ทุนสำรองระหว่างประเทศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คำว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International reserves) ได้พัฒนามาจากคำว่า เงินสำรองจากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (อังกฤษ: Foreign exchange reserves) ซึ่งในอดีตหมายถึงเงินตราต่างประเทศที่ไม่ได้ถูกแลกกลับคืน เกิดขึ้นจากการที่เมื่อบุคคลต่างประเทศต้องการนำเงินตราต่างประเทศมาแลกเป็นเงินตราท้องถิ่น ธนาคารกลางท้องถิ่นก็จะพิมพ์เงินตราท้องถิ่นออกมาเพื่อให้บุคคลนั้นแลกไปใช้ลงทุนหรือซื้อสินค้าและบริการในท้องถิ่น เมื่อนำเงินตราท้องถิ่นไปใช้จ่ายแล้วก็มักไม่แลกคืนหรือแลกคืนน้อยกว่าที่แลกมา ดังนั้นเงินตราต่างประเทศที่อยู่ในธนาคารกลางท้องถิ่นก็สภาพกลายเป็นทุนสำรองไป เช่นในสมัยรัชกาลที่ 4 ของไทยเมื่อมีเสรีการค้า ต่างชาติได้นำเงินตราต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาแลกเป็นเงินบาท รัฐบาลสยามต้องผลิตเหรียญกษาปณ์และธนบัตรจำนวนมากเพื่อเพียงพอให้ต่างชาติแลก ต่างชาติเหล่านี้ก็นำเงินบาทไปซื้อสินค้าต่างๆในสยามเพื่อนำออกไปขายต่อในประเทศที่สาม ทำให้ท้องพระคลังมีเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการที่ต่างชาติไม่ได้แลกกลับไป เงินตราต่างประเทศเหล่านี้ก็ตกเป็นของแผ่นดิน (เนื่องจากยุคนั้นยังไม่มีระบบธนาคารกลาง)

ในปัจจุบัน คลังสำรองของธนาคารกลางมิได้มีแต่เงินตราต่างประเทศเท่านั้น แต่ยังมีสินทรัพย์อื่นๆที่ธนาคารกลางได้เก็บเงินสำรองส่วนหนึ่งไปซื้อไว้เพื่อให้งอกเงย เช่น พันธบัตร, ทองคำ, หุ้น, สิทธิพิเศษในการถอนเงิน เป็นต้น จากการที่คลังสำรองประกอบด้วยสินทรัพย์หลายชนิดนี้เอง จึงมีการใช้คำศัพท์ที่มีความตรงตัวยิ่งขึ้น โดยเปลี่ยนจากคำว่า "เงินสำรอง" เป็น "ทุนสำรอง" ซึ่งหมายถึงเป็นสินทรัพย์ทุกประเภทของธนาคารกลางที่อยู่ในหลายสกุลเงิน โดยมากมักเป็นสกุล ดอลลาร์สหรัฐ รวมไปถึง ยูโร, ปอนด์สเตอร์ลิง และ เยน ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นหลักประกันให้กับค่าเงินของประเทศเจ้าของทุนสำรองนั้นนั้น

ทุนสำรองระหว่างประเทศ มีหน้าที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ คือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ และรองรับความเสี่ยงจากภาคต่างประเทศ โดยสามารถนำไปใช้แทรกแซงเพื่อดูแลค่าเงินในภาวะที่ตลาดการเงินมีความผันผวนสูง และการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงของค่าเงินอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงได้ ดังนั้นหลักการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุหน้าที่หลักข้างต้นจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษามูลค่าของทุนสำรองระหว่างประเทศ และการดำรงสภาพคล่องสูง เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ทันการณ์เมื่อมีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างฉับพลัน หรือในยามคับขันที่ตลาดโลกผันผวนมาก ทำให้การนำทุนสำรองระหว่างประเทศ ไปลงทุนต้องเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มี ความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องของตลาดสูง ซึ่งสินทรัพย์เหล่านั้นมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำ สะท้อนความเสี่ยงที่ต่ำของการลงทุน [1]

ในบางประเทศได้มีการเปลี่ยนทุนสำรองระหว่างประเทศให้ไปอยู่ในการดูแลของกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ (Sovereign Wealth Funds) เพื่อนำทุนสำรองดังกล่าวที่มีอยู่มากเกินระดับความต้องการของรัฐบาล ไปลงทุนต่อเพื่อหาผลประโยชน์หรือลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติม

สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแลและบริหารจัดการทุนสำรองระหว่างประเทศ รูปแบบการบริหารทุนสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเป็นรูปแบบดั้งเดิมคือเก็บในรูปของสินทรัพย์ที่มั่นคง และมีสภาพคล่องสูง ส่วนใหญ่เป็นตราสารหนี้ทางการเงินในตลาดเงินที่ให้ผลตอบแทนคงที่ หรือในรูปของเงินฝากธนาคารพาณิชย์ เป็นสินทรัพย์ระยะสั้น[2] ส่วนทางด้านการจัดตั้งกองทุนความมั่นคงแห่งชาตินั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาของกระทรวงการคลัง[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "หน้าที่ของเงินสำรองระหว่างประเทศกับการจัดตั้ง Sovereign Wealth Fund (SWF)" (PDF). ธนาคารแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-05-11. สืบค้นเมื่อ 2012-05-19.
  2. "Sovereign Wealth Funds กับทุนสำรองระหว่างประเทศ". ฝ่ายสำนักวิชาการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย.[ลิงก์เสีย]
  3. "แบงก์ชาติหนุนเต็มสูบตั้งกองทุนมั่งคั่ง รับมืออนาคตทุนสำรองหดเงินบาทอ่อน". หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สรุปข่าวเศรษฐกิจ.

ดูเพิ่ม[แก้]