ตีนตุ๊กแก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตีนตุ๊กแก
ตีนตุ๊กแก (Tridax procumbens L.)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไฟลัม: Magnoliophyta
อันดับ: Asterales
วงศ์: Asteraceae
สกุล: Tridax
สปีชีส์: T.  Procumbens
ชื่อทวินาม
Tridax procumbens
(L.)

ตีนตุ๊กแก (Coatbuttons, Mexican daisy) เป็นไม้ล้มลุก ออกดอกตลอดปี พบขึ้นทั่วไปเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี มีลำต้นทอดนอนไปตามพื้น ชูยอดและดอกขึ้นตามต้นและใบมีขน ข้อของต้นที่แตะพื้นจะมีรากและเจริญเป็นต้นใหม่ได้[1]

ลักษณะทั่วไป[แก้]

ลักษณะต้นตีนตุ๊กแก

เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว เลื้อยทอดไปบนพื้นดิน สูงถึง 50 ซม.

ลำต้น ต้นเล็กเรียวสีขาวแกมเขียว แตกแขนงเล็กน้อย ลำต้นมีขนปกคลุม

ใบ ใบเดี่ยว เรียงตัวแบบตรงข้าม ก้านใบยาว 5-15 มม. ด้านบนก้านใบเป็นร่อง ใบรูปไข่หรือรูปข้าวหลามตัด ขอบใบหยัก โคนใบแหลมหรือ attenuate ปลายใบแหลม ผิวใบมีขนเล็ก ๆ ปกคลุม ท้องใบและหลังมีขนสีน้ำตาลปกคลุมผิวใบทั้งสองด้านแต่ผิวใบด้านล่างมีหนาแน่นกว่า

ดอก

ดอก ช่อดอกเป็นแบบ ovoid head เกิดที่ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกเล็กเรียว ยาว 10-25 ซม. มีขนปกคลุม โคนช่อ ดอกมี ใบประดับ สีเขียวจำนวนมาก รูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายแหลม โคนมนหรือตัดตรง กว้าง 1-3 มม. ยาว 3- 6 มม. มีขนปกคลุม เส้นผ่าศูนย์กลางช่อดอกเมื่อดอกบาน 1-2 ซม. ดอกย่อยมี 2 แบบ ดอกรอบนอก (ray flowers) 1 วง จำนวน 4-6 ดอก ดอกย่อยชั้นใน (disc flower) เป็นกระจุกหลายวง อัดแน่นบนฐานรองดอก ไม่มีก้านดอกย่อย โคนดอกย่อยมี ใบประดับ สีขาวแกม ม่วง ยาว 7-8 มม. ray flowers เป็นแบบ ligulate type กลีบเลี้ยง สีขาว มี ลักษณะเป็นเส้นขนเล็ก ๆ ยาว 3-4 มม. จำนวนมาก กลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบสีขาว ติดกันเป็นหลอด ปลายกลีบสีเหลือง ติดกันเป็นแผ่นเดียว กว้าง 3-4 มม. ยาว 3-4 มม. ปลายกลีบเว้าหยักเป็น 2-3 พู ไม่มีเกสรเพศผู้ มีเกสรเพศเมีย รังไข่แบบ inferior ovary มีขนปกคลุม ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่าหลอดกลีบดอกเล็กน้อย ปลายแยกเป็นยอดเกสร 2 แฉก disc flower เป็นแบบ tubular type แยกกันเป็น 5 แฉก หลอดกลีบ กว้าง 0.5-1.2 มม. ยาว 5-7 มม มีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณู แยกกันและยาวกว่าหลอดกลีบดอกเล็กน้อย อับเรณู ยาว 1.5-2.5 มม.ติดกันตามยาวล้อมรอบก้านเกสรเพศเมียเอาไว้ เกสรเพศเมีย รังไข่แบบ inferior ovary มีขนปกคลุม ก้านเกสร เพศเมียยาวกว่าเกสรเพศผู้ ปลายแยกเป็นยอดเกสร 2 แฉก รังไข่มีขนเล็ก ๆ ปกลุมมี 1 ออวุล

ผล รูปหอก 2 อันประกบกัน กว้าง 1-3 เซนติเมตร ด้านข้างของผลมีจะงอยเล็กน้อย ผิวมีขน มีกลีบเลี้ยงหุ้มผล ผลแห้งไม่แตก เปลือกเหนียว มีขนสีน้ำตาลปกคลุม

เมล็ด รูปยาวรี 1 เมล็ด เมล็ดรูปเข็มสีน้ำตาลดำมีปุยขน ผลแห้งแบบ achene ยาว 1-2 มม.มีใบประดับติดที่ปลายผล ลักษณะเป็นพู่ขน ช่วยพยุงผลให้ลอยตามลม ข้อของต้นที่แตะพื้นจะมีรากและเจริญเป็นต้นใหม่ได้[2]

ถิ่นกำเนิด[แก้]

ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา และในประเทศไทยพบทุกภาค บริเวณที่ชื้นทั่วไปหรือชื้นแฉะริมน้ำ[3]

การขยายพันธุ์[แก้]

การเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง

การป้องกันและกำจัด[แก้]

ใช้วิธีการเขตกรรม เช่น ถาก ตัด ให้สั้นไม่ให้ออกดอก หรือขุดทิ้ง ใช้สารเคมีต่าง ๆ เช่น มาร์เก็ต (ไกลโฟเซต) ดาร์ไฟท์ (ไกลโฟเซต, ไอโซโพฟิลามีน ซอลต์) ดามาร์ค (ไกลโฟเซต) ทัชดาวน์ (ไกลโฟเซต, ไตรมีเซียมซอลต์)[4]

ระเบียงภาพ[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. [1][ลิงก์เสีย].Thai plants
  2. [2].สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
  3. [3][ลิงก์เสีย].ThaiBioDiversity
  4. [4] เก็บถาวร 2012-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.มหาวิทยาลัยแม่โจ้

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]