ตะวัน วนิดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตะวัน วนิดา
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดบุญประคอง วรรณยิ่ง
เกิด1 มกราคม พ.ศ. 2497 (70 ปี)
ที่เกิดไทย ประเทศไทย
แนวเพลงไทยสากล, ป๊อบ
อาชีพนักแต่งเพลง, ครูสอนร้องเพลง
เว็บไซต์ตะวัน วนิดา Facebook หรือ ครูเก๋สอนร้องเพลง Facebook

ตะวัน วนิดา มีชื่อจริงว่า บุญประคอง เนียมคำ (สกุลเดิม วรรณยิ่ง) หรือเพื่อนๆ เรียกว่า เก๋ เป็นนักแต่งเพลงชาวไทย มีผลงานเพลงเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน [1]

ประวัติ[แก้]

ตะวัน วนิดา หรือ ลีลา วรินทร์ เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2497 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายเกรียงศักดิ์ วรรณยิ่ง และนางศรี ฉายบุตร จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาการตลาด และประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (ปม.) จากวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ต่อมาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิต (บธบ.) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และสำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จากมหาวิทยาลัยราชพฤกษ์

ในด้านการร้องเพลง ได้ร้องเพลงโดยใช้พรสวรรค์ของตนเอง และได้เรียนร้องเพลงเพิ่มเติมจากโรงเรียนดนตรีสยามกลการ

สู่วงการเพลง[แก้]

ความสนใจทางด้านการขับร้องและเขียนคำประพันธ์ เริ่มตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เมื่อมีการแสดงหน้าชั้น เธอมักจะได้รับคัดเลือกให้มาร้องเพลงให้เพื่อนฟัง รวมทั้งการเขียนกลอนอวยพรวันเกิดท่านผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่ทุกปี แต่เนื่องจากครอบครัวทางบ้าน ไม่สนับสนุนการเป็นนักร้อง หรือการเป็นนักแต่งเพลงเป็นอย่างยิ่ง เธอจึงไม่อยากทำให้คนทางบ้านไม่สบายใจ มีหลายครั้งที่เธอแอบแต่งเพลงและหนีไปประกวดร้องเพลงตามงานต่าง ๆ แต่พอจวนจะได้เวลาเรียกชื่อผู้เข้าประกวด คุณแม่ก็ให้พี่ชาย พี่สาวมาตามกลับบ้านเสมอ จนครั้งล่าสุดตอนเป็นนักศึกษา ประมาณปี พ.ศ. 2519 ตะวันได้ทราบข่าวจากนักจัดรายการเพลงทางวิทยุ ว่ามีการประกวดร้องเพลง “ศัตรูหัวใจ” ที่สถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ต้นแบบคือคุณจินตนา สุขสถิตย์ จัดโดยจ่าเอกอุบล โต๊ะนาค ซึ่งเป็นนักจัดรายการชื่อดังมากในสมัยนั้น เธอจึงสนใจ และได้ไปสมัครประกวดร้องเพลงกับเพื่อนๆ

เพื่อนๆ ที่มาสมัครร้องเพลงด้วยกันได้เล่าให้อาบล หรือ จ่าเอกอุบล โต๊ะนาค ผู้ซึ่งตะวันให้ความเคารพเป็นอย่างยิ่งฟังว่า นอกจากตะวันจะชอบร้องเพลงแล้ว ยังแต่งเพลงได้อีกด้วย อาบลจึงได้แนะนำให้เธอรู้จักกับนักแต่งเพลง และนักจัดรายการหลายท่าน อาทิ คุณสมพจน์ สิงห์สุวรรณ นักแต่งเพลงอาวุโส ผู้มีผลงานเพลงยอดเยี่ยม และคุณดุสิต ทรงวุฒิศีล ผู้อำนวยการผลิตเพลง ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้ให้คำแนะนำและให้โอกาสเธอ จนตะวันได้ร้องเพลงบันทึกเสียงเป็นครั้งแรกคือเพลงฆาตกรรัก

นอกจากนี้ ยังมีคุณมณฑารพ ที่ได้เขียนเพลงให้เธอร้อง คุณกิตติ ธนาธร นักจัดรายการชื่อดังได้สนับสนุนนำผลงานของเธอไปบันทึกเสียง คือเพลง รักทรมาน ที่สร้างชื่อเสียงให้ตะวัน วนิดา เป็นที่รู้จักและโด่งดังในวงการเพลงในยุคนั้น คุณเนรัญชรา(พี่ติ) นักแต่งเพลงอาวุโส เป็นที่ปรึกษาที่เธอเคารพมาก คุณสุวิทย์ สัตโกวิท หรือทิพย์ประภา นักแต่งเพลงรุ่นพี่ช่วยสนับสนุนให้เธอมีผลงานเพลงกับบริษัทอโซน่า (ประเทศไทย) จำกัด

บทเพลง คิดถึงฉันบ้างคืนนี้ ของตะวัน วนิดา ซึ่งขับร้องโดยคุณไพจิตร อักษรณรงค์ นักร้องใหม่แห่งค่ายอโซน่าในขณะนั้น เป็นบทเพลงที่โด่งดังและทำให้คุณไพจิตรแจ้งเกิดในวงการเพลงได้อย่างสวยงามในช่วงประมาณปีพ.ศ. 2523 [2]

จากการให้กำลังใจของพี่ๆ นักแต่งเพลง และนักจัดรายการเพลงหลายๆ ท่าน คุณสาโรจน์ เสมทรัพย์ และบุคคลที่เธอเคารพมากอีกท่านหนึ่งคือนาวาโทประพันธ์ นิชโรจน์ ซึ่งประจำวงดุริยางค์ทหารเรือ ในขณะนั้น ทำให้ตะวันมีกำลังใจและมีผลงานเพลงออกมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

อาชีพการงาน[แก้]

  • เป็นอาจารย์ ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีตั้งตรงจิตรบริหารธุรกิจ
  • สอนร้องเพลง ในชมรมดุริยางค์ วิทยาลัยเทคโนโลยีตั้งตรงจิตรบริหารธุรกิจ
  • เป็นกรรมการตัดสินการประกวดร้องเพลง
  • เป็นนักแต่งเพลง / นักร้อง / ครูสอนร้องเพลง
  • เขียนคำประพันธ์ บทกวีนิพนธ์
  • เป็นวิทยากร / พิธีกร
  • ครูสอนร้องเพลงโรงเรียนดนตรียามาฮ่า รัตนาธิเบศร์

ผลงานเพลง[แก้]

  • เพลง "ฆาตกรรัก" ศิลปินผู้ขับร้อง: ตะวัน วนิดา, ดุสิต ทรงวุฒิศีล (2521)
  • เพลง "เธอคือความหลัง" ศิลปินผู้ขับร้อง: ดาวใจ ไพจิตร, กิตติ ธนาธร (2521)
  • เพลง "รักทรมาน" ศิลปินผู้ขับร้อง: ดาวใจ ไพจิตร (2522), อรวรรณ วิเศษพงษ์, นิตยา บุญสูงเนิน (2532), ลัดดาวัลย์ ประวัติวงศ์, อุมาพร บัวพึ่ง, อรวี สัจจานนท์ (2539) ฯลฯ
  • เพลง "คิดถึงฉันบ้างคืนนี้" ศิลปินผู้ขับร้อง: ไพจิตร อักษรณรงค์ (2523), สุนารี ราชสีมา, แพรว ไพลิน, วิภา จันทรกูล, อรวี สัจจานนท์ (2539), พรรณนิภา จิระศักดิ์ (2542), กาญจนา มาศิริ (2544), ปกรณ์ ภมรเทพ (2545) ฯลฯ
  • เพลง "หัวใจเจ้าพระยา" ศิลปินผู้ขับร้อง: อ้อยทิพย์ พานทอง (2522) พรหมเพพ เทพรัตน์ 2563
  • เพลง "รักเพียงเธอ" ศิลปินผู้ขับร้อง: ดาวใจ ไพจิตร, กิตติ ธนาธร (2522)
  • เพลง "ถ้าฉันมีเธอ" ศิลปินผู้ขับร้อง: ดาวใจ ไพจิตร (2522)
  • เพลง "คิดถึงคืนนั้น" ศิลปินผู้ขับร้อง: มนูญ เทพประทาน (2523)
  • เพลง "ที่พึ่งทางใจ" ศิลปินผู้ขับร้อง: มนูญ เทพประทาน (2523)
  • เพลง "ฝันสุดท้าย" ศิลปินผู้ขับร้อง: ไพจิตร อักษรณรงค์ (2523)
  • เพลง "รักที่ต้องรอ" ศิลปินผู้ขับร้อง: ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล (2523), ไพจิตร อักษรณรงค์ (2524)
  • เพลง "เป็นเพราะความรัก" ศิลปินผู้ขับร้อง: ไพจิตร อักษรณรงค์ (2523), ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล (2523)
  • เพลง "รักแท้" ศิลปินผู้ขับร้อง: ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล (2523)
  • เพลง "สำคัญที่เธอ" ศิลปินผู้ขับร้อง: ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล (2523)
  • เพลง "เขาไม่มา" ศิลปินผู้ขับร้อง: ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล (2523)
  • เพลง "อย่ามาห่วงฉัน" ศิลปินผู้ขับร้อง: ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล (2523)
  • เพลง "เจ็บในใจ" ศิลปินผู้ขับร้อง: จิตติมา เจือใจ (2523)
  • เพลง "ปลอบขวัญทหารไทย" ศิลปินผู้ขับร้อง: ทิพย์วรรณ ปิ่นภิบาล (2523)
  • เพลง "ได้แต่มอง" ศิลปินผู้ขับร้อง: สามารถ บริบูรณ์เวช ชุดสามารถคอรัส (2523)
  • เพลง "เมิน" ศิลปินผู้ขับร้อง: สามารถ บริบูรณ์เวช ชุดสามารถคอรัส (2523)
  • เพลง "แด่นาวิกโยธินไทย" หรือรู้จักกันในชื่อเพลง "แด่นาวิกโยธิน" (มอบให้กองทัพเรือ) ศิลปินผู้ขับร้อง: วงดุริยางค์กองทัพเรือ (2523)
  • เพลง "วันนี้ไม่มีน้ำตา" ศิลปินผู้ขับร้อง: ไพจิตร อักษรณรงค์ (2524)
  • เพลง "เธอกับฉัน" ศิลปินผู้ขับร้อง: ไพจิตร อักษรณรงค์ (2524)
  • เพลง "วันที่รอคอย" ศิลปินผู้ขับร้อง: ไพจิตร อักษรณรงค์ (2524)
  • เพลง "อาวรณ์" ศิลปินผู้ขับร้อง: ไพจิตร อักษรณรงค์ (2524)
  • เพลง "รักเธอที่ความดี" ศิลปินผู้ขับร้อง: ไพจิตร อักษรณรงค์, สามารถ บริบูรณ์เวช (2524)
  • เพลง "ปล่อยเธอไป" ศิลปินผู้ขับร้อง: ไพจิตร อักษรณรงค์ (2524)
  • เพลง "ผิดสัญญา" ศิลปินผู้ขับร้อง: นิตยา บุญสูงเนิน (2534), ปกรณ์ ภมรเทพ (2545)
  • เพลง "เมื่อฉันมีรัก" ศิลปินผู้ขับร้อง: นิตยา บุญสูงเนิน (2534)
  • เพลง "วอลต์พ.ต.พ." เพลงประจำสถาบันวิทยาลัยตั้งตรงจิตรบริหารธุรกิจ
  • เพลง "ศักดิ์ศรีพ.ต.พ." เพลงประจำสถาบันวิทยาลัยตั้งตรงจิตรบริหารธุรกิจ
  • เพลง "มาร์ชกีฬาสถาบันในเครือตั้งตรงจิตร" เพลงประจำสถาบันในเครือตั้งตรงจิตร
  • เพลง "มาร์ชราชพฤกษ์" เพลงประจำสถาบันวิทยาลัยราชพฤกษ์ (2550)
  • เพลง "พระคุณแม่" (รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดแต่งเพลง “ ร้อยรักแม่ด้วยเสียงเพลงจากดวงใจ ” จัดโดย "สมาคมรักแม่" ปี 2555)
  • เพลง "บริลานเต้" เพลงประจำโรงเรียนดนตรีบริลานเต้ (2556)
  • เพลง "เทิดฟ้ามหาราชัน" บทเพลงเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (2556) เพลง ที่นี่มีดาว ฯลฯ

อ้างอิง[แก้]

  1. ลิขสิทธิ์เพลง บริษัท ลิขสิทธิ์เพลง จำกัด
  2. "ใครรู้จักนักร้องสาวผมสวยชื่อ ไพจิตร อักษรณรงค์บ้าง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-09-14.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]