ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1285

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1285
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว15.000 กิโลเมตร (9.321 ไมล์)
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศใต้ ทล.1095 ใน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
ปลายทางทิศเหนือสิ้นสุดระยะทางที่ กม. 15+000 (บ.ห้วยผึ้ง) ใน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
ตำแหน่งที่ตั้ง
ประเทศไทย
ระบบทางหลวง

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1285 [แยกทางหลวงหมายเลข 1095 (ทุ่งมะส้าน)-ห้วยผึ้ง] เป็นทางหลวงแผ่นดินในพื้นที่ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระยะทาง 15 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 (ถนนแม่มาลัย-ปาย) เข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า (รัฐฉาน) จนสิ้นสุดเส้นทางที่บ้านห้วยผึ้ง

ปัจจุบันเส้นทางนี้ได้มีการก่อสร้างทางหลวงชนบทเพิ่มเติม เพื่อต่อขยายเส้นทางจากบ้านห้วยผึ้ง ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อไปยังจุดผ่อนปรนบ้านห้วยผึ้ง ที่ชายแดนประเทศพม่า บริเวณเขตเมืองปั่น ในแขวงลอยแหลม รัฐฉาน ซึ่งได้เปิดตลาดร่องแห้งเป็นตลาดนัดการค้าชายแดนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ถือเป็นช่องทางการค้าชายแดนที่สำคัญ 1 ใน 2 แห่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกเหนือจากจุดผ่อนปรนบ้านห้วยต้นนุ่นในอำเภอขุนยวม ที่ชายแดนไทย-พม่า รัฐกะยา คาดว่าทางหลวงสายบ้านห้วยผึ้งรวมถึงส่วนต่อขยายนี้จะมีบทบาทต่อการค้าชายแดนผ่านรัฐฉานมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการขนส่งวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากจุดผ่อนปรนแห่งนี้อยู่ห่างจากกรุงเนปยีดอ เมืองหลวงใหม่ของพม่าประมาณ 240 กิโลเมตรเท่านั้น[1]

รายละเอียดของเส้นทาง[แก้]

เป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ ระยะทาง 15.000 กิโลเมตร ผิวทางลาดยาง อยู่ในความดูแลของแขวงการทางแม่ฮ่องสอน สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่) กรมทางหลวง เส้นทางแยกจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1095 บริเวณกิโลเมตรที่ 188.125 ด้านขวาทาง (มุ่งหน้าตัวเมืองแม่ฮ่องสอน) ที่หมู่บ้านห้วยผา ใกล้กับถ้ำปลา (ที่ทำการอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ) เลียบฝั่งซ้ายของลำน้ำแม่สะงี ผ่านบ้านทุ่งมะส้าน บ้านนาปลาจาด บ้านทุ่งคาหาร ไปสิ้นสุดเส้นทางที่บ้านห้วยผึ้ง [2]

ประวัติการก่อสร้างเส้นทาง[แก้]

เดิมเส้นทางนี้เป็นทางดิน กว้างประมาณ 3-4 เมตร เป็นเส้นทางของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมากรมทางหลวงได้รับมาดำเนินการก่อสร้างตามโครงการพระราชดำริเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2528 จนแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2529 และรับเป็นทางบำรุงของกรมทางหลวงเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2529 มีสภาพเป็นทางลูกรังและลาดยางบางช่วง คันทางกว้าง 6 เมตร ในภายหลังได้มีการลาดยางเพิ่มเติมเป็นตอน ๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2537-2541 จนเป็นผิวลาดยางตลอดทั้งเส้นทาง [2]

ทางแยกที่สำคัญ[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. [1][ลิงก์เสีย] www.logisticnews.net วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
  2. 2.0 2.1 ข้อมูลทางหลวงในความดูแลของแขวงการทางแม่ฮ่องสอน สำนักทางหลวงที่ 1 (เชียงใหม่) กรมทางหลวง