ชาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ชาน (อังกฤษ: Shan) หรือ แมลงแห่งแชกไก เป็นหนึ่งในมนุษย์ต่างดาวในเรื่องชุดตำนานคธูลู ชานปรากฏตัวครั้งแรกในเรื่องสั้น "แมลงแห่งแชกไก" (พ.ศ. 2507) ของนักประพันธ์ชาวอังกฤษ แรมซีย์ แคมเบลซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือข้อมูลทั่วไปของเอช. พี. เลิฟคราฟท์[1]

ลักษณะ[แก้]

ชานมีลักษณะคล้ายแมลง มีขาสิบขาซึ่งคล้ายกับหนวดรยางค์และปากสามปาก ปีกที่ใช้บินมีลักษณะเหมือนแผ่นหนังและมีปีกใหญ่เป็นเกล็ด ขนาดใกล้เคียงกับนกพิราบของโลก ดาวแชกไกซึ่งเป็นบ้านเดิมของชานนั้นเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะแฝด โดยชานนั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีความเจริญก้าวหน้าและอาศัยอยู่รวมกันในเมืองขนาดใหญ่ ชานมีสมองหกส่วนและสามารถคิดเรื่องต่างๆได้สามเรื่องในเวลาเดียวกัน เนื่องจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าของดวงอาทิตย์นั้นมีผลกับเมแทบอลิซึมของชาน ชานจึงกลัวแสงอาทิตย์อย่างมาก ชานมีความสามารถพิเศษในการฝังตัวผ่านกะโหลกศีรษะและสมองของสิ่งมีชีวิตได้ เมื่อทำการฝังตัวเสร็จแล้ว ชานก็จะใช้โทรจิตทำการควบคุมร่างนั้นได้ ยิ่งชานฝังตัวอยู่นานแค่ไหนก็จะยิ่งทำการควบคุมร่างได้มากขึ้นเท่านั้น โดยในตอนแรกจะทำได้เพียงดลใจแต่ในที่สุดก็จะสามารถควบคุมได้เหมือนเป็นหุ่นเชิด

แนวคิดด้านจริยธรรมของชานนั้นแตกต่างจากมนุษย์อย่างมาก โดยส่วนใหญ่แล้วจะนับถือเอาเตอร์ก็อด อซาธอทเป็นเทพสูงสุดและสร้างวิหารทรงพีระมิดไว้บูชา ซึ่งศาสนาของอซาธอทนี้ยังแบ่งออกเป็นสองนิกาย โดยนิกายแรกนั้นเป็นพวกหัวรุนแรงซึ่งบูชาอวตารของอซาธอทที่เรียกว่า ซาดา ฮกลา (อังกฤษ: Xada Hgla) นิกายแรกนี้เชื่อว่าเทพเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียวคืออซาธอทและต้องการทำลายศาสนาของเทพเจ้าอื่นๆทั้งหมด รวมถึงเป็นศัตรูกับอีกนิกายด้วย ส่วนนิกายที่สองนั้นมุ่งเน้นไปที่การแสวงหาประสบการณ์ใหม่จากความเจ็บปวด โดยใช้วิธีให้ร่างที่ควบคุมอยู่ทำร้ายตนเองและดูดซับคลื่นแม่เหล็กผ่านระบบประสาท

หายนะแห่งแชกไก[แก้]

ดาวแชกไกนั้นได้พินาศไปเมื่อดวงดาวลึกลับได้ปรากฏบนท้องฟ้าและเคลื่อนเข้าใกล้แชกไกเรื่อยๆ ก่อนจะเปล่งแสงสีแดงซึ่งทำให้แชกไกถูกทำลายไป เหล่าชานส่วนใหญ่ก็ได้ตายไปในคราวนั้น มีเพียงส่วนน้อยซึ่งใช้ระบบเทเลพอร์ทในวิหารอซาธอทที่หนีจากความพินาศของแชกไกไปได้ เชื่อว่าดาวที่ทำลายแชกไกนั้นน่าจะเป็นกรอธ[2]ซึ่งได้ทำให้เกรทโอลด์วัน หนอนผู้กัดกินในยามราตรี ซึ่งหลับใหลในแชกไกตื่นขึ้น[3]

เหล่าชานที่รอดไปได้นั้นได้ใช้ระบบเทเลพอร์ทของวิหารเร่ร่อนไปยังดาวอื่นๆคือ ไซโคลทล์ (อังกฤษ: Xiclotl) และ ธุกกอน (อังกฤษ: Thuggon) แต่ก็พบกับสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวจนต้องหนีไปอีก จนกระทั่งมาถึง ลกิฮักซ์ (อังกฤษ: L'gy'hx) (ดาวยูเรนัส) ซึ่งเหล่าชานได้พบกับสิ่งมีชีวิตซึ่งมีลักษณะคล้ายกับลูกบาศก์โลหะที่มีขาจำนวนมาก ชนพื้นเมืองของยูเรนัสได้ยอมให้ชานสร้างนิคมของตนได้และเมื่อเวลาผ่านไปสองร้อยปีก็ได้ยอมรับชานเป็นเผ่าพันธุ์ที่ร่วมปกครองดวงดาว ชนพื้นเมืองนี้นับถือเทพ ลรอกก์ (อังกฤษ: L'rog'g) (เชื่อว่าเป็นหนึ่งในร่างอวตารของไนอาลาโธเทป) ซึ่งชานเป็นจำนวนมากก็ได้เปลี่ยนศาสนามานับถือลรอกก์เช่นกัน แต่เมื่อมีชนพื้นเมืองเปลี่ยนมานับถืออซาธอทบ้างก็ได้เกิดการต่อต้านจากผู้นับถือลรอกก์ จนในที่สุดเหล่าชานที่ยังนับถืออซาธอทก็ถูกขับไล่ไปจากยูเรนัส ระบบเทเลพอร์ทของวิหารได้พาชานมายังดาวเคราะห์โลก ที่หุบเซเวิร์น ในอังกฤษช่วงสมัยกลาง[4] ชานได้พยายามเผยแพร่ศาสนาอซาธอท แต่ก็ถูกกวาดล้างในช่วงของสมเด็จพระสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 13 โดยบทละคร Massa di Requiem per Shuggay ซึ่งเป็นเรื่องราวของดาวแชกไกและการเดินทางของชานนั้นถูกสั่งเป็นข้อเขียนต้องห้าม[5] เนื่องจากบรรยากาศของโลกนั้นทำให้ระบบเทเลพอร์ทของวิหารขัดข้อง ชานที่อยู่บนโลกจึงไม่สามารถหนีไปไหนได้อีก

อ้างอิง[แก้]

  • Aniolowski, Scott D., et al. "Mysterious Manuscripts" in The Unspeakable Oath #3, John Tynes (ed.), Seattle, WA: Pagan Publishing, August 1991. Periodical (role-playing game material). Online.
  • Campbell, Ramsey. Cold Print (1st ed.), New York, NY: Tom Doherty Associates, Inc., 1987. ISBN 0-8125-1660-5.
  • Carter, Lin. "Shaggai" (1971) in The Book of Eibon (1st ed.), Robert M. Price (ed.), Chaosium, Inc., 2002. ISBN 1-56882-129-8.
  • Harms, Daniel. The Encyclopedia Cthulhiana (2nd ed.), Chaosium, Inc., 1998. ISBN 1-56882-119-0.

หมายเหตุ[แก้]

  1. Campbell, "Introduction to Cold Print: Chasing the Unknown", Cold Print, p. 5.
  2. Harms, "Shaggai", The Encyclopedia Cthulhiana, pp. 269-70.
  3. Carter, "Shaggai", pp. 206-10.
  4. Campbell, "The Insects from Shaggai", Cold Print, pp. 79-106.
  5. Aniolowski, "Mysterious Manuscripts".