ดิอะเมซิ่งเรซเอเชีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ดิอะเมซิ่งเรซเอเชีย
โลโก้รายการ
สร้างโดยอลิส ดอร์แกนเลอร์
เบ็นตั้น แวนด์ มัสเตอร์
แสดงนำอลัน วู (吴振天) (เดิมชื่อ 吴振宇)
ประเทศแหล่งกำเนิดเอเชีย
จำนวนฤดูกาล4
จำนวนตอน48
การผลิต
ความยาวตอน60 นาที
ออกอากาศ
เครือข่ายเอเอ็กซ์เอ็น เอเชีย
ออกอากาศ9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 –
9 ธันวาคม พ.ศ. 2553
การแสดงที่เกี่ยวข้อง
ดิ อะเมซิ่ง เรซ

ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย (อังกฤษ: The Amazing Race Asia) เป็นเกมโชว์ประเภทเรียลลิตี้ทางโทรทัศน์ที่สร้างมาจากเรียลลิตี้โชว์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อ ดิ อะเมซิ่ง เรซ

ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2548 สถานีโทรทัศน์ ซีบีเอส ให้โอกาสประเทศอื่นในการทำ ดิ อะเมซิ่ง เรซ เป็นของตนเอง และเครือข่ายทีวีของเอเชีย เอเอ็กซ์เอ็น เอเชีย ก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตแรก ๆ ที่ได้สิทธิ์ในการผลิด ดิ อะเมซิ่ง เรซ สำหรับประเทศของตนเอง รายการนี้ผลิตโดยบริษัทผลิตรายการของออสเตรเลีย ActiveTV สำหรับเอเอ็กซ์เอ็น โดยความร่วมมือของบัวนาวิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย-แปซิฟิก (BVITV-AP) พิธีกรของรายการคือนักแสดงชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน-อเมริกัน อลัน วู[1]

สำหรับรางวัลที่ผู้ชนะจะได้รับคือ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในเวอร์ชันสหรัฐอเมริกา เงินรางวัลที่ผู้ชนะจะได้รับคือ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง ริคกี้ โอว ผู้จัดการทั่วไปของ โซนี่ พิกเจอร์ส เอนเตอร์เทนเมนต์ เอเชีย บริษัทแม่ของ เอเอ็กซ์เอ็น เอเชีย อธิบายเรื่องเงินรางวัลที่น้อยกว่าเวอร์ชันอเมริกาไว้ว่า "จริง ๆ แล้วเงินไม่ใช่แรงจูงใจหลัก แต่แรงจูงใจหลักนั้นคือการผจญภัย และโอกาสที่จะได้อยู่ในรายการเรียลลิตี้โชว์ที่ดีที่สุดรายการหนึ่งของโลก" แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่รายการได้ยุติลงหลังจากจบฤดูกาลที่ 4 อันเนื่องมาจากปัญหาด้านงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม กลางปี ค.ศ.2016 มีการประกาศจากทางโซนี ว่าจะมีการทำรายการนี้ต่อเป็นฤดูกาลที่ 5 และออกฉายในปลายปีเดียวกัน นับเป็นการกลับมาฉายอีกครั้ง หลังจากงดออกอากาศไปนานถึง 6 ปี

การแข่งขัน[แก้]

ผู้เข้าแข่งขัน[แก้]

ผู้เข้าแข่งขันใน ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย จะประกอบไปด้วยผู้เข้าแข่งขัน 10 ทีม ทีมละ 2 คนซึ่งรู้จักกันมาก่อนแล้ว สำหรับใน ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย มีผู้เกี่ยวข้องและทีมงานที่ถ่ายทำเพียง 30 คนเท่านั้นที่เข้าร่วมในแต่ละซีซั่นของดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย ซึ่งถือเป็นดิ อะเมซิ่ง เรซที่มีผู้เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ในบรรดาดิ อะเมซิ่ง เรซ ต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะในฉบับอเมริกานั้น มีทีมงานประสานงานกันอีกมากกว่า 50 คนเป็นอย่างน้อย

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่เข้าร่วมในการแข่งขันต้องสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ ได้ เนื่องจากความแตกต่างด้านภาษาในทวีปเอเชีย ในการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขัน ผู้เข้าแข่งขันจะมาจากหลาย ๆ ประเทศในเอเชีย และไม่จำกัดเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยรวมแล้ว ผู้เข้าแข่งขันจะมาจากประเทศในเอเชียทั้งหมด ยกเว้นจากประเทศในตะวันออกกลาง แต่ถ้าผู้เข้าแข่งขันคนใดที่ทำงานอยู่ในทวีปเอเชียเป็นเวลานาน แม้ว่าผู้เข้าแข่งขันคนนั้นจะไม่ใช่ชาวเอเชีย ผู้เข้าแข่งขันนั้นก็ยังสามารถถูกคัดเลือกมาแข่งในนามของประเทศที่ตนไปทำงานได้[2] (เช่น แอนดี้กับลอร่า (ซีซั่นที่ 1) ที่แข่งในนามของประเทศไทยแต่มาจากสหราชอาณาจักร)

ตั้งแต่ซีซั่นที่ 2 ผู้เข้าแข่งขันที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้ หลังจากใน ซีซั่นที่ 1 ผู้เข้าแข่งขันที่พักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันได้

เนื้อหาการแข่งขันโดยสรุป[แก้]

เช่นเดียวกับเวอร์ชันอเมริกา แต่ละทีมจะได้รับเงินพร้อมกับคำใบ้เมื่อทีมจะออกเดินทางในเลกต่อไป (ยกเว้นทีมที่ถูกยืดเงินในด่านที่แล้ว และจะไม่ได้รับเงินใช้ ที่เป็นผลมาจากการเข้าเป็นที่สุดท้ายในเลกที่ไม่มีการคัดออก) เป็นเงินสกุล ดอลลาร์สหรัฐ หากทีมใช้เงินในด่านก่อนหน้าไม่หมด ทีมสามารถเก็บเงินเพื่อนำไปใช้ในด่านถัดไปได้ ยกเว้นในการซื้อตั๋วเครื่องบินที่ทีมจะต้องจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินด้วยบัตรเครดิตที่ทางรายการจัดให้ สำหรับในดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย ธงประดับการแข่งขัน (Route Marker) มีสีเหลืองและแดง ยกเว้นใน ซีซั่นที่ 3 ที่ในช่วงที่มีการไปเยือนในประเทศเวียดนาม Route Marker ถูกเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองและขาวเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับธงของประเทศเวียดนามใต้ ซึ่งคล้ายกับที่ทำใน ซีซั่นที่ 10 ของเวอร์ชันสหรัฐ

สำหรับในเวอร์ชันเอเชีย ทีมจะไม่ออกเดินทางจากเมืองเริ่มต้นโดยทันที แต่ทีมจะยังอยู่ที่เมืองเริ่มต้นในเลกแรกทั้งช่วงในเลกนั้น (ซีซั่นที่ 1) หรือบางส่วนในเลกนั้น (ซีซั่นที่ 2 และ 3) สำหรับซีซั่นที่ 2 ทีมจะต้องทำงานเพิ่มเติม ณ บริเวณใกล้เคียงสถานที่เริ่มต้นในแต่ละเลก สำหรับเรื่องเที่ยวบิน เนื่องจากในเวอร์ชันเอเชียไม่มีการกำหนดเที่ยวบินที่เดินทางระหว่างประเทศไว้ล่วงหน้า ทีมจึงสามารถจองตั๋วเครื่องบินจากสายการบินใด ๆ ก็ได้ที่ทีมเห็นว่าดีที่สุด ยกเว้นในซีซั่นที่ 1 ที่ทีมจะต้องเดินทางโดยสายการบินแอร์เอเชีย เนื่องจากสายการบินแอร์เอเชียเป็นผู้สนับสนุนรายการ

เครื่องหมายและโจทย์คำสั่งต่างๆ[แก้]

สำหรับเครื่องหมายและโจทย์คำสั่งต่าง ๆ ใน ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย ทั้งหมดนำมาจากของ เวอร์ชันอเมริกา ทั้งหมด ฤดูกาลที่ 2 มีการใช้คำสั่งจุดร่วมมือ (Intersection) เป็นครั้งแรก และฤดูกาลที่ 3 มีการใช้คำสั่งย้อนกลับ (U-Turn) เป็นครั้งแรก แม้ว่าการใช้งานโดยรวมจะคล้ายกับเวอร์ชันอเมริกัน แต่ยังมีข้อแตกต่างบางส่วนที่พบเห็นได้ใน ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย

สำหรับข้อกำหนดในงานอุปสรรค สมาชิกในทีมสามารถทำงานอุปสรรคได้นานแค่ไหนก็ได้ แต่หากงานอุปสรรคนั้นต้องทำตามลำดับผู้ที่มาถึงก่อน โดยปกติแล้วคำสั่งจะกำหนดไว้ว่าทีมต้องทำให้เสร็จในเวลาที่กำหนด หากทีมไม่สามารถทำให้เสร็จในเวลาที่กำหนดได้ จะถือว่าทีมไม่สามารถทำอุปสรรคให้สำเร็จในลำดับนั้นได้ และทีมจะต้องไปต่อหลังทีมที่มาถึงหลังจากพวกเขาเพื่อทำใหม่ (ยกเว้นกรณีที่ทีมจะไม่ทำ Roadblock และโดนโทษปรับเวลา)

ในซีซั่นที่ 1 ทางด่วน (Fast Forward) ครั้งแรกปรากฏขึ้นในเลกที่ 2 (ซึ่งโดยปกติทางด่วนมักปรากฏขึ้นในช่วงกลางของการแข่งขัน) ในซีซั่นที่ 2 และซีซั่นที่ 3 มีทางด่วนให้ใช้เพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น และไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจุดร่วมมือ (Intersection) สำหรับการถ่วงเวลา (Yield) ในซีซั่นที่ 1 มีเลกที่มีการถ่วงเวลาประเภท 2 เลกติดกัน

ในซีซั่นที่ 3 มีการถ่วงเวลา (Yield) และการสั่งย้อนกลับ (U-Turn) ปรากฏขึ้นในคนละเลกกัน (การย้อนกลับจะนำมาใช้แทนการถ่วงเวลาตั้งแต่ ซีซั่น 12 ของเวอร์ชันอเมริกัน) เนื่องจากแต่ละทีมสามารถใช้คำสั่ง Yield และ U-Turn ได้เพียงทีมละครั้งตลอดการแข่งขัน จึงเป็นไปได้ว่าทีมสามารถใช้คำสั่งย้อนกลับได้ แม้ว่าจะใช้คำสั่งถ่วงเวลาในเลกก่อน ๆ ไปแล้ว (เช่นเจฟกับทิช่าในซีซั่นที่ 3) และจนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีงานใด ๆ ที่ไม่ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์[ต้องการอ้างอิง]

ซาบรีน่ากับโจ เจอร์ (ซีซั่นที่ 1) เป็นทีมเดียวของเวอร์ชันเอเชียที่สามารถเอาชนะการแข่งขันได้ โดยที่ไม่ได้ใช้คำสั่งถ่วงเวลาหรือทางด่วนเลย รวมถึงเป็นทีมหญิงล้วนทีมที่สองที่ชนะการแข่งขันรายการนี้ (ถัดจาก แพทริเซียกับเซน ในเวอร์ชันบราซิล) ในทุกๆ เวอร์ชันที่ทำการผลิตอีกด้วย

เลกต่าง ๆ ในการแข่งขัน[แก้]

เนื้อหาโดยสรุป[แก้]

โดยทั่วไปรูปแบบการแข่งขันทั้งเวอร์ชันอเมริกา และเวอร์ชันเอเชียจะเหมือนกัน นั่นคือแต่ละทีมต้องเดินทางไปตามเส้นทางที่กำหนดไปตามสถานที่ต่าง ๆ ทำภารกิจต่าง ๆ และเข้าเช็กอินที่จุดหยุดพักให้ได้เร็วที่สุด

ทีมมักจะต้องทำภารกิจให้สำเร็จก่อนทุกภารกิจ และเข้าเช็กอินที่จุดหยุดพัก ก่อนที่ทีมจะถูกคัดออกเมื่อเข้าเช็กอินที่จุดหยุดพักนั้น แต่ในบางครั้งหากเลกใดเป็นเลกที่มีการคัดออก และทีมสุดท้ายตามหลังทุกทีมที่เข้าเช็กอินก่อนหน้านั้นมาก ข้อมูลเส้นทางอาจชี้ให้ทีมนั้น ๆ ไปที่จุดหยุดพักโดยไม่ต้องทำภารกิจที่เหลือ ซึ่งจะทำให้ทีมนั้น ๆ ถูกคัดออกจากการแข่งขันทันทีที่ไปถึงจุดหยุดพัก ข้อยกเว้นสำหรับกฎนี้ใน ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย คือหากทีมไม่สามารถรับข้อมูลเส้นทางต่อไปได้ เพราะทีมนั้น ๆ จะต้องทำงานบางชิ้นเพื่อที่จะได้รับมันมา หริอสถานที่สำหรับทำงานนั้น ๆ ได้ปิดทำการแล้วและทีมยังทำงานไม่เสร็จ ในกรณีนี้ ทีมงานถ่ายทำจะบอกให้ทีมนั้น ๆ ไปที่จุดพักได้เลย เพื่อให้อลันคัดออก หรือตัวอลันเองอาจเดินทางมา ณ สถานที่ที่ทีมอยู่ และคัดทีมออกที่นั่น (เช่นที่เกิดขึ้นกับโซฟีกับออเรเลีย และเบร็ทท์กับคินาร์โยชิในซีซั่นที่ 2 และไหมกับโอลิเวอร์ใน ซีซั่นที่ 3)

ในบางเลก ทางรายการจะมีรางวัลให้สำหรับผู้ที่มาถึงเป็นทีมแรก ซึ่งของรางวัลนั้นมักจะมาจากผู้สนับสนุนรายการในซีซั่นนั้น ๆ ซีซั่นที่ 3 เป็นซีซั่นแรกที่มีการมอบรางวัลให้ทุกทีมที่เข้ามาถึงเป็นทีมแรก ในทุก ๆ เลกของการแข่งขัน

ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย ยังมีอีกเลกหนึ่งที่รู้จักกันในชื่อ ซุปเปอร์เลก ที่คำใบ้จะบอกให้ผู้เข้าแข่งขันให้ "ตามหาตัวอลัน วู" โดยคำใบ้นี้ปรากฏขึ้นในซีซั่นที่ 2 แต่อลันเจะทำให้ข้าใจผิดและอ้างว่าสถานที่ที่เขาอยู่นั้นคือจุดหยุดพัก และข้อแตกต่างของจุดพักในเวอร์ชันอเมริกากับเอเชียนั้นคือ ในเวอร์ชันอเมริกาการเข้าจุดพักกจะมีพรหมพร้อมกับป้ายอยู่ด้านข้างโดยที่ภายในป้ายจะมีโลโก้รายการอยู่แต่เปลี่ยนตรงคำว่า ดิ อะเมซิ่ง เป็น ชื่อเมือง ที่เข้าจุดพักและคำว่า เรซ เป็น ชื่อประเทศ ที่เข้าจุดพัก ส่วนในเวอร์ชันเอเชียนั้นจะมีแค่พรหมเข้าจุดพักเท่านั้น ไม่ได้มีป้ายบอกชื่อประเทศและเมืองแต่อย่างใด

สำหรับข้อมูลเส้นทางที่ให้ทีมไปยังเส้นชัย จะไม่ได้กล่าวว่า "ไปเส้นชัย" โดยตรง แต่จะกล่าวว่า "ไปยังจุดหยุดพักสุดท้าย" แทน สิ่งที่แตกต่างกับ เวอร์ชันอเมริกา จะมีพรหมในเรื่องเส้นชัยก็คือ ในเวอร์ชันอเมริกาจะมีพรมสีแดงปูเป็นขั้นบันได และมีโลโก้รายการขนาดใหญ่อยู่บนพื้น แต่ในเวอร์ชันเอเชียจะมีเพียงพรมเช็กอินสำหรับ 3 ทีมสุดท้ายเท่านั้น

เลกที่ไม่มีการคัดออก[แก้]

ในการแข่งขัน จะมีการวางจำนวนของเลกที่ไม่มีการคัดออกไว้ล่วงหน้า เลกที่ไม่มีการคัดออกจะทำให้ทีมที่มาถึงสุดท้ายในเลกนั้น ๆ ไม่ถูกคัดออกและสามารถแข่งต่อได้ ในซีซั่นที่ 1 คำใบ้ที่ให้ทีมไปที่จุดหยุดพักมักจะเปลี่ยนคำว่า "อาจ" เป็นคำว่า "จะ" ในคำใบ้เดิมที่กล่าวว่า "ทีมที่มาถึงสุดท้ายอาจถูกคัดออก" เป็น "ทีมที่มาถึงสุดท้ายจะถูกคัดออก" ในเลกที่มีการคัดออก ในซีซั่นที่ 2 คำใบ้ที่ให้ทีมไปยังจุดหยุดพักที่ไม่ใช่จุดหยุดพักสุดท้าย (เส้นชัย) จะใช้ "อาจ" ซึ่งเหมือนกับเวอร์ชันอเมริกาที่ในช่วงหลัง ๆ คำใบ้ที่ให้ทีมไปยังจุดหยุดพักที่ไม่ใช่เลกแรกจะใช้ว่า "อาจ" ตลอด แต่เลกแรกจะใช้ว่า "จะ"ถูกคัดออก

ในสองฤดูกาลแรกของเวอร์ชันเอเชีย เลกแรกของการแข่งขันเป็นเลกที่ไม่มีการคัดออก ซึ่งในเวอร์ชันอเมริกา เลกแรกของการแข่งขันเป็นเลกคัดออกเสมอ

ในซีซั่นที่ 1 ทีมสุดท้ายที่มาถึงในเลกที่ไม่มีการคัดออก จะต้องถูกยืดเงินทั้งหมดที่ทีมมี และจะไม่ได้รับอนุญาตให้หาเงินใช้ ก่อนที่เลกต่อไปจะเริ่ม ซึ่งคล้ายกับที่ทำในเวอร์ชันอเมริกา ซีซั่นที่ 6 แต่ที่แตกต่างจากเวอร์ชันอเมริกาคือ ซีซั่นที่ 7 ถึง ซีซั่นที่ 9 ของเวอร์ชันอเมริกา ทีมจะต้องทิ้งสัมภาระส่วนตัวทั้งหมด แต่ในเวอร์ชันเอเชียทีมไม่ต้องทำเช่นนั้น

ใน ซีซั่นที่ 2 และ ซีซั่นที่ 3 มีการใช้บทลงโทษ 2 แบบสำหรับทีมที่มาถึงสุดท้ายในเลกที่ไม่มีการคัดออก บทลงโทษที่เพิ่มเข้ามาคือ ทีมที่ไม่ถูกคัดออกจะต้องเข้าเป็นที่ 1 ให้ได้ในเลกต่อไป หากไม่สามารถทำได้ ทีมจะถูกปรับเวลา 30 นาที กฎนี้รู้จักกันในชื่อ Marked As Elimination ซึ่งคล้ายกับที่ทำในเวอร์ชันอเมริกา ซีซั่นที่ 10 และ ซีซั่นที่ 11 อย่างไรก็ดีบทลงโทษเรื่องการยืดเงินยังคงมีการนำมาใช้ในหนึ่งเลกของการแข่งขัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ที่ทีมยังคงอยู่ต่อในการแข่งขัน หลังจากโดนโทษปรับเวลาแล้ว ในกรณีที่ทีมเข้าเป็นที่สุดท้ายในเลกที่ไม่มีการคัดออกอีกครั้ง

กฎกติกาในการแข่งขัน และบทลงโทษ[แก้]

กฎกติกา[แก้]

กฎกติกาส่วนมากจะนำมาจากเวอร์ชันอเมริกาเกือบทั้งหมด เว้นแต่ในบางกรณีที่ ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย มีกฎกติกาเป็นของตนเอง

  • แต่ละทีมจะต้องเซ็นสัญญาลับที่มีเนื้อหาว่า ผู้เข้าแข่งขันจะไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดในการแข่งขันก่อนที่การแข่งขันจะออกอากาศทางโทรทัศน์ หากทีมไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ ทีมจะถูกปรับเป็นเงิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[3]
  • หากสมาชิกของทีมบาดเจ็บระหว่างการแข่งขัน สมาชิกคนนั้นต้องเข้ารับการประเมินผลทางการแพทย์ว่าพวกเขาสามารถแข่งต่อได้หรือไม่[4]ในเวอร์ชันอเมริกา หากการบาดจ็บนั้นไม่ร้ายแรงหรือไม่ถึงแก่ชีวิต ทีมสามารถเลือกที่จะแข่งต่อหรือยุติการแข่งขันก็ได้ ซึ่งกรณีนี้เกิดขึ้นกับมาร์แชลกับแลนซ์ใน ซีซั่นที่ 5
  • ทีมจะต้องปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด หากทีมทำผิดกฎจราจร ทีมจะต้องจ่ายค่าปรับเองและถูกหักแต้มในใบขับขี่ ในกรณีที่ตำรวจเรียกตรวจ[5]

บทลงโทษ[แก้]

  • หากทีมขับรถโดยใช้ความเร็วเกินกำหนด เวลาที่ใช้ในการคำนวณโทษปรับเวลาจะคิดจากความเร็วที่เกินกำหนด (เป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง) คูณด้วย 2 นาที[6] อย่างไรก็ดีบทลงโทษนี้จะมีผลเมื่อทีมจะต้องออกเดินทางในเลกต่อไป ซึ่งทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของแต่ละทีม แม้ว่าการใช้ความเร็วเกินกำหนดจะผิดกฎของดิ อะเมซิ่ง เรซ เวอร์ชันอเมริกาเช่นกัน (เช่นที่เกิดขึ้นใน ซีซั่นที่ 2 และ ซีซั่นที่ 13) แต่บทลงโทษเรื่องการใช้ความเร็วเกินกำหนดของอเมริกาไม่ได้คิดจากความเร็วไมล์ต่อชั่วโมงที่เกิน แต่จะเป็นโทษปรับเวลา 30 นาทีเมื่อทีมมาถึงจุดพักแทน
  • ในเวอร์ชันอเมริกา ทีมที่ไม่สามารถทำงานอุปสรรค (Roadblock) ให้สำเร็จได้จะต้องรับโทษปรับเวลา 4 ชั่วโมง โดยเริ่มคิดจากเวลาที่ทีมต่อไปมาถึง ณ สถานที่ทำงาน แต่ในเวอร์ชันเอเชีย โทษปรับเวลานี้จะมีผลที่จุดหยุดพักก่อนทีมเข้าเช็กอิน ไม่ใช่ที่สถานที่สำหรับทำงานอุปสรรค[7]
  • การนั่งรถไปกับคนท้องถิ่น (Hitchhiking) เป็นข้อห้ามข้อหนึ่งในการแข่งขัน หากทีมไม่ปฏิบัติตามกฎข้อนี้ทีมจะถูกปรับเวลา 1 ชั่วโมง[8] (เกิดขึ้นกับซาฮิลกับพาร์ชานในซีซั่นที่ 1) ในเวอร์ชันอเมริกา ทีมที่ Hitchhiking จะไม่ถูกทำโทษเวลา แต่หากคำใบ้บอกว่าพวกเขาจะต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่อไปอย่างไร ทีมจะต้องกลับไปเดินทางจากสถานที่ที่ตนทำผิดกฎ และเดินทางอย่างที่คำใบ้บอกไว้ ก่อนที่จะมาถึง ณ สถานที่ถัดไป (นาธานกับเจนนิเฟอร์ ในซีซั่นที่ 12) แต่ในกรณีนี้นาธานกับเจนนิเฟอร์ทำผิดระหว่างทางไปยังจุดหยุดพัก และพวกเธอสามารถย้อนกลับไปเดินทางให้ถูกต้องได้ แต่ซาฮิลกับพาร์ชานทำผิดระหว่างที่ทำงานก่อนหน้าในเลกที่ 5 และไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากพวกเขาไม่ทราบเรื่องนี้และรับคำใบ้ไปแล้ว

ประเทศและสถานที่ที่เดินทางไปเยือน[แก้]

จนถึงฤดูกาลที่ 4 ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย เดินทางไปแล้ว 20 ประเทศและผ่าน 4 ทวีป โดยยังไม่เคยผ่านทวีปอเมริกา

ประเทศที่ไปเยือนใน ดิ อะเมซิ่ง เรซ เอเชีย แสดงด้วยสี
เอเชีย โอเชียเนีย ยุโรป แอฟริกา

หมายเหตุ 1: รวม ฮ่องกง และ มาเก๊า

ข้อวิพากษ์วิจารณ์[แก้]

โทษปรับเวลา[แก้]

ในซีซั่นที่ 1 มีการใช้โทษปรับเวลาบ่อยมาก แม้ว่าโทษปรับเวลาส่วนใหญ่จะทำให้ทีมไม่สามารถเข้าเช็กอินที่จุดหยุดพักได้ทันทีเมิ่อทีมมาถึงจุดหยุดพัก (ซึ่งอาจทำให้ลำกับของทีมตกลงมาและทำให้พวกเขาเข้าเป็นลำดับสุดท้าย และถูกคัดออก เช่นเดียวกับที่เกิดกับซาฮิลกับพาร์ชานในซีซั่นที่ 1) ก็ยังมีข้อถกเถียงเรื่องโทษปรับเวลาว่า โทษปรับเวลาบางครั้งจะไปมีผลตอนที่ทีมออกเดินทางจากจุดพักในเลกต่อไปหรือไม่ หรือโทษปรับเวลาทุกครั้งจะทำให้ทีมไม่สามารถเช็กอินได้จนกว่าโทษปรับเวลาจะหมด

กรณีที่โทษปรับเวลามีผลในเลกต่อไปนั้น เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับ แอนดี้กับลอร่า (ซีซั่นที่ 1) ที่ออกเดินทางจากจุดหยุดพัก Chard Farm Winery ที่ควีนส์ทาวน์ ประเทศนิวซีแลนด์ ในเลก 7 โดยมีโทษปรับเวลา 92 นาที ซึ่งเป็นผลจากการใช้ความเร็วเกินกำหนด กรณีนี้ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ว่าแอนดี้กับลอร่าได้รับโทษปรับเวลา 92 นาทีนั้นก่อนที่จะเข้าเช็กอินยังจุดหยุดพักในเลก 6 หรือไม่ ซึ่งถ้าหากมี โทษปรับเวลานั้นจะทำให้พวกเขาตกลงมาอยู่ในอันดับสุดท้ายและถูกคัดออกจากการแข่งขัน แต่โทษปรับเวลานี้ได้ใช้อย่างถูกต้องแล้วเนื่องจากในทุกๆ เวอร์ชันของรายการนี้ โทษปรับเวลาการใช้ความเร็วเกินกำหนดเป็นโทษเดียวที่จะไปบวกตอนเริ่มเลกถัดไป ทีมจะได้รับอนุญาตให้เข้าพักทันทีโดยไม่ต้องรอโทษปรับและเวลาโทษปรับจะไปเริ่มในด่านถัดไปแทน แชรอนกับเมโลดี้ที่ถูกคัดออกในเลก 7 ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่าพวกเธอรู้สึกช็อกที่กฎเรื่องการ "ใช้ความเร็วเกินกำหนด" ไม่ได้ถูกถูกลงโทษเมื่อทีมเข้าเช็กอินที่จุดหยุดพัก แม้ว่าพวกเธอจะได้ทราบว่ากฎนี้มีการนำไปใช้อย่างไรแล้วก็ตาม[9]

ข้อวิพากษ์วิจารณ์อื่น ๆ[แก้]

แม้ว่าในซีซั่นที่ 1 จะประสบความสำเร็จอย่างมากก็ตาม มีผู้ติดตามชมหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าทีมไม่ได้ "ขับรถไปยังสถานที่ต่อไป" ด้วยตัวเองเสมอไป ผู้ติดตามชมยังตั้งข้อสังเกตว่าแต่ละทีมมักจะเดินทางบนเที่ยวบินเดียวกัน ตามที่อลัน วู ให้สัมภาษณ์[10] ซึ่งในซีซั่นที่ 2 ทีมงานรับปากว่าจะแก้ปัญหาในเริ่องนี้

อ้างอิง[แก้]

  1. 'Amazing Race: Asia' is on
  2. "The Amazing Race Asia Application Deadline Extended!". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-01. สืบค้นเมื่อ 2008-11-12.
  3. "Our femme fatales - Four gutsy ladies make up the two Malaysian teams". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-19. สืบค้นเมื่อ 2008-11-15.
  4. "Season 1: Episode 4 - Spending Some Time With A Grey Nurse". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-05. สืบค้นเมื่อ 2008-11-15.
  5. "Season 1: Episode 6 - Caught in the Act". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-29. สืบค้นเมื่อ 2008-11-15.
  6. "Season 1: Episode 6 - Riding Through the Mud". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-05. สืบค้นเมื่อ 2008-11-15.
  7. "Season 1: Episode 3 - Cave Dwellers". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-05. สืบค้นเมื่อ 2008-11-15.
  8. "Season 1: Episode 5 - Climb Up, Jump Down". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-05. สืบค้นเมื่อ 2008-11-15.
  9. We're so shocked and disappointed[ลิงก์เสีย]
  10. "Conversation with an amazing TV host". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-16. สืบค้นเมื่อ 2008-11-15.

ดูเพิ่ม[แก้]