ตับเต่านา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตับเต่านา
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
อันดับ: Alismatales
วงศ์: Hydrocharitaceae
สกุล: Hydrocharis
สปีชีส์: H.  morsus-ranae
ชื่อทวินาม
Hydrocharis morsus-ranae
L., 1753[1]
ชื่อพ้อง[1]
  • Hydrocharis dubia
    (Blume) Backer, 1925
รูปวาดตับเต่านา

ตับเต่านา หรือ ผักตับเต่า, ตับเต่าน้ำ, บัวฮาวาย (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hydrocharis morsus-ranae; อังกฤษ: Frogbit, ในอเมริกาเหนือเรียก Common Frogbit หรือ European Frogbit) เป็นพืชลอยน้ำ อายุหลายฤดู จัดอยู่ในสกุล Hydrocharis วงศ์ Hydrocharitaceae ขึ้นตามแหล่งน้ำตื้น ๆ แหล่งน้ำนิ่งทั่วไป หรือในนา มีไหลทอดเลื้อย ถ้าน้ำตื้นจะมีรากยึดดินใต้น้ำ ใบโผล่เหนือน้ำหรือลอยที่ผิวน้ำ ตับเต่านามีการกระจายพันธุ์ในทวีปยุโรปและเอเชีย พบได้ที่ความสูง 0–1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล สำหรับประเทศไทยพบได้ทุกภาค

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์[แก้]

ต้นเจริญเติบโตอยู่ในน้ำ มีรากและสามารถแตกไหลเป็นเส้นสีขาว เกิดเป็นกระจุกทางด้านล่างของกลุ่มใบ ปลายไหลเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ ใบโผล่เหนือน้ำหรือลอยที่ผิวน้ำ รูปหัวใจหรือรูปไข่ กว้าง 2.5–7.5 เซนติเมตร ยาว 2.5–6 เซนติเมตร ใบเดี่ยว ฐานใบเว้าเป็นรูปหัวใจค่อนข้างกลม ขอบใบเรียบ ปลายใบมน ใบด้านบนสีเขียวเข้มเป็นมัน ใบด้านล่างสีจางกว่า และกลางใบจะพองออกคล้ายฟองน้ำ ช่วยพยุงลำต้น ในฤดูแล้งเมื่อมีน้ำน้อย ก้านใบจะสั้นลง ใบจะแตกออกที่ข้อของลำต้น

ดอกเป็นดอกเดี่ยวสีขาว มี 3 กลีบ ออกตามซอกใบ มีก้านชูดอกเรียวยาว ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียเกิดแยกกันคนละดอก มีใบประดับหุ้มดอกตัวผู้และก้านดอกตัวผู้จะเรียวยาวกว่าดอกตัวเมีย เกสรตัวผู้ 9–12 อัน รังไข่รูปยาวรี ยาว 5–6 มิลลิเมตร ติดผลคล้ายตะขบฝรั่ง แต่ก้านผลใหญ่กว่า เป็นรูปทรงกระบอกมี 6 สัน

ตับเต่านาขยายพันธุ์โดยวิธีการแตกไหล หรือใช้เมล็ด

ประโยชน์[แก้]

  • ต้นอ่อนใช้รับประทานเป็นผัก
  • สามารถใช้แก้ลม แก้เสมหะ บำรุงธาตุไฟให้บริบูรณ์
  • ใช้เป็นไม้ประดับหรือปลูกในบ่อเลี้ยงปลาเพื่อช่วยคลุมผิวน้ำ

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Hydrocharis morsus-ranae L., Australian Plant Name Index (APNI) (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ตับเต่านา ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ตับเต่านา ที่วิกิสปีชีส์