โบสถ์น้อยกอนตาเรลลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ชาเปลคอนทราเรลลิ)
ชาเปลคอนทราเรลลิ
วัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิ
Contarelli Chapel
ชาเปลคอนทราเรลลิ
แผนที่
41°53′58″N 12°28′29″E / 41.89944°N 12.47472°E / 41.89944; 12.47472
ที่ตั้งโรม, ประเทศอิตาลี
ประเทศ ประเทศอิตาลี
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะชาเปลภายในวัด
เหตุการณ์ภาพเขียนสามภาพภายในชาเปลโดยคาราวัจโจ
สถาปนิกผู้สร้างวัดโดเมนิโค ฟอนทานา
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์ฟื้นฟูศิลปวิทยา
ปีสร้างวัดสร้างระหว่าง ค.ศ. 1518ค.ศ. 1589

ชาเปลคอนทราเรลลิ (อังกฤษ: Contarelli Chapel) เป็นชาเปลหรือคูหาสวดมนต์ภายในวัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิที่ตั้งอยู่ที่จตุรัสนาโวนาในกรุงโรมในประเทศอิตาลี เป็นวัดที่สร้างในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาที่ออกแบบโดย จาโคโม เดลลา พอร์ตา (Giacomo della Porta ) และสร้างโดยสถาปนิกโดเมนิโค ฟอนทานา (Domenico Fontana) ระหว่างปี ค.ศ. 1518 ถึงปี ค.ศ. 1589 เพื่อเป็นวัดประจำชาติของฝรั่งเศสในกรุงโรม

ชาเปลคอนทราเรลลิมีความสำคัญในการเป็นที่ตั้งของภาพเขียนสามภาพโดยคาราวัจโจจิตรกรคนสำคัญของยุคบาโรกระหว่างปี ค.ศ. 1599 ถึงปี ค.ศ. 1600 ที่เป็นฉากชีวิตของนักบุญแม็ทธิวที่รวมทั้งภาพ: “พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว”, “แรงบันดาลใจของนักบุญแม็ทธิว” และ “การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว

ชาเปลสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คาร์ดินัลชาวฝรั่งเศสขื่อแม็ทธิว ควงแทรล (Matthieu Cointrel) หรือ “คอนทราเรลลิ” ในภาษาอิตาลีผู้ที่ก่อนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1585 ทิ้งเงินและคำสั่งให้ตกแต่งชาเปลแรกทางด้านซ้ายของบริเวณพิธีภายในวัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิที่ได้ซื้อไว้จากวัดก่อนที่จะเสียชีวิต คาร์ดินัลแม็ทธิวเป็นผู้มีฐานะร่ำรวยและเป็นผู้อุทิศเงินสร้างบางส่วนของด้านหน้าของวัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิและส่วนหนึ่งให้ตกแต่งแท่นบูชาเอก และได้สั่งไว้ว่าให้ตกแต่งชาเปลที่ว่าให้เป็นเรื่องราวของนักบุญแม็ทธิวผู้เป็นนักบุญชื่อตัวของคาร์ดินัล

เวร์กลิโอ เครเซนซิผู้จัดการมรดกก็จ้างให้ประติมากรเฟล็มมิชฌาคส์ โคแบร์ตให้สลักรูปปั้นหินอ่อนของแม็ทธิวและเทวดาสำหรับแท่นบูชา และให้จูเซปเป เซซารีศิลปินผู้มีชื่อเสียงที่ทำงานอยู่ที่โรมในขณะนั้นเขียนจิตรกรรมฝาผนังสองด้านของชาเปลและบนเพดาน รายละเอียดของงานบ่งไว้อย่างชัดเจนในสัญญา—ฉากแท่นบูชาของควงแทรลจะเป็นภาพนักบุญแม็ทธิวนั่งบนเก้าอี้พร้อมที่จะเขียนพระวรสารโดยมีเทวดายืนอยู่ที่เป็น “ท่าที่แสดงเหตุผลหรือท่าอื่นที่เหมาะสม” กำแพงด้านข้างทางขวาที่เซซารีเขียนควรจะแสดงภาพนักบุญแม็ทธิวในโรงเก็บภาษี (นักบุญแม็ทธิวมีอาชีพเป็นผู้เก็บภาษีมาก่อนที่จะมาเป็นสาวกของพระเยซู) ที่แต่งแตัวอย่างเหมาะสมและตอบรับการมาเรียกตัวโดยพระเยซูเพื่อไปรับใช้พระเจ้า—“to go to Our Lord, who, passing by with his disciples in the street, calls him...” ทางด้านซ้ายเป็นภาพขณะที่พลีชีพฉลองมิซซาที่แท่นบูชาโดยมี “ประชาชนทั้งชายและหญิง, ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก...บางคนก็ตกตลึงและบางคนก็มีความสงสาร...”

จูเซปเป เซซารีเขียนจิตรกรรมฝาผนังบนเพดานเสร็จในปี ค.ศ. 1593 แต่ต้องหันไปยุ่งกับงานจากพระสันตะปาปา ส่วนโคแบร์ตก็ไม่ได้ทำอะไร ในปี ค.ศ. 1597 ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการก็โอนไปให้ฟาบริคา ดิ ซาน เปียโตรผู้มีหน้าที่ใช้เงินในการบริหารสิ่งก่อสร้างของวัดแต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ในปี ค.ศ. 1599 ก็มีการเตรียมงานฉลอง “เทศกาลจูบิลี” (Jubilee) ซึ่งเป็นเทศกาลที่จัดขึ้นทุกยี่สิบห้าหรือห้าสิบปีเพื่อเป็นการยกบาป, ยกหนี้ หรือปลดปล่อยนักโทษทั่วไปในคริสต์ศาสนจักร พระสันตะปาปาตรัสต่อสังฆราชฝรั่งเศสว่า “ฝรั่งเศส...ยังไม่ล้างมลทินจากขวากหนามของความนอกศาสนาและความฉ้อโกงในสถาบันศาสนาไม่เพียงพอ” พระมหากษัตริย์องค์ใหม่ของฝรั่งเศสพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ก็เพิ่งทรงเปลี่ยนจากการเป็นโรมันคาทอลิกไปเป็นโปรเตสแตนต์แต่ก็ยังมีสิ่งที่จะต้องทำอีกเป็นอันมาก พระสันตะปาปาผู้ทรงเห็นว่าการเปลี่ยนศาสนากลับมาก็ไม่ด้อยไปกว่าการพลีชีพจึงทรงมีความมุ่งมั่นในการก่อตั้งให้โรมเป็นที่แสวงบุญของชาวฝรั่งเศส และทรงขู่ว่าจะปิดวัด นักบวชผู้ที่ดูแลวัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิก็มีความหวั่นวิตกถึงสถานะภาพของวัด คาร์ดินัลฟรานเชสโค มาเรีย เดล มอนเตผู้มีหน้าที่บริหารสิ่งก่อสร้างและเงินของวัดจึงเสนอให้ทางวัดจ้างคาราวัจโจ เมริซิหรือคาราวัจโจผู้เป็นจิตรกรประจำตัวของตนเป็นผู้เขียนภาพเขียนสีน้ำมันสำหรับผนังสองข้างของชาเปลที่เซซารียังไม่มีโอกาสได้เขียนจิตรกรรมฝาผนัง

พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว

สัญญากับคาราวัจโจลงนามกันเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1599 แม้ว่าจะมีข้อขัดแย้งกันบางอย่างเกี่ยวกับการจัดภาพแต่ภาพ “พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว” และภาพ “การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว” ก็ได้รับการติดตั้งภายในเดือนกรกฎาคมปีต่อมาในปี ค.ศ. 1600 ซึ่งล่าไปกว่าที่บ่งไว้ในสัญญาว่าให้เขียนเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม แต่หลังจากยี่สิบปีที่ไม่มีความคืบหน้าภาพเขียนของคาราวัจโจก็ดีกว่าผนังที่ว่างเปล่ามาเป็นเวลานาน นอกจากนั้นแล้วภาพเขียนทั้งสองภาพยังสร้างข่าวใหญ่และกลายเป็นสิ่งที่พูดถึงกันในกรุงโรมในการที่คาราวัจโจสามารถสร้างภาพที่เป็นนาฏกรรมในขณะเดียวกันใช้ความเหมือนจริงในการสร้างภาพที่คุ้นเคยกันดีในพระวรสาร และเมื่อโคแบร์ตส่งรูปที่แกะมาให้เสร็จเจ้าหน้าที่ของวัดก็ไม่ชอบใจและจ้างคาราวัจโจให้เขียนภาพอีกภาพหนี่งแทนที่สำหรับแท่นบูชาเอกที่ยังเป็นไปตามคำสั่งเดิมของคาร์ดินัล งานชิ้นที่สามและชิ้นสุดท้ายคือ “แรงบันดาลใจของนักบุญแม็ทธิว” ติดตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1602 แต่ก็มิได้ราบรื่นนัก ภาพเขียนครั้งแรกได้รับการปฏิเสธเพราะผู้รับมีความเห็นว่าค่อนข้างหยาบ ตรงที่นักบุญไขว้ขาและไม่สวมรองเท้า และการที่เทวดาเคล้าคลึงนักบุญแม็ทธิวอย่างคุ้นเคยไปหน่อย ภาพเขียนครั้งที่สองที่ได้รับการแก้ไขเป็นภาพที่ได้เห็นกันทุกวันนี้ที่เทวดาอยู่ห่างออกไปเล็กน้อยและนักบุญดูจะมีความสง่าสมฐานะขึ้นมาบ้าง

แรงบันดาลใจของนักบุญแม็ทธิว
การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว

การแก้ปัญหาในการตกแต่งวัดทีภายในมัวซัวของโรมก็เป็นการแก้ปัญหาที่เป็นเลิศ ผู้ที่เข้าชมชาเปลคอนทราเรลลิในปัจจุบันจะได้เห็นภาพเขียนที่ค่อนข้างมืดแทนที่จะพยายามต่อต้านความมืด ตัวภาพเขียนเองใช้สีหนัก - ส่วนใหญ่เป็นเงา - ซึ่งบางท่านอาจจะสรุปว่าการใช้สีมืดเป็นส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นเพราะทำให้เขียนเร็วขึ้นเพื่อให้เสร็จทันเวลาตามสัญญา แต่การใช้สีหนักและมืดเพิ่มความเป็นนาฏกรรมให้ภาพมากขึ้นเพราะเป็นการช่วยเน้นเหตุการณ์ในภาพให้กระโดดออกมาจากความมืดรอบข้าง นอกจากนั้นคาราวัจโจก็ยังคำนึงถึงแสงในตัวชาเปลเอง ภาพบนผนังสองข้างใช้ลำแสงส่องลงมาในตัวภาพที่เป็นทิศทางเดียวกับลำแสงธรรมชาติที่ส่องลงมาในตัวชาเปลเอง

ชุดภาพ (cycle) เริ่มด้วยภาพทางซ้ายของชาเปลที่ผู้ชมจะไม่เห็นในทันที่ที่เข้ามาในวัดที่เป็นภาพเขียนใหญ่--“พระเยซูเรียกนักบุญแม็ทธิว” ที่เป็นภาพเขียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดภาพหนึ่งของคาราวัจโจ ทางด้านขวาขององค์ประกอบของภาพเป็นพระเยซูและนักบุญปีเตอร์ที่มองตรงไปยังนักบุญแม็ทธิวผู้นั่งอยู่ พระเยซูผู้ทรงคลุมพระองค์ด้วยภูษาแบบโบราณเข้าได้เป็นอย่างดีกับฉากที่เกิดขึ้น พระเยซูทรงชี้ไปยังนักบุญแม็ทธิวเพื่อเป็นการ “เรียก” การชี้ก็ละม้ายกับภาพ “พระเจ้าสร้างอาดัม” บนเพดานของชาเปลซิสตินที่เขียนโดยไมเคิล แอนเจโล การแต่งกายนักบุญแม็ทธิวและกลุ่มเพื่อนที่นั่งอยู่ตรงกันข้ามกับพระเยซูที่เป็นเครื่องแต่งกายร่วมสมัย นักบุญแม็ทธิวชี้ไปที่ตนเองเป็นท่าที่เหมือนจะกล่าวว่า “เรียกใคร, ฉันหรือ?” ขณะที่อีกมือหนึ่งนับเศษเงินอยู่บนโต๊ะที่เป็นการทำให้ทราบว่าเป็นผู้เก็บภาษี เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการสันนิษฐานกันว่าเด็กชายหนุ่มที่นั่งมุดหัวอยู่ปลายโต๊ะคือนักบุญแม็ทธิว และชายผู้สูงอายุกว่าที่มีหนวดที่เคยเห็นกันว่าเป็นนักบุญแม็ทธิวชี้ไปทางเด็กหนุ่ม แต่ทฤษฎีนี้ก็เป็นทฤษฎีที่ถกเถียงกันมาก

บนผนังทางด้านขวาเป็นภาพ “การพลีชีพของนักบุญแม็ทธิว” เป็นฉากนักบุญแม็ทธิวเผชิญหน้ากับวินาทีสุดท้ายของความตาย ลักษณะของภาพตรงกันข้ามกับภาพ “เรียก” บนผนังตรงกันข้ามที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่คว้างจากกลางภาพออกไปรอบด้าน นักบุญแม็ทธิวพยายามใช้มือกันจากผู้ที่เข้ามาทำร้ายที่เทวดาเอื้อมไม่ถึง มีผู้เสนอว่าชายกลางภาพอันที่จริงแล้วไม่ใช่ผู้ที่มาสังหารแต่เป็นผู้ที่ได้รับคำสอนที่ตกตลึงจากการเห็นเหตุการณ์ ดาบที่เปื้อนเลือดในมือเป็นดาบที่หยิบขึ้นมาจากผู้ที่ทิ้งเอาไว้ซึ่งอาจจะเป็นตัวแบบที่เป็นภาพเหมือนตนเองของคาราวัจโจในฉากหลังที่เป็นผู้มาสังหารตัวจริง ตัวแบบที่ว่าทำท่าราวกับพยายามยื่นมือไปเอาดาบแต่ก็ถอยไปพร้อมกับทหารที่มาด้วยกัน ความคิดเห็นที่ว่านี้ไม่ใช่ความคิดเห็นของส่วนใหญ่ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือรูปชายเปลือยหน้าภาพดูราวกับว่าเป็นผู้สังเกตการณ์ในสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่เหมือนกับฉากละคร และภาพเหมือนตนเองของคาราวัจโจในฉากหลังคือชายที่มีหนวด

ตรงกลางชาเปลเป็นภาพ “แรงบันดาลใจของนักบุญแม็ทธิว” เป็นฉากที่แสดงภาพเทวดาบอกให้นักบุญแม็ทธิวเขียนพระวรสาร แม้ว่าจะเป็นภาพที่ไม่น่าสนใจเท่ากับสองภาพแรกแต่ก็เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ช่องว่างระหว่างผู้ดูและภาพ การที่นักบุญแม็ทธิวลุกขึ้นเพื่อต้อนรับเทวดาผลักม้านั่งออกไปนอกขอบในภาพเหมือนกับว่าล่วงล้ำเข้ามาในบริเวณของผู้ดูที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ดูและภาพ

แม้ว่าภาพทั้งสามจะเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้เข้ามาชมวัดแต่สิ่งอื่นในชาเปลเช่นงานจิตรกรรมฝาผนังของจูเซปเป เซซารีที่ถูกบดบังก็เป็นงานเขียนที่ควรค่าของตระกูลแมนเนอริสต์ เซซารีเขียนเสร็จราวปี ค.ศ. 1593 ในเวลาที่คาราวัจโจทำงานกับเซซารีผู้ที่มีอายุแก่กว่าเพียงสองปี เซซารีเป็นนักธุรกิจและเป็นจิตรกรผู้มีความสามารถเห็นคุณค่าของคาราวัจโจในการเขียนภาพผักผลไม้ และคาราวัจโจก็อาจจะมีส่วนช่วยเขียนตกแต่งเพดานบ้าง

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ วัดซานลุยจิเดอิฟรานเชซิ