ติมอร์ก่อนอาณานิคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ติมอร์ เป็นเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาเกาะที่อยู่ระหว่างเกาะชวากับเกาะนิวกินี ชาวยุโรปเข้ามายึดติมอร์ไว้เป็นอาณานิคมตั้งแต่ พ.ศ. 2058 โดยดินแดนทางตะวันตกของเกาะถูกปกครองโดยเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันคือติมอร์ตะวันตกของอินโดนีเซีย ทางตะวันออกของเกาะถูกปกครองโดยโปรตุเกสและปัจจุบันคือประเทศติมอร์-เลสเต (ติมอร์ตะวันออก)

ประวัติศาสตร์ยุคแรก[แก้]

ประชากรที่อพยพมายังเกาะติมอร์ ส่วนใหญ่เป็นชาวออสตราเลเชีย ประชากรในปัจจุบันเชื่อว่าเป็นผู้ที่เหลือรอดจากคลื่นผู้อพยพมายังเกาะสามระลอก กลุ่มแรกเป็นกลุ่มชนที่ชื่อ เวดโด-ออสตราลอยด์ มาจากทางเหนือและตะวันตก เมื่อราว 42,000 ปีมาแล้วแม้จะไม่พบหลักฐานมากนัก แต่กลุ่มชนชุดแรกเป็นนักเดินเรือที่มีทักษะเชี่ยวชาญ และมีเทคโนโลยีมากมายที่จะเดินทางมาถึงออสเตรเลียและเกาะอื่น ๆ ต่อมาเมื่อประมาณ 2,457 ปีก่อนพุทธศักราช กลุ่มชนระลอกที่ 2 คือชาวเมลานีเซียได้เดินทางมาถึง ชนกลุ่มแรกขยับไปอยู่ตามเขตภูเขาชั้นใน กลุ่มสุดท้ายคือชาวมลายูดั้งเดิม เดินทางมาจากจีนตอนใต้และอินโดจีนตอนเหนือ พ่อค้าชาวฮากกาจัดอยู่ในกลุ่มสุดท้ายนี้เช่นกัน[1] ชาวติมอร์มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับบรรพบุรุษที่แล่นเรือมาถึงทางตะวันออกของเกาะ โดยมาจากดินแดนทางใต้บางเรื่องเล่าว่าบรรพบุรุษของชาวติมอร์ เดินทางมาจากคาบสมุทรมลายูหรือมีนังกาเบาบนเกาะสุมาตรา[2]

ชาวติมอร์ในดินแดนของตน[แก้]

ชาวติมอร์ในรุ่นต่อมาไม่ใช่ชาวทะเล พวกเขาเป็นคนที่อยู่กับพื้นดิน โดยไม่ติดต่อกับเกาะอื่นทางทะเล ติมอร์เป็นส่วนหนึ่งของบริเวณที่มีเกาะขนาดเล็กและมีประชากรอยู่น้อยที่อยู่ทางภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย การติดต่อกับโลกภายนอก จะผ่านเครือข่ายการค้าของต่างชาติ เช่นอินเดียและจีนที่เดินทางมาถึงเกาะ สินค้าภายนอกที่เข้ามาถึงบริเวณนี้คือ ทอง ข้าว เงินเหรียญ โดยนำมาแลกเปลี่ยนกับเครื่องเทศ เขากวาง ขี้ผึ้ง ทาส เป็นต้น

นาการาเกรอตากามา (Nagarakretagama) พงศาวดารของราชวงศ์มัชปาหิต ถือว่าติมอร์เป็นรัฐบรรณาการ[3] แต่ตามที่ตูแม ปีรึช (Tomé Pires) ผู้จดบันทึกประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกส ได้เขียนไว้เมื่อพุทธศตวรรษที่ 21 เกาะที่อยู่ทางตะวันออกของเกาะชวาทั้งหมดถูกเรียกว่าติมอร์[4] นักชาตินิยมชาวอินโดนีเซียใช้พงศาวดารของราชวงศ์มัชปาหิตในการกล่าวอ้างว่าติมอร์ตะวันออกเป็นของอินโดนีเซีย[5] นักสำรวจชาวยุโรปรุ่นแรกรายงานว่า เกาะมีผู้ปกครองเป็นเจ้าชายหรือหัวหน้าเผ่า ส่วนที่มีความสำคัญที่สุดคือเวฮาลีหรือราชอาณาจักรเวฮาเล ในติมอร์ตอนกลาง ซึ่งมีชาวเตตุน ชาวบูนัก และชาวเกมักอาศัยอยู่[6] ในพุทธศตวรรษที่ 21 เนเธอร์แลนด์และโปรตุเกสได้มาถึงเกาะติมอร์และได้แบ่งเกาะติมอร์ โดยเนเธอร์แลนด์ครอบครองภาคตะวันตกและโปรตุเกสครอบครองภาคตะวันออก ทำให้ติมอร์ตะวันออกมีประวัติศาสตร์ต่างไปจากเกาะข้างเคียง

อ้างอิง[แก้]

  1. Timor Leste History เก็บถาวร 2008-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, official website.
  2. Taylor, Jean Gelman (2003). Indonesia: Peoples and Histories. New Haven and London: Yale University Press. p. 378. ISBN 0-300-10518-5.
  3. Taylor, Jean Gelman (2003). Indonesia: Peoples and Histories. New Haven and London: Yale University Press. p. 377. ISBN 0-300-10518-5.
  4. Population Settlements in East Timor and Indonesia เก็บถาวร 2007-02-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – University of Coimbra
  5. History of Timor เก็บถาวร 2009-03-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – Technical University Lisbon (PDF-Datei; 805 kB)
  6. Precolonial East Timor เก็บถาวร 2020-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.