ซากากิ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ซะกะกิ)
กิ่งซะคะกิ
ดอกซะคะกิ
ศาลเจ้าโนะโนะมิยะ ใน ซะงะโนะ เกียวโต


ซากากิ (ญี่ปุ่น: โรมาจิSakaki) เป็นบทที่ 10 ของตำนานเก็นจิ ผลงานของ มุระซะกิ ชิคิบุ จากทั้งหมด 54 บท


ที่มาของชื่อบท ซะคะกิ[แก้]

ซะคะกิ (sakaki) มีชื่อทางพันธุศาสตร์ว่า Cleyera japonica เป็นไม้ ใบกว้าง สีเขียวเป็นมัน เขียวตลอดปี ขยายพันธุ์ในที่ๆมีอากาศอบอุ่น พบที่ญี่ปุ่น เกาหลี และจีนแผ่นดินใหญ่ มีดอกสีขาวนวล กลิ่นหอม เจริญเติบโตเป็นผลสีแดงและจะเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแก่จัด ต้นมีทั้งสูงได้ถึง 10 เมตร และเป็นพุ่ม ญี่ปุ่นถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ใช้กิ่งและใบใช้ประกอบพิธีทางศาสนา และใช้เป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าในลัทธิชินโต

ในตำนานเก็นจิ บท ซะคะกิ ฉากที่น่าจดจำเกี่ยวกับกิ่งซะคะกิคือ ตอนที่เก็นจิเดินทางไปหาอดีตพระชายาโระคุโจ ซึ่งติดตามบุตรี อะกิโคะโนะมุ ผู้ได้รับเลือกให้เป็น ไซกู และไปพำนักที่ศาลเจ้าโนะโนะมิยะ กลางทุ่งซะงะโนะ ชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี ก่อนเดินทางไปศาลเจ้าใหญ่ที่เมืองอิเสะ เมื่อเก็นจิได้พบอดีตพระชายาแห่งโระคุโจผ่านมู่ลี่ไม้ไผ่ เขายื่นกิ่งซะคะกิ ลอดใต้มู่ลี่ส่งให้นางพลางกล่าวว่า


「 変らぬ色をしるべにてこそ、 斎垣も越えはべりにけれ。さも心憂く」


ด้วยใจที่ยังไม่เปลี่ยนแปร เหมือนซะคะกิ ที่ไม่เคยเปลี่ยนสี นำเราข้ามผ่านเขตรั้วอันศักดิ์สิทธิ์มาหา แต่ท่านช่างใจร้ายไม่ยอมพบหน้าเรา


นางตัดพ้อเขาเป็นร้อยกรอง ว่า


「神垣は しるしの杉もなきものを   いかにまがへて折れる榊ぞ」[1]


"Kami-gaki ha shirushi no sugi mo naki mono wo  ika ni magahe te wore ru sakaki zo"


เขตแดนศักดิ์สิทธ์แห่งนี้ หาได้มีสตรีที่ท่านมอบใจ ไฉนส่งกิ่งซะคะกิให้ อนงค์นางไร้เยื่อใยไม่ปรารถนารับมาชม


และกิ่งซะคะกินี้เอง กลายเป็นที่มาของชื่อบท ซะคะกิ

ศาลเจ้าโนะโนะมิยะ[แก้]

ศาลเจ้าโนะโนะมิยะ หรือ โนะโนะมิยะจินจะ ( 野宮神社 Nonomiyajinja ) ตั้งอยู่ในซะงะโนะ ซึ่งอยู่ในเขตอุเคียวคุหรือด้านตะวันตกของเกียวโต ( 京都市右京区) เป็นศาลเจ้าลัทธิชินโต บูชา เทวี อะมะเทะระสุโอมิคะมิ (天照皇大神) เทวีแห่งดวงอาทิตย์ เป็นศาลเจ้าที่ ไซกู ต้องมาพำนักเตรียมตัว ก่อนจะเดินทางไปรับหน้าที่หญิงพรมจาริณีศักดิ์สิทธิ์ที่ศาลเจ้าใหญ่แห่งเมืองอิเสะ เมื่อมีการผลัดเปลี่ยนจักรพรรดิทุกครั้ง ต้องเปลี่ยนคนที่จะมาดำรงตำแหน่ง ไซกู ด้วยทุกครั้งเช่นกัน ไซกู นั้น จะได้รับการเลือกสรรจากพระราชธิดา หรือ องค์หญิง ที่ยังไม่ได้อภิเษก และเมื่อได้รับเลือก ก่อนที่จะเดินทางไปอิเสะ ต้องพำนักที่ศาลเจ้าโนะโนะมิยะเป็นเวลา 1 ปี เพื่อทำพิธีชำระปัดเป่าให้บริสุทธิ์ จากนั้นจึงเดินทางต่อไปรับหน้าที่ ณ ศาลเจ้าใหญ่เมืองอิเสะ และจะกลับเมืองหลวงไม่ได้ จนกว่าจะมีการผลัดแผ่นดินใหม่[2]

ศาลเจ้าโนะโนะมิยะ ในสมัยโบราณ จะไม่ตั้งเป็นศาลถาวร แต่จะสร้างใหม่ทุกๆครั้งที่จะมี ไซกู คนใหม่มาพำนัก ปัจจุบันได้รับการสร้างเป็นศาลเจ้าถาวรแล้ว สิ่งที่โดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ของศาลนี้คือ โทริอิไม้สีดำทั้งเปลือก ไม่ตบแต่ง ขัดเกลา ทาสี หรือเคลือบเงา อีกทั้งในปัจจุบันยังมีการจำลองขบวนแห่ไซกู ในเดือนตุลาคมของทุกๆปีอีกด้วย[3]

ซะคะกิ ฉบับ ละครโนห์[แก้]

ตำนานเก็นจิ บท ซะคะกิ นี้ ได้รับการดัดแปลงเป็นละครโนห์ ( Noh ) โดยใช้ชื่อว่า โนะโนะมิยะ ( Nonomiya ) หรือ ศาลเจ้าแห่งทุ่งซะงะโนะ (The Shrine in the Fields ) ที่แต่งขึ้นโดย เซะอะมิ ( Zeami ) นักแสดงและผู้ประพันธ์บทละครโนห์ ผู้มีชีวิตในช่วงปี ค.ศ. 1363 - 1443[4] ปัจจุบันแสดงอย่างแพร่หลายโดยสำนักโนห์ทุกคณะ

ตัวละครหลักในบท[แก้]

  • เก็นจิ  : ยศ อุไดโช อายุ 23 ถึง 25
  • อดีตพระชายาแห่งโระคุโจ ( โระคุโจโนะมิยะสุโดะโคะโระ )  : อายุ 30 ถึง 32
  • อะกิโคะโนะมุ  : ตำแหน่ง ไซกู ( องค์หญิงผู้ดำรงค์ตำแหน่งหญิงพรมจาริณีศักดิ์สิทธิ์แห่งศาลเจ้าใหญ่เมืองอิเสะ ) บุตรีของอดีตพระชายาโระคุโจ อายุ 14 ถึง16
  • คิริสึโบะอิน  : จักรพรรดิผู้สละราชย์ พระราชบิดาของเก็น สวรรคตเมื่อเก็นจิอายุได้ 23 ปี
  • ฟุจิตสึโบะ  : อดีตจักรพรรดินี อายุ 28 ถึง 30
  • องค์รัชทายาท  : โอรสของฟุจิตสึโบะ ( บุตรชายลับๆของเก็นจิ ) อายุ 5 ถึง 7 ปี
  • จักรพรรดิสุซะคุ  : จักรพรรดิรัชกาลปัจจุบัน พระโอรสของคิริสึโบะอิน และยังเป็นพี่ชายต่างมารดาของเก็นจิ
  • พระราชชนนี  : พระชายาโคกิเด็ง บุตรีของอุไดจิน
  • อุไดจิน  : เสนาบดีฝ่ายขวา ตาของจักรพรรดิสุซะคุ บิดาของพระราชชนนีโคกิเด็ง และ โอะโบะโระซึกิโยะ
  • เฮียวบุเคียวโนะมิยะ  : องค์ชายเจ้ากรมกลาโหม บิดาของมุระซะกิ อายุ 38 ถึง 40
  • โอเมียวบุ  : นางกำนัลของฟุจิทสึโบะ
  • โอะโบะโระซึกิโยะ  : ธิดาคนที่ 6 ของอุไดจิน นางในราชสำนักตำแหน่งไนชิโนะคะมิ (นางสนองพระโอษฐ ) อีกนัยหนึ่งคือพระสนมของ จักรพรรดิสุซะคุ
  • สะไดจิน  : เสนาบดีฝ่ายซ้าย ลาออกจากตำแหน่งเมื่ออายุ 59 ขณะที่เก็นจิอายุ 25
  • มุระซะกิ  : ภรรยาของเก็นจิ พำนักที่ปีกซ้ายของคฤหาสน์บนถนนนิโจ อายุ 15 ถึง 17
  • โชนะกอน  : พี่เลี้ยงของมุระซะกิ
  • อะสะงะโอะ  : ธิดาของโมะโมะโซโนะชิคิบุเคียวโนะมิยะ ( องค์ชายแห่งตำหนักโมะโมะโซะโนะ เจ้ากรมราชพิธี ) ได้รับตำแหน่ง ไซอิน ( หญิงสูงศักดิ์ผู้ดำรงค์ตำแหน่งหญิงพรมจาริณีศักดิ์สิทธิ์แห่งศาลเจ้าคะโมะ ) แทนพระธิดาของคิริสึโบะอิน ที่ต้องออกจากตำแหน่งเพราะพระราชบิดาสวรรคต
  • จูโจ  : นางกำนัลรับใช้ท่านหญิงอะสะงะโอะ
  • จูนะกอน  : นางกำนัลรับใช้ท่านหญิงโอะโบะโระซึกิโยะ
  • ฟุจิวะระ โนะ โชโช  : น้องชายของพระชายาตำหนักโชเคียว ( โชเคียวเด็ง )
  • เบ็น  : นางกำนัลรับใช้ ฟุจิตสึโบะ
  • โทโนะจูโจ  : สหายสนิทและพี่ชายภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้วของเก็นจิ
  • โคไบ  : บุตรชายคนรองของโทโนะจูโจ อายุ 8 หรือ 9 ปี ขณะที่เก็นจิอายุ 25

เรื่องย่อ[แก้]

ตั้งแต่อะโอะอิตายไป เก็นจิไม่ไปพบอดีตพระชายาแห่งโระคุโจอีกเลย นางจึงตัดสินใจจะตามบุตรีไปอิเสะ ต้นเดือนกันยายน วันเดินทางออกจากเมืองหลวงของนางใกล้เข้ามา เก็นจิจึงไปหานางที่ศาลเจ้าชั่วคราวในซะงะโนะ ดอกไม้ในฤดูใบไม้ร่วงต่างโรยราสิ้น เสียงแมลงหรีดหริ่งระงม สายลมพัดผ่านทิวสนแสนเปล่าเปลี่ยว รั้วที่ลอมตัวศาลเจ้านั้นข่มให้ โทริอิไม้สีดำ ดูเด่นเป็นสง่า เก็นจิพยายามขอพบอดีตพระชายาแต่นางปฏิเสธ เข้าเกลี้ยกล่อมจนสามารถเข้าพบนางผ่านม่านมู่ลี่ไม้ไผ่บัง แล้วยื่นกิ่งซะคะกิลอดใต้ม่านส่งให้นาง พลางกล่าวว่า

ด้วยใจที่ยังไม่เปลี่ยนแปร เหมือนซะคะกิ ที่ไม่เคยเปลี่ยนสี นำเราข้ามผ่านเขตรั้วอันศักดิ์สิทธิ์มาหา แต่ท่านช่างใจร้ายไม่ยอมพบหน้าเรา

หลังจากนั้นทั้งสองพูดคุยปรับความเข้าใจกันตลอดทั้งคืน ความขมขื่นของอดีตพระชายาค่อยเบาบางจางลง

กลางเดือนกันยายน อดีตพระชายาแห่งโระคุโจติดตามบุตรีเดินทางสู่อิเสะ ชีวิตของอดีตพระชายานั้น เมื่อยามรุ่นสาว นางได้รับการคาดหมายว่า จะขึ้นเป็นจักรพรรดินี เพราะนางเป็นชายาเอกของเองค์รัชทายาทเมื่ออายุ 16 ทว่าเมื่ออายุ 20 ปี องค์รัชทายาทก็มาด่วนสิ้น และขณะนี้ ยามอายุได้ 30 จำต้องจากเมืองหลวงไปสู่ดินแดนอิเสะที่ห่างไกล ทุกนาทีช่างเปี่ยมไปด้วยความทรงจำ


เมื่อขบวนของนางเดินทางผ่านหน้าคฤหาสน์ของเก็นจิ เขาส่งโคลงกลอนเหน็บมากับกิ่งซะคะกิ แล้วเก็บตัวอยู่ลำพัง จมอยู่ในห้วงคำนึงอันแสนเศร้า

คิริสึโบะอินประชวรหนัก หลังจากฝากคำสั่งเสียกับพระโอรสน้อยแล้ว พระองค์ทรงเรียกเก็นจิเข้าเฝ้า ฝากให้เก็นจิดูแลปกป้องพระโอรสน้อยให้ดี พระองค์มอบวังที่ประทับให้เป็นสมบัติขององค์รัชทายาทน้อย จากนั้นพระองค์ก็สูสวรรคาลัยอย่างสงบในต้นเดือนพฤศจิกายน ยังความโศกเศร้าเสียใจใหญ่หลวงแก่ฟุจิตสึโบะและเก็นจิเหนือกว่าผู้ใด พระชายาทั้งหลายต่างมารวมกันที่ตำหนักที่ประทับ ประกอบพิธีทำบุญ 49 วัน

หลังการสิ้นพระชนม์ ฟุจิตสึโบะออกจากวังกลับไปอยู่ตำหนักเดิมของนางแถบซันโจ นางทำบุญ และฝักใฝ่ในศาสนาเพื่อหวังจะหลีกเลี่ยงจากความเสน่หาของเก็นจิ และระมัดระวังตัวที่จะไม่พบกับเขา แต่ทว่าเก็นจิก็หาหนทางพบนางตามลำพังจนได้ นางสงบไปด้วยความเจ็บปวด เก็นจิอยูที่นั่นจนรุ่งสาง โดยโอเมียวบุ และ เบ็น ซ่อนเขาไว้ในตู้เก็บเสื้อผ้า แลทั้งสองก็เฝ้าดูแลฟุจิตสึโบะ เฮียวบุเคียวโนะมิยะ พี่ชายของนางมาเยี่ยมอาการป่วยและส่งคนไปเรียกพระมาปัดรังควานเป็นการด่วน

เก็นจิทุกข์ใจจากการหลบหน้าของฟุจิตสึโบะ เขาไปวัดอุรินอิน ที่พี่ชายของมารดาบวชอยู่ หลเก็บตัวอยู่ในกุฏิของพระ 2-3วัน สนทนาธรรมกับพระหลายรูป สีสันของใบไม้ร่วงงดงามยิ่ง เขาตั้งใจศึกษาพระธรรม เมื่อเขากลับเข้าเมืองหลวง ผู้คนต่างๆ แม้สามัญชนต่างคอยเพื่อมาชมบารมี


ฟุจิตสึโบะทำบุญใหญ่ครบรอบวันสวรรคตของคิริสึโบะอินในเดือนพฤศจิกายน ทำพิธีสวดพำเบ็ญกุศลใหญ่ วันแรกอุทิศให้พระราชบิดา วันที่สองอุทิศให้พระราชมารดา วันที่สามอุทิศให้พระสวามีผู้ล่วงลับ ดฮียวบุเคียวโนะมิยะ และ เก็นจิถวายเครื่องบูขาสงฆ์ วันสุดท้าย ฟุจิตสึโบะประกาศว่า นางจะออกบวชเป็นชี อย่างกะทันหัน ท่ามกลางความตกตะลึงและเสียใจของทุกคน

อิทธพลของพระชนนีโคกิเด็งยิ่งกล้าแข็งขึ้นทุกวัน สะไดจินประท้วงด้วยการลาออกจากตำแหน่ง สถานภาพทั้งเก็นจิและโทโนะจูโจเริ่มสั่นคลอน พวกเขาจึงไม่ใคร่จะเข้าวัง ต่างพากันบรรเลงสังคีต แต่งโคลงกลอน วันหนึ่งในคิมหันตฤดูที่ฝนพร่างลงบางเบา โทโนะจูโจนำกรุกวีจีนออกมาให้เก็นจิอ่าน ทั้งคู่เชิญนักปราชญ์ราชบัณฑิตมาเล่นทายบทกวีกัน


โอะโบะโระซึกิโยะ ออกจากวังไปพักที่บ้านบิดานางเป็นครั้งคราว เก็นจิมักจะลอบพบและมีความสัมพันธ์กับนางอยู่เนืองๆ ในคืนพายุฝนฟ้าคะนอง ฟ้าผ่าอย่างน่ากลัว อุไดจิน ไปหาโอะโบะโระซึกิโยะที่ห้องอย่างกะทันหันด้วยความเป็นห่วงบุตรี โอะโบะโระซึกิโยะรีบร้อนออกจากม่านกั้นมาพบบิดาด้วยความตื่นตระหนกสีหน้าแดงซ่าน อุไดจินฉงนใจเมื่อเห็นผ้าผูกเอวของผู้ชาย (เก็นจิ) พันอยู่กับชายผ้าของนาง จากนั้นเขาค้นจนเจอสาส์นรักที่เก็นจิเขียน อุไดจินโมโหมาก จึงไปร้องเรียนต่อบุตรีของเขา พระราชชนนีโคกิเด็ง จนเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่ว[5]

ศึกษาเพิ่มเติม[แก้]

อ้างอิง[แก้]