ทองประศรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นางทองประศรี
ตัวละครใน ขุนช้างขุนแผน
แสดงโดยปวีณา ชารีฟสกุล
ข้อมูลตัวละครในเรื่อง
เพศหญิง
คู่สมรสขุนไกรพลพ่าย
บุตรขุนแผน
ญาติกุมารทอง (หลานชาย)
พลายงาม (หลานชาย)
พลายณรงค์ (หลานชาย)
พลายชุมพล (หลานชาย)
พลายเพชร (เหลนชาย)
พลายบัว (เหลนชาย)
พลายยง (เหลนชาย)
ศาสนาศาสนาพุทธ
บ้านเกิดบ้านวัดตะไกร กาญจนบุรี
สัญชาติกรุงศรีอยุธยา

นางทองประศรีเป็นชื่อตัวละครหญิงตัวสำคัญซึ่งมีบทบาทตั้งแต่ต้นจนจบในเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน โดยเป็นภริยาของข้าราชการทหารชื่อขุนไกรพลพ่ายและเป็นมารดาของพลายแก้ว นางทองประศรีนั้นเป็นตัวอย่างของหญิงไทยแต่โบราณซึ่งมีความรู้ความสามารถและช่วยเหลือส่งเสริมผู้อื่นให้เป็นคนดี ซึ่งตรงกันข้ามกับนางศรีประจันมารดาของนางวันทอง

ประวัติ[แก้]

พื้นเพ[แก้]

นางทองประศรีนั้นเดิมเป็นชาวบ้านวัดตะไกร จังหวัดกาญจนบุรี พบรักกับข้าราชการทหารสังกัดกรมอาทมาตชื่อขุนไกรพลพ่ายซึ่งเป็นชาวจังหวัดเดียวกัน และเมื่อสมรสแล้วก็ย้ายไปอยู่กับสามีที่บ้านพลับ จังหวัดสุพรรณบุรี ทั้งสองมีบุตรชายเพียงคนเดียวชื่อ "พลายแก้ว" ทั้งนี้ นางทองประศรีเคยเป็นข้าหลวงเก่าก่อนออกมาสมรส

ด้านเศรษฐกิจของครอบครัวนางประศรีนั้นมีฐานะมั่งมีพอสมควร โดยศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[1]

ครอบครัวของขุนแผน ขุนช้าง และนางพิมนั้นปรากฏว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะดี ร่ำรวย มีทั้งทรัพย์และผู้คนไว้ใช้สอยทุกครอบครัว ที่เป็นเช่นนี้เพราะข้าราชการสมัยนั้นไม่มีกฎบังคับว่าต้องอุทิศเวลาทั้ง 24 ชั่วโมงให้แก่ทางราชการ แต่มีสิทธิที่จะทำมาหากินในทางส่วนตัวได้ จึงสามารถสร้างฐานะของตนให้ดีได้ตาม ๆ กัน คติที่ว่ามีทางทำมาหากินให้ร่ำรวยได้ในราชการนั้น ถึงในปัจจุบันนี้ก็ดูเหมือนจะยังไม่หมดไป

การทำหน้าที่เป็นแม่[แก้]

การถึงแก่กรรมของสามี[แก้]

ต่อมาขุนไกรพลพ่ายต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิต ในคืนที่ขุนไกรพลพ่ายอาศัยอยู่บ้านครั้งสุดท้ายนั้น นางทองประศรีฝันร้ายเป็นลางบอกเหตุว่าฟันของตนร่วงจากปาก ฝันเช่นนี้เชื่อกันว่าเป็นฝันร้ายนักเพราะถ้าใครฝันแล้ว บิดา มารดา สามี หรือภรรยาของผู้ฝันนั้นจะถึงแก่ความตาย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า[2]

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องแปลก ผมเองเป็นคนไม่ค่อยจะเชื่อถือในโชคลางแต่อย่างใดเลย โดยเฉพาะเรื่องฝันนั้นถ้าจะว่าไปก็เกือบฝันไม่เป็น และถ้าเกิดฝันขึ้นแล้วก็มักจะจำไม่ได้เมื่อตื่นขึ้น...แต่ในคืนก่อนที่พ่อผมจะตายนั้น ผมจำได้เป็นแน่นอนว่า ผมฝันว่าฟันผมยุ่ยเป็นแป้งไปทั้งปากจนไม่มีเหลือ พอตื่นขึ้นในรุ่งเช้าวันนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมงพ่อผมก็ตาย

เนื่องจากมากการต้องโทษประหารชีวิต ขุนไกรพลพ่ายจึงถูกริบทรัพย์สินเงินทองตลอดจนข้าทาสบริวารและสมาชิกในครอบครัวทั้งปวงเข้าเป็นของหลวง นางทองประศรีจึงหลบหนีไปกับพลายแก้วพร้อมด้วยเงินสองถุง ไปตั้งตัวใหม่อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีโดยมีญาติของสามีซึ่งพำนักอยู่ที่ตำบลเขาชนไก่เป็นที่พึ่งพา

การศึกษาของลูก[แก้]

นางทองประศรีได้เริ่มกิจการค้าขายและกลับมีฐานะดีอีกครั้ง จนลูกชายอายุได้สิบห้าปีจึงพาไปบวชเป็นสามเณรเพื่อให้ศึกษาหาความรู้อยู่ที่วัดส้มใหญ่โดยมีสมภารบุญเป็นอาจารย์ ต่อมาเณรแก้วเดินทางไปจังหวัดสุพรรณบุรีเพื่อศึกษาเพิ่มเติมกับสมภารมีที่วัดป่าเลไลย์ และสมภารคง วัดแค

การแต่งงานของลูก[แก้]

กระทั่งในที่สุดเณรแก้วก็ลาจากอาจารย์เพื่อแต่งงาน นางทองประศรีก็ขัดไม่ได้ก็ยอมไปสู่ขอนางพิมพิลาไลยให้แก่ลูก โดยนางสั่งให้จัดตั้งกระบวนใหญ่เดินทางจากบ้านของนางคือจังหวัดกาญจนบุรีไปยังบ้านของนางศรีประจันที่จังหวัดสุพรรณบุรี กระบวนนางทองประศรีครั้งนี้ประกอบด้วยผู้คนมากมายยิ่ง ขนข้าวของขึ้นเกวียนเทียมควายหลายเล่ม นางทองประศรีนั้นนั่งเกวียนมาเล่มหนึ่ง พลายแก้วนั่งอีกเล่มหนึ่ง บ่าวไพร่ที่ติดสอยห้อยตามมามีจำนวนถึงห้าสิบคน ทั้งนี้ เพราะเมื่อไปถึงบ้านนางศรีประจันแล้วจะมีการงานมากเหตุว่าสมัยนั้นมิได้มีโรงแรม ครั้นไปถึงจังหวัดสุพรรณบุรีแล้วนางทองประศรีก็สั่งให้ผู้คนจัดสร้างที่พัก โดยให้บ่าวไพร่ตัดไม้มาทำโรงถึงห้าหลังอยู่ในทุ่งท้ายสวนของนางศรีประจันนั้นเอง แล้วนางทองประศรีก็เข้าอยู่ที่ในนั้น

สำหรับการขอบุตรสาว เป็นประเพณีที่มารดาของฝ่ายชายจะไปเพียงคนเดียวไม่ได้ เพราะไม่สมศักดิ์ศรีดูไปคล้ายว่าฝ่ายหญิงไม่มีราคา นางทองประศรีจึงเรียกผู้ใหฯมาสี่คนซึ่งล้วนแต่เป็นคนบ้านใกล้เรือนเคียงกันทั้งนั้น ในจำนวนนี้เป็นชายสูงอายุสองคนและหญิงสูงอายุอีกสองคน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนี้ไว้ในหนังสือ "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่" ว่า[3]

...พอถึงหน้าบ้านนางศรีประจัน คนแก่ทั้ง 5 คนนั้นก็ทำอะไรอย่างหนึ่งซึ่งความจริงก็ไม่ใช่ประเพณีหรือวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใด แต่เป็นกิจการที่คนไทยก็ยังทำกันมาถึงทุกวันนี้

ครู่หนึ่งถึงบ้านศรีประจัน แกตัวสั่นร้องเรียกให้ดูหมา

ทุกวันนี้ก็ยังกลัวหมากันอยู่

การทำหน้าที่เป็นย่า[แก้]

การพบกับหลาน[แก้]

เมื่อพลายแก้วทำความดีความชอบถึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ที่ "ขุนแผนแสนสะท้าน" จนกระทั่งตกอับต้องติดคุก นางทองประศรีก็คงทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง และยังต้องเลี้ยงหลานชายคือพลายงามซึ่งหนีภัยพ่อเลี้ยงคือขุนช้างมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี

พลายงามนั้นเมื่อหนีขุนช้างมาจากสุพรรณบุรีก็เที่ยวถามทางเรื่อยไปว่าบ้านนางทองประศรีอยู่แห่งไหน เสภาขุนช้างขุนแผนว่า

ไม่รู้ความถามเหล่าพวกชาวบ้าน      ว่าเรือนท่านทองประศรีอยู่ที่ไหน
เด็กบ้านนอกบอกเล่าให้เข้าใจ      แกอยู่ไร่โน้นแน่ยังแลลับ
มะยมใหญ่ในบ้านกินหวานนัก      กูไปลักบ่อยแกคอยจับ
พอฉวยได้ไอ้ขิกหยิกเสียยับ      ร้ายเหมือนกับผีเสื้อแกเหลือตัว
ถ้าลูกใครไปเล่นแกเห็นเข้า      แกจับเอานมยานฟัดกบาลหัว
มาถามหาว่าไรช่างไม่กลัว      แกจับตัวตีตายยายนมยาน

นางทองประศรีนั้น ในวันที่พลายงามสืบได้ว่าบ้านย่าของตนอยู่ถิ่นไหนและเดินทางมาถึง กำลังนั่งเฝ้าต้นมะยมของตนและเล็งเห็นพลายงามเดินเข้ามาพอดี ก็นึกว่าเป็นเด็กซุกซนทั้งหลายที่จ้องจะมาขโมยมะยม จึงฉวยไม้ตะบองแอบหลังแล้วย่องเข้ามา พลายงามเห็นเข้าก็สะดุ้งบอกว่ามิได้เข้ามาขโมยมะยม แต่ตนนั้นเป็นหลานชายจริง ๆ นางทองประศรีจึงชี้หน้าไปว่าอย่าได้แอบอ้างเป็นหลาน ไหนเป็นหลานก็เข้ามาใกล้ ๆ ย่าหน่อย ย่าจะให้ไม้ตะบองให้หนำใจ พลายงามนึกในใจว่าจะกลัวอันใดกับย่าของตนจึงกระโจนเข้าไปกราบเท้า นางทองประศรีก็หวดตะบองเข้าดังผึง กระทั่งสังเกตได้ว่าเด็กชายคนนี้มีเค้าเหมือนบุตรของตนจึงระลึกได้ว่าเป็นหลายชาย ความตอนนี้เสภาว่า

เจ้าพลายงามคร้ามพรั่นขยั้นหยุด      ความกลัวสุดแสนกลัวตัวเป็นหนู
จึงว่าฉานหลานดอกบอกให้รู้      อันอยู่ที่เมืองสุพรรณบ้านวันทอง
ทองประศรีชี้หน้าว่าอุเหม่      อ้ายเจ้าเล่ห์หลานข้ามันน่าถอง
มาเถิดมาย่าจะให้ไม้ตะบอง      แกคอยจ้องจะทำให้หนำใจ
เจ้าพลายงามความกลัวจนตัวสั่น      หยุดขยั้นอยู่ไม่กล้าลงมาได้
แล้วนึกว่าย่าตัวกลัวอะไร      โจนลงไปกราบย่าที่ฝ่าตีน
ทองประศรีตีหลังเสียงดังผึง      จะมัดขึงกูไม่ปรับเอาทรัพย์สิน
มาแต่ไหนลูกไทยหรือลูกจีน      เฝ้าลักปีนมะยมห่มหักราน
เจ้าพลายน้อยคอยหลบแล้วนบนอบ      ฉันเจ็บบอบแล้วย่าเมตตาหลาน
ข้าเป็นลูกพ่อขุนแผนแสนสะท้าน      ข้างฝ่ายมารดาชื่อแม่วันทอง
จะมาหาย่าชื่อทองประศรี      อย่าเพ่อตีฉันจะเล่าความเศร้าหมอง
ย่าเขม่นเห็นจริงทิ้งตะบอง      กอดประคองรับขวัญกลั้นน้ำตา
แล้วด่าตัวชั่วเหลือไม่เชื่อเจ้า      ขืนตีเอาหลานรักเป็นหนักหนา
จนหัวห้อยพลอยนอพ่อนี่นา      แล้วพามาขึ้นเรือนเตือนยายปลี
ช่วยฝนไพลให้เหลวเร็วเร็วเข้า      อีเปลเอาขันล้างหน้าออกมานี่
แกตักน้ำร่ำรดหมดราคี      ช่วยขัดสีโซมขมิ้นสิ้นเป็นชาม
แล้วทาไพลให้หลานสงสารเหลือ      มานั่งเสื่อลันไตปราศรัยถาม
เจ้าชื่อไรใครบอกออกเนื้อความ      จึงได้ตามขึ้นมาถึงย่ายาย

เมื่อพลายงามเล่าความหลังให้ฟังจนสิ้นแล้ว นางทองประศรีก็โกรธแค้นขุนช้างยิ่งนัก

ทองประศรีตีอกชกผางผาง      ทุดอ้ายช้างชาติข้าอ้ายหน้าขน
ลูกอีเฒ่าเทพทองคลองน้ำชน      จะฆ่าคนเสียทั้งเป็นไม่เอ็นดู
ทำราวเจ้าชีวิตกูคิดฟ้อง      ให้มันต้องโทษกรณฑ์จนอ่อนหู
แกบ่นว่าด่าร่ำออกพร่ำพรู      พ่อมาอยู่บ้านย่าแล้วอย่ากลัว
แม้นอ้ายขุนวุ่นมาว่าเป็นลูก      มันมิถูกนมยานฟัดกระบาลหัว
พลางเรียกอีไหมที่ในครัว      เอาแกงคั่วข้าวปลามาให้กิน
พอบ่ายเบี่ยงเสียงละว้าพวกข้าบ่าว      ทั้งมอญลาวเลิกนาเข้ามาสิ้น
บ้างสุมไฟใส่ควันกันยุงริ้น      ตามถิ่นบ้านนอกอยู่คอกนา

ตอนนางทองประศรีพบกับหลานชายนี้ กระทรวงศึกษาธิการจัดให้เป็นบทเรียนสำหรับนักเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับช่วงชั้นที่ 3 ปีที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 3)

การเป็นครูของหลาน[แก้]

นางทองประศรีนั้นนอกจากเป็นผู้ดีเก่าและเป็นข้าหลวงเก่าแห่งราชสำนักแล้ว ยังมีความรู้ความสามารถมากมายซึ่งหายากในหญิงทั่วไปที่รู้แต่การบ้านการเรือน กล่าวคือ นางทองประศรียังจัดเจนในด้านการพาณิชย์ เศรษฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ทั้งไทยและขอม ตลอดจนด้านการศาสนา ไปจนถึงรู้คาถาอาคมเวทมนตร์ต่าง ๆ รู้การอยู่ยงคงกระพันชาตรี การเลี้ยงผีเลี้ยงภูต และเสกเป่านานาเป็นต้น เฉกเช่นเดียวกับขุนแผนผู้เป็นบุตร ทั้งนี้ พึงทราบว่าสังคมไทยแต่ก่อนนั้นใช้อักษรขอมจารึกเอกสารหลักฐานสำคัญ ๆ เช่น พระไตรปิฎก และตำราต่าง ๆ ไว้ทั้งสิ้น

สำหรับวิชาการที่นางทองประศรีรู้นั้นก็สอนสั่งให้หลานชายทั้งหมด เสภาขุนช้างขุนแผนว่ารายละเอียดเกี่ยวกับวิชาการของนางทองประศรีดังต่อไปนี้

อันเรื่องราวกล่าวความพลายงามน้อย      ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี
ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี      เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนตร์
ปัถมังตั้งตัวนะปัดตลอด      แล้วถอนถอดถูกต้องเป็นล่องหน
หัวใจกริดอิทธิเจเสน่ห์กล      แล้วเล่ามนตร์เสกขมิ้นกินน้ำมัน
เข้าในห้องลองวิชาประสาเด็ก      แทงจนเหล็กแหลมลู่ยู่ขยั้น
มหาทะมืนยืนยงคงกระพัน      ทั้งเลขยันตร์ลากเหมือนไม่เคลื่อนคลาย
แล้วทำตัวหัวใจปิติโส      สะเดาะโซ่ตรวนได้ดังใจหมาย
สะกดคนมนตร์จังงังกำบังกาย      เมฆฉายสูรย์จันทร์ขยันดี
ทั้งเรียนธรรมกรรมฐานนิพพานสูตร      ร้องเรียกภูตพรายปราบกำราบผี
ผูกพยนต์หุ่นหญ้าเข้าราวี      ทองประศรีสอนหลานชำนาญมา

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายถึงการที่นางทองประศรีมีความรู้ความสามารถมากมายว่า "...น่าจะถามว่า ครูทองประศรีไปรู้วิชาเหล่านี้มาจากไหน ก็เห็นจะตอบได้ว่า เมื่อก่อนขุนแผนจะประสบเคราะห์กรรมต่าง ๆ ต้องจากบ้านไปนั้น ขุนแผนไปฝากสรรพตำราของตนไว้กับมารดา และระหว่างที่ขุนแผนหายไป ทองประศรีไม่มีอะไรจะทำ ก็คงอ่านตำราขุนแผนนั้นเองเป็นการหาความรู้ให้ทันลูก แล้วก็เลยรู้เอาจริง ๆ จนสอนหลานฝห้มีความเชี่ยวชาญในทางนั้นได้"[4]

จนพลายงามเติบโตอายุได้สิบห้าปี นางทองประศรีได้ทำหน้าที่ประดุจเป็นพ่อและแม่จนกระทั่งเป็นครูของหลานชาย ในที่สุดพลายงามอาสาและทำความดีความชอบจนได้เป็นที่ "จมื่นไวยวรนาถ" และได้รับพระราชทานบ้านเรือที่ทางและภริยา นางทองประศรีจึงได้ติดตามหลานชายมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา กับทั้งยังได้ขอหลานชายอีกคนหนึ่งจากขุนแผนและนางแก้วกิริยาคือพลายชุมพลมาเลี้ยงดู จนที่สุดพลายชุมพลก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหลวงนายฤทธิ์และได้รับพระราชทานที่อยู่เช่นเดียวกับพี่ชาย

คุณค่าของตัวละคร[แก้]

ราชบัณฑิตยสถานสรรเสริญนางทองประศรีว่า[5]

นางทองประศรีเป็นตัวละครที่มีบทบาทตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง และเป็นตัวอย่างของหญิงไทยโบราณที่มีความรู้ความสามารถช่วยตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี ถึงจะมีเคราะห์กรรมครั้งแล้วครั้งเล่า นางทองประศรีก็สามารถดำรงชีวิตให้มีความสุขได้พอสมควร และยังได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะแม่ที่ดีจนถึงย่าที่ดียิ่งอีกด้วย

อ้างอิง[แก้]

  1. คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 179.
  2. คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 182.
  3. คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 221.
  4. คึกฤทธิ์ ปราโมช. (2539). "ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่". คึกฤทธิ์ ปราโมช. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2538). หน้า 340.
  5. วัชรี รมยะนันทน์. (2516-2517). "ทองประศรี". สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน, (เล่ม 13 : ตัวสงกรานต์-ทะนาน). ปราณบุรี : โรงพิมพ์ศูนย์การทหารราบ. หน้า 8426-8427.

0