ดาวเทียมไทยโชต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ดาวเทียมไทยโชต (Thaichote) [1] หรือ ดาวเทียมธีออส (THEOS: Thailand Earth Observation Satellite) เป็นดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ. หรือ GISTDA) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ บริษัท อี เอ ดี เอส แอสเตรียม (EADS Astrium) ประเทศฝรั่งเศส ด้วยงบประมาณ 6,000 ล้านบาท นับเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชื่อเรียก[แก้]

ชื่อ THEOS มาจากคำย่อภาษาอังกฤษว่า Thailand Earth Observation Satellite หมายถึง ระบบสำรวจพื้นผิวโลกโดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศไทย โดยพ้องกับภาษากรีก แปลว่า พระเจ้า

วันที่ 20 มกราคม 2554 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีหนังสือไปยัง สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อขอพระราชทานชื่อใหม่ให้ดาวเทียม THEOS ต่อมา วันที่ 18 มกราคม 2555 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือตอบกลับความว่า พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมดังกล่าวว่า ไทยโชต และให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thaichote ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2554 สืบไป โดยมีความหมายว่า "ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง"[2]

ลักษณะ[แก้]

ดาวเทียมไทยโชต เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก มีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม เป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit: LEO) โคจรสูงจากพื้นโลกประมาณ 820 กิโลเมตร โคจรรอบโลกซ้ำแนวโคจรเดิมทุก 26 วัน มีอายุทางเทคโนโลยีขั้นต่ำ 5 ปี แต่อายุการใช้งานจริงมากกว่านั้น มีกล้องถ่ายภาพ 2 กล้อง ใช้ระบบซีซีดี สามารถบันทึกภาพจากการสะท้อนแสงของพื้นโลก (ต้องการแสงอาทิตย์) ได้ทั้ง ภาพแบบขาวดำ (Panchromatic) ที่รายละเอียด 2 เมตร ความกว้างของภาพที่มุมตั้งฉากกับพื้นผิวโลก 22 กม. และภาพแบบหลายช่วงคลื่น (Multispectral) เพื่อนำมาแสดงร่วมกันให้เห็นเป็นภาพสี จำนวน 4 ช่วงคลื่น ที่รายละเอียด 15 เมตร ความกว้างของภาพที่มุมตั้งฉากกับพื้นผิวโลก 90 กิโลเมตร ได้แก่ 3 ช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น (ช่วงคลื่นแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน) และ 1 ช่วงคลื่น ใกล้อินฟราเรด (Near IR)

การส่งขึ้นสู่อวกาศ[แก้]

ดาวเทียมธีออส ขึ้นสู่อวกาศ วันพุธที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เวลาในประเทศไทย 13:37:16 น. หรือ 6:37:16 น. ตามเวลามาตรฐานสากล (UTC) โดยจรวดนำส่ง เนปเปอร์ (Dnepr) ของบริษัท ISC Kosmotras ประเทศยูเครน จากฐานส่งจรวดเมืองยาสนี (Yasny) ประเทศรัสเซีย

เหตุการณ์การส่งดาวเทียมไม่สามารถถ่ายทอดสดได้ เนื่องจากฐานส่งจรวดที่เมืองยาสนีเป็นเขตทหาร จึงเป็นการรายงานสดทางโทรศัพท์มายังสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี จรวดถูกยิงสู่ท้องฟ้าจากไซโลด้วยแรงขับเคลื่อนของจรวดท่อนที่ 1 ไปทางทิศใต้ตามแนวขั้วโลกมีมุมเอียงไปทางตะวันตก 8.9 องศา จรวดท่อนที่ 1 ขับเคลื่อนจากพื้นดินเป็นเวลา 110 วินาทีขึ้นไปที่ระดับสูง 60 กิโลเมตร แล้วแยกตัวออกและตกลงสู่พื้นโลกที่ประเทศคาซัคสถาน ต่อจากนั้นจรวดท่อนที่ 2 ขับเคลื่อนและนำดาวเทียมขึ้นต่อไปอีกเป็นเวลา 180 วินาที ได้ระดับความสูง 300 กิโลเมตร หรือเมื่อผ่านไป 290 วินาทีจาก Lift-off แล้วจรวดท่อนที่ 2 แยกตัวและตกลงในมหาสมุทรอินเดีย จรวดส่วนสุดท้ายพร้อมดาวเทียม เคลื่อนต่อไปตามวิถีการส่งจนถึงระดับความสูง 690 กิโลเมตร ดาวเทียมแยกตัวออกมาโคจรเป็นอิสระจากจรวดส่วนสุดท้าย ที่เวลาในประเทศไทย 15:09 น. สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมที่เมืองคิรูนา (Kiruna) ประเทศสวีเดน จะเป็นสถานีแรกที่ติดต่อกับดาวเทียมได้ (First Contact) ต่อจากนั้นดาวเทียมโคจรผ่านประเทศไทยครั้งแรก เวลา 21:16 น. ซึ่งสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมธีออส อ.ศรีราชา เริ่มปฏิบัติการควบคุมการโคจรดาวเทียมและตรวจสอบการทำงานต่างๆ เพื่อให้ดาวเทียม THEOS มีความสมบูรณ์พร้อมใช้งาน อันเป็นงานและภารกิจหลักในการให้บริการข้อมูลดาวเทียมแก่หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

สถานีรับสัญญาณ[แก้]

สถานีรับสัญญาณดาวเทียมอยู่ที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร และสถานีควบคุมดาวเทียม อยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ผลประโยชน์[แก้]

  • สิทธิการใช้งาน ตัวดาวเทียมธีออส และสถานีควบคุมและรับสัญญาณภาคพื้นดิน
    • ใช้สำรวจทรัพยากรทั้งภายในประเทศ ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน แสดงความประสงค์นำข้อมูลดาวเทียมธีออสไปใช้ประโยชน์ในการสำรวจหาข้อมูล และใช้ทำแผนที่ในภารกิจที่รับผิดชอบ เช่น เช่น การสำรวจหาชนิดของพืชผลการเกษตร, การประเมินหาผลผลิตการเกษตร, การสำรวจหาพื้นที่ป่าไม้, การสำรวจหาพื้นที่ป่าถูกบุกรุกทำลาย, การสำรวจหาพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้, การสำรวจหาพื้นที่สวนป่า, การสำรวจหาชนิดป่า, การสำรวจหาพื้นที่ทำนากุ้งและประมงชายฝั่ง, การสำรวจหามลพิษจากคราบน้ำมันในทะเล, การสำรวจหาแหล่งน้ำ, การสำรวจหาแหล่งชุมชน, การสำรวจหาพื้นที่ปลูกฝิ่น, การวางผังเมือง, การสร้างถนนและวางแผนจราจร, การทำแผนที่, การสำรวจหาบริเวณที่เกิดอุทกภัย, การสำรวจหาพื้นที่ที่เกิดดินถล่ม, การสำรวจหาพื้นที่ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ
    • ลดค่าใช้จ่ายการสั่งซื้อภาพจากดาวเทียมต่างประเทศ และสามารถขายข้อมูลการสำรวจทรัพยากรระหว่างประเทศ
  • ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบและสร้างดาวเทียม แก่บุคลากรไทย
    • การพัฒนาระบบดาวเทียม ระบบภาคพื้นดิน การควบคุมรับสัญญาณ และการจัดทำผลิตภัณฑ์ภาพ
    • ได้สิทธิ์ในการรับสัญญาณและการให้บริการข้อมูลดาวเทียม SPOT-2, 4, และ 5 ก่อนดาวเทียมธีออสจะขึ้นสู่อวกาศ
    • ได้สิทธิ์ในการพัฒนาบุคลากร ทั้งจากการได้ทุนการศึกษา ตลอดระยะเวลา 10 ปี โดยเป็นทุนฝึกอบรมในฝรั่งเศส สำหรับเจ้าหน้าที่ไทย ในด้านเทคโนโลยีดาวเทียมและการประยุกต์ใช้ จำนวน 80 ทุน และทุนการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก จำนวนทั้งสิ้น 24 ทุน

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศสจะเดินทางมาเพื่ออบรม และจัดสัมมนาให้แก่เจ้าหน้าที่ไทยทุกปี

อ้างอิง[แก้]

  1. “ดาวเทียมไทยโชต”: นามพระราชทาน เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  2. "สำเนาหนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0508/ท 371 เรื่อง ขอพระราชทานชื่อดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศไทย" (PDF). งานสารบรรณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 12 มีนาคม 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 30 สิงหาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2021.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]