคูเมืองเป็นน้ำล้อมลอบ มีประตูทางเข้า 4 ทิศ 4 ประตู ซึ่งตั้งชื่อตามนามของเจ้านายพื้นเมือง คือ

  • อุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล )
  • อุบลศักดิ์ประชาบาล
  • อุบลการประชานิตย์ (บุญชู พรหมวงศานนท์)
  • อุบลกิจประชากร

สิ่งก่อสร้างภายในทุ่งศรีเมือง[แก้]

ประกอบด้วย

  • อภิมหาเทียนพรรษาเฉลิมพระเกียรติ หรือต้นเทียนจำลอง สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ตอนกลางคืนจะสวยงามมาก
  • ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี สร้างขึ้นเมื่อปี 2515
  • อนุสาวรีย์พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี
  • ปฏิมากรรมสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) พระเถระที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักปราชญ์แห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ปฏิมากรรมพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) พระเถระที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ
  • อนุสาวรีย์แห่งความดี (Monument of Merit) เป็นเชลยศึกชาวต่างประเทศ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างไว้เพื่อเป็นที่ระลึกถึงความเมตตาปราณี และคุณงามความดีของชาวเมืองอุบลาชธานี
  • ปฏิมากรรมร่วมใจก้าวไปข้างหน้า สร้างขึ้นตามโครงการปฏิมากรรม กับสิ่งแวดล้อมเพื่อเยาวชน ซึ่งแสดงถึง ความสมานฉันท์แห่งความเป็นพี่น้องระหว่าง 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

กิจกรรม และเทศกาลประเพณีที่จัด[แก้]

  • งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา
  • งานสดุดีวีรกรรมพระปทุมวรราชสุริยวงษ์ (เจ้าเมืองอุบลราชธานีศรีวะนาไลประเทษราชคนแรก) วันที่ 9 - 10 พฤศจิกายนของทุกปี
  • งานรำลึกวันแห่งความดี ณ อนุสาวรีย์แห่งความดี วันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปี
  • งานกาชาดและงานปีใหม่

พิธีเผาศพแบบนกหัสดีลิงค์หรือนกสักกะไดลิงก์[แก้]

ทุ่งศรีเมืองใช้เป็นที่ประกอบพิธีเผาศพเจ้านายพื้นเมือง และคณะอาญาสี่ ที่ประกอบไปด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชบุตร และราชวงศ์ ซึ่งตามความเชื่อโดยเฉพาะของตระกูล ณ อุบล ซึ่งนำโดย นายบำเพ็ญ ณ อุบล มีความเชื่อว่าตนเเละต้นตระกูลสืบมาจากราชสกุลที่มีมาแต่เชียงรุ้งแสนหวีฟ้า เเต่ว่าถ้าหากทำการรวบรวมเอกสารชั้นต้นเเละพงสาวดารทุกฉบับมาตรวจทาน กลับไม่พบว่ามีข้อมูลที่กล่าวถึงว่าพระวอพระตาซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเจ้านายเมืองอุบลมีความเกี่ยวข้องกับเจ้าปางคำเเละราชวงศ์เชียงรุ่งแสนหวีฟ้าเเต่อย่างใด อีกทั้งความห่างกันของปีพ.ศ.ที่มีการปรากฎความมีตัวตนระหว่างเจ้าปางคำกับพระวอพระตา กลับมีความคลาดเคลื่อนห่างกันมากพอสมควร กล่าวคือช่วงอายุของเจ้าปางคำกับพระวอพระตาห่างกันเกือบร้อยปี จะเป็นบิดาเเละบุตรกันมิได้เพราะช่วงอายุห่างกันมากจนเกินไป อีกทั้งข้อมูลเก่าเเก่ที่สุดที่กล่าวถึงในเรื่องดังกล่าวซึ่งกล่าวถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างราชวงศ์เชียงรุ่ง,เจ้าปางคำกับพระวอพระตา รวมทั้งประเพณีที่ให้นางสีดาผาบนกหัสดีลิงค์ มีปรากฎในเอกสาร สื่อ สิ่งตีพิมพ์ของนายบำเพ็ญ ณ อุบล ในยุคหลังเพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้หามีปรากฎไม่[1][2][3][4] งานพิธีเมื่อถึงแก่อสัญกรรมให้อัญเชิญศพขึ้นเมรุรูปนกหัสดีลิงค์ หรือนักสักกะไดลิงก์ แล้วชักลากออกไปบำเพ็ญกุศลที่ทุ่งศรีเมือง จำนวน 3 วัน จึงประกอบพิธีเผาศพ ซึ่งจะจัดทำเฉพาะกับเจ้านายเมืองอุบลราชธานีเท่านั้น

ครั้งเมื่อสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ประจำมณฑลอีสาน ได้มีการยกเลิกประเพณีเผาศพแบบนกสักกะไดลิงก์ที่ทุ่งศรีเมือง และสามารถให้พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ทรงคุณธรรม เมื่อมรณภาพแล้วสามารถทำพิธีแบบนกสักกะไดลิงก์ได้ โดยพิธีเผาศพดังกล่าวจัดทำครั้งล่าสุดเมื่อราวปี พ.ศ. 2448 ของพระธรรมบาล (ผุย) นับว่าเป็นนกตัวสุดท้ายที่ได้ประกอบพิธีกรรม ณ ทุ่งศรีเมือง และ พ.ศ. 2558 ทางจังหวัดอุบลราชธานีได้ใช้ทุ่งศรีเมืองเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเผาศพแบบนกหัสดีลิงค์ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอุบลราชธานีแต่เดิมมา โดยใช้ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ พระเทพกิตติมุนี อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม (พระอารามหลวง) พระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่สำคัญของชาวอุบลราชธานี

  1. "งานออกเมรุนกหัสดีลิงค์ "เจ้าคำผง" ไม่กล่าวถึงพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์". ยูทูป. 2021-02-21. สืบค้นเมื่อ 2023-06-18.
  2. "เจ้าปางคำแห่งหนองบัวลำภูมาจากเชียงรุ่งจริงหรือ? พระวอพระตาเป็นเชื้อเชียงรุ่ง?". เฟสบุ๊ค. 2021-06-22. สืบค้นเมื่อ 2023-06-18.
  3. "เรื่องนางสีดาและเมรุนกหัสดีลิงค์ จาก 13 บทความ ที่ตีพิมพ์จากปี พ.ศ.2533-2558". เฟสบุ๊ค. 2021-02-01. สืบค้นเมื่อ 2023-06-18.
  4. พงศาวดารเมืองหลวงพระบาง ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๕