ตุลาการภิวัตน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตุลาการภิวัตน์[1] (อังกฤษ: judicial activism) ใช้เรียกกรณีที่อำนาจตุลาการต้องสงสัยว่าบังคับใช้กฎหมายตามความเชื่อส่วนบุคคลหรือการเมือง แทนที่จะอิงตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ พจนานุกรมกฎหมายของแบล็ค ให้คำจำกัดความไว้ว่า "แนวคิดที่ตุลาการให้ความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกเหนือไปจากปัจจัยอื่น ๆ มาชี้นำการตัดสินของตน" ("philosophy of judicial decision-making whereby judges allow their personal views about public policy, among other factors, to guide their decisions.")[2]

คำจำกัดความของตุลาการภิวัตน์นั้น สามารถสืบต้นกำเนิดไปได้ถึงทอมัส เจฟเฟอร์สันซึ่งวิจารณ์ตุลาการอย่างจอห์น มาร์แชลว่ามี "พฤติกรรมแบบเผด็จการ" (despotic behaviour)[3] ส่วนผู้ใช้คำนี้เป็นคนแรกคืออาเธอร์ เชลสซิงเจอร์ จูเนียร์ โดยใช้วิจารณ์ศาลผ่านบทความชื่อ The Supreme Court: 1947. ในวารสารฟอร์ชูนฉบับมกราคม พ.ศ. 2490[4] คำว่า “ตุลาการภิวัตน์” นั้น ทำให้เกิดการถกเถียงมาแต่แรก โดย เครก กรีน ได้วิจารณ์เชลสซิงเจอร์ไว้ในบทความชื่อ An Intellectual History of Judicial Activism ว่า "การนำคำตุลาการภิวัตน์มาใช้ของเชลสซิงเจอร์นั้นกำกวมอย่างน่ากังขา ไม่เพียงแต่เขาจะอธิบายสิ่งที่เรียกว่าตุลาการภิวัตน์ไม่ได้ แต่เขายังไม่ยอมบอกด้วยว่าสิ่งนี้ดีหรือเลว"[5]

กรณีที่ถูกกล่าวว่าเป็นตุลาการภิวัตน์อันมีชื่อเสียงก็คือในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2543 เมื่อศาลสูงสหรัฐอเมริกาให้ยุติการนับคะแนนใหม่ของรัฐฟลอริดา และทำให้จอร์จ ดับเบิลยู. บุชได้รับชัยชนะเหนืออัล กอร์ไปโดยปริยาย[6]

ส่วนในประเทศไทย ธีรยุทธ บุญมีบัญญัติศัพท์นี้หลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด (อักขราทร จุฬารัตน) และประธานศาลฎีกา (ชาญชัย ลิขิตจิตถะ) นำตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549 เพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองไทย[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. อวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร (2552-09-12). "ตุลาการภิวัตน์กับวิกฤติการณ์ทางการเมือง 2549" (PDF). ดุลพาห. กรุงเทพฯ: สำนักงานศาลยุติธรรม (3 (56)). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2019-03-30. สืบค้นเมื่อ 2014-03-23.
  2. As quoted in "Takings Clause Jurisprudence: Muddled, Perhaps; Judicial Activism, No" DF O'Scannlain, Geo. JL & Pub. Pol'y, 2002
  3. Haines & Sherwood, The Role of the Supreme Court in American Government and Politics: 1789-1835, 1944, p.209
  4. Keenan Kmiec in a 2004 California Law Review article
  5. An Intellectual History of Judicial Activism เก็บถาวร 2011-07-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Craig Green, August 2008, p. 4
  6. The real case of judicial activism เก็บถาวร 2016-03-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Times Herald, 2 June 2009
  7. บทบาทของสถาบันศาลรัฐธรรมนูญกับตุลาการภิวัฒน์

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]