ดินบรรพกาล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปแสดงลักษณะของดินบรรพกาล

ดินบรรพกาล (อังกฤษ: paleosol) หมายถึง ดินที่ถูกปกคลุมด้วยหินละลาย (lava) เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะทางธรณีวิทยา อาจเรียกดินนี้ว่า ดินเก่า ซึ่งหมายถึง ดินที่เกิดมาบนผิวโลกนานมากแล้ว แต่ต่อมาถูกปกคลุมไว้ ดินบรรพกาล คือ ดินที่เกิดอยู่ในภูมิประเทศของอดีตกาล มีลักษณะสัณฐานเฉพาะตัว ที่เป็นผลมาจากสภาพแวดล้อมของการเกิดดินในอดีต ที่ไม่ปรากฏในบริเวณนั้นแล้ว กระบวนการเกิดดินในอดีต อาจมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมภายนอก หรือการหยุดชะงักของกระบวนการเกิดดินโดยการฝังกลบ

ดินบรรพกาลอาจถูกจัดเป็นส่วนที่เหลือ (relic) ดังปรากฏให้เห็นบนพื้นดินและไม่มีการแปรเปลี่ยนอย่างรุนแรงของลักษณะสัณฐานโดยกระบวนการเกิดดิน ดินบรรพกาลที่ปรากฏให้เห็นบนพื้นผิวเป็นดินที่เคยถูกทับถมและโผล่ขึ้นจากการกร่อน ซึ่งมักพบเห็นบ่อยในแหล่งสะสมตัวของตะกอนที่ยังไม่แข็งตัว (unconsolidate sediment) ในยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) เราสามารถนำเอาความแตกต่างและการกระจายตัวของดินเก่ามาใช้ในการเทียบเคียงและหาอายุของชั้นหินได้ และยังเป็นหลักฐานเกี่ยวกับสภาพภูมิประเทศ พืชพรรณที่ปกคลุมและสภาพภูมิอากาศในอดีตได้ดีอีกด้วย สำหรับประเทศไทยมีหลายแห่งที่พบว่ามีดินบรรพกาลนี้อยู่ เช่น อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง และ จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่าดินบรรพกาลนี้ถูกปิดทับด้วยหินละลายบะซอลต์ อายุประมาณ 0.5-2 ล้านปี

อ้างอิง[แก้]

  • รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ และคณะ. 2545. ธรณีวิทยากายภาพ. คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  • พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
  • Glossary of Geology
  • Radiometric Dating,Paleosols and the Geologic Column