ดยุก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ดยุก (อังกฤษ: duke สำเนียงบริเตน: /djuːk/) [1] หรือ ดุ๊ก[2] (สำเนียงอเมริกัน: /duːk/) เป็นบรรดาศักดิ์ของเจ้าหรือขุนนางในทวีปยุโรป ซึ่งปกครองดินแดนที่เรียกว่า "ดัชชี" มีศักดิ์รองจากกษัตริย์ ส่วนตำแหน่งดยุกในหมู่เกาะอังกฤษเป็นเพียงตำแหน่งที่ตั้งไว้เป็นเกียรติยศเท่านั้น ไม่มีอำนาจการปกครองเช่นดยุกในยุโรปภาคพื้นทวีป ปัจจุบันตำแหน่งดยุก (ที่ไม่ใช่ราชวงศ์) ปรากฏอยู่อย่างเป็นทางการเฉพาะในสหราชอาณาจักรเท่านั้น

ภริยาของดยุกมีตำแหน่งเป็น ดัชเชส (Duchess) ตามสิทธิของคู่สมรส อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ดยุกมีแต่บุตรสาว บุตรสาวจะได้ขึ้นสืบตำแหน่งแทนเมื่อดยุกถึงแก่อสัญกรรม ซึ่งบุตรสาวที่ได้สืบตำแหน่งดยุกนี้จะมีตำแหน่งเป็น ดัชเชส ด้วยเช่นกันแต่เป็นดัชเชสจากการสืบตระกูล ในกรณีนี้ สิทธิของคู่สมรสจะไม่ส่งผ่านไปยังสามี เช่น ดยุกที่ 1 แห่งมาร์ลบะระ มีเพียงธิดาเท่านั้น เมื่อเขาถึงแก่อสัญกรรม ธิดาของเขาจึงขึ้นสืบตำแหน่งต่อเป็น ดัชเชสที่ 2 แห่งมาร์ลบะระ อย่างไรก็ตาม สามีของนางไม่มีสิทธิหรือเกียรติยศใดในมาร์ลบะระ เมื่อนางถึงแก่อสัญกรรม บุตรชายของนางจึงสืบตำแหน่งต่อเป็นดยุกที่ 3 แห่งมาร์ลบะระ

ดยุกในสหราชอาณาจักรเป็นเพียงตำแหน่งของขุนนาง ซึ่งมีคำนำหน้าว่า His Grace แต่ดยุกในยุโรปภาคพื้นทวีปเป็นตำแหน่งของเจ้าผู้ครองดินแดนที่เรียกว่า "ดัชชี" ซึ่งมีคำนำหน้าเป็น His Serene Highness ด้วยเหตุนี้ ดยุกจากยุโรปจึงได้รับเกียรติสูงกว่าดยุกจากสหราชอาณาจักร

คำว่าดยุกมาจากภาษาละตินว่า dux ซึ่งมีความหมายว่า 'ผู้นำ' คำนี้ถูกใช้ในยุคสาธารณรัฐโรมัน บ้างก็ถูกใช้เรียกผู้นำทางทหารที่ไม่มียศทหาร บ้างถูกใช้เรียกผู้ว่าราชการมณฑล หรือกระทั่งประมุขของนครรัฐบางแห่ง

อ้างอิง[แก้]

  1. "ในหลวง พระราชินี มีพระราชสาส์นยินดี ถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2". ไทยรัฐ. 2015-09-09. สืบค้นเมื่อ 2020-09-21.
  2. สัญชัย สุวังบุตร (2547). ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม และคณะ (บ.ก.). สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: ยุโรป ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (pdf). Vol. 1 (อักษร A-B) (3 ed.). กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน. p. 42. ISBN 974-9588-25-8. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2555.

ดูเพิ่ม[แก้]