ทฤษฎีสองชาติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แผนที่บริติชราชในปีค.ศ.1909 แสดงถึงบริเวณที่มีการนับถือศาสนาต่าง ๆ ในแต่ละอำเภอ

ทฤษฎีสองชาติ (อักษรเทวนาครี:दो क़ौमी नज़रिया; อูรดู: دو قومی نظریہ, do qaumi nazariya; อังกฤษ: Two-Nation Theory) หมายถึง อุดมการณ์ที่ว่าเอกลักษณ์พื้นฐานของชาวมุสลิมในอนุทวีปอินเดีย คือ ศาสนาของพวกเขา หาใช่ภาษาหรือลักษณะเชื้อชาติไม่ และด้วยเหตุนี้ ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูและที่นับถือศาสนาอิสลามจึงถือว่าเป็นคนละสัญชาติที่แตกต่างกัน โดยไม่คำนึงถึงชาติพันธุ์หรือลักษณะร่วมอื่น ๆ[1][2] ทฤษฎีสองชาติเป็นหลักการก่อตั้งของขบวนการปากีสถาน (นั่นคือ อุดมการณ์ก่อตั้งประเทศปากีสถาน) และการแบ่งประเทศอินเดียใน ค.ศ. 1947 อุดมการณ์ที่ว่าศาสนาเป็นปัจจัยกำหนดการจำกัดความสัญชาติของชาวอินเดียมุสลิมยังได้เป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจขององค์การชาตินิยมฮินดูหลายองค์กร ซึ่งก่อให้เกิดการจำกัดความใหม่ที่แตกต่างกันของชาวอินเดียมุสลิมว่าเป็นชาวต่างชาติมิใช่อินเดีย การขับไล่มุสลิมออกไปจากอินเดีย การก่อตั้งรัฐฮินดูตามกฎหมายขึ้นในอินเดีย การห้ามเปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม และการเสนอให้มีการเปลี่ยนศาสนาชาวอินเดียมุสลิมให้มานับถือศาสนาฮินดู[3][4][5][6]

การตีความในทฤษฎีสองชาติมีหลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับว่า สองสัญชาติสมมุติฐานสามารถอยู่ร่วมกันในดินแดนเดียวกันได้หรือไม่ โดยส่อความถึงความแตกต่างมูลฐาน การตีความหนึ่งถกเถียงเกี่ยวกับอธิปไตยการปกครองตนเอง รวมไปถึงสิทธิที่จะแบ่งแยกดินแดน สำหรับพื้นที่ซึ่งมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ในอนุทวีปอินเดีย แต่ต้องไม่มีการถ่ายเทประชากร (นั่นคือ ชาวฮินดูและชาวมุสลิมจะยังคงสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้) การตีความอีกแบบหนึ่งโต้แย้งว่าชาวฮินดูและชาวมุสลิมประกอบกันขึ้นเป็น "สองวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน และมักเป็นปฏิปักษ์ต่อกันบ่อยครั้ง และดังนั้น ผู้ที่นับถือศาสนาทั้งสองนี้ไม่สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันในชาติเดียวกันได้"[7] ในการตีความดังกล่าว การถ่ายเทประชากร (นั่นคือ ย้ายชาวฮินดูทั้งหมดออกจากพื้นที่ที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ และย้ายชาวมุสลิมทั้งหมดออกจากพื้นที่ที่มีประชากรฮินดูอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่) เป็นขั้นตอนที่พึงปรารถนาในการมุ่งหน้าไปสู่การแบ่งแยกออกเป็นสองชาติซึ่ง "ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสัมพันธ์อันสอดคล้องกัน"[8][9]

การคัดค้านทฤษฎีดังกล่าวมาจากสองแหล่ง หนึ่ง คือ แนวคิดของชาติอินเดียเดียว ซึ่งชาวฮินดูและชาวมุสลิมเป็นประชาคมที่สานเข้าด้วยกัน[10] นี่เป็นหลักการก่อตั้งของสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐสมัยใหม่และไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ว่าหลังจากที่มีการแยกประเทศออกไปแล้ว การโต้เถียงที่ว่าชาวมุสลิมและชาวฮินดูเป็ยคนละสัญชาติกันหรือไม่ก็ได้เกิดขึ้นในประเทศปากีสถานที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่ด้วยเช่นกัน[11] การคัดค้านจากแหล่งที่สองคือแนวคิดที่ว่าในขณะที่อินเดียมิใช่ชาติเพียงหนึ่งเดียว ไม่ใช่ทั้งของชาวมุสลิมหรือชาวฮินดูจากอนุทวีป แต่มันเป็นของอดีตประชากรของหน่วยปกครองเดียวกันในอนุทวีปซึ่งเป็นชาติที่แท้จริงและสมควรได้รับอธิปไตย[12][13][14]

อ้างอิง[แก้]

  1. Robin W. Winks, Alaine M. Low (2001), The Oxford history of the British Empire: Historiography, Oxford University Press, ISBN 9780199246809
  2. Liaquat Ali Khan (1940), Pakistan: The Heart of Asia, Thacker & Co. Ltd.
  3. Economic and political weekly, Volume 14, Part 3, Sameeksha Trust, 1979
  4. M. M. Sankhdher, K. K. Wadhwa (1991), National unity and religious minorities, Gitanjali Publishing House, ISBN 9788185060361
  5. Vinayak Damodar Savarkar, Sudhakar Raje (1989), Savarkar commemoration volume, Savarkar Darshan Pratishthan
  6. N. Chakravarty (1990), "Mainstream", Mainstream, Volume 28, Issues 32-52
  7. Carlo Caldarola (1982), Religions and societies, Asia and the Middle East, Walter de Gruyter, ISBN 9789027932594
  8. S. Harman (1977), Plight of Muslims in India, DL Publications, ISBN 9780950281827
  9. M. M. Sankhdher (1992), Secularism in India, dilemmas and challenges, Deep & Deep Publication
  10. Rafiq Zakaria (2004), Indian Muslims: where have they gone wrong?, Popular Prakashan, ISBN 9788179912010[ลิงก์เสีย]
  11. Pakistan Constituent Assembly (1953), Debates: Official report, Volume 1; Volume 16, Government of Pakistan Press[ลิงก์เสีย]
  12. Janmahmad (1989), Essays on Baloch national struggle in Pakistan: emergence, dimensions, repercussions, Gosha-e-Adab
  13. Stephen P. Cohen (2004), The idea of Pakistan, Brookings Institution Press, ISBN 9780815715023
  14. Ahmad Salim (1991), Pashtun and Baloch history: Punjabi view, Fiction House[ลิงก์เสีย]