ดาดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ดาดา (อังกฤษ: Dada) หรือ คติดาดา (Dadaism) เป็นลัทธิหรือกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับศิลปะในลัทธิเหนือจริง (surrealism) ลักษณะโดยรวมของกลุ่มดาดานั้นจะมีน้ำหนักไปในแนวทางต่อต้านสังคมและกฎเกณฑ์ความงามของศิลปะแบบเดิม ๆ ซึ่งเคยเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป กล่าวได้ว่า ดาดาใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการกบฏต่อทุกสิ่งที่เคยมีมาในอดีต

ประวัติ[แก้]

ในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากมาย เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และการปฏิวัติของรัสเซีย และในช่วงนี้เอง ดาดาก็ได้กำเนิดขึ้นมาจากกลุ่มนักกวี นักประพันธ์ต่าง ๆ ในยุโรป พวกเขาสร้างผลงานแนวใหม่โดยเป็นปฏิปักษ์ศิลปะแบบเก่า และสร้างค่านิยมใหม่ที่มีความเป็นสากล เหตุผลต่าง ๆ มาจากการเกิดสงครามและมีศิลปินกลุ่มหนึ่งต้องการแสดงออกถึงอาการเยาะเย้ย ถากถางสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและมองโลกในด้านลบว่าคนเลวทำร้ายทุกอย่างได้ กลุ่มดาดาจึงสร้างผลงานที่ผิดจากหลักการความจริง ทำให้เป็นเรื่องเหลวใหลน่าหัวเราะ

ขณะนั้น เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นแหล่งรวมคนที่หลบหนีและถูกบีบคั้นทางสังคมจากประเทศต่าง ๆ เพราะสวิตเซอร์แลนด์นั้นถูกกำหนดให้เป็นประเทศที่เป็นกลางทางสงคราม ที่เมืองซูริกนี้เอง มีร้านเครื่องดื่มร้านหนึ่งชื่อว่า คาบาเรต์ วอลแตร์ (Cabaret Voltaire) ซึ่งมีความสำคัญในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้น "ดาดา" เมื่อราวเดือนกุมภาพันธ์ 1916 เพราะเป็นแหล่งชุมนุมรวมตัวของศิลปินและกวีที่มาพบปะพูดคุยกัน โดยมี ฮูโก บัล นักประพันธ์ชาวเยอรมันผู้ลี้ภัยคนหนึ่งเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งเขาได้จัดสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งชุมนุมสำหรับการปรับปรุงพัฒนาศีลธรรม วัฒนธรรม และคุณค่าทางสังคมที่สูญเสียเพราะสงครามขึ้นใหม่ และเมื่อปี 1927 บัลเสียชีวิตลง เขาได้รับการยกย่องให้เป็นดุจนักบุญทางศาสนาประจำเมืองอีกด้วย และถึงแม้ว่าผลงานของกลุ่มดาดาส่วนใหญ่จะล้อเลียนเสียดสีสังคม ทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องน่าขำ จุดประสงค์หนึ่งก็เพื่อเตือนให้ผู้คนตระหนักถึงผลลัพธ์ของการทำสงคราม แต่ก็มีกลุ่มดาดาที่รวมเอาศาสนาเข้ามาจับกับงานศิลปะ และก็มีกลุ่มของดาดาต่อต้านดาดาที่เอาศิลปะทางโลกมาต่อต้านเรื่องของศาสนา สำหรับหลายคนอาจมองว่า ดาดาไม่ได้เป็นงานประวัติศาสตร์ศิลปะในช่วงศตวรรษที่ 20 แต่มองว่าดาดาเป็นงานศิลปะสมัยใหม่

ที่มาของคำว่า "ดาดา"[แก้]

ชื่อ "ดาดา" นี้เกิดขึ้นมาจากกลุ่มศิลปินหลายคน อาทิ ตริสตัน ซารา, ฮูโก บัล, ริชาร์ด ฮูลเซนเบค, ควร์ท ชวิทเทิร์ส, ฮันส์ อาร์พ โดยพวกเขาใช้มีดพับสอดเข้าไปในพจนานุกรมภาษาเยอรมัน-ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคู่รบกันในสงคราม ผลก็คือพวกเขาสุ่มได้คำว่า "ดาดา" (dada) เป็นสแลงในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ม้าโยก คำนี้จึงกลายเป็นชื่อกลุ่มนับแต่นั้นมา ที่สำคัญ คำว่าดาดานี้ยังสอดคล้องกับบุคลิกลักษณะของศิลปินกลุ่มนี้ที่พยายามเยาะเย้ยสังคมอย่างสนุกราวกับเป็นเด็ก ๆ ที่ทำตัวไม่มีสาระและยุ่งเหยิง

ดาดาในปารีส[แก้]

ตริสตัน ซาราเป็นผู้ที่นำคติดาดาไปเผยแพร่ยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยกลุ่มดาดาในปารีสนั้น ได้รับอิทธิพลจากการอ่านหนังสือ "การแปลความฝัน" ของซิกมุนด์ ฟรอยด์ ซึ่งพวกเขาใช้แนวคิดเรื่องจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์มาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อแสดงถึงความปรารถนาในจิตใต้สำนึก

ดาดาในสหรัฐอเมริกา[แก้]

ดาดาในสหรัฐอเมริกา พบว่าเริ่มมีบทบาทเมื่อราวปี 1913 โดยมาร์แซล ดูว์ช็อง และฟร็องซิส ปีกาบียา มีศูนย์กลางที่ใช้เคลื่อนไหวอยู่ที่ร้านถ่ายภาพของอัลเฟรด สติกลิทซ์ ซึ่งเป็นช่างภาพ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น สหรัฐอเมริกาก็เริ่มมีความวุ่นวายอันสืบเนื่องมาจากการทำสงครามโลกครั้งที่ 1

ผลกระทบต่อสังคม[แก้]

คติดาดากลายเป็นกระแสลัทธิทางศิลปะที่เคลื่อนไหวไปในยุโรปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นในปารีส เบอร์ลิน โคโลญ อิตาลี ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ รวมไปถึงทางฝั่งสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุที่ว่า ดาดาเป็นรูปแบบที่ไร้กฎข้อบังคับ มีอิสระเสรีในการสร้างผลงาน และต่อต้านขนบเดิมที่เคยมีอยู่ อีกทั้งยังมีปัจจัยเรื่องการต่อต้านสงคราม การต่อต้านสังคมและการเมืองการปกครองมาเกี่ยวข้องเหล่านี้ส่งผลให้ "ผลงานศิลปะ" ในแบบของดาดาถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุและวิธีคิดที่หลากหลาย ไม่จำกัดอยู่ในกรอบเดิม ๆ รวมไปถึงเรื่องของความงามหรือสุนทรียภาพของผลงานก็ถูกสร้างความหมายใหม่ขึ้น เรียกได้ว่า วัตถุธรรมดา ๆ ในชีวิตประจำวันกลายเป็นผลงานศิลปะได้เพียงแค่ตั้งชื่อและจัดแสดงมันในนิทรรศการศิลปะเท่านั้นเอง หรือในอีกทางหนึ่ง ศิลปะอาจเกิดจากความบังเอิญ คำพูด จินตภาพ หรือแม้กระทั่งความคิดต่อต้านศิลปะก็ได้

เทคนิคทางศิลปะที่ได้รับการพัฒนา[แก้]

เทคนิคภาพปะติด (collage), เทคนิคการสร้างภาพประกอบรวม (photomontage), เทคนิคการผสมผเส (assemblage) และเทคนิคเรดดีเมดส์ (Readymades) ของมาร์แซล ดูว์ช็อง

ศิลปินคนสำคัญในคติดาดา[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554.
  • จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2552.
  • ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์. ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ฉบับสมบูรณ์. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: วาดศิลป์, 2553.
  • David Hopkins. Dada and Surrealism: A very short introduction. First Published. London: Oxford University Press, 2003.
  • Dietmar Elger, Uta Grosenick (ed.). Dadaism. Koln: Taschen, 2004.
  • http://arthistory.about.com/cs/arthistory10one/a/dada.htm

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]