ตู้ซ่อนเงิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตู้ซ่อนเงิน
ประเภทเกมโชว์ (ควิชโชว์)
พัฒนาโดยบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
เสนอโดยวราวุธ เจนธนากุล
ประเทศแหล่งกำเนิดไทย
ภาษาต้นฉบับไทย
การผลิต
ผู้อำนวยการสร้างรุ่งธรรม พุ่มสีนิล
ความยาวตอน50 นาที
ออกอากาศ
เครือข่ายสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5
ออกอากาศ20 มกราคม พ.ศ. 2550 –
26 มกราคม พ.ศ. 2551
การแสดงที่เกี่ยวข้อง
กำจัดจุดอ่อน

ตู้ซ่อนเงิน เป็นรายการโทรทัศน์ประเภทเกมโชว์แนวควิซโชว์ในลักษณะการตอบคำถามผสมกับการ "สืบสวนสอบสวน" ผลิตรายการโดย บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2550 จนถึงครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2551 โดยออกอากาศทุกวันเสาร์เวลา 22.00 น. ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 รวมระยะเวลาออกอากาศทั้งหมด 1 ปี กับ 6 วัน ดำเนินรายการโดย วราวุธ เจนธนากุล (เอ)[1]

รูปแบบและกติกาของรายการ[แก้]

รูปแบบหลักของรายการคือการไขปริศนาจากตู้เซฟที่มีอยู่ทั้งหมด 5 ตู้ ตู้ใดมีเงินจำนวน 1,000,000 บาทซ่อนอยู่ โดยมีผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 5 คน แต่ละคนจะต้องแข่งขันกันตอบคำถามเพื่อให้ได้สิทธิ์เข้าไปดูตู้เซฟในห้องนิรภัย และหลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงของการเก็บความลับ จับโกหก ที่พิธีกรจะพยายามถามคำถามจับผิดผู้เข้าแข่งขัน เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันพูดความจริงออกมาให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ผู้เข้าแข่งขันจะต้องพยายามที่จะเก็บความลับในการมองดูตู้ซ่อนเงินที่ตัวเองเปิด และจับโกหกของผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ ที่กำลังเก็บความลับอยู่ด้วย ทั้งนี้ในการดำเนินรายการจะประกอบไปด้วยรอบตอบคำถาม, รอบดูตู้ซ่อนเงินทั้งหมด 4 รอบ แล้วจึงตามด้วยรอบเฉลยตู้ซ่อนเงิน และรอบสุดท้ายคือรอบเงินล้าน ซึ่งเป็นรอบแจ็คพ็อต[2]

รอบตอบคำถาม[แก้]

ในรอบตอบคำถามนั้นจะมีเวลา 120 วินาที พิธีกรจะอ่านคำถามให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คน แย่งกันกดปุ่มไฟเพื่อตอบคำถาม ถ้าตอบถูกจะได้ 1 คะแนน ถ้าตอบผิดจะให้ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นที่กดปุ่มไฟได้เร็วที่สุดตอบแทน เมื่อเวลาหมด ผู้เข้าแข่งขันที่ตอบคำถามถูกต้องได้มากที่สุดและผิดน้อยที่สุดจะได้เข้าไปดูตู้ซ่อนเงิน 1 ตู้จากทั้งหมด 5 ตู้ในห้องนิรภัย ในกรณีที่มีผู้ตอบคำถามถูกต้องมากที่สุดและผิดน้อยที่สุดเท่ากัน พิธีกรจะมีคำถามตัดสิน โดยผู้ที่ตอบถูกจะได้รับสิทธิ์เข้าไปดูตู้ซ่อนเงิน

รอบดูตู้ซ่อนเงิน[แก้]

หลังสิ้นสุดเกมในรอบตอบคำถามของแต่ละรอบ ผู้เข้าแข่งขันที่มีจำนวนครั้งการตอบคำถามได้ถูกต้องมากที่สุดในแต่ละรอบจะได้รับสิทธิ์เข้าไปดูตู้เซฟในห้องนิรภัย โดยผู้เข้าแข่งขันคนดังกล่าวสามารถเลือกดูตู้เซฟในแต่ละรอบได้เพียง 1 ตู้เท่านั้น โดยการเปิดตู้เซฟนั้น จะมีบัตรกุญแจอยู่จำนวน 5 ใบ ตามจำนวนของตู้เซฟที่อยู่ในห้องนิรภัย ให้ผู้เข้าแข่งขันเลือกมาหนึ่งใบ หากต้องการจะดูสิ่งของภายในของตู้เซฟหมายเลขหนึ่ง ก็เลือกบัตรหมายเลข 1 หากต้องการจะดูสิ่งของภายในตู้เซฟหมายเลขสอง ก็เลือกบัตรหมายเลข 2 เป็นต้น หลังจากที่ได้เลือกบัตรและใช้บัตรตามหมายเลขของตู้ที่ได้เลือกไว้เพื่อเปิดตู้หมายเลขนั้นแล้วมองดูสิ่งที่อยู่ภายในตู้เสร็จแล้ว ผู้เข้าแข่งขันจะต้องมานั่งบนเก้าอี้พิเศษ ซึ่งมีกล้องคอยจับใบหน้าของผู้เข้าแข่งขันคนนั้นอยู่ พิธีกรจะใช้เวลา 45 วินาที ในการซักถามว่ามีอะไรอยู่ในตู้นั้นบ้าง (พิธีกรจะเรียกกระบวนการนี้ว่าการเก็บความลับ จับโกหก) ซึ่งพิธีกรจะใช้คำถามทดสอบในเชิงจิตวิทยา เพื่อพยายามเค้นความจริงจากผู้เข้าแข่งขันให้ได้มากที่สุด โดยจะมีผู้เข้าแข่งขันคนอื่นที่ไม่ได้เข้าไปดูตู้เซฟในห้องนิรภัยในรอบนั้นๆคอยรับฟังการซักถาม ผู้เข้าแข่งขันสามารถที่จะพูดความจริงหรือพูดโกหกเพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันคนอื่นเกิดความไขว้เขวก็ได้ หลังจากจบการซักถามพิธีกรจะสอบถามความคิดเห็นสำหรับผู้เข้าแข่งขันคนอื่นๆ แล้วจึงเข้าสู่การตอบคำถามอีกครั้งจนกว่าจะครบทั้ง 4 รอบ

รอบเฉลยตู้ซ่อนเงิน[แก้]

เมื่อสิ้นสุดรอบตอบคำถาม และรอบดูตู้ซ่อนเงินโดยผ่านไปครบทั้ง 4 รอบแล้ว ก่อนที่จะเฉลยตู้ซ่อนเงินนั้นพิธีกรจะให้กลับไปดูอากัปกิริยาของผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดที่ได้เปิดดูตู้ซ่อนเงินไปแล้ว หลังจากนั้นจึงจะสรุปผลคะแนนของการตอบคำถามโดยเรียงตามผู้ที่มีคะแนนมากที่สุดไปยังผู้ที่มีคะแนนน้อยที่สุด (การคำนวณคะแนนจะพิจารณาจากจำนวนการตอบคำถามถูกต้องมากครั้งที่สุด ถ้าจำนวนครั้งเท่ากันจะตัดสินไปที่จำนวนของการตอบคำถามผิดน้อยครั้งที่สุด) ผู้ที่มีคะแนนมากที่สุดจะได้สิทธิ์ทายก่อนว่าตู้ซ่อนเงินเป็นตู้หมายเลขใด ถ้าเปิดตู้แล้วไม่พบเงินหรือสิ่งของที่มีค่า เช่น สร้อยคอทองคำ เป็นต้น (ตามการออกอากาศในระยะแรก) ถือว่าตกรอบทันที และผู้ที่อยู่อันดับถัดไปจะได้สิทธิ์ทายตู้ต่อไป ผู้เข้าแข่งขันคนใดที่สามารถทายได้อย่างถูกต้องว่าเงินได้ซ่อนอยู่ในตู้เซฟตู้ใดแล้ว ผู้เข้าแข่งขันคนนั้นจะผ่านเข้าสู่รอบเงินล้านทันที

รอบเงินล้าน (แจ็คพ็อต)[แก้]

ผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบสู่รอบเงินล้าน ซึ่งเป็นรอบแจ็คพ็อต โดยผู้เข้าแข่งขันคนดังกล่าวจะต้องกดแป้นตัวเลขเพื่อถอดรหัสลับซึ่งเป็นตัวเลขไม่ซ้ำกัน 6 หลัก ภายในเวลา 30 วินาที

กระแสตอบรับ[แก้]

รายการ ตู้ซ่อนเงิน ได้รับเสียงวิพากย์วิจารณ์ในด้านแง่ลบอยู่ระดับหนึ่ง เนื่องจากรูปแบบรายการได้ลอกเลียนแบบมาจากรายการกำจัดจุดอ่อน และไม่ได้ซื้อลิขสิทธิ์จากบีบีซี เอ็นเตอร์เทนเมนต์[3] ก่อนที่ในเวลาต่อมา มีผู้ค้นพบว่า ต้นฉบับของรายการ ตู้ซ่อนเงิน ที่แท้จริง คือ รายการ Bankgeheim ที่ออกอากาศทางช่อง TROS TV ประเทศเนเธอร์แลนด์ และไม่ได้มีความคล้ายกับรายการกำจัดจุดอ่อนแต่อย่างใด [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. ข่าวประชาสัมพันธ์ทั่วไป (18 มกราคม 2550). "เวิร์คพอยท์ฯ เปิดตัวควิชโชว์ ตู้ซ่อนเงิน เตรียมทึ่งกับปรากฏการณ์ใหม่ "เก็บความลับ จับโกหก" ประเดิมจอ 20 ม.ค.นี้ สี่ทุ่ม ช่อง 5". Newswit.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-04-10. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. Jfk (28 มีนาคม 2550). "มารู้จัก รายการ ตู้ซ่อนเงิน รวมทั้ง วิเคราะห์ วางแผน เทคนิคการเล่นเกมส์". Bloggang.com. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. สกู๊ปบันเทิง (25 เมษายน 2556). "ฟรีทีวี-ทีวีดาวเทียมนำเข้าเกมโชว์ดึงผู้ชม". Komchadluek.net. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-22. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. BankGeheim, สืบค้นเมื่อ 2022-04-30

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]