อีเกิลส์ (วงดนตรี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ดิ อีเกิ้ลส์)
อีเกิลส์ (วงดนตรี)
ดิอีเกิลส์ในปี ค.ศ. 2008 ระหว่างทัวร์คอนเสิร์ต "ลองโรดเอาต์ออฟเอเดน" (จากซ้าย-ขวา): เกลนน์ เฟรย์, ดอน เฮนลีย์, โจ วอล์ช, ทิโมธี บี. สมิท
ข้อมูลพื้นฐาน
ที่เกิดลอสแอนเจลิส, แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา
แนวเพลง
ช่วงปี
  • ค.ศ. 1971–1980
  • ค.ศ. 1994–2016
  • ค.ศ. 2017-ปัจจุบัน
ค่ายเพลง
สมาชิกดอน เฮนลีย์
โจ วอล์ช
ทิโมธี บี. ชมิท
อดีตสมาชิกเกลนน์ เฟรย์
เบอร์นี ลีดอน
แรนดี ไมส์เนอร์
ดอน เฟลเดอร์
เว็บไซต์eagles.com

ดิอีเกิลส์ (อังกฤษ: The Eagles) เป็นวงดนตรีร็อกสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1971 ที่ ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีเกลนน์ เฟรย์, ดอน เฮนลีย์, เบอร์นี ลีดอน และแรนดี ไมส์เนอร์ เป็นสมาชิกรุ่นแรก ตลอดสายงานดนตรีของอีเกิลส์ได้รับรางวัลทางดนตรีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ซิงเกิลอันดับหนึ่งชาร์ท 5 ซิงเกิล, 6 รางวัลแกรมมี, 5 รางวัลอเมริกันมิวสิกอะวอร์ด และอัลบั้มอันดับหนึ่งชาร์ทถึง 6 อัลบั้ม ทำให้อีเกิลส์ได้กลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จทางดนตรีมากที่สุดตลอดยุค 70 โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 อัลบั้ม คือ Their Greatest Hits (1971–1975) และ Hotel California ที่ต่างเป็นหนึ่งใน 20 อัลบั้มขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกาอ้างอิงจากสมาคมอุตสาหกรรมบันทึกเสียงสหรัฐ Hotel California ได้รับการจัดอันดับที่ 37 บนหัวข้อ "500 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล" จากนิตยสารโรลลิ่งสโตน รวมไปถึงอันดับที่ 75 บนหัวข้อ "100 ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล" จากนิตยสารเดียวกันนี้ ในปี ค.ศ. 2004 อีกด้วย[2]

อีเกิลส์ได้กลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่มียอดจำหน่ายสูงสุดตลอดกาล ด้วยยอดจำหน่ายบันทึกเสียงรวมมากกว่า 150 ชุด[3] โดยในสหรัฐเพียงที่เดียวกว่า 100 ล้านชุด ซึ่งในบรรดาอัลบั้มทั้งหมด อัลบั้ม Their Greatest Hits (1971–1975) สามารถเก็บยอดจำหน่ายไปถึง 42 ล้านชุด และ Hotel California อีก 32 ล้านชุด โดยในอัลบั้ม Their Greatest Hits (1971–1975) เป็นอัลบั้มที่มียอดจำหน่ายสูงสุดแห่งศตวรรษที่ 20[4] ในสหรัฐอเมริกา ทำให้พวกอีเกิลส์ได้กลายเป็นศิลปินอันดับที่ 5 ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดและเป็นวงดนตรีที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในประวัติศาสตร์ดนตรีสหรัฐอเมริกา

อีเกิลส์ได้เปิดตัวอัลบั้มแรกในชื่อเดียวกับวง Eagles (ค.ศ. 1972) ซึ่งได้มีเพลงฮิตที่ติดท็อป 40 ถึง 3 เพลง คือ "Take It Easy", "Witchy Woman", และ "Peaceful Easy Feeling" ในอัลบั้มที่ 2 Desperado (ค.ศ. 1973) กลับประสบความสำเร็จน้อยกว่าอัลบั้มก่อนหน้านี้ ด้วยการไต่ชาร์ทอันดับที่ 41 เท่านั้น และไม่มีซิงเกิลใดติดท็อป 40 เลย แต่ถึงอย่างไรก็ดี ในอัลบั้มก็ยังมีเพลงที่ฮิตในเวลาต่อมา คือ "Desperado" และ "Tequila Sunrise" วงได้ออกอัลบั้ม On the Border (ค.ศ. 1974) เป็นอัลบั้มต่อมา โดยได้ตัวดอน เฟลเดอร์ เป็นสมาชิกคนที่ 5 ของวง ในการร่วมบันทึกเสียงอัลบั้มครั้งนี้ อัลบั้มมีซิงเกิลติดท็อปชาร์ท 40 2 เพลง คือ "Already Gone" และ "Best of My Love"

ในอัลบั้ม One of These Nights (ค.ศ. 1975) ได้มีเพลงที่ติดท็อป 10 ถึง 3 เพลง คือ "One of These Nights", "Lyin' Eyes" และ "Take It to the Limit" และนับเป็นครั้งแรกของวงที่อัลบั้มสามารถติดอันดับ 1 บนบิลบอร์ดฮอต 100 เป็นผลสำเร็จ อีเกิลส์ยังคงเดินหน้าประสบความสำเร็จทางพาณิชย์ด้วยการออกอัลบั้ม Hotel California (ค.ศ. 1976) ซึ่งสามารถจำหน่ายไปได้มากกว่า 16 ล้านชุดในสหรัฐ หรือกว่า 32 ล้านชุดทั่วโลก และมีซิงเกิลอันดับ 1 ถึง 2 เพลง คือ "New Kid in Town" และ "Hotel California" อีเกิลส์ได้ออกสตูดิโออัลบั้มต่อมาคือ The Long Run (ค.ศ. 1979) ซึ่งนับเป็นอัลบั้มสุดท้ายก่อนที่วงจะรวมวงอีกครั้งแล้วร่วมอัดสตูดิโออัลบั้มต่อไปในอีก 28 ปีข้างหน้า ในอัลบั้มมีเพลงฮิตติดท็อป 10 ได้แก่ "Heartache Tonight", "The Long Run", และ "I Can't Tell You Why"

อีเกิลส์ได้แยกวงเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1980 แต่ก็ได้รวมอีกครั้งในปี ค.ศ. 1994 เพื่อร่วมกันทำอัลบั้ม Hell Freezes Over ที่ได้กลายเป็นหนึ่งในอัลบั้มแสดงสดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดอัลบั้มหนึ่งในประวัติศาสตร์[5] ภายหลังการทัวร์คอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่องในที่สุดอีเกิลส์ ก็ได้รับการบรรจุเข้าสู่หอเกียรติยศร็อกแอนด์โรล ในปี ค.ศ. 1998 และในปี ค.ศ. 2007 อีเกิลส์ก็ได้เปิดตัวสตูดิโออัลบั้มสุดท้าย ภายหลังอัลบั้ม The Long Run กว่า 28 ปี ในอัลบั้ม Long Road Out of Eden (ค.ศ. 2007) ซึ่งสามารถเปิดตัวด้วยอันดับ 1 บนบิลบอร์ดฮอต 100 ทำให้กลายเป็นอัลบั้มที่ 6 ของวงที่สามารถเปิดตัวด้วยอันดับ 1 วงยังคงเปิดตัวอัลบั้มต่อไปด้วยการออกอัลบั้มแสดงสด Long Road Out of Eden Tour เพื่อเสริมการโปรโมตอัลบั้ม Long Road Out of Eden อีกด้วย ในปี ค.ศ. 2013 อีเกิลส์ ก็ได้ออกอัลบั้มแสดงสด History of the Eagles Tour ร่วมกับสารคดี History of the Eagles

ภายหลังการเสียชีวิตของเฟรย์ ในปี ค.ศ. 2016 เฮนลีย์ก็ได้กล่าวสัมภาษณ์กับโรลลิ่งสโตนเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ว่าอีเกิลส์ได้สิ้นสุดลงแล้ว[6] อย่างไรก็ตาม อีเกิลส์ขึ้นแสดงในงานคอนเสิร์ตเดอะคลาสสิกเวสต์แอนด์เดอะคลาสสิกอีสต์ (The Classic West and The Classic East) ที่จัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2017 ร่วมกับดีคอน เฟรย์ บุตรชายของเกลนน์ เฟรย์ พร้อมด้วยวินซ์ กิล นักร้องแนวคันทรีชาวอเมริกัน[7]

ประวัติ[แก้]

เกลนน์ เฟรย์ และดอน เฮนลีย์ ได้รับการว่าจ้างเป็นวงดนตรีแบ็คอัพของ ลินดา รอนสตัดท์ ในฤดูใบไม้ผลิ พ.ศ. 2514 ส่วน ไมส์เนอร์ และลีดัน ร่วมเป็นนักดนตรีแบ็คอัพในการทัวร์คอนเสิร์ตฤดูร้อน ของ ลินดา รอนสตัดต์ เช่นกัน โดยทั้ง 4 เปิดแสดงโชว์เล็ก ๆ ร่วมกันครั้งหนึ่งที่ ดิสนีย์แลนด์

เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2514 ทั้ง เกลนน์ เฟรย์, ดอน เฮนลีย์, เบอร์นี่ ลีดอน และ แรนดี ไมส์เนอร์ เซ็นสัญญากับบริษัทแผ่นเสียง แอสไซลัม เรคคอร์ด หลังจากนั้นไม่นานจึงตั้งชื่อวงว่า ดิ อีเกิลส์ ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 บินไปอังกฤษและ ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการบันทึกเสียงผลงานชุด The Eagles โดย กลีน จอห์นส์ ทำหน้าที่ควบคุมการผลิต และวางจำหน่ายในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน มีเพลงดังอย่าง "Take It Easy" "Witchy Woman", และ "Peaceful Easy Feeling" เป็นต้น

ดิ อีเกิลส์ออกตระเวนทัวร์คอนเสิร์ตตลอดปี พ.ศ. 2515 จนกระทั่งถึงต้นปี พ.ศ. 2516 และบินไปอังกฤษอีกครั้งพร้อมกับ กลีน จอห์นส์ เพื่อบันทึกเสียงผลงานชุดที่ 2 Desperado ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพวกนอกกฎหมาย และวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2516 มีเพลงดังอย่าง "Tequila Sunrise" และ "Desperado"

หลังจากนั้นพวกเขามารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อผลิตผลงานชุดที่ 3 กับ ผู้ควบคุมงานดนตรี กลีน จอห์นส์ ได้เกิดความขัดแย้งกันด้านแนวความคิด พวกเขาแยกกันทำงานภายหลังจากอัดเสียงไปได้เพียง 2 เพลงเท่านั้น คือ "You Never Cry Like a Lover" และ "The Best of My Love"

ภายหลังการทัวร์คอนเสิร์ตตอนต้นปี พ.ศ. 2517 โจ วอล์ชได้จ้างโปรดิวเซอร์ บิล ซิมซิค มาทำงานดนตรีที่เหลือทั้งหมดใน ผลงานชุด On the Border โดย บิล ได้นำ ดอน เฟลเดอร์ ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของ เบอร์นีย์ ลีดอน ทุกคนในวงประทับใจและยินดีที่ได้ร่วมงานกับสมาชิกใหม่ ผลงานชุด On the Border วางจำหน่ายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2517 สามารถทำสถิติผลงานชุดที่ขายได้รวดเร็วที่สุดของดิ อีเกิลส์ และในเดือนเดียวกันนั้นเองผลงานซิงเกิลแรก "Already Gone" พุ่งเข้าสู่ท็อป 20 แต่บทเพลงที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในผลงานชุดนี้และทำให้ ดิ อีเกิ้ลส์ และมีเพลงดังอันดับ 1 ในอเมริกาอย่าง "The Best of My Love"

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2518 ได้ออกผลงานชุดที่ 4 ชุด One of These Nights ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว โดยสามารถคว้ารางวัลแผ่นเสียงทองคำ ในเดือนเดียว และทะยานสู่อันดับหนึ่งในเดือนกรกฎาคม พร้อมกับ 3 ซิงเกิลยอดนิยมที่ไต่อันดับเข้าสู่ 1 ใน 5 ไม่ว่าจะเป็น บทเพลงที่พุ่งสู่อันดับหนึ่ง อย่าง "One of These Nights", "Lyin' Eyes" และ "Take It to the Limit" โดยเพลง "Lyin' Eyes" ได้รับรางวัลแกรมมี ประจำปี 2518 สาขาการร้องเพลงป็อปยอดเยี่ยม โดยนักร้องกลุ่มหรือประสานเสียง นอกจากนี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ผลงานชุดยอดเยี่ยมแห่งปี ส่วนซิงเกิลเพลง "Lyin' Eyes" ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง รางวัลแผ่นเสียงยอดเยี่ยมแห่งปี

เบอร์นี่ย์ ลีดอน ลาออกจากวง และต่อมาได้รับ โจ วอล์ช เข้าร่วมวง และออกทัวร์คอนเสิร์ตด้วยกันในทันที และออกผลงานรวมฮิต ชุด อีเกิ้ลส์ : แดร์ เกรทเทสท์ ฮิตส์ 1971-1975 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 โดยคว้ารางวัลแผ่นเสียงทองคำขาว จากยอดจำหน่ายกว่า 1 ล้านแผ่น

ผลงานชุดที่ 5 Hotel California ออกวางขายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2519 โดยคว้ารางวัลแผ่นเสียงทองคำภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ และขึ้นสู่อันดับหนึ่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2520 และต่อมาสามารถสร้างยอดจำหน่ายได้กว่า 10 ล้านแผ่น มีเพลงดัง "New Kid in Town" และ "Hotel California" ขึ้นอันดับหนึ่งในอเมริกา นอกจากนี้เพลง "Hotel California" ยังคว้ารางวัลแผ่นเสียงยอดเยี่ยมแห่งปี ในการประกาศ รางวัลแกรมมี่ ประจำปี พ.ศ. 2520

ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2520 พวกเขาเริ่มออกทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลก โดยเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือน แล้วไปยุโรปและตะวันออกไกลอีกหนึ่งเดือน และกลับมาในสหรัฐอเมริกาในเดือนพฤษภาคม เมื่อจบทัวร์ในเดือนกันยายน แรนดี้ ไมส์เนอร์ตัดสินใจลาออกจากวง โดยมีสมาชิกใหม่เข้ามาแทนที่ นั่นคือ ทิโมธี่ บี ชมิท

ดิ อีเกิลส์เริ่มต้นทำผลงานชุดใหม่ โดยใช้เวลานานเกือบหนึ่งปีครึ่ง The Long Run ออกจำหน่ายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2522 อัลบั้มชุดนี้ขึ้นสู่อันดับหนึ่งและได้รับรางวัลแผ่นทองคำขาวอยู่หลายแผ่น ส่วน Heartache Tonight ไต่ขึ้นไปถึงอันดับหนึ่งในอเมริกา ส่วนเพลง "I Can't Tell You Why" สูงสุดที่อันดับ 8 และ "The Long Run" เข้าสู่อันดับ 8 บนอันดับของชาร์ทซิงเกิลเช่นกัน นอกจากนี้เพลง "Heartache Tonight" ได้รับ รางวัลแกรมมี่อวอร์ด สาขาการร้องเพลงร็อกยอดเยี่ยมโดยนักร้องกลุ่มหรือประสานเสียง ในปี พ.ศ. 2522

และได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2523 และบันทึกผลงานชุด การแสดงสด Eagles Live และยังได้ออกผลงานแอลพีคู่ (Double LP) ออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. 2523 และติดอันดับเพลงยอดนิยม 1 ใน 5

ดิ อีเกิลส์ประกาศแยกวงอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2525 สมาชิกทั้ง 5 ต่างแยกย้ายมีผลงานเดี่ยวของตนเอง จนกระทั่งได้กลับมารวมวงใหม่ โดยบันทึกการแสดงคอนเสิร์ตพิเศษของ MTV ในฤดูร้อนปี พ.ศ. 2537 และมีผลงานออกวางจำหน่ายตามมาในเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้น ทางวงออกผลงานชุด Hell Freezes Over ซึ่งขึ้นอันดับหนึ่งของชาร์ท และมียอดจำหน่ายได้หลายล้านแผ่น ซึ่งมีเพลงใหม่อย่าง "Get Over It" ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 40 ของ ชาร์ทเพลงป็อบ และเพลง "Love Will Keep Us Alive"

ดิ อีเกิลส์รวมกันอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2541 โดยได้รับการบันทึกในทำเนียบ ร็อก แอนด์ โรล ฮอล ออฟ เฟม ซึ่งมีทั้งสมาชิกวงปัจจุบันและอดีตสมาชิกอย่าง ลีดอน และ ไมส์เนอร์ และต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ได้แสดงคอนเสิร์ตส่งท้ายสหัสวรรษที่ สเตเปิลส์ เซ็นเตอร์ ใน ลอสแอนเจลิส โดยมีการบันทึกเสียง และรวบรวมไว้ในผลงานชุดรวมฮิต Selected Works 1972 - 1999 วางขายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543

ในปี พ.ศ. 2550 กลับมาอีกครั้งกับอัลบั้ม Long Road Out of Eden ที่วางขายในร้าน วอล-มาร์ต และ Sam's Club ซึ่ง ณ ขณะนั้นบิลบอร์ดไม่นับยอดขายที่ขายผ่านทางร้านขายปลีกแบบรายเดียวนี้เข้าไปด้วย แต่ก่อนที่จะประกาศอันดับเพียง 24 ชั่วโมง บิลบอร์ดได้ออกมาประกาศกฎใหม่ ทำให้อัลบั้ม Long Road Out of Eden ขึ้นอันดับ 1 ไปได้ ทำให้อัลบั้ม Blackout ของบริทนีย์ สเปียร์สซึ่งวางขายในสัปดาห์เดียวกันอยู่ที่อันดับ 2

ผลงาน[แก้]

สตูดิโออัลบั้ม[แก้]

  • พ.ศ. 2515 Eagles
  • พ.ศ. 2516 Desperado
  • พ.ศ. 2517 On the Border
  • พ.ศ. 2518 One of These Nights
  • พ.ศ. 2519 Hotel California
  • พ.ศ. 2522 The Long Run
  • พ.ศ. 2550 Long Road Out of Eden

อัลบั้มแสดงสด[แก้]

  • พ.ศ. 2523 Eagles Live
  • พ.ศ. 2537 Hell Freezes Over
  • พ.ศ. 2547 Eagles Farewell Live From Melbourne I

อัลบั้มรวมเพลง[แก้]

  • พ.ศ. 2519 Their Greatest Hits (1971-1975)
  • พ.ศ. 2525 The Eagles Greatest Hits, Vol. 2
  • พ.ศ. 2528 The Best Best of the Eagles
  • พ.ศ. 2537 The Very Best of the Eagles (1994)
  • พ.ศ. 2543 Selected Works: 1972-1999
  • พ.ศ. 2544 The Very Best of the Eagles (2001)
  • พ.ศ. 2546 The Very Best of the Eagles (2003)
  • พ.ศ. 2548 Eagles Box Set

อ้างอิง[แก้]

  1. "Artists – Capitol Records". Capitol Records. สืบค้นเมื่อ August 24, 2014.
  2. "100 Greatest Artists – 75 > Eagles". Rolling Stone. No. 946. April 15, 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ October 27, 2007.
  3. Vorel, Jim (September 27, 2012). "Eagles tribute band landing at Kirkland". Herald & Review. สืบค้นเมื่อ January 18, 2013.
  4. Liscu, Jenny (January 20, 2000). "The Eagles: Twenty-Six Million Served". Rolling Stone.
  5. "1994-1996 Hell Freezes OverTour". Eagles Online Central.
  6. Browne, David (June 10, 2016). "Eagles' Complete Discography: Don Henley Looks Back". Rolling Stone. สืบค้นเมื่อ June 26, 2016.
  7. "The Eagles carry on without Glenn Frey in new tour coming to Spokane Arena". The Spokesman-Review. May 18, 2018. สืบค้นเมื่อ June 7, 2018.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]