ดุจบิดามารดร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เพลงพระราชนิพนธ์ ดุจบิดามารดร เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประพันธ์ทำนองโดยท่านผู้หญิงพวงร้อย อภัยวงศ์ ขับร้องโดยสวลี ผกาพันธ์ และสันติ ลุนเผ่ บรรเลงโดยวงดุริยางค์ทหารเรือ สำหรับรูปแบบสำหรับการขับร้องประสานเสียงถูกเรียบเรียงโดย Hans Gunter Mommer และเรียบเรียงเปียโนประกอบการขับร้องประสานเสียงโดย นายแพทย์สิทธิกร ปรีชาวุฒิเดช บรรเลงในรูปแบบขับร้องประสานเสียงและเปียโนครั้งแรกในมหกรรมการขับร้องประสานเสียงแห่งประเทศไทยปี 2015 โดย คณะนักร้องประสานเสียงผสมสมาคมขับร้องประสานเสียงแห่งประเทศไทย บรรเลงเปียโนครั้งแรกโดย เมธัส ธรรมลงกรต

ประวัติ[แก้]

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระราชนิพนธ์ร้อยกรองขึ้นมาชิ้นหนึ่งในลักษณะของโคลง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เริ่มต้นด้วยร่ายและต่อด้วยโคลงสี่สุภาพจำนวน 30 บทร้อยเรียงต่อกัน มีชื่อว่า กษัตริยานุสรณ์ ทรงอธิบายไว้ในคำนำของหนังสือกษัตริยานุสรณ์ว่า

"ขณะที่เริ่มเขียนเรื่อง "กษัตริยานุสรณ์" นี้ ข้าพเจ้ากำลังเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนจิตรลดา ในวิชาการประพันธ์ อาจารย์สั่งให้แต่งโคลงส่งบ่อย ๆ จึงมีความคิดอยากแต่งบทประพันธ์เป็นลิลิตหรือบทประพันธ์ คำโคลงสักเรื่องหนึ่งแต่ยังนึกเรื่องที่จะแต่งให้ถูกใจไม่ได้ พอดีเป็นเวลาที่ ข้าพเจ้าได้โดยเสด็จพระราชดำเนินในการแปรพระราชฐานไปจังหวัดเชียงใหม่ ในเครื่องบินท่านหญิงเป็น "เสมียน" เพราะตอนนั้น "น.ม.ส."(พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจำรัส หรือ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) ทรงนิพนธ์เรื่อง "สามกรุง" ตอนนั้น "น.ม.ส." ประชวรจ้องมองอะไรไม่เห็น พอไปถึงเชียงใหม่ท่านหญิงประทาน "สามกรุง" ข้าพเจ้า 1 เล่ม"

"ข้าพเจ้าเริ่มอ่านสามกรุงไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งก็นึกออกว่าโคลงที่นึกอยากจะแต่งนั้นควรเป็นเรื่อง "อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี" ซึ่งเป็นบทยอพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงวางโครงเรื่องลงในสมุดแล้วใช้เค้าโครงจากหนังสือ "ไทยรบพม่า"..."

"การแต่งไม่ได้แต่งรวดเดียวจบ แต่แต่งเรื่อยไปวันละบทสองบทตามแต่จะคิดโคลงออก ซึ่งมักเป็นเวลาแปลก ๆ เช่น เวลานั่งรถบ้าง เวลาคุยกับใคร ๆ หรือเวลาเข้านอน ตอนแรก ๆ ไปได้ช้าเพราะต้องเตรียมสอบ ม.ศ. 5 พอเสร็จแล้วแต่งตามสบาย โดยอ่าน "สามกรุง" ประกอบไปด้วย นับว่าเป็นหนังสือเล่มเดียวที่ใช้ประกอบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และโคลงที่ข้าพเจ้าแต่งก็บังเอิญเสร็จตอนมหาวิทยาลัยเปิดพอดี เมื่อจบแล้วได้ให้อาจารย์กำชัย ทองหล่อดู อาจารย์กรุณาตั้งชื่อให้ว่า "กษัตริยานุสรณ์"..."

"ข้าพเจ้านำขึ้นทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนพรรษาแทนการถวายรูปเขียนของขวัญอย่างที่เคย ท่านโปรดโคลงบทที่ขึ้นต้นว่า "รักชาติ ยอมสละแม้ชีวี" มากที่สุด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ล.พวงร้อย อภัยวงศ์ ประพันธ์ทำนองเพลงที่ชื่อว่า "ดุจบิดามารดร" ใช้ร้องมาจนทุกวันนี้…"