ทรัพยากรน้ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทรัพยากรน้ำ หมายถึง แหล่งต้นตอของน้ำที่เป็นประโยชน์หรือมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์ ทรัพยากรน้ำมีความสำคัญเนื่องจากน้ำเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ได้มีการนำน้ำมาใช้ในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม บ้านเรือน นันทนาการและกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม น้ำที่มนุษย์นำมาใช้ในกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวนั้นจะเป็นน้ำจืด แต่น้ำจืดในโลกเรามีเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้น และปริมาณ 2 ใน 3 ของน้ำจืดจำนวนนี้เป็นน้ำแข็งในรูปของธารน้ำแข็งและน้ำแข็งที่จับตัวกันอยู่ที่ขั้วโลกทั้งสองขั้ว ปัจจุบันความต้องการน้ำมีมากกว่าน้ำจืดที่มีอยู่ในหลายส่วนของโลก และในอีกหลายพื้นที่ในโลกกำลังจะประสบปัญหาความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานของน้ำในอนาคตอันไม่ไกลนัก กรอบปฏิบัติเพื่อการจัดสรรทรัพยากรน้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำ (ในพื้นที่ที่มีกรอบปฏิบัติแล้ว) เรียกว่า "สิทธิการใช้น้ำ" (Water rights)

น้ำกับความขัดแย้ง[แก้]

ตัวอย่างที่ชัดเจนเกี่ยวกับความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้น้ำระหว่างรัฐเกิดขึ้นระหว่าง 1950 - 1800 ปีก่อน พ.ศ. ระหว่างรัฐสุเมเรียแห่งลากาช และ รัฐอุมมา แม้จะขาดหลักฐานว่าเป็นสงครามระหว่างรัฐที่เกิดจากการแย่งน้ำเพียงอย่างเดียวก็ตาม น้ำก็ได้เป็นต้นตอของความขัดแย้งระหว่างกันของมนุษยชาติมาตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์ เมื่อน้ำขาดแคลนมากเมื่อใดก็จะเกิดความตึงเครียดทางการเมืองซึ่งมักเรียกกันว่า "ความตึงเครียดจากน้ำ" (Water stress) ความตึงเครียดจากน้ำนี้มักนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในระดับท้องถิ่นและขยายไปถึงระดับภูมิภาค

ความเครียดจากน้ำยังเป็นตัวเป็นตัวทำให้ความเครียดทางการเมืองที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นด้วย คุณภาพและปริมาณของน้ำจืดที่ค่อยๆ ลดลงตามกาลเวลามีผลทำให้ความมั่นคงของภูมิภาคมีผลให้สุขภาพความเป็นอยู่ของประชาชนเลวลงเป็นตัวปิดกั้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลกระทบเวียนกลับทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งเลวลงกว่าเดิม

ความขัดแย้งและความตึงเครียดและความขัดแย้งเกี่ยวกับน้ำมักเกิดขึ้นภายในบริเวณชายแดนของประเทศ ภาคหรือจังหวัดและบริเวณตอนใต้ของลุ่มน้ำ เช่นบริเวณใต้ลุ่มน้ำแม่น้ำเหลืองของจีน ลุ่มเจ้าพระยาของประเทศไทยซึ่งประสบกับปัญหาความเครียดจากน้ำมาเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ ประเทศแห้งแล้งบางประเทศซึ่งต้องพึ่งพาน้ำเพื่อการชลประทานเป็นอันมาก เช่นจีน อินเดีย อิหร่านและปากีสถานจึงมักเสี่ยงกับปัญหาความตึงเครียดที่มีชนวนมาจากน้ำ ความตึงเครียดทางการเมือง เช่น การประท้วงและการก่อเหตุความวุ่นวายอาจขึ้นจากการประท้วงการแปรรูปจากองค์การรัฐเป็นเอกชนและการตั้งราคาน้ำบริโภคในประเทศโบลิเวียเมื่อ พ.ศ. 2543

แหล่งน้ำจืด[แก้]

น้ำผิวดิน[แก้]

ทะเลสาบชันการาในประเทศชิลีตอนเหนือ

น้ำผิวดินได้แก่น้ำในแม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบและในพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นน้ำจืด ปกติน้ำผิวดินจะได้รับการเติมจากฝนหรือหิมะ และจะหายไปตามธรรมชาติด้วยการระเหย การไหลออกสู่ทะเลและการซึมลงไปใต้ดิน

แม้ว่าการเติมน้ำจืดโดยธรรมชาติของระบบน้ำผิวดินจะได้จากการตกของฝนหรือหิมะลงเฉพาะบนบริเวณลุ่มน้ำนั้นๆ ณ เวลาหนึ่งก็ตาม แต่ปริมาณรวมของน้ำยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย ปัจจัยเหล่านี้รวมถึงปริมาณความจุของทะเลสาบ พื้นที่ชุ่มน้ำและอ่างเก็บน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น อัตราการซึมของดินในพื้นที่กักเก็บต่างๆ ดังกล่าว ลักษณะของการไหลตามผิวพื้นของลุ่มน้ำ ช่วงเวลาการตกของฝนหรือหิมะและอัตราการระเหยของพื้นที่นั้นๆ ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อสัดส่วนของน้ำที่ไหลออกสู่ทะเล ระเหยและซึมลงใต้ดิน

กิจกรรมของมนุษย์สามารถสร้างผลกระทบต่อปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวได้มาก มนุษย์มักเพิ่มความจุน้ำเก็บกักด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำและลดความจุน้ำเก็บกักด้วยการระบายพื้นที่ชุ่มน้ำให้แห้ง มนุษย์เพิ่มปริมาณและความเร็วไหลตามผิวของน้ำด้วยการดาดผิวพื้นต่างๆ ให้แข็งรวมทั้งการทำทางให้น้ำไหลทิ้งไปรวดเร็วขึ้น

ปริมาณโดยรวมของน้ำที่มีให้ใช้ ณ เวลาหนึ่งนับเป็นข้อพิจารณาที่มีความสำคัญมาก การใช้น้ำบางประเภทของมนุษย์เป็นการใช้แบบหยุดๆ เดินๆ ตัวอย่างเช่น การทำเกษตรกรรมหลายแห่งต้องการน้ำเป็นปริมาณมากในช่วงฤดูเพาะปลูก และไม่ใช้น้ำอีกเลยหลังฤดูเก็บเกี่ยว การจ่ายน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมประเภทดังกล่าว ระบบน้ำผิวดินเพื่อการนี้อาจต้องมีขนาดการเก็บกักที่ใหญ่เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำฝนที่ตกลงมาทั้งปีไว้ สำหรับปล่อยมาใช้ภายเวลาที่สั้นเป็นต้น การใช้น้ำประเภทที่ค่อยๆ ใช้ในปริมาณครั้งละไม่มากแต่สม่ำเสมอทั้งปี เช่นน้ำสำหรับหล่อเย็นในโรงผลิตไฟฟ้า การจ่ายน้ำในกรณีนี้ ระบบน้ำผิวดินต้องการเพียงอ่างหรือแหล่งกักเก็บที่มีความจุให้พอสำหรับไว้ชดเชยน้ำในลำธารที่มีอัตราการไหลเข้าอ่างในฤดูแล้งต่ำกว่าอัตราการใช้น้ำในการหล่อเย็น่ทาา


น้ำผิวดินตามธรรมชาติสามารถเพิ่มพูนได้โดยการนำน้ำเข้ามาจากแหล่งในลุ่มน้ำอื่นด้วยการขุดคลองส่งน้ำหรือวางท่อส่งน้ำ หรืออาจทำด้วยวิธีอื่นๆ แต่ก็ได้ไม่มาก มนุษย์เรามีส่วนทำให้ระบบน้ำผิวดินไม่มั่นคงหรือ "หายไป" จากการสร้างมลพิษ

บราซิลเป็นประเทศที่ประมาณกันว่ามีแหล่งน้ำจืดมากที่สุดในโลกตามด้วยแคนาดาและรัสเซีย

น้ำใต้ผิวดิน[แก้]

น้ำใต้ผิวดินหรือน้ำใต้ดินหมายถึงน้ำจืดที่ขังอยู่ในช่องว่างของดินหรือหิน และยังหมายถึงน้ำที่ไหลอยู่ภายในชั้นหินอุ้มน้ำ หรือชั้นน้ำ (Aquifer) ซึ่งอยู่ตำกว่าระดับน้ำใต้ดิน (water table) ในบางครั้งก็มีประโยชน์ที่จะแยกให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง น้ำใต้ผิวดินที่อยู่ใกล้และสัมพันธ์กับน้ำผิวดิน กับ น้ำผิวดินที่สัมพันธ์กับน้ำใต้ผิวดินที่อยู่ลึกมากในชั้นหินอุ้มน้ำ บางครั้งก็เรียกน้ำชนิดนี้ว่า "น้ำซากดึกดำบรรพ์" (Fossil water)

น้ำใต้ผิวดินอาจคิดเชิงคำศัพท์เห้หมือนน้ำผิวดินก็ได้ นั่นคือ การรับเข้า (inputs) การปล่อยออก (outputs) และการเก็บกัก (storage) นัยสำคัญของความแตกต่างก็คือ: ในแง่ของน้ำใต้ผิวดิน ที่เก็บกักมักมีขนาดใหญ่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการรับเข้า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำผิวดินที่มีขนาดเก็บกักเล็กแต่มีขนาดการรับเข้ามากกว่า ข้อแตกต่างนี้เองที่ทำให้มนุษย์สามารถใช้น้ำใต้ดินได้มากมาย (แบบไม่ยั่งยืน) ได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกถึงผลกระทบที่รุนแรง แต่ถึงกระนั้น ในระยะยาว ในที่สุดอัตราเฉลี่ยของการซึมซับของแหล่งน้ำผิวดินที่ไหลลงใต้ดิน ย่อมจะต้องช้ากว่าอัตราการสูบออกไปใช้โดยมนุษย์

การรับเข้าตามธรรมชาติของน้ำใต้ดินเกิดจากการไหลซึมลงชั้นใต้ดินของน้ำผิวดิน การปล่อยออกตามธรรมชาติของน้ำใต้ดินที่เกินขนาดที่เก็บกักคือน้ำพุธรรมชาติและการไหลซึมออกสู่ทะเล

ถ้าแหล่งน้ำผิวดินมีปัญหาด้านอัตราการระเหย แหล่งน้ำใต้ดินอาจกลายเป็นน้ำเค็มได้ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการไหลลงแอ่งต่ำใต้ดินเองหรือเกิดจากฝีมือการชลประทานเพื่อการเกษตรกรรมของมนุษย์ ในพื้นที่แถบชายฝั่งทะเล การใช้แหล่งน้ำใต้ดินของมนุษย์เองอาจเป็นเหตุให้การไหลออกทะเลโดยธรรมชาติของน้ำใต้ดินที่เป็นน้ำจืดหยุดลงและเกิดการไหลย้อนของน้ำเค็มสวนเข้าตามทางน้ำจืดเดิมก่อให้เกิดน้ำใต้ดินที่มีความเค็มได้ มนุษย์สามารถทำให้น้ำใต้ดินให้ "หาย" ไปได้ (เช่น การขาดเสถียรภาพ) เนื่องจากมลพิษ ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็สามารถเพิ่มการรับเข้าของน้ำใต้ดินได้ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือแก้มลิง

น้ำในดินมีลักษณะเป็นส่วนๆ เรียกว่าชั้นหินอุ้มน้ำ หรือชั้นน้ำ น้ำฝนที่ตกลงมาจะถูกซึมซับและไหลมารวมกันที่นี่ ปกติองค์ประกอบของมันน้ำในชั้นหินอุ้มน้ำจะอยู่ในสภาวะที่เกือบเป็นการ "สมดุลอุทกสถิต" (Hydrostatic equilibrium) องค์ประกอบของน้ำในชั้นหินอุ้มน้ำดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับขนาดของช่องหรือรูพรุนของหิน ซึ่งหมายความว่าอัตราการดึงหรือสูบน้ำออกมาใช้จะถูกจำกัดด้วยอัตราการซึมผ่านที่เร็ว

การกำจัดความเค็ม[แก้]

การกำจัดความเค็ม คือกระบวนการเทียมในการทำให้น้ำเค็ม (ส่วนใหญ่คือน้ำทะเล) เปลี่ยนเป็นน้ำจืด กระบวนการกำจัดความเค็มที่ใช้กันโดยทั่วไปได้แก่ วิธีการกลั่น (distillation) และ วิธีออสโมซิสผันกลับ (reverse osmosis) การกำจัดความเค็มสำหรับการสร้างแหล่งน้ำใช้ ในปัจจุบันยังมีค่าใช้จ่ายที่แพงมากเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น การใช้น้ำด้วยวิธีกำจัดความเค็มของน้ำทะเลของมวลมนุษย์ในขณะนี้จึงมีสัดส่วนเศษส่วนเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับแหล่งน้ำที่ใช้วิธีการอื่น ดังนั้น การทำแหล่งน้ำโดยวิธีกำจัดความเค็มจึงมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจเฉพาะในพื้นที่แห้งแล้งและจำกัดการใช้เฉพาะการบริโภคในครัวเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น ปัจจุบัน การผลิตแหล่งน้ำโดยวิธีนี้มากที่สุดได้แก่ประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย

น้ำแข็ง[แก้]

ภูเขาน้ำแข็งมองจากนิวฟาวด์แลนด์

มีวิธีการหลายแบบที่มีผู้คิดขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากภูเขาน้ำแข็งเพื่อนำน้ำมาทำเป็นแหล่งน้ำจืด แต่ถึงปัจจุบันความพยายามนี้ก้ยังคงอยู่ในสภาวะขั้นการคิดต้นเพื่อความแปลกใหม่

น้ำที่ละลายไหลจากภูเขาน้ำแข็งถือเป็นน้ำผิวดิน

ความเครียดน้ำ (Water stress)[แก้]

แนวคิดของความเครียดน้ำค่อนข้างตรงไปตรงมา สมัชชาธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development) ให้ความหมายว่าเป็นสถานกาณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดการขาดแคลนน้ำสำหรับใช้ในกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรมหรือภาคครัวเรือน การใช้เพื่อบ่งชี้ขีดเริ่มเครียดน้ำในแง่ของความเพียงพอของน้ำต่อหัวนับเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้โดยทั่วไปหมายถึงการใช้น้ำและประสิทธิภาพของการใช้น้ำ ได้มีการเสนอว่าเมื่อใดที่น้ำจืดที่ใช้หมุนเวียนได้ที่ใช้ต่อคน/ปีลดต่ำลงกว่า 1,700 ลูกบาศก์เมตร ประเทศนั้นๆ จะพบกับปัญหาการเครียดน้ำ ต่ำกว่า 1,000 ลบม. ความขาดแคลนน้ำจะเริ่มมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและเกิดปัญหาสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน

มีหลายสิ่งที่คุกคามต่อแหล่งน้ำจืดของโลก สิ่งคุกคามดังกล่าวได้แก่

การเพิ่มจำนวนประชากร[แก้]

ในปี พ.ศ. 2543 ประชากรของโลกมีประมาณ 6,200 ล้านคน องค์การสหประชาชาติได้ประมาณว่าเมื่อถึง พ.ศ. 2590 ประชากรโลกจะเพิ่มอีกประมาณ 3,000 ล้านคน โดยการเพิ่มประชากรจะมากในประเทศกำลังพัฒนาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้รับความยากลำบากจากความเครียดน้ำอยู่แล้ว[1] ดังนั้นอุปสงค์ของน้ำจะเพิ่มเว้นแต่จะมีน้ำเพิ่มจากการอนุรักษ์น้ำและการนำน้ำใช้แล้วมาบำบัดใช้ใหม่[2]

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ[แก้]

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ จะมีผลกระทบที่รุนแรงมากต่อทรัพยากรน้ำทั่วโลก เนื่องความสัมพันธ์อย่างมากที่เป็นอยู่ระหว่างภูมิอากาศและวัฏจักรทางอุทกวิทยา การเพิ่มอุณหภูมิของโลกจะเพิ่มอัตราการระเหยและนำไปสู่การเพิ่มปริมาณฝนและหิมะ หรือที่เรียกรวมว่า "หยาดน้ำฟ้า" แม้จะมีความผันแปรที่แตกต่างกันไปตามภูมิภาคก็ตาม แต่โดยรวมแล้วย่อมทำให้แหล่งน้ำจืดของโลกมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทั้งความแห้งแล้งและน้ำท่วมอาจเกิดถี่ขึ้นและเกิดในต่างภูมิภาคและต่างเวลา จะมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในการตกของหิมะและการละลายของหิมะในพื้นที่ที่เป็นภูเขาในเขตหนาว อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะมีผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำในเชิงที่ยังอธิบายไม่ได้ ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดได้แก่ "สภาวะสารอาหารมากเกิน" (eutrophication) การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอาจมีผลทำให้เกิดการเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อการชลประทานเพื่อการเกษตร การดน้ำในสวนด้วยหัวกระจายน้ำและแม้แต่สระว่ายน้ำ

การหมดของชั้นหินอุ้มน้ำ[แก้]

สืบเนื่องจากการเพิ่มประชากรของโลกในอัตราที่มากเกินไป การแก่งแย่งน้ำจึงเกิดขึ้นในลักษณะที่ชั้นหินอุ้มน้ำหลักๆ ของโลกกำลังจะหมดลง ปรากฏการณ์นี้เกิดจากบริโภคโดยตรงของมนุษย์และจากการชลประทานในงานเกษตรกรรมที่นำน้ำใต้ดินมาใช้ ณ ขณะนี้ มีเครื่องสูบขนาดใหญ่น้อยนับล้านเครื่องที่กำลังสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา การชลประทานในพื้นที่แห้งแล้ง เช่นจีนตอนเหนือและอินเดียก็กำลังใช้น้ำจากแหล่งใต้ดินซึ่งสูบขึ้นมาในอัตราที่ไม่ยั่งยืน

มลพิษและการปกป้องน้ำ[แก้]

น้ำที่เป็นมลพิษ

มลพิษทางน้ำ เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังมีความห่วงใยมากในปัจจุบัน รัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้พยายามฟันฝ่าหาทางแก้ไขหรือลดปัญหานี้ลง มีตัวต้นเหตุที่ทำให้น้ำเสียอยู่หลายตัว แต่ตัวที่สร้างปัญหาได้กว้างขวางมากที่สุด โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาได้แก่การปล่อยน้ำโสโครกที่ไม่ได้บำบัดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่อย่างไรก็ดี ประเทศกำลังพัฒนาเช่น จีน อินเดีย และอิหร่านก้ยังใช้วิธีนี้มากอยู่

การใช้น้ำ[แก้]

การใช้น้ำจืดสามารถแบ่งออกได้เป็นประเภทที่เรียกว่า "บริโภคแล้วหมดไป" (consumptive) และ"บริโภคได้ต่อเนื่อง" (non-consumptive) ซึ่งบางครั้งเรียกว่า "ใช้ได้ต่อเนื่องได้ใหม่" การใช้น้ำที่นับเป็นประเภทบริโภคหมดไปได้แก่การใช้ที่เมื่อใช้แล้วไม่อาจนำกลับมาใช้อย่างอื่นได้อีกในทันที การสูญเสียจากการไหลซึมซับลงสู่ใต้ผิวดินและการระเหยก็นับเป็นประเภทบริโภคหมดไปเช่นกัน (แม้ไม่ได้ถูกบริโภคโดยมนุษย์) รวมทั้งน้ำที่ติดรวมไปกับผลิตภัณฑ์เกษตรหรืออาหาร น้ำที่สามารถนำมาบำบัดแล้วปล่อยลงสู่แหล่งน้ำผิวดินใหม่ได้อีก เช่น น้ำโสโครกที่บำบัดแล้ว จะนับเป็นน้ำประเภทใช้ต่อเนื่องได้ใหม่ ถ้าถูกนำไปใช้ต่อเนื่อในกิจกรรมการใช้น้ำอย่างใดอย่างหนึ่ง

เกษตรกรรม[แก้]

ฟาร์มแห่งหนึ่งในออนทาริโอ

มีการประมาณกันว่า ปริมาณน้ำจืดร้อยละ 70 ของโลกถูกใช้ไปเพื่อการชลประทาน ในบางส่วนของโลกอาจไม่จำเป็นต้องใช้ระบบชลประทานเลยก็ได้ แต่ในบางพื้นที่การชลประทานมีความจำเป็นมากในการเพิ่มผลผลิตการปลูกพืชชนิดที่จะได้ราคาดี วิธีการชลประทานแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียที่จะต้องแลกกันระหว่างผลผลิตที่ได้กับปริมาณน้ำที่ใช้ รวมทั้งราคาค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์และโครงสร้าง วิธีการชลประทานแบบปกติบางแบบ เช่นแบบยกร่องและแบบหัวกระจายน้ำด้านบนจะถูกที่สุด แต่ก็มีประสิทธิภาพต่ำ เนื่องจากน้ำส่วนใหญ่จะไหลตามผิวและซึมลงไปในดิน หรือระเหยเสียเปล่าไปมาก

วิธีการชลประทานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ารวมถึงการชลประทานแบบน้ำหยด แบบน้ำเอ่อเป็นระลอก (surge irrigation) และแบบหัวกระจายบางประเภทที่ใช้หัวจ่ายใกล้ระดับดิน ระบบเหล่านี้แม้จะแพงแต่ก็สามารถลดการไหลทิ้งตามผิวและการระเหยลงได้มาก ระบบชลประทานใดๆ ก็ตาม หากไม่จัดการให้ถูกต้อง ความสูญเปล่าก็ยังมีมากอยู่ดี สิ่งแลกเปลี่ยนกับการใช้ระบบชลประทานที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเพียงพอได้แก่การทำให้เกิดความเค็มของน้ำใต้ดิน

การเพาะเลี้ยงในน้ำคือเกษตรกรรมขนาดเล็กที่กำลังเติบโตในแง่ของการใช้น้ำ การประมงน้ำจืดเชิงพาณิชย์นับเป็นการใช้น้ำทางเกษตรกรรมด้วยเช่นกัน แต่ยังถือเป็นการใช้น้ำที่มีลำดับความสำคัญที่ต่ำกว่าการชลประทาน

ในขณะที่ประชากรของโลกเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น แต่แหล่งน้ำกลับมีคงที่ ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการคิดค้นวิธีเพิ่มผลผลิตอาหารโดยใช้น้ำน้อยลงซึ่งได้แก่: การปรับปรุงวิธีการและเทคโนโลยีด้านการชลประทาน การจัดการน้ำเพื่อการเกษตร การเลือกพันธุ์พืชและระบบการเฝ้าสังเกตและตรวจสอบการใช้น้ำ

อุตสาหกรรม[แก้]

โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในโปแลนด์

ประมาณว่า ร้อยละ 15 ของการใช้น้ำโดยรวมของโลกเป็นการใช้เพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมหลักๆ ที่ใช้น้ำมากได้แก่การผลิตไฟฟ้าที่ใช้น้ำในการหล่อเย็นและใช้ผลิตไฟฟ้า (เช่นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ) อุตสาหกรรมเกี่ยวกับแร่และการถลุงแร่ การกลั่นน้ำมัน ซึ่งใช้น้ำในกระบวนการทางเคมี โรงงานผลิตสินค้าต่างๆ ที่ใช้น้ำเป็นตัวละลาย

สัดส่วนการใช้น้ำทางอุตสาหกรรมที่นับประเภทเป็น "การใช้หมดไป" นี้มีความผันแปรแตกต่างกันมากก็จริง แต่โดยรวมแล้วยังนับว่าน้อยกว่าการใช้น้ำทางเกษตรกรรมมาก

ครัวเรือน[แก้]

น้ำดื่ม

ประมาณว่าภาคครัวเรือนทั้งโลกใช้น้ำเพื่อบริโภคและอุปโภคเฉลี่ยร้อยละ 15 ซึ่งรวมถึงน้ำดื่ม น้ำอาบ น้ำเพื่อการปรุงอาหาร เพื่อการสุขาภิบาล และเพื่อการรดน้ำต้นไม้และสวน

ความต้องการพื้นฐานของการใช้น้ำภาคครัวเรือนได้รับการประมาณไว้โดย "ปีเตอร์ กลีก" ว่าเท่ากับ 50 ลิตรต่อคน-ต่อวัน โดยไม่รวมน้ำที่ใช้รดน้ำต้นไม้[3]

น้ำใช้แล้วในภาคครัวเรือนจะถูกบำบัดแล้วปล่อยกลับคืนสู่แหล่งธรรมชาติ มีข้อยกเว้นอยู่บ้างที่มีการนำน้ำบำบัดแล้วไปใช้ในงานภูมิทัศน์ ดังนั้นที่น้ำใช้ในภาคครัวเรือนจึงมีสภาวะเป็นประเภทใช้แล้วหมดไปน้อยกว่าน้ำที่ใช้ทางด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม

นันทนาการ[แก้]

ลำธารไวท์วอเตอร์

น้ำมีคุณค่าด้านนันทนาการค่อนข้างสูงมาก

ปริมาณน้ำที่ใช้ในด้านนันทนาการมีปริมาณน้อยมากแต่ก็กำลังเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่การใช้น้ำด้านนันทนาการมักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอ่างเก็บน้ำ ถ้าอ่างเก็บน้ำถูกบรรจุน้ำเต็มมากกว่าปกติเพื่อนันทนาการ ในกรณีนี้ น้ำที่ถูกเก็บกักไว้อาจจัดอยู่ในประเภทการใช้เพื่อนันทนาการได้ การปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อให้เล่นเรือในทางน้ำใต้อ่างได้ก็สามารถนับน้ำที่ปล่อยเพื่อการนี้เป็นน้ำเพื่อนันทนาการได้เช่นกัน ตัวอย่างอื่นๆ ได้แก่แหล่งน้ำเพื่อกักกันไว้เพื่อกีฬาตกปลา การเล่นสกีน้ำ การเที่ยวชมธรรมชาติและการว่ายน้ำในธรรมชาติ

การใช้น้ำเพื่อนันทนาการจัดอยู่ในประเภทบริโภคต่อเนื่องที่ไม่หมดไป (non-consumtive) แต่อย่างไรก็ดี มันอาจทำให้น้ำที่อาจนำไปใช้ในกิจกรรมอื่นลดลงในบางขณะและบางพื้นที่ ตัวอย่างเช่นการเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บในช่วงฤดูแล้งเพื่อใช้ในการเล่นเรืออาจทำให้ขาดน้ำเพื่อการเกษตรในต้นฤดูเพาะปลูกครั้งหน้า รวมทั้งน้ำที่ปล่อยจากอ่างเก็บน้ำเพื่อให้สามารถล่องแพหรือเรือยางเพื่อการท่องเที่ยวในฤดูแล้งได้ก็อาจทำให้ขาดน้ำเพื่อใช้ทำไฟฟ้าในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้เช่นกันก็เป็นต้น

สิ่งแวดล้อม[แก้]

พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ

การใช้น้ำในด้านสิ่งแวดล้อมที่พอจะเห็นได้ชัดเจนจริงๆ มีน้อยมาก แต่โดยภาพรวมแล้วอาจนับได้ว่ากำลังเพิ่มปริมาณขึ้น การใช้น้ำด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวได้แก่การนำมาใช้ในการทำพื้นที่ชุ่มน้ำเทียม ใช้ทำทะเลสาบเทียมเพื่อเพิ่มที่อยู่อาศัยหรือที่พักพิงของสัตว์ป่า ใช้ทำบันไดปลาโจนตามเขื่อนต่างๆ และใช้เป็นน้ำสำหรับปล่อยเป็นเวลาจากอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยการขยายพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำในทางน้ำใต้อ่าง

เช่นเดียวกับการใช้ในด้านนันทนาการ การใช้น้ำในด้านสิ่งแวดล้อมจัดอยู่ในประเภทบริโภคได้ต่อเนื่อง แต่ก็อาจมีผลให้น้ำที่เก็บกักไว้เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมชนิดอื่นลดลงในบางช่วงเวลาและเฉพาะบางพื้นที่ ตัวอย่างเช่น น้ำที่ปล่อยจากอ่างเก็บน้ำเพื่อช่วยการขยายพันธุ์ปลาอาจทำให้น้ำที่จะใช้เพื่อการเกษตรกรรมเหนือน้ำขาดแคลนหรือมีน้อยลงดังกล่าว

การประปาของโลกและการแจกจ่าย[แก้]

อาหารและน้ำคือสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ จากภาพแผนภูมิที่แสดงข้างต้น การขาดแคลนน้ำจะเกิดมากในประเทศยากจนที่มีแหล่งน้ำจำกัดแต่มีอัตราการเพิ่มประชากรสูงและรวดเร็ว เช่นประเทศแถบตะวันออกกลาง แอฟริกาและบางส่วนของเอเชีย เมื่อถึงปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2550) พื้นที่ชุมชนเมืองขนาดใหญ่และปริมณฑลโดยรอบจะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานขึ้นใหม่ให้มากพอสำหรับการประปาเพื่อแจกจ่ายน้ำสะอาดและปลอดภัยแก่ประชากรและเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่เพียงพอ ภาพดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้เพื่อการเกษตรซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำรายใหญ่ที่สุดในปัจจุบันกับการใช้น้ำสำหรับชุมชนเมืองย่อมมีความรุนแรงขึ้น

อาจกล่าวโดยทั่วไปได้ว่า เมื่อถึงปี พ.ศ. 2593 ประเทศพัฒนาแล้วในอเมริกาเหนือ ยุโรปและรัสเซียจะไม่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำมากนัก ไม่ใช่เพียงเพราะประเทศเหล่านั้นร่ำรวยกว่าแต่เป็นเพราะประเทศเหล่านั้นมีจำนวนประชากรที่ไม่เพิ่มมาก จึงพอรับได้กับปริมาณแหล่งน้ำที่มีอยู่

ประเทศแถบแอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้และตอนเหนือของประเทศจีนจะพบกับภาวะการขาดแหล่งน้ำอย่างรุนแรงเนื่องจากสภาพทางกายภาพทางภูมิศาสตร์ที่ขาดแหล่งน้ำอยู่แล้ว ผนวกกับการเพิ่มจำนวนประชากรที่เกินขีดความสามารถในการรองรับของแหล่งน้ำ ประทเศส่วนใหญ่ในแถบ อเมริกาใต้ แอฟริกาแถบซาฮะรา (sub-Saharan Africa) จีนตอนใต้ และอินเดียจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำในปี พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) ซึ่งประเทศในภูมิภาคดังกล่าวนี้ จะพบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำที่สืบเนื่องมาจากขีดจำกัดทางเศรษฐกิจที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแจกจ่ายน้ำประปาที่สะอาดและปลอดภัยได้เพียงพอ ปัญหาประชากรมากเกินไปในพื้นที่นั้นๆ และอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรโดยรวมที่สูงมากก็เป็นต้นเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งแห่งการขาดแคลนน้ำด้วยเช่นกัน'

อ้างอิง[แก้]

  1. World population to reach 9.1 billion in 2050, UN projects
  2. Groundwater – the processes and global significance of aquifer degradation
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-12. สืบค้นเมื่อ 2006-12-17.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]