ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม

เกิด24 มีนาคม พ.ศ. 2461
อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา
เสียชีวิตพ.ศ. 2547 (86 ปี)
อาชีพนักการเมือง, กวี และ นักเขียน
สัญชาติไทย


ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร (ส.ส.พระนคร) และกรุงเทพมหานคร (ส.ส.กรุงเทพมหานคร) พรรคประชาธิปัตย์ นักเขียนสารคดีแนวประวัติศาสตร์ และราชบัณฑิตประเภทประวัติศาสตร์[1]

ประวัติ[แก้]

ณัฐวุฒิ เกิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2461[2][3] ที่บ้านน้ำโอ อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนสุดท้องในบรรดาบุตรทั้งหมด 4 คน ของรัง เกื้อหนุน ผู้เป็นบิดา และสาย สุทธิสงคราม ผู้เป็นมารดา

เมื่อวัยเด็กได้เริ่มเรียนหนังสือ ก.ข. และมโนจากบิดา[2] เมื่ออายุได้ 8 ปีเศษ นายรังผู้เป็นบิดาถึงแก่กรรมลง จึงได้เรียนหนังสือขอม และหนังสือไทยกับพระอาจารย์ยอด วัดโรง ต่อมาปี พ.ศ. 2471 ได้เรียนหนังสือที่โรงเรียนประชาบาล ต.บ้านโรง จนสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 3 และเรียนต่อที่โรงเรียนธัญญะเจริญ โรงเรียนประจำอำเภอระโนด จนสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 5 เมื่อ พ.ศ. 2475 และเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ระหว่างเรียนนั้น ณัฐวุฒิ มีความตั้งใจจะเขียนหนังสือชีวประวัติของคนไทย โดยกล่าวไว้ว่า[4]

เรื่องเขียนหนังสือชีวประวัติคนไทยนั้น ได้ตั้งใจและคิดมาตั้งแต่เด็ก เพราะได้อ่านแต่ชีวประวัติของชาวต่างประเทศแทบทั้งสิ้น เหมือนกับเมืองไทยไม่มีคนดี ไม่มีวีรบุรุษ มหาบุรุษ จึงไม่มีหนังสือชีวประวัติท่านเหล่านั้น

เมื่อ พ.ศ. 2480 ได้เข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ สอบได้เป็นนักเรียนเตรียม ม.ธ.ก. (รุ่นแรก) และสอบมัธยมศึกษาปีที่ 8 ได้ด้วย[5] จึงได้ลาออกจากแผนกเตรียมปริญญามาเรียนกฎหมายจนจบชั้นปริญญาตรีจากนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2487[2]

การทำงาน[แก้]

ณัฐวุฒิ ประกอบอาชีพเป็นทนายความ ประจำสำนักงานกฎหมายเสนีย์อรรถการีย์ และสำนักงานกฎหมายศิริธรรม และรับราชการเป็นข้าราชการชั้นตรี ในกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี

ในทางการเมือง ถือเป็นสมาชิกคนสำคัญคนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ในยุคเบื้องต้นก่อตั้งพรรค ด้วยการเป็นกรรมการบริหารและบรรณารักษ์ ดูแลงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ของพรรคเป็นคนแรก รวมถึงเป็นทนายความว่าความให้พรรคประชาธิปัตย์ จากการถูกฟ้องจาก ผัน สุขสำราญ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2501 ซึ่งถือเป็นคดีความครั้งแรกของทางพรรคด้วย

ณัฐวุฒิ ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในจังหวัดพระนคร เมื่อการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2500 ครั้งแรก แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้คะแนนมาทั้งหมด 75,784 คะแนน เป็นลำดับที่ 14 (จากทั้งหมด 9 ลำดับ) และได้รับการเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งซ่อมแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2501 พร้อมกับสมาชิกพรรครุ่นเดียวกัน เช่น เล็ก นานา, สวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์, พลโท ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นต้น

จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งเทศมนตรีนครกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2511 และเป็น ส.ส.พระนคร อีกครั้ง ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 และเป็น ส.ส.กรุงเทพมหานคร 2 สมัย ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2518 และพ.ศ. 2519

เขาเคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[6]

นอกจากงานการเมืองแล้ว ณัฐวุฒิยังเป็นนักเขียนสารคดีแนวประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและต่างประเทศมากมาย รวมถึงชีวประวัติบุคคลสำคัญต่าง ๆ ด้วย เช่น พระประวัติและนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พ.ศ. 2505), ผู้สร้างวรรณกรรม (พ.ศ. 2520), นายควง อภัยวงศ์ กับ พรรคประชาธิปัตย์ (พ.ศ. 2522), ในหลวงอานันท์ (พ.ศ. 2522) เป็นต้น และได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นราชบัณฑิต ประเภทประวัติศาสตร์

ชีวิตครอบครัว สมรสกับ ประจบ รัตนวิเชียร มีบุตรชายหญิงอย่างละหนึ่งคน

ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2547[7] [8]

ผลงาน[แก้]

ผลงานส่วนใหญ่ของ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม จำกัดเฉพาะในแวดวงสถาบันกษัตริย์และกลุ่มชนชั้นปกครอง[2] มีการสอดแทรกคำวิพากษ์วิจารญ์และตั้งสมมุติฐานจากหลักฐานชั้นต้นและชั้นรองประกอบตามสมควร และมีแนวความคิดจากอิทธิพลปรัชญาประวัติศาสตร์ของพงศาวดารและประวัติศาสตร์สมัยใหม่ (ความรู้สึกชาตินิยม) ร่วมกัน เช่น ชีวประวัติของเจ้าพระยาส่วนใหญ่ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ใช้พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นหลักในการค้นคว้าเรียบเรียงงานเขียนของเขา[9] และใช้เอกสารจากผู้แต่งท่านอื่น ๆ หลายท่าน ผลงานที่สำคัญของณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม เช่น[2]

ประเภทชีวประวัติบุคคล[แก้]

  • สมเด็จพระนางเรือล่ม
  • บุรุษอาชาไนย และพระเกียรติประวัติ ร.๔
  • สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ อัครเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ ๕ เล่ม ๑-๒
  • สามจอมพล
  • ชีวิตและเกียรติคุณ แห่งพระอาจารย์ ลี ธมฺมธโร วัดอโศการาม สมุทรปราการ
  • พระประวัติและพระนิพนธ์ สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส
  • พระประวัติและงานสำคัญของจอมพล กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช
  • สามเจ้าพระยา
  • จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
  • ๒๙ เจ้าพระยา (ฉบับพิศดาร)
  • โอรสลับพระเจ้าตาก
  • ๒๗ เจ้าพระยา
  • เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)
  • กษัตริย์วังหน้า
  • พระประวัติและงานสำคัญของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
  • พระบรมราชินี กรุงรัตนโกสินทร์
  • สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร กรุงรัตนโกสินทร์
  • ชีวประวัติ เจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ (ฉบับย่อ)
  • ชีวิตและงานกวีนิพนธ์ของคุณพุ่ม จินตกวีสตรี
  • พระประวัติและงานของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
  • ใครเป็นใคร ในพรรคประชาธิปัตย์ (อัตชีวประวัติ)
  • ผู้สร้างวรรณกรรม
  • นายควง อภัยวงศ์ กับพรรคประชาธิปัตย์
  • ในหลวงอานันท์
  • พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ถวายชีวิตรักษาแผ่นดินอีสาน

ประเภทสารคดี ตำนาน และประวัติพระพุทธรูป[แก้]

  • พระบัวเข็มในประเทศไทย
  • พระพุทธไพรีพินาศ
  • ประวัติพระบัวเข็มองสรภาณธุรส (เป้า) พระพิมพ์ พระกริ่ง ๕ ภาค
  • ประวัติ ๓ คณาจารย์
  • ปูชนียวัตถุสถานของไทย

ประเภทฉันทลักษณ์และวรรณดคี[แก้]

  • วรรณกรรมปักษ์ใต้
  • โคลงนิราศนครสวรรค์
  • พระลอคำกลอนกับชีวิตและงานวรรณกรรม ของ นายร้อยเอก หลวงทวยหาญรักษา (เพิ่ม)

ประเภทบทความประกอบหนังสือ[แก้]

  • สารากร เล่ม 1-5
  • ชีวิตในประวัติศาสตร์
  • สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แดนดอกพยอมไพร
  • กรรมลิขิต
  • การค้าของไทย สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งกรุงศรีอยุธยา
  • เจ้าพระยาและสมเด็จเจ้าพระยาบางท่านในสกุลบุนนาค

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. ท่านเขียนประวัติชีวิตของข้าพเจ้า ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม ราชบัณฑิตในประเภทประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์นการพิมพ์, 2526. 156 หน้า.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 ณัฏฐวดี ชนะชัย. (2524). "งานเขียนทางประวัติศาสตร์ของณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม," ใน วารสารธรรมศาสตร์ 10(2): 41-57.
  3. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (2519, 24 มีนาคม). ใครเป็นใครในพรรคประชาธิปัตย์ (บทความอัตชีวประวัติ) และบทสัมภาษณ์ของณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. พิมพ์แจกเมื่ออายุครบ 53 ปีบริบูรณ์.
  4. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. "คำนำ," ใน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เล่ม 1. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คสุ์, 2551. หน้า 7. ISBN 978-974-34157-77
  5. ใหม่ รักหมู่. บันทึก ๒๕ นักการเมือง. กรุงเทพฯ : นพรัตน์, 2522.
  6. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
  7. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม พ.ศ. 2547
  8. นายควง อภัยวงศ์ กับ พรรคประชาธิปัตย์ โดย ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม พ.ศ. 2522
  9. ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. "คำนำ," ใน ๒๙ เจ้าพระยา (ฉบับพิศดาร). พระนคร : ม.ป.ท., 2509. 996 หน้า.
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๘, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[ลิงก์เสีย], เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๐๑๓, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]