ตั้ว ลพานุกรม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตั้ว ลพานุกรม
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 – 1 เมษายน พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ดำรงตำแหน่ง
21 ธันวาคม พ.ศ. 2481 – 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484
นายกรัฐมนตรีแปลก พิบูลสงคราม
กรรมการราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
ประธานพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
แบบประเภทที่ 2
ดำรงตำแหน่ง
15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 – 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484
ชั่วคราว : 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 6 ธันวาคม พ.ศ. 2476
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด21 ตุลาคม พ.ศ. 2441
เมืองพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 (42 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
การเข้าร่วม
พรรคการเมืองอื่น
คณะราษฎร
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมิวนิก(Pharm.D.)
มหาวิทยาลัยกรุงเบิร์น(Ph.D.)
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
ยศ จ่าสิบเอก

จ่าสิบเอก เภสัชกร ดร. ตั้ว ลพานุกรม (21 ตุลาคม พ.ศ. 2441 - 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484) เป็นเภสัชกรและนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งคณะราษฎร ปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475[1] ตั้วเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในวงราชการและทางการเมืองหลายตำแหน่ง อาทิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กรรมการราษฎร รัฐมนตรี

ตั้วเกิดในครอบครัวคนไทยในกรุงเทพมหานคร ได้รับทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกไปศึกษาต่อวิชาสามัญในประเทศเยอรมนี มีความสามารถด้านภาษาอย่างหลากหลาย ได้แก่ ภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส[2] แล้วสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ได้แก่ วิชาเคมี, เภสัชศาสตร์ และพฤกษศาสตร์ เมื่อกลับมาประเทศไทยได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก และได้สร้างคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยอย่างยิ่ง ซึ่งมีความรุดหน้าอย่างมากในสมัยของตั้ว นอกจากนี้ยังกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาวิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์ให้ทัดเทียมอารยประเทศอีกด้วย[3]

นอกจากนี้ตั้วยังมีความสนใจด้านการอ่านเป็นพิเศษโดยจัดตั้งแผนกห้องสมุดในกรมวิทยาศาสตร์ขึ้น และมีการตีพิมพ์วารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในชื่อ Siam Science Bulletin[4] ตั้วเป็นผู้มีอัธยาศัยใจคอดีและเป็นมิตรต่อบุคคลโดยทั่วไป นอกจากนี้ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นหัวหน้างานที่ดี มีนโยบายการใช้คนอย่างดียิ่ง ตั้วทำงานทางวิทยาศาสตร์และราชการจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ในวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 และได้รับสมญานามว่าเป็น "รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย"[2][5]

ประวัติ[แก้]

ชีวิตในวัยเยาว์และการเป็นเชลย [2441 - 2462][แก้]

ภก.ดร.ตั้ว ลพานุกรม ถ่ายรูปร่วมกับกองรถยนต์ไทย ในงานสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ณ ประเทศฝรั่งเศส

รองอำมาตย์เอก เภสัชกร ตั้ว ลพานุกรม หรือที่รู้จักกันในนาม รองอำมาตย์เอก เภสัชกร ดร.ตั้ว ลพานุกรม เกิดเมื่อวันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2441 ณ ตำบลถนนอนุวงศ์ อำเภอสัมพันธวงศ์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนที่ 3 ของ นายเจริญ ลพานุกรม และ นางเนียร ลพานุกรม (2423 - 2511) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน เข้ารับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนเทพศิรินทร์และโรงเรียนราชวิทยาลัย ( ปัจจุบัน คือ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ )จนกระทั่งอายุ 12 ปี จึงได้ตามเสด็จสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ไปศึกษาต่อ ณ เมืองบัลเกนแบร์ก จังหวัดมาร์ค จักรวรรดิเยอรมัน โดยทุนของพระองค์ ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่งโดยจักรวรรดิเยอรมันสังกัดฝ่ายมหาอำนาจกลาง จึงทำให้สยามกับจักรวรรดิเยอรมันต้องประกาศสงครามกันเมื่อปี พ.ศ. 2460 ตั้วถูกจับเป็นเชลยศึกไปคุมขัง ณ ค่ายคุมขังเมือง Celle ทำให้ตั้วมีโอกาสศึกษาภาษาเพิ่มเติม ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมนี ภาษาฝรั่งเศส ตลอดจนศาสตร์อื่นๆ อย่าง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และดนตรีอย่างขลุ่ยฝรั่ง[2]

ภายหลังการพักรบสงครามเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2461 ตั้วพ้นจากการเป็นเชลยศึก และเดินทางจากเยอรมนีไปยังประเทศฝรั่งเศส สมัครเข้ากองรถยนต์ไทยที่ไปงานพระราชสงครามยุโรป ความสามารถทางภาษาของตั้วทำให้เขาทำหน้าที่เป็นล่ามภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมัน และเรียนรู้วิธีการทหาร ต่อมาได้รับยศจ่านายสิบแห่งกองทัพบกไทย และได้รับเหรียญดุษฎีมาลาของรัฐบาลฝรั่งเศส[4] ตั้วเดินทางกลับถึงประเทศสยามพร้อมกองทหารอาสาเมื่อปี พ.ศ. 2462 และได้รับพระราชทานเหรียญทองช้างเผือก, เหรียญรามาธิบดี กับเหรียญพระราชสงครามยุโรป และปลดประจำการในปีเดียวกัน

เข้าร่วมเป็นคณะราษฎร [2463 - 2476][แก้]

ปลายปี พ.ศ. 2462 ตั้วได้เดินทางกลับไปบังยุโรปเพื่อศึกษาต่อ โดยทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เข้าศึกษาวิชาเคมี และสอบไล่ได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิตชั้นเกียรตินิยม โดยเสนอวิทยานิพนธ์เรื่อง "The Influence of Chemical Composition on the Structure of Crystals" ในปี พ.ศ. 2470 และในปีเดียวกันนี้เองตั้วพร้อมสหายอีก 6 ได้ประชุมร่วมกันและปรารถนาที่จะเห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศไทยให้ทัดเทียมชาติตะวันตกจึงร่วมกันก่อตั้งคณะราษฎรขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย

ภายหลังการเข้าร่วมกับคณะราษฎรแล้ว ตั้วได้ไปศึกษาต่อในวิชาเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมิวนิก ประเทศเยอรมนีและวิชาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายหลังสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2473 แล้วนั้น ตั้วได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยได้แวะไปดูงานทางวิทยาศาสตร์ การวิจัย และอุตสาหกรรมของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นก่อนกลับ

ตั้วเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยแยกธาตุชั้น 2 ในศาลาแยกธาตุ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็นรองอำมาตย์เอก เมื่อทำงานไปได้เพียงครึ่งปี ตั้วก็ได้ร่วมกับคณะราษฎรเป็นคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เมื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตั้วได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดแรก โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2476[6] และได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกเช่นกัน

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก [2476 - 2484][แก้]

เมื่อพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 แล้วตั้วได้ทุ่มเทให้กับงานราชการวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ ตั้วได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้ช่วยแยกธาตุชั้น 1 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2475 และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2477 ได้รับตำแหน่งเป็นนักเคมีและรักษาการตำแหน่งเจ้ากรมของศาลาแยกธาตุ จนกระทั่งเดือนเมษาน พ.ศ. 2478 ศาลาแยกธาตุได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรมวิทยาศาสตร์ ตั้วจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์คนแรก ตั้วได้จัดตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติขึ้นในกรมวิทยาศาสตร์ เพื่อฝึกหัดนักเรียนนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาโดยบริบูรณ์จากระดับมัธยมศึกษาให้มีความรู้ความชำนาญทางเคมียิ่งขึ้น

ตั้วให้ความสนใจกับงานวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการวิจัยที่เกี่วข้องกับงานเกษตรกรรม กรมวิทยาศาสตร์ได้วิจัยและส่งเสริมเกี่ยวกับพืชผลการเกษตรหลายประการ อาทิ การวิจัยเถ้าไม้เพื่อใช้ทำปุ๋ย การวิจัยน้ำมันสน น้ำมันหมู เกลือ เครื่องปั้นดินเผา งานการสำรวจวิเคราะห์ดิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสนใจด้านการอาหารของประเทศไทยโดยตั้วเป็นผู้ริเริ่มการส่งเสริมอาหารและกิจการถั่วเหลืองในประเทศไทย ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองของกระทรวงเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2480 ซึ่งทำให้กลายเป็นนโยบายของรัฐบาลในเวลาต่อมาที่จะส่งเสริมการบริโภคถั่วเหลืองแก่ประชาชน[7]

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 ตั้วได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในอีกวาระหนึ่งในรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐกิจด้วยโดยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ไปควบคู่กัน นอกจากนี้ ตั้วยังให้ความสำคัญการกับศึกษาเภสัชศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากในขณะนั้นไม่มีกฎหมายรองรับวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทย ทำให้การขายยาเกิดขึ้นโดยไม่ต้องฝึกปฏิบัติทางเภสัชกรรมมาก่อน ประกอบกับการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์ซึ่งอยู่ในฐานะแผนกปรุงยา คณะแพทยศาสตร์ศิราชพยาบาลไม่ได้รับการสนุบสนุนงบประมาณจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้วได้ส่งเสริมการเรียนการสอนทางเภสัชศาสตร์โดยจัดหาครูจากกระทรวงและกรมทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยมาสอนในแผนกปรุงยา ตั้วมีบทบาทในการยกระดับแผนกปรุงยาสู่แผนกอิสระเพื่อเตรียมจัดตั้งเป็นคณะเภสัชศาสตร์ จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งจากจอมพล ป. พิบูลสงครามให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกตำแหน่งหนึ่ง[8]

ตั้วล้มป่วยลงด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบเมื่อวันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2484 และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2484 สิริอายุได้ 43 ปี ตั้วได้รับการยกย่องให้เป็น "รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย"

บทบาทและการดำรงตำแหน่งทางการเมือง[แก้]

ภก.ดร.ตั้ว ลพานุกรม ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพระที่นั่งอนันตสมาคม ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2483

ตั้วได้มีบทบาทในทางการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเข้าร่วมกับคณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบบประชาธิปไตยในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยเข้าร่วมประชุมก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก ณ กรุงปารีส โดยเป็นสมาชิกฝ่ายพลเรือน ซึ่งเห็นได้ถึงความปรารถนาของคณะราษฎรในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ตั้วได้ร่วมเดินทางสู่จุดนัดหมายที่บางซื่อ

ภายหลังก่อการการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วนั้น ตั้วได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการราษฎร (เทียบเท่ารัฐมนตรีในปัจจุบัน) ของคณะรัฐมนตรีชุดแรกในระบอบประชาธิปไตย ภายหลังการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ตั้วได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และได้ออกจากตำแหน่งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2476 ส่วนด้านนิติบัญญัติตั้วก็ได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปพร้อมกัน

ตั้วได้แสดงความเห็นด้านการเมืองต่อวิทยาศาสตร์ในบันทึกในเรื่อง "วิทยาศาสตร์กับการเมือง" ว่า "ตลอดเวลาประชุมสมัยของสภาผู้แทนราษฎร...เกือบไม่มีใครเลยที่ให้ความสนใจสำคัญของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานแห่งการก้าวหน้าของประชาชาติ..."[2]

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2481 ตั้วได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเป็นรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กล่าวระลึกว่า "ท่านผู้นี้ทำงานเข้มแข็งแลเป็นที่วางใจได้เป็นอย่างดี พูดอย่างใด ทำอย่างนั้น งานที่ได้รับมอบจึงสำเร็จทุกอย่างและดีที่สุด..."

งานด้านวิทยาศาสตร์และเภสัชกรรม[แก้]

การพัฒนาวิทยาศาสตร์ของไทย[แก้]

ภก.ดร.ตั้ว ลพานุกรม ผู้อำนวยการสถานศึกษาเคมีปฏิบัติกับนักเรียนรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2482

ในสมัยที่ตั้วได้เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์นั้น วิทยาศาสตร์มีความเจริญรุดไปข้างหน้าอย่างยิ่ง มีการจ้างงานบุคลากรประจำกรมมากขึ้นหลายเท่าตัว และผู้สมัครเข้ามาทำงานล้วนต้องผ่านการสอบคัดเลือกเข้าทำงาน และตั้วได้จัดตั้งสถานศึกษาเคมีปฏิบัติขึ้นโดยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคนแรกเพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์และเป็นกำลังหลักในการพัฒนาการวิจัยด้านเคมีต่อไป

ตั้วมีความสนใจการพัฒนาวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะด้านการเกษตร โดยได้วิจัยวัตถุดิบสำคัญของชาติ เช่น การวิจัยเถ้าไม้ไผ่เพื่อใช้ทำปุ๋ย การวิจัยน้ำมันสน น้ำมันหมู เกลือ เครื่องปั้นดินเผา และการสำรวจวิเคราะห์ดิน และตั้วยังเป็นผู้ริเริ่มในกิจการส่งเสริมอาหารและกิจการถั่วเหลืองในประเทศไทย และได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาการส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองของกระทรวงเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2480 จนกระทั่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในเวลาต่อมา นายแพทย์ยงค์ ชุติมา ซึ่งเคยร่วมงานกับตั้วได้เขียนข้อความระลึกไว้ว่า

...ข้าพเจ้าถือว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ควรได้รับเกียรติว่าเป็นผู้น้ำในการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินในประเทศไทย...เมื่อข้าพเจ้าได้นำความคิดเกี่ยวกับเรื่องถั่วเหลือง ซึ่งปรากฏว่ามีคุณค่าในทางอาหารดี สมควรส่งเสริมให้คนนิยมบริโภค ไปปรึกษาท่านในสมัยท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์แล้ว ท่านก็เห็นพ้องด้วย และได้สนับสนุนจนรัฐบาลได้ตั้งกรรมการพิจารณาส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองขึ้น โดยมีท่านเป็นประธาน...คุณตั้วได้ศึกษาในทางวิทยาศาสตร์มามากและมีความรู้สูงในกิจการอนามัยทั่วๆไป ท่านได้ปรารภกับข้าพเจ้าอยู่เนืองๆว่า ในการสร้างชาตินั้น เราจะต้องเร่งสร้างคนเป็นเรื่องสำคัญพร้อมๆกันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องรีบจัดการส่งเสริมให้อาหารการกินของคนไทย ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ทุกเพศทุกวัย เข้าสู่ระดับดี...[2]

— นพ.ยงค์ ชุติมา

นอกจากนี้ตั้วยังมีความสนใจเรื่องของการอ่านเป็นอย่างยิ่ง โดยปรับปรุงห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์ให้ก้าวหน้า จากมีหนังสือไม่กี่สิบเล่มเพิ่มเป็นจำนวนหมื่นเล่มในระยะเวลาอันรวดเร็ว ตั้วมีความตั้งใจจะพัฒนาห้องสมุดกรมวิทยาศาสตร์เป็นหอสมุดวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และได้มีการออกวารสารวิทยาศาสตร์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ หรือวารสาร Siam Science Bulletin อันตีพิมพ์ผลงานวิจัยของไทยเผยแพร่ไปยังต่างประเทศ ซึ่งท่านรับเป็นบรรณาธิการวารสารดังกล่าวอยู่ 2 ปี[9] เมื่อตั้วได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในปี พ.ศ. 2481 อีกครั้งได้ดำรงตำแหน่งสำคัญอีกหลายตำแหน่งควบคู่กับการเป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ โดยท่านได้บันทึกข้อคิดทางวิทยาศาสตร์ไว่าว่า "ชาติจะเจริญโดยไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นหลักไม่ได้"

การพัฒนาเภสัชศาสตร์และบริการทางเภสัชกรรม[แก้]

นับได้ว่า ตั้ว ลพานุกรม เป็นผู้บุกเบิกงานด้านเภสัชกรรมไทยไปอย่างมาก สภาพการศึกษาเภสัชศาสตร์ในระยะก่อนที่ตั้วจะเข้ามาดูแลนั้นตกอยู่ในสภาพที่ไม่ได้รับความใส่ใจจากมหาวิทยาลัยและภาครัฐไม่มีกฎหมายในการรองรับสิทธิของเภสัชกรในการบริการร้านยา มีเพียงการรองรับสิทธิการปรุงยาในพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 เท่านั้น จนกระทั่งมีการยกระดับแผนกปรุงยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2477 ตั้วได้ให้ความใส่ใจแก่การศึกษาเภสัชศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง โดยอนุญาตให้ข้าราชการในกองเภสัชกรรม กรมวิทยาศาสตร์มาเป็นอาจารย์พิเศษ นอกจากนั้นท่านยังกระตุ้นการพัฒนาการศึกษาเภสัชศาสตร์เป็นย่างยิ่ง ตามบันทึกของ เภสัชกร ศาสตราจารย์ ดร. วิเชียร จีรวงส์ ว่า

...ในระยะนั้นเมื่อได้เริ่มมีการปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตร์ แต่ว่ายังไม่สามารถยกระดับเป็นหลักสูตรปริญญา เพราะปัญหาอย่างยิ่ง ตึกก็ไม่มี ต้องอาศัยเขาอยู่ ก็ได้ช่วยกันวิ่งเต้นและบังเอิญในระยะนั้น ท่าน ดร.ตั้ว ซึ่งได้กลับมาอยู่เมืองไทยและได้เป็นอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ แล้ววันหนึ่งท่านได้มาเยือน ถามคณะแพทยศาสตร์ที่สอนเภสัชกรรมอยู่ไหน ภก.ศ.ดร.จำลอง สุวคนธ์ เล่าให้ฟังว่าตอนนั้นตกใจกันว่า รัฐมนตรีมาเยี่ยมโรงเรียน ท่านกลับถามหว่าโรงเรียนเภสัชฯไปสอนที่ไหนนั้นเป็นจุดที่ทำให้เราได้รู้ว่าความสนใจของท่านเป็นอย่างไร เมื่อมีความเดือดร้อนอย่างนี้แล้วโดยที่ท่านเป็นรัฐมนตรีและอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และอาจารย์พิเศษ ทำให้เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทยซึ่งมีความห่วงใยต่ออนาคตของวิชาชีพเป็นอย่างยิ่ง เพราะเปิดมากว่า 30 ปีแล้วมีเภสัชกรสำเร็จเพียง 80 คนเนื่องจากหลักสูตรไม่ถึงปริญญา ได้เชิญ ภก.ดร.ตั้ว เข้ามาเป็นหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านก็ได้ช่วยจัดทำร่างหลักสูตรสำหรับปริญญาขึ้น...[8]

— ภก.ศ.ดร.วิเชียร จีรวงส์

ตั้ววซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์และรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงเศรษฐกิจนั้น ได้รับการแต่งตั้งจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้น ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งท่านได้พัฒนาหลักสูตรขึ้นเป็นหลักสูตรปริญญา 4 ปีและจัดสร้างอาคารเรียนหลังแรกของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ และมีอาจารย์ประจำแผนกเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก[3]

นอกจากการส่งเสริมการศึกษาเภสัชศาสตร์แล้ว ตั้วยังปรารถนาอย่างยิ่งในการส่งเสริมการผลิตยาขึ้นใช้เองในประเทศ ดังบทความเรื่อง "วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ" ว่า "...ต่อจากอาหารก็ถึงยา ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อย ยาเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์เกือบเท่าอาหาร และในบางโอกาสเราจะแยกอาหารกับยาออกจากกันไม่ได้..."[2] ในช่วงที่ตั้วดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ ได้ริเริ่มการผลิตยาน้ำมันกระเบาสำหรับรักษาโรคเรื้อนและน้ำยาสกัดรำข้าวที่มีวิตามินบี1สูงช่วยรักษาโรคเหน็บชา ซึ่งเป็นจุดริเริ่มในการผลิตยาหลายขนานใช้กันในประเทศ จนกระทั่งมีการจัดตั้งกองเภสัชกรรมขึ้นในกรมวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าสถานที่มีความคับแคบและไม่สะดวกต่อการผลิตยาจึงได้โครงการจัดตั้งโรงงานเภสัชกรรมขึ้นตามแนวคิดของ ร.อ.หวาน หล่อพินิจ[10] ท่านได้ให้ความสำคัญของงานเภสัชกรรมเป็นอย่างยิ่งซึ่งเห็นได้จากบทความวารสารทางวิทยาศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์ ฉบับประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2481 ที่ว่า "...รัฐบาลของเรามีความรู้สึกห่วงในเรื่องนี้เป็นอันมาก จึงคิดหาทางวางนโยบายพึ่งตนเองก่อนโดยวางโครงการส่งเสริมขึ้นเป็นต้นว่า ขยายมาตรฐานฐานและปรับปรุงการศึกษาวิชาเภสัชกรรมในมหาวิทยาลัยให้สูงขึ้น เพื่อเพาะผู้มีความรู้จริงในทางนี้ ตั้งกองเภสัชกรรมขึ้น เพื่อทำการศึกษาค้นคว้าในเรื่องยาและจะได้สร้างโรงงานทำยาขึ้นในลำดับต่อไป..."[2]

ชีวิตส่วนตัวและความสนใจ[แก้]

ภก.ดร.ตั้ว ลพานุกรม กับวงดนตรีสมัครเล่นที่คุมขังเชลยศึกเมือง Celle ประเทศเยอรมนี พ.ศ. 2461

ตั้วเกิดในครอบครัวชาวไทยมี มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน เป็นบุตรคนที่ 3 เป็นผู้มีความสามารถในด้านการศึกษาจนสอบได้ทุนของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ตั้วมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์แต่ครั้งเยาว์วัย ตั้วรักการอ่านหนังสืออย่างยิ่ง ชีวิตครอบครัวมิได้สมรส

ตั้วเป็นผู้มีความสนใจในวิทยาศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งได้ปรารภถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์อยู่บ่อยๆ ในบทความวารสารวิทยาศาสตร์ที่ตั้วเป็นผู้เขียนขึ้น ได้แก่ วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ วิทยาศาสตร์กับการเมือง วิทยาศาสตร์กับอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่กล่าวถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่จะส่งเสริมความรุ่งเรืองและมั่งคั่งของชาติขึ้นมาได้ ดังบันทึกในข้อความหนึ่งว่า "ชาติจะเจริญโดยไม่มีวิทยาศาสตร์เป็นหลักไม่ได้" ในสมัยที่ตั้วดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์นั้น วิทยาศาสตร์ของไทยมีการพัฒนาขึ้นไปมาก อย่างหนึ่งที่ตั้วให้ความสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์คือเรื่องของอาหารและยา ตั้วเคยเขียนในบทความเรื่อง "พลเมืองไทยกละความจำเป็นในทางอาหาร" ว่าควรมีการนำวิทยาศาสตร์มาสั่งสอนประยุกต์ใช้เข้าการการกสิกรรมของไทย และตั้วได้ริเริ่มส่งเสริมกิจการถั่วเหลืองและการบริโภคถั่วเหลืองในประเทศไทยอีกด้วย อีกเรื่องหนึ่งคือยา ซึ่งตั้วกล่าวในบทความ "วิทยาศาสตร์กับความต้องการของประเทศ" ไว้ว่า "วิทยาศาสตร์กับการประดิษฐ์และทำยานั้นเป็นสาขาหนึ่ง เรียกว่า เภสัชกรรม เวลานี้งานในส่วนของเรายังล้าสมัยอยู่มาก เรายังไม่มีการค้นคว้าหาสรรพคุณของสมุนไพรต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศของเรามากพอ เรายังไม่สามารถทำยาใช้เองได้อย่างเพียงพอ"

ตั้วส่งเสริมการเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วิทยาศาสตร์ภาษาไทยและวารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไทยในภาษาอังกฤษชื่อ Siam Science Bulletin สิ่งที่ตั้วชอบมากในงานวิทยาศาสตร์อีกอย่างหนึ่งคืองานด้านนิติเคมี อาทิ การวิเคราะห์เอกสาร ยาพิษ คราบโลหิต ปืน[4]

ตั้วยังเป็นผู้ที่สนใจด้านการเมืองโดยเป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยในปี พ.ศ. 2475 โดยร่วมเป็นสมาชิกฝ่ายพลเรือน นอกจากนี้ตั้วยังมีความสนใจพิเศษในเรื่องของการอ่าน และทักษะด้านภาษาโดยสามารถพูดต่างภาษาได้ถึงสามภาษา อันได้แก่ ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศส เขาได้ใช้ความสามารถดังกล่าวเป็นประโยชน์ยิ่งโดยการเป็นล่ามในกองรถยนต์ไทย ครั้งเกิดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พลตรี หลวงวิจิตรวาทการเคยกล่าวถึงตั้วในด้านความสามารถของภาษาและความใฝ่รู้ไว้ว่า "...เป็นภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภานและสนใจแสวงหาความรู้ในวิชาการทุกสาขา... เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งที่รู้ภาษาต่างประเทศดีถึง 3 ภาษา..สามารถเจรจาสนทนาใน 3 ภาษานี้ได้คล่องแคล่วเท่าๆ กับภาษาไทย.."[2]

นอกจากนี้ตั้วยังเป็นผู้มีอัธยาศัยไมตรีจิตต่อผู้คนรอบข้าง พระยาพหลพลพยุหเสนาเคยกล่าวถึงตั้วในสมัยเรียนด้วยกัน ณ ประเทศเยอรมนีไว้ว่า "ข้าพเจ้าเคยรู้จัดชอบพอกันมาแต่เดิม...พูดจาคล่อง หัวเราะร่วน เป็นคนร่าเริงเสมอซึ่งเป็นที่ชอบพออัธยาศัยของบรรดานักเรียนไทยทักหลายที่ได้รู้จักมักคุ้น..." นอกจากนี้ปรีดี พนมยงค์ยังได้กล่าวในงานรัฐพิธีพระราชทาเพลิงศพของ ภก.ดร.ตั้ว ลพานุกรม ไว้ว่า "เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยมั่นคงเสมอต้นเสมอปลาย ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง..."

เกียรติยศ[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ยศทหาร[แก้]

  • จ่าสิบเอก[13]

ยศข้าราชการพลเรือนของสยาม[แก้]

อนุสรณ์[แก้]

พิธีเปิดอนุสาวรีย์ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ณ กรมวิทยาศาสตร์บริการ
  • อนุสาวรีย์ ดร. ตั้ว ลพานุกรม องค์การเภสัชกรรม
  • ลาน ดร. ตั้ว ลพานุกรม
  • ห้องอนุสรณ์ ฯพณฯ ดร.ตั้ว ลพานุกรม สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมวิทยาศาสตร์บริการ[17]
  • “หอสมุดวิทยาศาสตร์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
  • ห้องประชุมตั้ว ลพานุกรม อาคาร 80 ปี เภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. คณะราษฎร เก็บถาวร 2011-02-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 วิชิต ณ ป้อมเพชร ดร.ตั้ว ลพานุกรม รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย;กรุงเทพฯ. กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 2527. เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
  3. 3.0 3.1 หน่วยวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม ภาควิชาเภสัชศาสตร์สังคม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานวิจัยบุคคลสำคัญทางเภสัชศาสตร์ในช่วงปี พ.ศ. 2475 - 2535;กรุงเทพฯ. คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543. เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
  4. 4.0 4.1 4.2 กรมวิทยาศาสตร์บริการ อนุสรณ์ ดร. ตั้ว ลพานุกรม ที่ระลึกเนื่องในพิธีเปิดอนุสาวรีน์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม; กรุงเทพฯ, กรม, 2549. เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
  5. รัฐบุรุษวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย
  6. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 2 ของไทย สำนักเลขาธิการรัฐมนตรี เก็บถาวร 2012-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
  7. ห้องอนุสรณ์ ฯพณฯ ดร. ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์ เรียกข้อมูลวันที่ 9 มีนาคม 2558
  8. 8.0 8.1 สมาคมนิสิตเก่าคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การประกาศเกียรติคุณศิษย์เก่าดีเด่น คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2553; กรุงเทพฯ, 2553. เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
  9. กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เก็บถาวร 2010-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
  10. ประวัติองค์การเภสัชกรรม เก็บถาวร 2009-10-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เรียกข้อมูลวันที่ 15 สิงหาคม 2553
  11. "เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 56: 1800. 19 กันยายน 2482. สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2564. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  12. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  13. พระราชทานยศจ่าสิบเอก[ลิงก์เสีย]
  14. "ยศพระราชทานพลเรือน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-10. สืบค้นเมื่อ 2018-08-02.
  15. "ยศข้าราชการในประเทศสยาม" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-08-01. สืบค้นเมื่อ 2018-08-02.
  16. ฝ่ายพลเรือนของประเทศสยาม[ลิงก์เสีย]
  17. สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี