ตลาดคลองสวน 100 ปี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตลาดเก่าคลองสวน 100 ปี

ตลาดคลองสวน 100 ปี เป็นตลาดเก่า 2 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดสมุทรปราการ อยู่ริมคลองประเวศบุรีรมย์ ปัจจุบันมีสำนักงานเทศบาลตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และสำนักเทศบาลตำบลคลองสวน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

ประวัติ[แก้]

ชุมชนริมคลองประเวศบุรีรมย์บริเวณตลาดคลองสวน 100 ปี จัดตั้งมาตั้งแต่สมัยใด ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด แต่จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตลาดห้องแถวไม้ ภาพเขียนเก่าอายุกว่า 100 ปี ของโรงเจเพ่งอังตั๊ว และจากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษสืบต่อกันมาได้ใจความว่าสร้างขึ้นประมาณก่อน พ.ศ. 2444 โดยชาวจีนกลุ่มหนึ่ง ที่มีนางเป๋า นางเหล็ง นางวาล เป็นเจ้าของตลาดที่ชื่อว่า ตลาดสามพี่น้อง ณ บริเวณเดียวกับตลาดคลองสวนในปัจจุบัน ตลาดในขณะนั้นเป็นตลาดชั้นเดียว เสาของอาคารใช้ต้นหมาก หรือ เหลาชะโอน มีทางเดินเป็นดิน ต่อมาได้สร้างเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น เมื่อ พ.ศ. 2477[1]

ต่อมาราว พ.ศ. 2517 เกิดการสร้างถนนทำให้การคมนาคมทางน้ำซบเซา ตลาดที่เคยคึกคักจึงเงียบเหงา แต่ภายหลังรัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ชุมชนตลาดคลองสวนจึงได้รับการพัฒนาและปรับปรุงมาตามลำดับ[2] โดยเมื่อ พ.ศ. 2542 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "ตลาดคลองสวน 100 ปี" เพื่อสะท้อนความเป็นของตลาดที่มีอายุยาวนาน 100 ปี[3]

พื้นที่[แก้]

ตลาดคลองสวน เห็นวัดคลองสวน

ตลาดคลองสวน 100 ปี เป็นตลาดบก เป็นห้องแถวไม้จำนวน 147 ห้อง ยาวตลอด 500 เมตร ขนานไปตามคลองประเวศบุรีรมย์ จุดเด่นของตลาด คือ สะพานสูงมีชื่อว่า อัศวาณิชย[4]

ชุมชนตลาดคลองสวนเป็นชุมชนใหญ่หลายวัฒนธรรม มีทั้งชาวไทยจีน ชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ภายในชุมชนมีทั้งโรงเจ วัด สุเหร่า เป็นแหล่งนัดพบและมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติซึ่งกันและกัน มีโรงมหรสพ หรือที่เรียกกันว่า วิก โรงฝิ่น และร้านกาแฟ หรือสภากาแฟ ยังมีประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน คือ การแสดงอุปรากรจีนหรืองิ้ว[5]

ภายในตลาดเก่าคลองสวน ฝั่งฉะเชิงเทรามีภาพเขียนสีเก่าแก่ ภายในโรงเจ อายุกว่า 120 ปี ร้านแป๊ะหลี เป็นร้านกาแฟโบราณ 70 ปี ร้านขายยา ขายขนม ขายของเล่น ร้านอาหาร ส่วนในฝั่งสมุทรปราการมีศาลเจ้าพ่อคลองสวน ศาลอาเสี่ย-คุณนาย เป็นที่สักการบูชา ของ ชาวคลองสวน และ คนทั่วไป มีร้านอาหาร ร้านขนม ร้านของฝาก ร้านกาแฟโบราณ ร้านขายของที่ระลึกแบบย้อนยุค ร้านตัดผม โรงสีข้าวโบราณ และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านร่วมสมัย

การเดินทาง[แก้]

การเดินทางจากสี่แยกบางนามุ่งหน้าไปทางจังหวัดชลบุรี ก่อนถึงกิโลเมตรที่ 25 เลี้ยวซ้ายไปตามถนน 200 ปี อีกประมาณ 7 กิโลเมตร จนถึงสี่แยกสถานีตำรวจภูธรตำบลเปร็ง เลี้ยวขวาไปตามถนนลาดกระบัง-ฉะเชิงเทรา ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร พบทางเข้าตลาดอยู่ทางซ้ายมือ แล้วเลี้ยวซ้ายไปตามทางประมาณ 300 เมตร จะถึงตลาดคลองสวน 100 ปี[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ตลาดเก่าคลองสวน 100 ปี จังหวัดฉะเชิงเทรา". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.
  2. "พัฒนาการของชุมชนตลาดคลองสวน 100 ปี" (PDF). อรรถพล ยวนขุนทด. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-12-07. สืบค้นเมื่อ 2021-12-07.
  3. "พัฒนาการของชุมชนตลาดคลองสวน 100 ปี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-05-07. สืบค้นเมื่อ 2021-12-07.
  4. "ประวัติตลาดคลองสวน 100 ปี" (PDF). มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี.
  5. "ชุมชนกับการอนุรักษ์ตลาดคลองสวน 100 ปี ตำบลเทพราช อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัฉะเชิงเทรา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-12-07. สืบค้นเมื่อ 2021-12-07.
  6. "ตลาดคลองสวน 100 ปี". ศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-09. สืบค้นเมื่อ 2021-12-07.