ถนนรถไฟ (เขตบางกอกน้อย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บรรยากาศยามเย็นของถนนรถไฟ มุมมองไปทางด้านถนนอิสรภาพ จะสังเกตเห็นทางลาดขึ้นสู่สะพานอรุณอมรินทร์ทางด้านขวาของภาพ

ถนนรถไฟ (Thanon Rotfai) เป็นถนนสายสั้นในเขตสถานีรถไฟธนบุรีของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่แขวงบ้านช่างหล่อและแขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากปลายถนนอิสรภาพ จุดบรรจบถนนสุทธาวาส ผ่านตลาดศาลาน้ำร้อน (ใหม่) ลอดใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองบางกอกน้อยตามแนวถนนอรุณอมรินทร์ ผ่านวัดอมรินทรารามโดยแบ่งพื้นที่วัดออกเป็นสองส่วน ผ่านด้านหลังโรงพยาบาลศิริราช และสิ้นสุดที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย (สถานีรถไฟธนบุรีเดิม) ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

กายภาพ[แก้]

  • มี 2 ช่องจราจร ยกเว้นบริเวณทางลาดขึ้นและลงสะพานอรุณอมรินทร์มี 3 ช่องจราจร ไม่มีเกาะกลาง
  • มีทางลาดเชื่อมต่อสะพานอรุณอมรินทร์ ประกอบด้วยทางขึ้นสะพานจากด้านถนนอิสรภาพ และทางลงสะพานไปยังด้านหลังโรงพยาบาลศิริราช
  • มีเฉพาะเส้นทางออกจากถนนรถไฟเชื่อมต่อกับถนนอรุณอมรินทร์บริเวณแยกศิริราช แต่ไม่มีทางเข้าจากแยกศิริราช

ในอดีต ถนนรถไฟสามารถเชื่อมต่อกับถนนอรุณอมรินทร์ได้โดยตรง แต่ต่อมามีการก่อสร้างสะพานอรุณอมรินทร์ตามแนวถนนอรุณอมรินทร์ข้ามถนนรถไฟและคลองบางกอกน้อย เพื่อเชื่อมต่อกับสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ด้วยพื้นที่จำกัดทำให้สามแยกเดิมบริเวณจุดบรรจบถนนอรุณอมรินทร์เหลือเพียงถนน 1 ช่องทางข้างสะพานอรุณอมรินทร์ จากถนนรถไฟออกสู่ถนนอรุณอมรินทร์และแยกศิริราช ส่วนช่องทางเข้าสู่ถนนรถไฟได้เปลี่ยนเป็นทางยกระดับข้ามถนนรถไฟทั้งหมด

  • มีทางลาดจากถนนรถไฟด้านถนนอิสรภาพขึ้นสู่สะพานอรุณอมรินทร์ และจากสะพานอรุณอมรินทร์ลงสู่ถนนรถไฟด้านหลังโรงพยาบาลศิริราช

ทางลาดขึ้นจากถนนรถไฟด้านถนนอิสรภาพบริเวณหน้าตลาดศาลาน้ำร้อน (ใหม่) เป็นทางที่สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งช่วยแบ่งเบาการจราจรให้ผู้สัญจรจากแยกพรานนกสามารถใช้ถนนอิสรภาพมาขึ้นสะพานอรุณอมรินทร์จากถนนรถไฟได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านถนนพรานนกและแยกศิริราชที่มีการจราจรคับคั่งและมีช่องทางจราจรจำกัด

  • เมื่อปี พ.ศ. 2546 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบพื้นที่สถานีรถไฟธนบุรีเดิมริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้แก่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การแพทย์ระดับเอเชีย ปัจจุบันถนนรถไฟจึงสิ้นสุดเพียงจุดบรรจบทางลาดลงจากสะพานอรุณอมรินทร์ หลังวิหารหลวงพ่อโบสถ์น้อย ประตูหลังโรงพยาบาลศิริราช แต่ยังมีการก่อสร้างทางคู่ขนานขึ้นมาใหม่ขนาบพื้นที่ของการรถไฟฯ โดยต่อจากปลายถนนรถไฟเลี้ยววกกลับไปยังใต้สะพานด้านริมคลองบางกอกน้อย ผ่านด้านหลังตลาดศาลาน้ำร้อน (ใหม่) และชานชาลาสถานีรถไฟธนบุรี (ใหม่) ก่อนเข้ามาบรรจบกับปลายถนนอิสรภาพและถนนสุทธาวาส ซึ่งทางคู่ขนานถนนรถไฟสายนี้ ก็มีทางลาดที่วนขึ้นไปบรรจบถนนอรุณอมรินทร์บนสะพานอรุณอมรินทร์ด้วยเช่นกัน

สถานที่สำคัญที่ถนนตัดผ่าน[แก้]