ชาในสหราชอาณาจักร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชากับนม

ประเพณีการดื่มชาของสหราชอาณาจักร ชาวสหราชอาณาจักรเป็นชาติที่ดื่มชาเป็นลำดับสองของโลกเมื่อเปรียบกับอัตราต่อคน ชาวสหราชอาณาจักรแต่ละคนดื่มชาคนละประมาณ 2.1 กิโลกรัมต่อปี[1] ความนิยมในการดื่มชามีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่ออินเดียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ และสหราชอาณาจักรมีความต้องการที่จะควบคุมการผลิตชาในอนุทวีปอินเดีย แต่ผู้ที่นำประเพณีการดื่มชาเข้ามาในสหราชอาณาจักรเป็นคนแรกก็คือแคทเธอรีนแห่งบราแกนซา สมเด็จพระราชินีในสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ในราวระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1660 ถึง 1670 แต่ในระยะแรกก็เป็นประเพณีสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้นที่ไม่ได้แพร่หลายในบรรดาประชากรทั่วไปเพราะยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จนต่อมาเมื่อราคาชาถูกลง เมื่อประเพณีนี้เผยแพร่ทั่วไปในสหราชอาณาจักรก็เริ่มมีการจัดสวนชา (Tea garden) ที่เป็นสถานที่ดื่มชาและเดินเล่น หรือการจัดการเต้นรำชา (Tea dance) ที่อาจจะเป็นการเต้นรำตอนบ่ายหรือพลบค่ำ ที่อาจจะรวมทั้งการดูดอกไม้ไฟ หรือมีการเลี้ยงอาหารค่ำด้วย และจบลงด้วยการดื่มชา สวนชาเสื่อมความนิยมลงหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง แต่การเต้นรำก็ยังพบว่ามีการจัดกันอยู่บ้าง

การดื่มชาของสหราชอาณาจักร[แก้]

การดื่มชาในสหราชอาณาจักรมักจะเป็นชาแดงที่เสิร์ฟกับนมและบางครั้งก็น้ำตาล ชาแก่ที่เสิร์ฟกับนมและน้ำตาลจำนวนมากในถ้วยใหญ่เหมือนกระบอกที่เรียกว่า “mug” มักจะเรียกกันว่า “ชาคนงาน” (Builders tea) โดยทั่วไปแล้วการดื่มชาในสหราชอาณาจักรจะไม่ใช่วัฒนธรรมชั้นสูงที่ละเอียดอ่อนอย่างที่เข้าใจกันทั่วโลก แต่เป็นเพียงกิจวัตรประจำวันเช่นเดียวกับการดื่มกาแฟของชาติอื่น ตามปกติแล้วชาวสหราชอาณาจักรจะดื่มชากันวันละห้าถึงหกถ้วย แต่มิได้หมายความว่าจะไม่มีประเพณีการดื่มชากันอย่างเป็นทางการหรือในโอกาสพิเศษ สำหรับชนชั้นที่มีอาชีพโดยทั่วไปการพักดื่มชาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน นายจ้างมักจะอนุญาตให้มีการพักดื่มชาสายครั้งหนึ่งและบ่ายอีกครั้งหนึ่ง

การดื่มชาเป็นมื้ออาหาร[แก้]

ชุด “Cream tea”
จากซ้ายไปขวา:แยม สโคน ครีมข้น กาชา นมในเหยือกเล็ก ที่กรองชา (หลังเหยือกนม) และถ้วยชา ถ้าเสิร์ฟพร้อมกับกาอีกกาหนึ่งมักจะเป็นกาที่ใหญ่กว่ากาชา ซึ่งเป็นกาน้ำร้อนสำรองเพื่อใช้เติมในกาชา

ชาไม่เพียงเป็นแค่เครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอาหารว่างมื้อบ่าย (Tea (meal)) ไม่ว่าเครื่องดื่มจะเป็นชาหรือไม่ แอนนา รัสเซลล์ ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ดได้ชื่อว่าเป็นผู้ริเริ่มอาหารว่างมื้อบ่าย ราว ค.ศ. 1800 เพื่อแก้หิวระหว่างคอยอาหารค่ำ ซึ่งยังประเพณีที่ปฏิบัติกันอยู่บ้างในปัจจุบัน

ประเพณีอีกอย่างหนึ่งทีเคยเป็นที่นิยมคือร้านน้ำชา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เสิร์ฟชาและสโคนกับครีมข้นและแยมผลไม้ การดื่มชากับสโคนกับครีมและแยมเรียกรวมกันว่า “Cream tea” แต่ประเพณีหมดความนิยมลงตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การดื่มครีมทีจึงทำกันแต่ในบางโอกาส เดวอนและคอร์นวอลล์มีชื่อเสียงในเรื่องครีม การเรียก “Cream tea” มักจะทำให้เข้าใจผิดกันว่าเป็นการดื่มชากับครีมซึ่งไม่เป็นความจริง

บัตรชา[แก้]

ระหว่างคริสต์ศตวรรษ 1940 จนถึงคริสต์ศตวรรษ 1980 ใบชาที่ขายเป็นกล่องในสหราชอาณาจักรจะมีบัตรรูปอยู่ภายในกล่องโดยมีขนาดเดียวกับบัตรบุหรี่ให้เป็นสิ่งสะสมสำหรับเด็ก บริษัทที่ขายชาใส่บัตรที่รู้จักกันดีก็มีชาไทฟู (Typhoo tea) และ บรุคบอนด์ผู้ผลิต ชาพีจีทิพส์ (PG Tips) ที่ต่อมาแจกอัลบั้มให้ใส่บัตรด้วย รูปที่เป็นบัตรก็เขียนโดยศิลปินที่บริษัทจ้างมาเช่น ชาร์ลส์ ทันนิคลิฟฟ์ ปัจจุบันบัตรบางบัตรกลายเป็นของมีค่า

ปัจจุบัน[แก้]

การสำรวจของบริษัทอินฟอร์มา (Informa) ระบุว่าจำนวนการดื่มชาตามปกติในสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มในทางที่ลดลง[1] แต่การขายกาแฟในช่วงเดียวกันก็มิได้เพิ่มขึ้น[1] ชาวสหราชอาณาจักรหันไปดื่มสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าเช่นน้ำผลไม้ หรือชาที่ทำจากดอกไม้หรือผลไม้แทนที่ จากสถิติแสดงให้เห็นการดื่มเครื่องดื่มที่ว่าสูงขึ้นถึงอัตราร้อยละ 50 ระหว่างปี ค.ศ. 1997 จนถึงปี ค.ศ. 2002[1] นอกจากนั้นสิ่งที่น่าสนใจคือสถิติของการขายชาและกาแฟที่ปราศจากคาเฟอีนในช่วงเดียวกันก็ลดลงมากกว่าชาหรือกาแฟปกติ[1]

การทำน้ำชาโดยทั่วไป[แก้]

ในปัจจุบันการดื่มชามักจะเป็นเพียงการเอาถุงชาใส่ "Mug" และราดด้วยน้ำเดือด หรือถ้าซื้อชาหนึ่งแก้วในร้านอาหารประเภทเซิร์ฟตัวเองผู้ซื้อก็จะได้ถ้วยชาเปล่ากับถุงชาหนึ่งถุงซึ่งไปเติมน้ำร้อนจากหม้อ และเติมนมและน้ำตาลเอาตามใจชอบ แต่ถ้าเป็นโอกาสการดื่มชาที่เป็นทางการจะมีการใช้ถ้วยชาและจานรองแทนที่จะเป็น “Mug” อย่างที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันหรือถ้าใช้ “Mug” ก็อาจจเป็นขนาดที่ย่อม การทำชาโดยทั่วไปจะประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้:

  1. ต้มน้ำให้เดือดและเทลงในกาชาเล็กน้อย
  2. หมุนกาชาให้น้ำร้อนกลั้วกาชาให้ทั่วเพื่ออุ่นกา แล้วเทน้ำทิ้ง
  3. ใส่ใบชาลงไปในกาชา กาชาขนาดกลางมักจะใช้ถุงชาราวสองถุงหรือสามถ้าชอบรสแก่ ขณะเดียวกันก็ต้มน้ำร้อนต่อให้เดือด
  4. เติมน้ำร้อนลงในกาชา และคลุมกาชาด้วยถุงที่บุด้วยฉนวนที่เรียกว่า “tea cosy” เพื่อรักษาความร้อนของกาชา ทิ้งชาไว้ในกาสักครู่เพื่อให้ชาออกรสและได้ที่
  5. เทนมในถ้วยชาที่จะเสิร์ฟหรืออาจจะรอให้ผู้ดื่มเติมเอง ถ้าเจ้าของบ้านเป็นผู้เติมให้ก็จะถามก่อนว่าจะดื่มชาอย่างไร ผู้ถูกถามก็อาจจะตอบว่า “กับนมและน้ำตาล” หรือ “กับนม” หรือ “ไม่ใส่อะไร”
  6. เทชาลงถ้วย ถ้าเป็นใบชาอาจจะเทผ่านที่กรองเล็กๆ
  7. ถ้าเสิร์ฟเป็นชาแดง ผู้ดื่มมักจะเติมนมและน้ำตาลเองตามใจชอบ
  8. เติมใบชาในกาและน้ำร้อนเพิ่มสำหรับเสิร์ฟถ้วยต่อไป

การเติมนมก่อนหรือหลังเทชาเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันมานาน โดยมีที่มาว่าเวลาที่เติมมีผลทำให้ชาเปลี่ยนรสหรือไม่

ข้อที่น่าสังเกตคือชาจะต้มทิ้งไว้เหมือนกาแฟไม่ได้ ฉะนั้นตามร้านอาหารจึงไม่มีหม้อชาตั้งไว้ให้เทเหมือนหม้อกาแฟแต่จะมีหม้อน้ำร้อนให้เทในถ้วยชาแทนเพราะเมื่อชาออกรสแล้วก็ต้องดื่มทันที ถ้าใส่น้ำร้อนทิ้งไว้นานจะออกเปรี้ยวทำให้เสียรส

การดื่มชากับนมและน้ำตาลชาวอเมริกันถือว่าเป็นของแปลกเพราะการดื่มชาในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่โดยทั่วไปจะเป็นการดื่มชาแดง

บทบาทของชา[แก้]

นักวิชาการบางท่านเสนอว่าชามีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร การดื่มชาตอนบ่ายเป็นการทำให้เพิ่มชั่วโมงการทำงานในโรงงานได้มากขึ้น ชาเป็นสิ่งที่ช่วนกระตุ้นประสาทและเมื่อดื่มกับของวหวานก็ยิ่งช่วยให้คนงานมีพลังเพิ่มขึ้นในการทำงาน นอกจากนั้นยังกล่าวกันว่าการดื่มชาเป็นการช่วยรักษาสุขภาพอนามัยได้เพราะผู้ดื่มชาต้องต้มน้ำก่อนดื่มทำให้ผู้ดื่มได้รับเชื้อโรคจากน้ำได้น้อยลง[2]

สำนวน[แก้]

“ไม่ยอมแม้ว่าจะให้ชาทั้งเมืองจีน” (Not for all the tea in China) สำนวนนี้เริ่มใช้กันมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[3] ถ้าผู้ใดกล่าวว่าจะไม่ยอมทำแม้ว่าจะให้ชาทั้งเมืองจีนก็แสดงว่าผู้นั้นมีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ วลีนี้อาจจะมาจากการที่ชาเดิมเป็นของมีค่าและหายาก เมื่อการดื่มชาเข้ามาในสหราชอาณาจักรใหม่ ๆ คนชั้นสูงเท่านั้นที่สามารถหาซื้อและดื่มชาได้ ใบชาต้องเก็บล็อกไว้ในโต๊ะชาที่สร้างเป็นพิเศษสำหรับการเก็บชาเพื่อกันจากการนำไปใช้โดยผู้รับใช้

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 “Britons have less time for tea,” Food & Drink. 16 June 2003. (Retrieved 2009-05-09.)
  2. Tea and the Industrial Revolution
  3. Phrases.org.uk: Not for all the tea in China[1]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ชา