ชาตรี คงสุวรรณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โอม ชาตรี คงสุวรรณ
Ohm On Stage
ข้อมูลพื้นฐาน
ชื่อเกิดชาตรี คงสุวรรณ
เกิด17 มีนาคม พ.ศ. 2505 (62 ปี)
แนวเพลงRock,Pop,Blues
อาชีพศิลปิน นักดนตรี นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์
เครื่องดนตรีกีตาร์, แบนโจ, แซกโซโฟน, คีย์บอร์ด, เบส, กลอง, เมาท์ออร์แกน
ช่วงปี2521-ปัจจุบัน
ค่ายเพลงRPG
Mister Music
สหภาพดนตรี (2554 - ปัจจุบัน)
อดีตสมาชิกดิ อินโนเซ็นท์ , วงโรแมนติก
เว็บไซต์http://www.ohmchatree.com/

ชาตรี คงสุวรรณ (ชื่อเล่น ; โอม 17 มีนาคม พ.ศ. 2505) เป็น นักดนตรี นักแต่งเพลง ผู้ผลิตเพลง และ ศิลปิน อดีตสมาชิกวง ดิ อินโนเซ้นท์ และยังเป็นผู้บริหารบริษัท มิสเตอร์มิวสิค (Mister Music) และ เป็นผู้บริหารของ สหภาพดนตรี กิจการที่ตนเองมีส่วนเป็นเจ้าของ ทำธุรกิจเกี่ยวกับเพลงและลิขสิทธิเพลง

ประวัติ[แก้]

โอม ชาตรี มีพื้นเพ เป็นชาวอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี โดยกำเนิด เป็นบุตรคนที่ 2 ในบรรดาพี่น้อง 3 คน คุณพ่อเป็นข้าราชการมหาดไทย มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นนายอำเภอ แต่คุณพ่อได้เสียชีวิตตั้งแต่เขายังเยาว์วัย จึงได้รับการเลี้ยงดูจากคุณแม่ตั้งแต่เด็กเรื่อยมา ได้รับการศึกษาขั้นต้น ถึงมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนดรุณาราชบุรี และศึกษาต่อสายอาชีวศึกษาในวิทยาลัยเทคนิคราชบุรี แผนกช่างไฟฟ้า จนจบเส้นทางการศึกษาในสถาบันการศึกษาที่นี่ ด้วยความที่ตนเองเป็นคนที่ รักและสนใจดนตรีมาตลอด มีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงในการเรียนรู้และฝึกฝน เขาจึงเลือกที่เข้ามาสู่สายอาชิพดนตรีในทันทีที่สำเร็จการศึกษา โดยไม่ได้ใช้วิชาการที่เรียนมาเป็นวิชาชีพ

เริ่มชีวิตนักดนตรี[แก้]

ในวัยเยาว์ ระหว่างที่เรียนอยู่ในโรงเรียนดรุณาราชบุรี โอม ชาตรี ได้เริ่มฝึกหัดเครื่องดนตรีชิ้นแรก เป็นเครื่องเป่าSaxophone เพื่อที่จะเป็นนักดนตรีวงโยธวาทิตของโรงเรียน หลังจากนั้น ก็ขวนขวายที่จะศึกษาเรียนรู้ทางด้านดนตรีต่อไป โดยเครื่องดนตรีที่ฝึกหัดต่อมาคือ กีตาร์ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นมากในช่วงครึ่งศตวรรษมานี้

ในปี 2521 โอม ชาตรีได้รับการชักชวนจากเพื่อน ให้เข้าไปร่วมวงโรแมนติค (Romantics) และเป็นที่มาของการแต่งเพลง มนต์ไทรโยค ทั้งเนื้อร้องและทำนองขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นผลงานกับกับวงโรแมนติค วงนี้เป็นที่รู้จักในเพลง บ้านสีเทา[1]

หลังจากนั้น ปี 2524 ก็ร่วมเป็นสมาชิกวง Four Singles ซึ่งเป็นวงของรุ่นพี่ภายในจังหวัดซึ่งวงนี้ยังทำหน้าที่รับงานภายในจังหวัดต่าง ๆ

เส้นทางดนตรี[แก้]

สมาชิกดิ อินโนเซ็นท์[แก้]

ปี พ.ศ 2525 ได้รับการชักชวนจากวงดิ อินโนเซ้นท์ โดยทางวงมีแนวทางที่จะเปลี่ยนสไตล์วง จากโฟล์คซอง มาเป็นวงดนตรีสตริง โอม ชาตรี ตกลงรับการชักชวน มาร่วมงานกันในฐานะ มือกีตาร์ และทำหน้าที่แต่งเพลงให้กับวง หลังจากตัดสินใจร่วมงาน เขาจึงต้องย้ายมายังกรุงเทพหลังจากนั้นเป็นต้นมาเขามีหน้าที่แต่งเพลงให้กับวงดิ อินโนเซ็นท์ เป็นต้นมา

ร่วมงานกับวงพลอย[แก้]

ในขณะที่เข้ามาใช้ชีวิตในเมืองกรุง นอกเหนือจากการทำงานเพลง และออกทัวร์คอนเสิร์ตร่วมกับวง ดิ อินโนเซ็นท์แล้ว บางโอกาส วงก็ต้องมีงานเล่นประจำตามคลับ บาร์ กลางคืน และแม้กระทั่งช่วงพักการออกอัลบั้ม เขาได้รับการชักชวนให้เป็นนักดนตรีสนับสนุนให้แก่ ดนุพล แก้วกาญจน์ จนเมื่อ แจ้ ฟอร์มวงดนตรีขึ้นมาเพื่อร่วมทัวร์ทั่วประเทศ กับเขาอย่างจริงจังใช้ชื่อว่า วงพลอย ก็มีชื่อชาตรี คงสุวรรณ อยู่ด้วย เขาทำงานเป็นทั้งนักดนตรี กีตาร์สนับสนุนและนักแต่งเพลงให้งานเพลงของพี่แจ้อยู๋ประมาณ 2 ปี จนประมาณปี 2531 ด้วยงานที่ล้นมือ ทำให้เขาถึงจุดที่ต้องเลือกที่จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานมากกว่าการขึ้นไปยืนอยู่บนเวที ในฐานะศิลปินกลุ่มอีกต่อไป

โปรดิวเซอร์[แก้]

โอม ชาตรี ได้รับการชักชวนจากเต๋อ เรวัติ ทำให้เกิดคอนเสิร์ตครั้งสำคัญของเต๋อ เรวัติ (คลิ้กเพื่อดูเนื้อหาคอนเสิร์ต) บันทึกการแสดงสดปึ้กกกก...เต๋อ

หลังจากได้ร่วมงานกับเต๋อ เรวัติ เขาได้ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกันในทีมงานเต๋อ เรวัติ โดยมีบุคลากรนักแต่งเพลงที่มีฝีมือมากมายอาทิ เรวัต พุทธินันทน์, อัสนี โชติกุล, จาตุรนต์ เอมซ์บุตร, ไพทูรย์ วาทยะกร, กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา, เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, นิติพงษ์ ห่อนาค ฯลฯ ภายใต้สังกัด แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ โดยเริ่มทำงานในฐานะนักกีตาร์ โดยโอมยังได้มีโอกาสแต่งเพลงให้กับศิลปินจำนวนมาก

ปี 2533 งานชิ้นแรกในฐานะโปรดิวเซอร์ของโอม ชาตรีออกเผยแผร่เป็นอัลบั้มของ คริสติน่า อากีลาร์ ชื่ออัลบั้ม “นินจา” โดยมีความประสบความสำเร็จอย่างมาก จนทำให้โอมได้โอกาสทำงานในฐานะโปรดิวเซอร์ให้กับศิลปินมากมายเช่น Ynot7 , อินคา , อำพล ลำพูน , ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล ,หรือแม้แต่การรวมตัวกันเฉพาะกิจของ แอม-ดา (เสาวลักษณ์ ลีละบุตร-ศักดา พัทธสีมา)

บริหารค่ายเพลง[แก้]

ภายหลังจากเต๋อ เรวัติ เสียชีวิตลง เมื่อพ.ศ. 2539 ทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนผู้นำ ทำให้ โอม ชาตรี คิดที่จะขยับขยายการทำงาน มาเป็นผู้บริหารค่ายเพลงอย่างเต็มตัว ประกอบกับการปรับปรุงโครงสร้างภายในของแกรมมี่ ที่แตกเป็นบริษัทย่อยต่าง ๆ มากมาย เพื่อเติบโตตามความสามารถและความถนัดของบุคลากรหลักที่เคยมีอยู่

หลังจาก งานคอนเสิร์ต จากเพื่อน พี่ และ น้อง แด่ เรวัติ พุทธินันทน์ ( Tribute to Rewat Buddhinan Concert) ที่เขารับหน้าที่ Music Director อันเป็นหน้าที่ที่เขาภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสทำงานให้พี่ชายที่เขารักและเคารพจบลง จึงได้เกิดค่ายย่อยภายใต้ชื่อ RPG Records ขึ้นในปี 2541 โดยมี โอม ชาตรี เป็นผู้บริหาร RPG ย่อมาจาก Rewat”s Producer Group ซึ่งในความหมายก็คือการรวมตัวกันทำงานของ ทีมProducerที่เคยร่วมทำงานกับพี่เต๋อมาก่อน เป็นการตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงและเป็นกำลังใจในทำงาน ซึ่งในยุคเริ่ม RPG มีบุคลากรที่ทำงานเพลงหลัก ได้แก่ สมชัย ขำเลิศกุล, ชุมพล สุปัญโญ,อภิไชย เย็นพูนสุข,โสฬส ปุณกะบุตร, พงษ์พรหม สนิทวงศ์ฯ, รุ่งโรจน์ ผลหว้า,ธานัท ธัญญหาญ วรวิทย์ พิกุลทอง เป็นต้น

แม้ว่าจะทำงานในฐานะผู้บริหารค่ายเพลง แต่ก็ไม่อาจหลุดพ้นจากการผลิตงานดนตรีได้ เพียงแต่ขยับไปทำหน้าที่ Executive Producer ซึ่งมีหน้าที่กำหนดแนวทางของดนตรีและ เพลงแต่ละเพลงที่ผลิตออกมา โดยให้ Producer เป็นผู้รับไปดำเนินการต่อจนสำเร็จ ศิลปินที่อยู่ในสังกัด RPG เริ่มด้วยการเปิดตัวศิลปิน Rock Dance มิสเตอร์ทีมที่มีเพลงดังเป็นที่นิยมมากมายในอัลบั้ม และตามมาด้วยศิลปินต่าง ๆ อีกหลายคน เช่น Double U, Peter Corp Dyrendal ,คริสติน่า อากีล่าร์, ธีรภัทร์ สัจจกุล, วายน็อตเซเว่น, ศักดา พัทธสีมา, สุนิตา ลีติกุล, กัลยกร นาคสมภพ, ปาล์มมี่ และ วงเพียว ซึ่งศิลปินแต่ละคน มีทั้งประสบความสำเร็จอย่างมาก และน้อย คละกันไป ท่ามกลางตลาดเพลงที่เริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงไปตามเทคโนโลยี่ ตลาดไฟล์เพลง MP3 ที่เติบโต มากกว่างาน CD ต้นแบบ รวมถึงการมาของ CD Writer และ เครื่องเล่น MP3 ที่ทำไห้ไม่ต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์ก็สามารถฟังไฟล์เพลงได้ ทำให้งานเพลงในรูปแบบของ MP3 ยิ่งเติบโตแบบยั้งไม่อยู่ ในขณะที่อัลบั้มที่เป็นงานเพลงที่วางขายอยู่กลับได้รับความสนใจจากผู้บริโภคไม่มาก และตั้งแต่ ปี 2542 เป็นต้นมา การที่จะทำให้งานเพลงของศิลปินใดผลิตออกมาด้วยความสำเร็จ เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญกว่าเก่าหลายเท่านัก

การเปลี่ยนแปลง[แก้]

การทำงานแน้นคุณภาพงานทางด้านดนตรีของเขา ยังคงเป็นบุคลิกติดตัวตลอดมาไม่ว่าเขาจะทำงานที่ใด จึงเป็นที่รู้กันดีว่า งานใดที่ออกมาจากค่ายเพลงของเขา จะเป็นงานที่เน้นเนื้อหาความเข้มข้นของดนตรีมากกว่าสิ่งอื่นใด และมีแนวทางของตนเองที่ชัดเจนมาตลอด แม้ว่าบางครั้ง การทำงานจะขัดกับแนวทางการตลาดบ้างก็ตาม แต่การทำงานท่ามกลางความแตกต่างทางความคิด และความเปลี่ยนแปลงของวงการรอบด้านที่มาอย่างรวดเร็ว เป็นสาเหตุให้เกิดความอิ่มตัวมาถึงเร็วกว่าที่คิด การสร้างสรรค์งานเริ่มมีอุปสรรค เขาจึงหาทางขยับขยายเพื่อ ปลดปล่อยตัวเองอีกครั้ง เพื่อมาทำงานในค่ายเพลงใหม่ ภายใต้ชี่อ คราฟท์แมน เรคคอร์ดส์ (Craftsman Records) ซึ่งเป็นค่ายเพลงอิสระที่ตั้งขึ้นมากับเพื่อน ๆ Producer ที่เคยทำงานด้วยกัน แต่อยู่นอกชายคาต้นสังกัดเดิม ตั้งแต่ปีกลางปี 2547 ,ศิลปินในสังกัดส่วนใหญ่จะผลิตงานเอง ทั้งที่เคยร่วมงานกันมาก่อน และ เข้ามาใหม่ อาทิ เช่น GR9, 2Peace, Big & The Superband, 4Gotten, Jugg Big และ Jida งานของศิลปินเหล่านี้ ได้รับการตอบรับว่า เป็นงานที่มีคุณภาพ แต่ด้วยความเป็นค่าย Indy การขาดแคลนหลาย ๆ สิ่งที่เคยมีอยู่ในองค์กรใหญ่ ๆ ทำให้งานเพลงไม่ได้รับการเผยแพร่เท่าที่ควร แม้ว่าในภายหลังศิลปินในสังกัดเกือบทุกราย จะได้รับรางวัลในการทำงาน เป็นกำลังใจในผลงานด้านต่าง ๆ จากสถาบันต่าง ๆ หลายรางวัลก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลกระทบต่อการตลาดในทางที่ดีนัก โดยเฉพาะในครั้งนี้เขาทำงานบริหารอยู่ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของตลาดเพลงของโลกที่รุนแรงยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น

  • การยอมรับไฟล์เพลงที่ครั้งหนึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายอย่าง MP3มาเป็นเรื่องถูกกฎหมายของผู้ฟัง
  • การเกิดใหม่ของแหล่งเผยแพร่ของสื่อเพลงชนิดใหม่เช่น สื่อ Digital หรือแม้กระทั่ง
  • การเปลี่ยนแปลง จากการทำดนตรีเป็นอัลบั้มออกจำหน่ายมาเป็นตัดเพียงเพลงบางเพลงออกจำหน่ายในรูปแบบ Digital ผ่านไปสู่ผู้ฟังจากสื่อโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต

สิ่งเหล่านี้ คือการเปลี่ยนแปลงของตลาดเพลงทั่วโลกที่เกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ผู้ที่อยู่ในวงการดนตรีทั้งหมด ต้องหาทางปรับตัว ปรับปรุงวิธีการทำงาน จนกระทั่งเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพื่อหาโอกาสหยิบยื่นงานของตนเองต่อผู้ฟัง แต่สำหรับโอม ชาตรี เขาเลือกที่จะเปลี่ยนวิธีการทำงานใหม่ แต่รักษาคุณภาพงานเดิมไว้ ออกมายืนหน้าเวที หยุดทำงานเบื้องหลัง และ ออกมาเป็นศิลปินเดี่ยว ในฐานะนักดนตรี นักร้อง ทำงานของตนเอง ในนามของตนเองเป็นครั้งแรก ในเวลาเกือบ 30 ปี ของชีวิตคนดนตรี

ศิลปินเดี่ยว[แก้]

เป็นสถานะปัจจุบันที่เพิ่มเข้ามา เขาเริ่มโดยการนำทำนองเพลงที่แต่งเก็บไว้มากกว่า 200 เพลงออกมาใช้ เริ่มด้วยการเรียบเรียงเพลง Friends ขึ้นมาเป็นเพลงบรรเลง ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรที่สนับสนุนงานดนตรีดี ๆ มาตลอดอย่าง สิงห์คอร์ปอเรชั่น(บุญรอดฯ) ได้นำเพลงดังกล่าว ไปร่วมกิจกรรม สิงห์กีตาร์ตามหาสิงห์เนื้อร้อง โดยประกวดการแต่งเนื้อร้องให้แก่เพลง Friends จนได้งานเพลงที่ชนะเลิศปิดโครงการไปในเดือน พฤศจิกายน 2550 และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นในการประกาศเป็นศิลปินเดี่ยว ต่อสาธารณชนอีกครั้ง

หลังจากนั้น ในปลายปี 2550 หลังจากซุ่มทำเพลงจนเสร็จเรียบร้อย ด้วยแรงสนับสนุนของ TRUE Corp และ ผลิตภัณฑ์สิงห์ (บุญรอดฯ) ทำให้เขาผลิตงานอัลบั้มของตัวเอง ภายใต้สังกัดใหม่ที่ชื่อ Mister Music ที่เป็นบริษัทของเขาเอง ผลิตงานเพลงโดยมีเขาเป็นศิลปิน OHM CHATREE KONGSUWAN งานเพลงอัลบั้มแรก ออกเผยแพร่เต็มอัลบั้มครั้งแรก เมื่อเดือน มกราคม 2551 ชื่ออัลบั้ม Into The Light อันเป็นงาน ที่บ่งบอกตัวตนทางดนตรีของเขาอย่างชัดเจน ทั้งแนวทางดนตรี Rock ที่หลากหลายทั้งเพลงที่มีเนื้อร้อง บรรเลง และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เพลงในอัลบั้ม Into The Light

  • ลูกผู้ชายไม่หวั่นไหว
  • Into The Light
  • รักกันตลอดไป
  • จะอะไรนักหนา
  • เรื่องเล่าจากสายน้ำ
  • เขาไม่เปลี่ยน
  • Song for RW สิ่งดีๆจะกลับมา - Instrumental
  • อย่าทำใจหาย
  • Brave & Crazy – Instrumental
  • ทุกคนสำคัญ
  • Friends – Instrumental (Bonus Track)

งานในอัลบั้มนี้ โอม ชาตรี เป็นผู้ลงมือเองเกือบทั้งหมดในกระบวนการผลิต ตั้งแต่ แต่งทำนอง เนื้อร้อง(บางเพลง) เล่นดนตรี เกือบทุกชิ้น กีตาร์ กลอง คีย์บอร์ด ร้องและควบคุมร้อง บันทึกเสียง ควบคุมการผลิต รวมทั้งการทำ Mastering จนเสร็จ โดยมีแขกรับเชิญเข้ามาร่วมงานดังนี้

ชื่ออัลบั้ม Into The Light ได้แนวคิดมาจากการเปลี่ยนแปลงชีวิตการทำงานของเขาเอง จากคนอยู่เบื้องหลังศิลปิน เหมือนคนที่เคยอยู่ในเงามืด มีสิ่งที่เป็นแสงสว่างที่ท้าทายอยู่เบื้องหน้า จนถึงเวลาที่ตัดสินใจออกไปสู่แสงสว่างที่สาดส่องเข้ามา เหมือนศิลปินบนเวทีที่มีแสงไฟจ้องจับอยู่ ซึ่งเพลงนี้ได้ บอยด์ โกสิยพงษ์ นักแต่งเนื้อเพลงคนดังแห่งยุคนี้เป็นผู้ประพันธ์คำร้อง

รางวัลที่ได้รับ[แก้]

ปี 2538

  • รางวัล Producer ยอดเยี่ยม จากผลงานเพลงอัลบั้มแรกของวง “ Y not 7 ” จาก สไมล์ทีวี (ไทยสกายเคเบิลทีวี)

ปี 2552 ได้รับรางวัลดังต่อไปนี้

  • รางวัล สีสันอวอร์ด ครั้งที่ 21 โดยพิจารณาผลงานที่ออกเผยแพร่ในปี 2551 รวม 3 รางวัล
    1. เพลงบรรเลงยอดเยี่ยม จาก เพลง Song For RW สิ่งดี ๆ จะกลับมา อัลบั้ม Into The Light
    2. อัลบั้มยอดเยี่ยม Into The Light
    3. ศิลปินชายเดียวยอดเยี่ยม จาก อัลบั้ม Into The Light
  • รางวัล Lifetime Achievement จาก FAT AWARDS ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดโดย FAT RADIO FM 104.5

ปี 2553

  • รางวัล Lifetime Achievement HAMBURGER AWARDS ครั้งที่ 7 จากนิตยสาร HAMBURGER vol. 8 no.141 March 2010

ปี 2555

  • รางวัล Lifetime Achievement THE GUITAR MAG AWARDS ครั้งที่ 1 จากนิตยสาร THE GUITAR MAG - JANUARY 2012
  • รางวัล SEED HALL OF FAME จาก SEED AWARDS ครั้งที่ 7 March 6,2012

งานคอนเสิร์ตและกิจกรรมดนตรี[แก้]

  • 19 ตุลาคม 2529 เป็นครั้งแรกที่ โอม ชาตรี ได้เข้าร่วมคอนเสิร์ตใหญ่ในฐานะนักกีตาร์นำ และเป็นตำนานต่อมา คอนเสิร์ต ปึ๊ก ของพี่เต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ ที่อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก
  • 5 กันยายน 2541 ร่วมคอนเสิร์ต จากเพื่อน พี่ และน้อง แด่ เรวัต พุทธินันทน์ ที่ห้อง Plenary Hall ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในฐานะที่เป็น Music Director และเป็นมือกีตาร์หลักในช่วง RPG Session ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เป็นการรวมนักดนตรีที่เป็นคนทำงาน Producer ร่วมกับพี่เต๋อมาก่อน
  • มิถุนายน – กันยายน ปี 2550 เข้าร่วมงานกับ TRUE VISION ทำงานในฐานะ Music Director เป็นผู้กำกับดนตรีในคอนเสิร์ตแสดงผลงานของ Academy Fantasia Season 4 รายการ Reality Show ที่ได้รับความนิยมในเมืองไทยอย่างสูงสุด ซึ่งแสดงคอนเสิร์ตที่ ธันเดอร์โดม และ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี และครั้งสุดท้ายของโครงการที่ อินดอร์ สเตเดี้ยม หัวหมาก รวม 13 ครั้ง
  • เมษายน – กรกฎาคม ปี 2551 ร่วมกับ TRUE VISION ทำงานในฐานะ Music Director เป็นผู้กำกับดนตรีในคอนเสิร์ตแสดงผลงานของ Academy Fantasia Season 5 ซึ่งแสดงคอนเสิร์ต ที่ ธันเดอร์โดม และ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี รวม 12 ครั้ง
  • 28 พฤษภาคม 2551 มีคอนเสิร์ตของตนเองในฐานะศิลปินเดี่ยวเป็นครั้งแรก Ohm Chatree Kongsuwan & Friends : Live! Into The Light ที Royal Paragon Hall สยามพารากอน โดยมีแขกรับเชิญซึ่งเป็นเพื่อนที่เคยร่วมงานในต่างฐานะมากมาย เช่น โอ้ โอฬาร พรหมใจ, ป๊อบ เดอะซัน, Black Head, อินคา, ตุ้ย ธีรภัทร์, ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล, โต๋ ศักดิ์สิทธิ์, พะแพง AF4, บิ๊ก ธานัท, จั๊ก ชวิน, หนึ่ง จักรวาร, ดั๊ก Infinity, ปราชญ์ อรุณรังสี ฯลฯ
  • 13 กันยายน 2551 ร่วมงานคอนเสิร์ต ในฐานะศิลปินรับเชิญ คอนเสิร์ตแด่คนช่างฝัน จรัล มโนเพ็ชร (Tribute To Jaran Manopetch) ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • 4 ตุลาคม 2551 ร่วมงานในฐานะแจกรับเชิญ คอนเสิร์ต Etc : Bring It Back ที่ อินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก
  • กุมภาพันธ์ - มีนาคม 2552 รับหน้าที่เป็น Executive Music Director ให้กับโครงการ The Master ของ True Visionเป็นการจำลองบริษัทผลิตเพลง โดยนำเอาสมาชิกที่ประสบความสำเร็จในโครงการ Academy Fantasia มาร่วมกันสร้างงาน แต่งเพลง สร้างรูปแบบโชว์ แสดงคอนเสิร์ต ทุกวันเสาร์ รวม 4 สัปดาห์ ที่ ธันเดอร์โดม และ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี เป็นครั้งแรกที่รูปแบบของรายการได้เปิดเผยถึงเบื้องหลังการทำงานเพลงอย่างละเอียดเกือบทุกขั้นตอน เป็นทั้งการให้ทั้งความรู้และความบันเทิงในลักษณะ Reality Show ที่สมบูรณ์
  • 4 กรกฎาคม 2552 - 19 กันยายน 2552 ร่วมงานกับ True Visions ในฐานะ Executive Music Production ให้กับ TRUE ACADEMY FANTASIA Season 6 โดยทำหน้าที่ควบคุมทีม Mister Music ที่เป็นทีมงานด้านดนตรีทั้งหมดในงาน AF6
  • 10 ตุลาคม 2552 โอม ชาตรี คงสุวรรณ และเพื่อนสมาชิกหลักของ The Innocent พีรสันติ จวบสมัย, สายชล ระดมกิจ และ เสนีย์ ฉัตรวิชัย ร่วมกับ สิงห์คอร์ปอเรชั่น, S2 Organizer และ I-Works Entertainment จัดคอนเสิร์ตใหญ่โดยใช้ชื่อว่า The Innocent Concert ที่ Impact Arena เมืองทองธานี ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเต็มรูปแบบ มีแขกรับเชิญมาร่วมแสดง เช่น เศรษฐา ศิระฉายา, บอยด์ โกสิยพงษ์, ป๊อด โมเดิร์นด๊อก ,บอย ตรัย ภูมิรัตน์, นภ พรชำนิ, วงลิปตา, วง The Begins, แหม่มและปุ้ม แห่งวง สาว สาว สาว, จิ๊บ วสุ , เหม วงพลอย, รักษ์ วงพลอย, ต้น แมคอินทอช, โต๋ ศักดิ์สิทธิ, หนึ่ง จักรวาร, โก้ แซ็กแมน, วง ETC และสิทธิศักดิ์ กิจเต่ง สมาชิกก่อตั้งของวง ดิอินโนเซ้น่ท์ โดย โอม ชาตรี ทำหน้าที่เป็นทั้ง Show Director และ Music Director การจัดโชว์ครั้งนี้ มีการเตรียมตัวและทำงานร่วมกันเป็นทีมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 เป็นต้นมา และในภาคดนตรี มีการซ้อมกันอย่างหนักต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังจากงานดังกล่าวเป็นที่กล่าวขานจากผู้ที่ได้เข้าชมว่าเป็นคอนเสิร์ตที่จัดได้อย่าง สนุกสนาน มีสคริปเพลงที่ลงตัว และโปรดักชั่นของคอนเสิร์ตที่สมบูรณ์แบบ ในการแสดงดังกล่าวมีเพลงที่นำมาแสดงประมาณ 30 เพลง ใช้เวลาในการแสดง 3 ชั่วโมงเต็ม
  • 3 กรกฎาคม ถึง 18 กันยายน 2553 ร่วมงานกับ True Corporation รับหน้าที่ เป็น Music Director และ ที่ปรึกษาด้านกิจกรรมดนตรี ในงาน ACADEMY FANTASIA Season 7
  • 5 ตุลาคม 2553 ได้เข้าเร่วมโครงการสิงห์ (บุญรอดฯ) โดยเป็นผู้แต่งทำนองเพลง เรียบเรียงและผลิตเพลง ชื่อ "ต้องกล้า" โดยมีนิติพงษ์ ห่อนาค เป็นผู้แต่งเนื้อร้อง และมีนักร้องหลากหลายร่วมกันร้อง ได้แก่ อัสนี โชติกุล, วสันต์ โชติกุล, หงา คาราวาน, ปู พงษ์สิทธิ์, นิติพงษ์ ห่อนาค, โอม ชาตรี, บอย โกสิยพงษ์, นภ พรชำนิ, ทาทา ยัง, บุรินทร์ บุญวิสุทธิ์, ไมค์ ภิรมย์พร, ภราดร ศรีชาพันธุ์เก๋ ประภาวดี, ประหยัด มากแสง, บุญชู เรืองกิจ, ธงชัย ใจดี, สุธิยา จิวเฉลิมมิตร, บัวขาว ป.ประมุข เพลงต้องกล้า ถูกนำมาใช้ในรายการโทรทัศน์ "ต้องกล้า" ทางโมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9 อสมท) โดยนำ Super Idol ซึ่งเป็นผู้ร้องเพลงนี้มาแสดงในแต่ละตอน นำแรงบันดาลใจแต่ละคน มาทำ Life series
  • 27 มกราคม 2554 ได้เข้าร่วมกับโครงการ ทูตความดีแห่งประเทศไทย โดยเป็นผู้แต่งเพลง Theme ให้กับรายการ D Ambassador เพื่อปลุกพลังเยาวชนทำดี โดยรายการออกอากาศทางไทยทีวีสี ช่อง 3 ทุกวันเสาร์ เริ่มตั้งแต่ เสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 และจบลงในวันเสาร์ที่ 30 เมษายน 2554 โดยเพลงที่โอม ชาตรี แต่ง ชื่อเพลง จากหนึ่งเป็นล้าน...ทำด้วยใจ โดยเป็นผู้ประพันธ์ทำนองและเรียบเรียงดนตรีทั้งหมด โดยเนื้อร้องเป็นของ วีระนนท์ นวชานน เพลงขับร้องโดย นิภาภรณ์ ฐิติธนการ (ซานิ AF6) ร่วมขับร้องประสานเสียงโดย คณะนักร้องประสานเสียง สจม. (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
  • 2 กรกฎาคม ถึง 17 กันยายน 2554 ร่วมงานกับ True Corporation รับหน้าที่ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายกิจกรมดนตรี ในงาน ACADEMY FANTASIA Season 8 โดยได้ร่วมงานกับศิลปินระดับผู้ใหญ่อีกหลายท่าน อาทิ ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ซึ่งเป็นปีที่คัดเลือกนักล่าฝันเข้ามาร่วมโครงการโดยเน้นคุณภาพความสามารถของนักล่าฝันมากกว่าปีอื่น ๆ
  • ตุลาคม - ธันวาคม 2554 ได้ร่วมงาน กับ เศรษฐา ศิระฉายา อดีตนักร้องนำ The Impossibles วงดนตรีในดวงใจของ โอม ชาตรี ในสมัยเด็ก ๆ โดยเป็นผู้ผลิตงาน (Producer) อัลบั้ม จากวันนั้น .....ถึงวันนี้ เพราะมีคุณ เป็นงานเพลงที่ เศรษฐา นำเพลงของครูเพลง 40 เพลงมาเรียบเรียงและผลิตใหม่ โดยโอม เป็นผู้รับผิดชอบ งานของครูน้อย สุรพล โทณะวณิก ทีมงานดนตรีที่ช่วยทำงานส่วนใหญ่ มาจากทีม Mister music
  • กันยายน - ธันวาคม 2554 ทำงานในฐานะ Executive Producer ผลิตงานเพลงให้กับ ผู้เข้ารอบสุดท้าย Academy Fantasia season8 (AF8)12 คน และร่วมแต่งเพลงและเรียบเรียงดนตรีอยู่ในอัลบั้มนี้ กับทีมงาน Mr.Music ชื่ออัลบั้ม AF8 ร้ายกาจ
  • มิถุนายน 2554 - ปัจจุบัน ได้เข้าร่วมงานกับ อัสนี โชติกุล , นิติพงษ์ ห่อนาค ก่อตั้งบริษัท สหภาพดนตรี ขึ้นมาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับงานดนตรี โดยมี จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี และ วุฒินันท์ ภิรมย์ภักดี แห่ง สิงห์ คอร์ปอเรชั่น เข้าร่วมบริหาร

เพลง[แก้]

  • ทองฝืนเดียวกัน (2554) รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ควบคุมการผลิต

ศิลปินรับเชิญ[แก้]

  • พรสวรรค์ ในอัลบั้ม ตรงแนวๆ ของ Tattoo Colour (2553)

คอนเสิร์ตพิเศษ[แก้]

  • Executive Producerในคอนเสิร์ต MR.TEAM Live Shock & Show In Bangkok (21 - 22 กรกฎาคม 2543)
  • คอนเสิร์ต ป้า คนดนตรี คืนชีวิตสู่ธรรมชาติ (13-14 กันยายน 2550)
  • คอนเสิร์ต LOVEiS FAMILY,THE MUSIC FESTIVAL (12-13 ธันวาคม 2551)
  • คอนเสิร์ต อยู่อย่างสิงห์ (20 เมษายน 2553)
  • คอนเสิร์ต จากวันนั้น..ถึงวันนี้ เพราะมีคุณ (13 มีนาคม 2554)
  • คอนเสิร์ต Beauty and the Beasts A Romantic Comedy Concert (29 มิถุนายน 2556)
  • คอนเสิร์ต Ohm Chatree Live 2013 The Director's Cut (22 ธันวาคม 2556)
  • คอนเสิร์ต 70 ยังแจ๋ว เศรษฐา ศิระฉายา (5 พฤศจิกายน 2557)
  • คอนเสิร์ต Ohm Chatree Solo Live Special (27 สิงหาคม 2557)
  • คอนเสิร์ต Ohm Chatree Live 2014 : rpg replay (28 ธันวาคม 2557)
  • คอนเสิร์ต Yes We Can Chatree-Asanee-Nitipong (4 เมษายน 2558)
  • คอนเสิร์ต The Producer คอนเสิร์ตหนึ่งจักรวาลและล้านดวงดาว (17 กันยายน 2559)
  • คอนเสิร์ต Music Never Dies By เศรษฐา ศิระฉายา (8 พฤศจิกายน 2559)
  • คอนเสิร์ต Ohm Chatree Live Rewat Forever 2017 (7 พฤษภาคม 2560)

ผลงานสร้างชื่อในฐานะนักแต่งเพลง[แก้]

งานที่ทำเผยแพร่นอกเหนือจากเพลงและดนตรี[แก้]

ออกหนังสือ Pocket Book ชื่อ ภูธร สู่นครบาล (Age of The Innocent) โดยเป็นผู้ประพันธ์ เล่าเรียงราว เกี่ยวกับชีวิตของตนเองตั้งแต่เด็ก จนเข้ามาสู่วงการดนตรี บรรณาธิการและเรียบเรียงโดย พีรภัทร โพธิสารัตนะ วางจำหน่าย เมื่อ 10 ตุลาคม 2552

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]