ซีอุย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ซีอุย
細偉
ศพของซีอุยภายในพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน
เกิดหลีอุย แซ่อึ้ง (黃利輝)
พ.ศ. 2470
ซัวเถา สาธารณรัฐจีน
เสียชีวิต16 กันยายน พ.ศ. 2502 (32 ปี)
เรือนจำกลางบางขวาง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
สุสานพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน (จนถึงปี 2563)
สัญชาติจีน
อาชีพรับจ้าง
มีชื่อเสียงจากถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่องและกินเนื้อมนุษย์
สถานะทางคดีถูกประหารชีวิต
บุพการีอึ้งฮุนฮ้อ
อึ้งไป๋ติ้ง
พิพากษาลงโทษฐานฆาตกรรม (ปี 2501)
บทลงโทษถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิง
รายละเอียด
ผู้เสียหายสมบุญ บุญยกาญจน์, 6 ปี
วันที่27 มกราคม พ.ศ. 2501
15–16 นาฬิกา (GMT+07:00)
ประเทศประเทศไทย
รัฐจังหวัดระยอง
ตำแหน่งตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง
ตาย1
อาวุธมีด
วันที่ถูกจับ
27 มกราคม พ.ศ. 2501
จำคุกที่เรือนจำกลางบางขวาง
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ สาธารณรัฐจีน
ชั้นยศพลทหาร
การยุทธ์สงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง

ซีอุย (จีน: 細偉; พินอิน: Xì wěi; พ.ศ. 2470 – 16 กันยายน พ.ศ. 2502) เป็นชื่อของชาวจีนที่ถูกประหารชีวิตฐานฆ่าเด็ก เขาถูกจับกุมฐานฆ่าเด็กชายสมบูรณ์ บุญยกาญจน์ที่จังหวัดระยองในปี 2501 ต่อมาตำรวจสืบสวนจนได้คำรับสารภาพจากซีอุยว่าก่อคดีอีกอย่างน้อย 6 คดีในช่วงปี พ.ศ. 2497–2501 แบ่งเป็นที่ประจวบคีรีขันธ์ 4 คดี กรุงเทพมหานครและนครปฐมแห่งละ 1 คดี ศาลอุทธรณ์ตัดสินประหารชีวิตเฉพาะคดีฆ่าเด็กชายสมบูรณ์บุญยกาญจน์ อย่างไรก็ดี สื่อมวลชนในขณะนั้นเขียนว่าศพในคดีที่ซีอุยรับสารภาพมีการหั่นศพและอวัยวะภายในหายไป ทำให้มีข่าวว่าซีอุยเป็นมนุษย์กินคน ต่อมาผู้ใหญ่มักขู่เด็กว่า "ซีอุยจะมากินตับ" เพื่อให้อยู่ในโอวาท[2]

ศพของซีอุยเดิมถูกเก็บไว้ที่โรงพยาบาลศิริราช ภายในพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน ซึ่งมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า "พิพิธภัณฑ์ซีอุย"[3][2] มีการนำชีวิตของเขามาสร้างเป็นละครโทรทัศน์รวมถึงภาพยนตร์ในภายหลัง พ.ศ. 2562 มีกระแสเรียกร้องทางอินเทอร์เน็ตให้มีการนำศพซีอุยออกจากโรงพยาบาลศิริราช เพราะเห็นว่าซีอุยไม่ใช่ฆาตกรตัวจริงของเหยื่อทั้งหมด[4] รวมถึงมีการรณรงค์ทาง change.org เพื่อนำศพออกจากที่จัดแสดง[5] โรงพยาบาลศิริราชได้ประกาศตามหาญาติซีอุยเพื่อจัดการศพ[6] สุดท้ายมีการฌาปณกิจใน พ.ศ. 2563[7]

ประวัติ[แก้]

ชีวประวัติของซีอุยได้มาจากคำให้การต่อตำรวจผ่านล่ามหลังถูกจับในคดีฆ่าเด็กเมื่อปี 2501[1]

ปฐมวัย[แก้]

ซีอุย มีชื่อจริงว่า หลีอุย แซ่อึ้ง (จีน: 黃利輝; พินอิน: Huáng Lìhuī) แต่คนไทยเรียกเพี้ยนเป็น ซีอุย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2470 ตำบลฮุนไหล จังหวัดซัวเถา ประเทศจีน[8] โดยเป็นลูกคนสุดท้องจากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 4 คน ของนายฮุนฮ้อกับนางไป๋ติ้ง แซ่อึ้ง[8] ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ และมีฐานะยากจน เขาตระเวนตามที่ต่าง ๆ อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง มักถูกเด็กด้วยกันทำร้ายและเอาเปรียบจนเกิดความแค้นในใจ[8] หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ลงว่า ซีอุยวัยเด็กไปพบกับนักบวชรูปหนึ่งที่แนะนำให้เขากินหัวใจและตับมนุษย์เพื่อให้มีพละกำลัง ทำให้เขาหันมาฆ่าสัตว์เพื่อกินเนื้อดิบโดยเฉพาะเครื่องในนับแต่นั้น[8]

ซีอุยวัย 18 ปี ถูกเกณท์ทหารที่มณฑลเอ้หมึง ในสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง ระหว่างสงครามมีครั้งหนึ่งซีอุยตกอยู่ในวงล้อมญี่ปุ่นพร้อมกับทหารจีนคนอื่น เมื่อเสบียงเริ่มหมดลง ซีอุยใช้มีดกรีดศพเพื่อนทหารเพื่อควักหัวใจ ตับและไส้ออกมาต้มกิน[8] หลังสงครามยุติ บ้างว่าซีอุยกลับบ้านเกิดที่ซัวเถา แต่ด้วยมีฐานะยากจน จึงพยายามดิ้นร้นเพื่อย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทย บ้างว่าต่อมาเพื่อนทหารรุ่นเดียวกันชวนซีอุยสมัครเข้าทำงานกับบริษัทเดินเรือทะเล ทำได้อยู่ปีเศษ ก็ลอบหนีเข้าประเทศไทยตามเพื่อน[9] บ้างก็ว่าซีอุยถูกเกณฑ์ไปรบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนอีก จึงหนีทหารเข้ามาในประเทศไทย[10]

ย้ายเข้าประเทศไทย[แก้]

ก่อนจะหนีเข้ามาประเทศไทย ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2489 ทางเรือโปรดิว[8] เมื่อซีอุยขึ้นฝั่งประเทศไทย ก็ถูกกักตัวอยู่ที่กองตรวจคนเข้าเมือง 10 วัน ก่อนที่นายทินกี่ แซ่อึ้ง จะมารับรองออกไปได้[8] จากนั้นก็พักอยู่จังหวัดพระนครที่โรงแรมเทียนจิน ตรอกเทียนกัวเทียน ประมาณ 5-6 วัน ก่อนจะเดินทางไปทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตรงกับคำให้การวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2501 ยืนยันว่า "มาอยู่เมืองไทยครั้งแรกที่ตำบลทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์"[8] หลังจากนั้นซีอุยก็เดินทางไปมาทำงานรับจ้างอยู่หลายที่ ก็ย้ายที่อยู่ไปไม่มีหลักแหล่ง และยากที่จะจัดลำดับได้เนื่องจากคำให้การแต่ละครั้ง ซีอุยระบุชื่อเจ้าของบ้านที่ไปพักไม่ค่อยตรงกัน และมักจะเป็นการอยู่ชั่วคราวสั้นๆ ขึ้นอยู่กับอายุงาน[8]

ในระยะ 8 ปีแรกที่พำนักในประเทศไทย ซีอุยไม่ได้ก่อคดีร้ายแรงใด ๆ นอกจากคดีทะเลาะวิวาทบ้างเป็นบางครั้ง แต่เงื่อนงำที่สำคัญก็คือ เส้นทางและแหล่งพักพิงของซีอุย ตรงสถานที่เกิดเหตุของคดีทั้ง 7 อย่างเหลือเชื่อ คือ ประจวบคีรีขันธ์ 5 คดี กรุงเทพฯ นครปฐม และระยอง แห่งละ 1 คดี[8]

การก่อคดีฆาตกรรม[แก้]

ซีอุยถูกจับขณะกำลังพยายามเผาทำลายศพเด็กชายสมบุญ บุญยกาญจน์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2501 นาวา บิดาของเด็กชายสมบุญ เคยให้สัมภาษณ์ว่า "ตอนเห็นศพลูกชายนอนจมกองเลือดอยู่อย่างน่าอเนจอนาถ มีฟางกลบยังไม่ทั่วตัว เท่าที่รู้เขากำลังจะเผาลูกชายผม [...] ผมระงับอารมณ์ไม่อยู่ ผมเข้าไปรุมสกรัมฆาตกรโดยไม่ฟังเสียงอะไรทั้งสิ้น ถึงขนาดที่ว่ารองเท้าบูตยางเต็มไปด้วยเลือด"[8]

ซีอุยถูกจับได้พร้อมกับหลักฐานอวัยวะในถ้วยชาม แต่แพทย์ไม่ได้ยืนยันว่าเป็นของมนุษย์ หลังถูกจับได้ สื่อเผยแพร่ภาพเขาหาวอ้าปากกว้างโดยนำไปสร้างความสยดสยอง[11]

บันทึกคำให้การ[แก้]

ซีอุยถูกจับในคดีเด็กชายสมบุญ ที่ระยอง คดีดังกล่าวถูกเชื่อมโยงเข้าคดีเก่าอีก 2 คดี คือ คดีฆาตกรรมที่สถานีรถไฟสวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2489 ที่จังหวัดพระนคร และคดีฆาตกรรมที่องค์พระปฐมเจดีย์ ที่นครปฐม เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2500 โดยรูปแบบและการฆาตกรรมลักษณะเดียวกัน ตำรวจจึงมุ่งเป้าไปที่ซีอุย ซีอุยถูกนำตัวมาสอบสวนตั้งแต่คืนวันที่ 27 มกราคม 2501 มีการบันทึกคำเป็นหลักฐานลงในวันที่ 30 มกราคม เนื่องจากซีอุยพูดและอ่านเขียนไทยไม่ได้การสอบสวนแต่ละครั้งจึงมีล่ามจีนอยู่เสมอ เนื้อหาของบันทึกปากคำฉบับวันที่ 30 มกราคม มี 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ ยอมรับคดีที่ระยอง และปฏิเสธข้อกล่าวหาคดีพระนครและคดีนครปฐม ซีอุยยอมรับคดีที่ระยองว่าเป็นการกระทำผิดครั้งแรก[8] โดยกล่าวนัยว่า "ไม่เคยฆ่าคนเพื่อจะเอาตับและหัวใจมากินเลย"[12]

และคดีที่กรุงเทพ ซีอุยได้กล่าวทำนองว่า "ที่กรุงเทพฯ ข้าฯ เคยได้ยินคนพูดกันว่ามีคนฆ่าเด็กแล้วเอาสมอง เมื่อประมาณ ๑ ปีเศษๆ ขณะนั้น ข้าฯ พักอยู่จังหวัดพระนคร โดยอยู่บ้านนายบักเทียม แซ่ไล้ แต่ข้าฯ ไม่ได้ไปดู” และซีอุยยังให้การปฏิเสธในบันทึกปากคำครั้งนี้ “การฆ่าเด็กรายนี้ ข้าฯ ไม่ได้ทำร้าย ใครทำร้าย ข้าฯ ไม่ทราบ… " และ "ในการที่มีคนฆ่าเด็กแล้วผ่าท้องที่นครปฐมนั้นทราบข่าวเหมือนกัน โดยขณะนั้นอยู่ที่จังหวัดนครปฐม โดย ข้าฯ ค้างที่นครปฐม ๑ คืน [...] ได้ยินชาวบ้านพูดกัน แต่ไม่ได้ไปดูเพราะรอรถไฟด่วนจะกลับทับสะแก แต่ใครจะเป็นคนฆ่า ข้าฯ ไม่ทราบ…"[12]

รายชื่อผู้เสียหายที่รับสารภาพ[แก้]

ตำรวจได้คำรับสารภาพจากซีอุยในคดีฆ่าเด็กทั้งหมด 7 คน ดังนี้[9][12]

ที่ ผู้เสียหาย วันที่และสถานที่ ลักษณะการทำร้าย
1 เด็กหญิงบังอร ภมรสูตร 8 เมษายน 2497
อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ถูกเชือดคอ แต่รอดชีวิต
2 เด็กหญิงนิด แซ่ภู่ 10 พฤษภาคม 2497
อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ศพถูกชำแหละ อวัยวะภายในหายไป
3 เด็กหญิงลิ้มเฮียง แซ่เล้า 20 มิถุนายน 2497
อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ถูกเชือดคอ และถูกข่มขืนกระทำชำเรา
4 เด็กหญิงกำหงัน แซ่ลี้ 27 ตุลาคม 2497
อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ถูกเชือดคอ
5 เด็กหญิงลี่จู แซ่ตั้ง 28 พฤศจิกายน 2497
อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร
ศพถูกชำแหละ
6 เด็กหญิงซิ่วจู แซ่ตั้ง 5 กุมภาพันธ์ 2500
อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ศพถูกชำแหละ อวัยวะภายในหายไป
7 เด็กชายสมบุญ บุญยกาญจน์ 27 มกราคม 2501
อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
ศพถูกชำแหละ ตับและหัวใจหายไป และพยายามอำพรางศพด้วยการเผา (ศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิต)

อย่างไรก็ดี ศาลอุทธรณ์พิพากษาประหารชีวิตเฉพาะคดีฆ่าเด็กชายสมบุญ บุญยกาญจน์ ซึ่งซีอุยถูกจับได้ในที่เกิดเหตุเท่านั้น

การพิจารณาและคำพิพากษา[แก้]

เริ่มการพิจารณาคดีซีอุยเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2501 เขารับสารภาพทุกข้อกล่าวหา มีน้องของผู้เสียหายที่มีอายุ 6 ขวบให้การว่าเห็นเขาพาน้องสาวจากงานตรุษจีนในไชนาทาวน์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2497 ซึ่งเป็นคืนก่อนพบศพเธอ[1] การพิจารณาคดีเขากินเวลา 9 วัน ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตเพราะจำเลยยอมรับสารภาพ แต่ตำรวจอุทธรณ์เพราะเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอ[1] เขาจึงถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ประหารชีวิต ซีอุยถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2502 เวลา 6.13 น.[10] โดยเพชฌฆาตเพี้ยน คนแรงดี[13][14] และหลังจากถูกประหารชีวิต ศพของซีอุยถูกนำมาดองเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ภายในโรงพยาบาลศิริราชนับแต่นั้น

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

ร่างศพ[แก้]

ศาสตราจารย์นายแพทย์สงกรานต์ นิยมเสน หัวหน้าภาควิชานิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช ขอรับศพซีอุยมาผ่าตรวจสมอง ส่วนร่างถูกเก็บรักษาในลักษณะดองแห้งโดยการฉีดฟอร์มาลินเข้าหลอดเลือด แช่น้ำยารักษาทั้งร่างไว้ 1 ปี และทำการทาขี้ผึ้งทุก ๆ 2 ปี เพื่อป้องกันเชื้อรา ร่างของซีอุยยังถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ("พิพิธภัณฑ์ซีอุย") หลังจากนั้นคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับมอบร่างนายซีอุยมาจัดแสดง โดยเขียนข้อความว่า "นายซีอุย แซ่อึ้ง (มนุษย์กินคน)"[10] ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์สรรใจ แสงวิเชียร อดีตหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2552 ว่า "ถ้าอาจารย์หมอสงกรานต์ไม่ขอมาไว้ที่นี่ ก็จะไม่มีใครทำบุญให้เขาเลย มาอยู่ที่นี่มีการทำบุญให้อาจารย์ใหญ่ทุกปี อวัยวะ ร่าง โครงกระดูกทุกชิ้นถือเป็นอาจารย์ใหญ่"[10]

วันที่ 31 พฤษภาคม 2562 มีข่าวว่าโรงพยาบาลศิริราชปลดป้าย "มนุษย์กินคน" ออกไปแล้ว พร้อมทั้งเตรียมจัดทำบอร์ดให้ความรู้แก่สาธารณะเกี่ยวกับคดี[15] ด้านฟาโรห์ จักรภัทรานน เจ้าของเว็บไซต์ Change.org ที่รณรงค์เรื่องซีอุย ให้สัมภาษณ์ว่า อยากให้ฌาปณกิจร่าง แล้วอาจจะนำหุ่นขี้ผึ้งมาจัดแสดงแทน และมีความเห็นว่า "ไม่ได้ตัดสินว่าซีอุยไม่ได้เป็นมนุษย์กินคน แต่อยากให้ประชาชนที่มาอ่านข้อมูลได้ตัดสินเองว่าซีอุยเป็นมนุษย์กินคนหรือไม่"[16]

วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ทำพิธีฌาปนกิจร่างนายซีอุย แซ่อึ้ง ที่วัดบางแพรกใต้ จังหวัดนนทบุรี[17][18]

วัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

  • กันตนานำมาสร้างละครโทรทัศน์ชื่อ ซีอุย ละครโทรทัศน์ออกอากาศในปี พ.ศ. 2527 ทางช่อง 5 โดยเทอดพร มโนไพบูลย์เป็นผู้รับบท เป็นการรื้อฟื้นความทรงจำของสังคม และเทอดพรถูกมองว่าเป็นตัวแทนของซีอุยในฐานะฆาตกรโรคจิต[10]
  • แมทชิงโมชันพิกเจอส์นำมาสร้างภาพยนตร์เรื่อง ซีอุย ในปี 2547 ซึ่งได้ฉายในต่างประเทศด้วย มีโฆษณาในโปสเตอร์ว่า "ผีหรือคน" เป็นการเน้นย้ำการกินมนุษย์ของซีอุย[10]

รวมถึงในวงการมวยไทย มีนักมวยไทยใช้ชื่อ ซีอุย ส.สุนันท์ชัย ในการขึ้นชก[19]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 HE ATE CHILDREN: THE SERIAL KILLER WHO STILL TERRORIZES THAILAND TODAY Teeranai Charuvastra, News Chief - October 30, 2016
  2. 2.0 2.1 "สุดระทึก!!! เจอ "ซีอุย" คนกินตับ ตัวจริง ของจริง". ผู้จัดการออนไลน์. May 29, 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-18. สืบค้นเมื่อ July 10, 2016.
  3. "สารคดีประวัติของ ซีอุย (In Thai)". ยูทูบ. October 27, 2012. สืบค้นเมื่อ July 10, 2016.
  4. ชาวเน็ตถก ‘ซีอุย’ อาจเป็น “แพะรับบาป” มนุษย์กินคน ล่ารายชื่อจัดการศพ-ลบตราบาป มติชนออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562
  5. "ล่ารายชื่อนำร่าง "ซีอุย" ออกจากพิพิธภัณฑ์ศิริราช คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ล้างฉายามนุษย์กินคน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-05-14. สืบค้นเมื่อ 2019-05-14.
  6. อนุชิต ไกรวิจิตร (2 กรกฎาคม 2562). "โรงพยาบาลศิริราชเตรียมประกาศตามหาญาติ 'ซีอุย' เพื่อแนวทางจัดการร่างต่อไป". The Standard. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  7. "ปิดตำนาน 61 ปี ตีตรา " ซีอุย มนุษย์กินคน"". ThaiPBS. 23 กรกฎาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 ย้อนชีวิต "ซีอุย" ถูกรังแก กินตับเพื่อน เจอรุมสกรัม ฆาตกรรมโหด ฉบับตำนานไทย ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2562
  9. 9.0 9.1 “ซีอุย” ฆาตกรวิปริต หรือ “แพะ”? เก็บถาวร 2019-05-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Springnews สืบค้นเมื่อ 14 พฤษภาคม 2019
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 ซีอุย : ความพยายามทวงคืนศักดิ์ศรีผู้ถูกศาลตัดสินและสังคมตราหน้าเป็น “มนุษย์กินคน” บีบีซีไทย สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2019
  11. นักประวัติศาสตร์โต้กระแส คืนศักดิ์ศรีให้ซีอุย “ฆาตกรคงเป็นแน่ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด” ผู้จัดการออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2562
  12. 12.0 12.1 12.2 "ซีอุย” มนุษย์กินคน หรือเหยื่อสังคม? ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2546
  13. เผาแล้วซีอุย ปิดตํานาน 60 ปี คดีกินคน "ทับสะแก" ขอทําบุญอุทิศทุกปี (คลิป)
  14. "รายชื่อเพชฌฆาตเรือนจำกลางบางขวาง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-04-05. สืบค้นเมื่อ 2022-08-06.
  15. รพ.ศิริราชปลดป้าย 'ซีอุย มนุษย์กินคน' คมชัดลึก สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2562
  16. ปลดแล้ว ป้าย“มนุษย์กินคน” ฟาโรห์ ขอให้เผาร่าง "ซีอุย" ด้วย ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2562
  17. ปิดตำนานมนุษย์กินคน ราชทัณฑ์ทำพิธีเผาศพ ซีอุย แซ่อึ้ง workpointTODAY สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2563
  18. ปิดตำนาน 60 ปี มนุษย์กินคน ข่าวสยองขวัญ ซีอุย ไทยรัฐ สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2562
  19. "ซีอุยหลั่งเลือดเชือดขวัญเมืองเดือดมวย 7 สี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-29. สืบค้นเมื่อ 2011-01-21.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]