ช็อน ดู-ฮวัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ชอน ดูฮวาน)
ช็อน ดู-ฮวัน
전두환
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ คนที่ 5
ดำรงตำแหน่ง
1 กันยายน พ.ศ. 2523 – 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531
ก่อนหน้าชเว กยู-ฮา
ถัดไปโน แท-อู
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด18 มกราคม พ.ศ. 2474
Naecheon-ri, Yulgok-myeon, ฮับช็อน เกาหลีภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น
(ปัจจุบันคือฮับช็อน จังหวัดคย็องซังใต้ ประเทศเกาหลีใต้)
เสียชีวิต23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 (90 ปี)[1]
ศาสนาพุทธ (เดิมนับถือโรมันคาทอลิก)
พรรคการเมืองสาธารณรัฐประชาธิปไตย
คู่สมรสอี ซุน-จา (2501–2564)
ลายมือชื่อ
ช็อน ดู-ฮวัน
ฮันกึล
전두환
ฮันจา
อาร์อาร์Jeon Duhwan
เอ็มอาร์Chŏn Tuhwan
นามปากกา
ฮันกึล
일해
ฮันจา
อาร์อาร์Ilhae
เอ็มอาร์Irhae

ช็อน ดู-ฮวัน (อักษรโรมัน: Chun Doo-hwan; 18 มกราคม พ.ศ. 2474 – 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564) คืออดีตนักการเมืองและนายทหารประจำกองทัพสาธารณรัฐเกาหลี เป็นอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระหว่าง พ.ศ. 2523 ถึง 2531

ชอนได้ถูกศาลตัดสินประหารชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2539 เนื่องจากการจัดการกับผู้ชุมนุมในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจูอย่างเข้มงวดและรุนแรงเกินเหตุ แต่ในเวลาต่อมาได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดีคิม ย็อง-ซัมด้วยคำแนะนำของประธานาธิบดีคนต่อมาคิม แด-จุง ซึ่งเคยถูกช็อน ดู-ฮวันตัดสินประหารชีวิตเมื่อ 20 ปีก่อน

ชีวิตในช่วงเริ่มแรก[แก้]

ช็อน ดู-ฮวันเกิดเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2474 ที่ยูลกอกมยอง ในหมู่บ้านเกษตรกรที่ยากจนในเมืองฮับชอน จังหวัดคยองซานใต้ ระหว่างการยึดครองเกาหลีของจักรวรรดิญี่ปุ่น ชอนเป็นบุตรชายคนที่สี่ของ ชอน ซางอูและคิม จองมุน[2] ชอนมีพี่ชาย 2 คน คือ ยอลฮวาน และ คยูกอน ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุตั้งแต่ยังเป็นทารก ฉะนั้นเมื่อเติบโตขึ้นชอนจึงยังรู้จักและสนิทกับพี่ชายคือ กิฮวาน และ น้องชายคยองฮวาน

ประมาณ พ.ศ. 2479 ครอบครัวของชอนย้ายไปยัง แดกู ที่ชอนได้เริ่มเข้าศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาโฮรัน พ่อของชอนเคยทะเลาะกับตำรวจของญี่ปุ่น (เก็มเปไต) และพ่อของเขาได้ฆาตกรรมกัปตันของตำรวจญี่ปุ่นในฤดูหนาว พ.ศ. 2482[2] ทำให้ครอบครัวของเขาต้องหลบหนีไปยังมณฑลจี๋หลิน ประเทศจีน เป็นเวลา 2 ปีจึงได้กลับเกาหลี ซึ่งทำให้เขาได้หยุดเรียนหนังสือไป 2-3 ปี

ใน พ.ศ. 2490 ช็อน ดู-ฮวันได้เข้าเรียนโรงเรียนมัธยมต้นอาชีวศึกษาแดกู ซึ่งห่างจากบ้านของเขาถึง 25 กิโลเมตร[2]และเขาได้ย้ายไปยังโรงเรียนมัธยมปลายอาชีวะศึกษาแดกู ได้รับยกเว้นผลการเรียนเมื่อสงครามเกาหลีปะทุขึ้น

ประวัติการรับราชการทหาร[แก้]

ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากชั้นมัธยมปลายใน พ.ศ. 2494 ช็อน ดู-ฮวัน ได้เข้าไปในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงคือ โรงเรียนนายร้อยทหารบกเกาหลี (Korea Military Academy) ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาได้ผูกมิตรไว้กับหลายคนระหว่างนักเรียนด้วยกัน ซึ่งต่อมาจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เขาทำการยึดอำนาจในอีกหลายปีต่อมา เขาสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2498 และได้รับการแต่งตั้งยศร้อยตรี โดยสำเสร็จการศึกษาในรุ่น 11[3]

ในขณะที่ชอน มียศร้อยเอก เขาได้เป็นผู้นำการชุมนุมที่โรงเรียนกองทัพบกเกาหลีระหว่างการรัฐประหารวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 เพื่อสนับสนุนพัก จองฮี ในการขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ต่อมาเขาถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสภาสูงสุดเพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศชาติ[3] ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ขึ้นโดยตรงกับประธานาธิบดีพัก และชอนได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพันตรีอย่างรวดเร็วใน พ.ศ. 2505 ซึ่งเขายังได้สร้างฐานอำนาจให้กับเพื่อนและคนรู้จักอย่างต่อเนื่อง และชอนยังได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการพิเศษกองบัญชาการและต่อมาก็ได้กลับมาดำรงตำแหน่งที่สภาสูงสุดเพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศชาติในตำแหน่งผู้บัญชาการฝ่ายกิจการพลเรือน ใน พ.ศ. 2506 ชอนได้รับตำแหน่งในองค์การประมวลข่าวกรองเกาหลีใต้ ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล ใน พ.ศ. 2512 เขาก็ได้เป็นที่ปรึกษาเสนาธิการทหาร

ใน พ.ศ. 2513 ชอนได้รับการเลื่อนขั้นเป็นพันเอก เขาได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการประจำกรมทหารที่ 29 กองทหารราบที่ 9 และมีส่วนร่วมในสงครามเวียดนาม ภายหลังได้กลับมายังเกาหลีใต้ใน พ.ศ. 2514 เขาได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังพิเศษกองพลน้อยที่ 1 (กองขนส่งทางอากาศ) และต่อมาได้เลื่อนขั้นเป็นนายพลระดับ 1 (1성 장군) และใน พ.ศ. 2519 ได้รับตำแหน่งรองผู้บัญชาการหน่วยงานความมั่นคงสำนักประธานาธิบดี และได้รับการเลื่อนขึ้นเป็นนายพลระดับ 2 (2성 장군) ใช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่ง และใน พ.ศ. 2521 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทหารราบที่ 1[3]

และใน พ.ศ. 2522 ชอนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการในกองบัญชาการรักษาความมั่นคง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงที่สุดของเขาในขณะนั้น

ขึ้นสู่อำนาจ[แก้]

ฮานาเฮว[แก้]

ชอนจัดตั้งกลุ่มฮานาเฮว ซึ่งเป็นชมรมลับของเหล่าทหาร ตั้งขึ้นไม่นานหลังจากที่เขาได้รับตำแหน่งนายพล สมาชิกกลุ่มส่วนมากอยู่ในรุ่น 11 ของโรงเรียนนายร้อยทหารบกเกาหลี,เพื่อนกลุ่มอื่นๆและผู้สนับสนุนของเขา

เหตุการณ์การสังหารประธานาธิบดี พัก จองฮี[แก้]

ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522 ประธานาธิบดีพัก จองฮีถูกลอบสังหารโดย คิม เจคยู ผู้อำนายการสำนักข่าวกรองกลางเกาหลี ในขณะที่อยู่ในงานเลี้ยงอาหารค่ำ คิมได้เชิญนายพล จอง เซิงฮวา เสนาธิการทหารบก และ คิม จองโซบ รองผู้อำนวยการข่าวกรองกลางเกาหลี มารับประทานอาหารค่ำอย่างลับๆในห้องอื่นเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่า จอง เซิงฮวา จะปฏิเสธว่าไม่ได้ปรากฏตัวและมีส่วนข้องกับการสังหารประธานาธิบดีพัก แต่ความเกี่ยวข้องของเขาก็เป็นข้อพิสูจน์ว่ามีความสำคัญอย่างมากในเวลาต่อมา ในชั่วโมงแห่งความโกลาหล คิม เจคยูก็ไม่ได้ถูกจับเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพราะรายละเอียดในขั้นต้นยังไม่ชัดแจ้ง

เมื่อผ่านชั่วเวลาแห่งความสับสน ในกระบวนการตามรัฐธรรมนูญเรื่องผู้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี เช กิวฮา ขึ้นรักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดี ไม่นานหลังจากนั้น นายพลจอง ซึงฮวาภายใต้ชื่อกองบัญชาการรักษาความมั่นคงของชอนได้มุ่งทำการสืบสวนการฆาตกรรมที่เกิดขึ้น ชอนได้มีคำสั่งอย่างทันทีให้ผู้ใต้บังคับบัญชาร่างแผนที่จะให้มีอำนาจเต็มใน "กองบัญชาการการสืบสวนร่วม"[4]

วันที่ 27 ตุลาคม ชอนจัดประชุมที่กองบัญชาการของเขา ได้เชิญบุคคลสำคัญ 4 คนซึ่งรับผิดชอบในเรื่องของหน่วยข่าวกรองทั่วประเทศได้แก่ รองผู้บัญชาการฝ่ายต่างประเทศสำนักงานข่าวกรองกลาง,รองผู้บัญชาการฝ่ายกิจการภายในสำนักข่าวกรองกลาง,อัยการสูงสุดและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ[4] ชอนให้แต่ละคนค้นหาข้อมูลที่ประตูที่เขาเข้ามา ก่อนที่จะให้พวกเขานั่งและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตายของประธานาธิบดี ชอนประกาศว่าหน่วยข่าวกรองกลางต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ให้เหตุการณ์การสังหารประธานาธิบดี เพราะฉะนั้นจึงต้องสอบสวนเหตุการณ์นี้ ชอนประกาศว่าจะไม่ให้หน่วยงานข่าวกรองกลางมีอำนาจบริหารงบประมาณเป็นของตัวเองอีกต่อไป

สำหรับหน่วยข่าวกรองกลาง "ในการดำเนินการที่มีความอิสระในการตัดสินใจในงบประมาณของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถที่จะยอมรับได้ เพราะฉะนั้น พวกเขาสามารถดำเนินการในหน้าที่ของพวกเขาที่ได้รับมอบอำนาจจากกองบัญชาการการสืบสวนร่วมเท่านั้น"

— ช็อน ดู-ฮวัน, ผู้บัญชาการ กองอำนวยการรักษาความมั่นคง และ กองบัญชาการการสืบสวนร่วม , 27 ตุลาคม 2522

ชอนยังได้มีคำสั่งต่อจากนั้นให้หน่วยข่าวกรองทุกหน่วยรายงานไปยังสำนักงานของเขาทุกวันเวลา 08.00 น. และเวลา 17.00 น. ทุกวัน ดังนั้นชอนจึงสามารถตัดสินใจว่าข้อมูลอะไรที่ทำให้เขาสามารถบัญชาการได้มากขึ้น ในอีกก้าวหนึ่ง ชอนได้ควบคุมหน่วยงานข่าวกรองทุกหน่วยทั่วทั้งประเทศ และชอนได้ตั้งรองผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองด้านต่างประเทศให้ดูแลรับผิดชอบกิจการของหน่วยข่าวกรองกลางในแต่ละวัน

พันตรี พัก จุนกวาง ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของชอนในเวลานั้นได้วิจารณ์ว่า

"ชอนอยู่ต่อหน้าองค์กรที่ทรงอำนาจมากที่สุดภายใต้ประธานาธิบดีพัก จองฮี เป็นที่น่าประหลาดใจว่าชอนสามารถควบคุมหน่วยงานต่างๆได้ และใช้ความสามารถของเขาทำให้เขาได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นั้น และในขณะนั้นดูเหมือนว่าเขาจะมีอำนาจที่โตขึ้นอย่างมาก"

— พัก จุงกวาง, ขณะที่อยู่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคง และ กองบัญชาการการสืบสวนร่วม

รัฐประหาร 12 ธันวาคม[แก้]

ในเดือนธันวาคม ช็อน ดู-ฮวันพร้อมกับโนห์ แทวู,จอง โฮยอง,ยู ฮักซอง,ฮโย ซัมซูและเพื่อนร่วมรุ่น 11 ของโรงเรียนนายร้อยทหารบก โดยอาศัยความได้เปรียบจากสถานการณ์การเมืองที่บอบบางและการเติบโตขึ้นของกลุ่มฮานาเฮว การได้ตัวผู้บัญชาการคนสำคัญและการล้มล้างกลุ่มองค์กรของหน่วยข่าวกรองของชาติ

ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ชอนออกคำสั่งโดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากประธานาธิบดี ชเว คยูฮา โดยการออกคำสั่งโดยมิชอบให้จับกุมตัวผู้บัญชาการทหารบก จอง ซึงฮวาในฐานสมคบคิดกับคิม เจคยูสังหารประธานาธิบดี ระหว่างการจับกุมมีการปะทะกันเกิดขึ้น พันตรี คิม โอราง ที่ปรึกษาของนายพลจอง ได้เสียชีวิตระหว่างการปะทะ

การรวมอำนาจ[แก้]

ต้นปี พ.ศ. 2523 ชอนได้รับการเลื่อนยศเป็น พลโท และเขาได้เริ่มเข้ามาสนใจในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลาง ในวันที่ 14 เมษายน ชอนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลาง

ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจู และ การใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง[แก้]

วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ชอนได้ทำการขยายเขตการใช้กฎอัยการศึกไปทั่วประเทศ โดยกล่าวหาว่ามีข่าวลือว่าเกาหลีเหนือจะแทรกซึมเข้าสู่เกาหลีใต้ เพื่อบังคับใช้กฎอัยการศึก กำลังทหารจะถูกส่งไปยังหลายๆส่วนของประเทศ สำนักงานหน่วยข่าวกรองกลางซึ่งจัดการข่าวลือเหล่านี้ภายใต้คำสั่งของชอน นายพลวิกแฮม (กองทัพอเมริกันที่ประจำการในเกาหลี) รายงานว่า การมองโลกในแง่ร้ายของชอนในการประเมินสถานการณ์ภายในประเทศและความตึงเครียดของเขาในเรื่องการคุกคามของเกาหลีเหนือดูเหมือนจะเป็นข้ออ้างในการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี[5] การขยายกฎอัยการศึกในการปิดมหาวิทยาลัย ห้ามการเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง การเพิ่มข้อจำกัดกับฝูงชน เหตุการณ์ในวันที่ 17 พฤษภาคมจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้อำนาจเผด็จการทหาร

ชาวเมืองหลายคนมีความไม่พอใจเพิ่มขึ้นอย่างมากจากการที่กองกำลังทหารมาตั้งอยู่ในเมือง ในวันที่ 18 พฤษภาคม ประชาชนเมืองกวางจูได้จัดการเคลื่อนไหวซึ่งได้เป็นที่รู้จักกันในเหตุการณ์ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจู ชอนมีคำสั่งให้หยุดยั้งเหตุการณ์นี้และได้ส่งกองกำลังทหารเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในเมือง และนำไปสู่การฆาตกรรมหมู่ตลอดระยะเวลาสองวัน ท้ายที่สุดก็นำไปสู่การล่มสลายของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยและความตายของนักเคลื่อนไหวในเมืองกวางจูนับร้อยคน

เส้นทางสู่ประธานาธิบดี[แก้]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 ชอนมีคำสั่งยุบสภาแห่งชาติ ลำดับต่อมาได้ก่อตั้งคณะกรรมการนโยบายป้องกันชาติฉุกเฉินขึ้น และตั้งตัวเองเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนั้น ในวันที่ 17 กรกฎาคม ชอนลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง และก็ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการในคณะกรรมการที่ตนตั้งขึ้นเท่านั้น

วันที่ 5 สิงหาคม ชอนได้เลื่อนยศเป็นนายพลผู้มีอำนาจเต็ม ในวันที่ 22 สิงหาคม ชอนได้รับอนุญาตให้กลับจากหน้าที่สู่ทหารกองหนุน

สาธารณรัฐเกาหลีที่ 5[แก้]

ประธานาธิบดีวาระที่ 11 ของเกาหลีใต้ (2523-2524)[แก้]

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2523 ประธานาธิบดี เช กิวฮา ประกาศว่าจะลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี และในวันที่ 27 สิงหาคม สภาแห่งชาติเพื่อการรวมประเทศ ในขณะนั้นถูกควบคุมโดยคณะผู้เลือกตั้งแห่งเกาหลีใต้ ได้ลงคะแนนเลือกนายชอนเป็นประธานาธิบดี ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม เพราะนายชอนเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงคนเดียว เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2523 เป็นประธานาธิบดีวาระที่ 11 ของสาธารณรัฐเกาหลี

วันที่ 17 ตุลาคม ชอนได้ใช้อำนาจสั่งการยุบพรรคการเมืองทุกพรรค รวมถึง "พรรคสาธารณรัฐประชาธิปไตย" ซึ่งได้จัดไว้เป็นฐานอำนาจของ พัก จองฮี ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2524 ชอนได้ร่างพรรคการเมืองของตนขึ้นมาคือ พรรคยุติธรรมประชาธิปไตย (ดีเจพี) อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจและเจตนาทั้งหมดก็คงเป็นพรรคสาธารณรัฐประชาธิปไตยแต่อยู่ในชื่ออื่นเท่านั้น ภายหลังจากนั้นไม่นาน ชอนได้รับเอารัฐธรรมนูญใหม่ ขณะที่ยังมีความเป็นเผด็จการน้อยกว่ารัฐธรรมนูญยูซินของพัก ซึ่งยังคงให้อำนาจในการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างยุติธรรม ชอนเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งเป็นสิทธิของเขา และกลายเป็นประธานาธิบดีวาระที่ 12 ของสาธารณรัฐเกาหลี

"บันทึกข้อความเกี่ยวกับขีปนาวุธ"[แก้]

ใน พ.ศ. 2523 ในขณะที่เผชิญความตึงเครียดกับสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการเข้าควบคุมทาวทหารของชอน ประธานาธิบดีชอนได้ออกบันทึกข้อความว่าประเทศเกาหลีใต้จะไม่พัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลเกินกว่า 180 กิโลเมตรหรือความสามารถของหัวรบที่หนักกว่า 453 กิโลกรัม ภายหลังจากได้รับคำสัญญานั้น รัฐบาลของโรนัลด์ เรแกน ก็ได้ให้การรับรองรัฐบาลทหารของชอน

ในปลายทศวรรษที่ 90 เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาได้คุยกับในเรื่องบันทึกข้อความเกี่ยวกับขีปนาวุธ แทนที่จะทำให้บันทึกข้อความนี้สมบูรณ์อย่างเต็มที่ ทั้งสองประเทศได้ตกลงอนุญาตขยายให้พัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลได้ 300 กิโลเมตร และมีความสามารถของหัวรบ 500 กิโลกรัม ข้อสัญญานี้จะมีผลในปี พ.ศ. 2544 ภายใต้ชื่อระบบควบคุมเทคโนโลยีขีปนาวุธ

ประธานาธิบดีวาระที่ 12 ของเกาหลีใต้ (2524-2531)[แก้]

ประธานาธิบดี ช็อน ดู-ฮวัน เข้าฟังการสรุปของกองทัพในปี พ.ศ. 2528

ภายหลังจากได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีลำดับที่ 12 ของสาธารณรัฐเกาหลีในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 ชอนได้ปฏิเสธความเป็นประธานาธิบดีของพัก จองฮี ถึงแม้ว่าจะเสี่ยงต่อการโจมตีจากการอ้างอิงจากเรื่องการปฏิวัติเดือนเมษายนของพักที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ชอนประกาศว่าจะฟื้นฟูความยุติธรรมกลับมาสู่รัฐบาลก็กำจัดความฉ้อฉลและการฉ้อราษฎร์บังหลวงของประธานาธิบดีพัก จองฮี[6] เป็นการเริ่มต้นด้วยการล้มล้างเป็นการฝึกฝนที่จะเป็นประธานาธิบดีมากกว่าหนึ่งสมัย และขยายสมัยของประธานาธิบดีเป็นเจ็ดปี ชอนได้สรุปส่วนสำคัญว่าเป้าหมายของเขาคือโปรแกรมช่วยเหลือสวัสดิการสังคม,ตรึงราคาสินค้า,กำจัดอาชญากร,พัฒนาเศรษฐกิจ,ประสบความสำเร็จในการจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อนปี 1988 ที่เกาหลีจะเป็นเจ้าภาพ,และภาพรวมการค้าระหว่างประเทศเป็นไปได้ด้วยดี

ชอนบริหารประเทศแบบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม เขาก็มีอำนาจน้อยเมื่อเทียบกับพัก สมัยพักเป็นประธานาธิบดี ในการใช้อำนาจในหลายๆส่วนของชอนค่อนข้างจะอ่อนแอ

แผนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์[แก้]

ทฤษฎีที่ว่าประธานาธิบดีชอนพยายามที่จะพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงทศวรรษที่ 1980 และได้ล้มเลิกโครงการไปตามคำกล่าวอ้างของสหรัฐอเมริกา

รัฐบาลของชอนไม่ได้มีอิทธิพลทางการเมืองที่สำคัญเหมือนอย่างในสมัยที่พักเป็นประธานาธิบดี รัฐบาลของเขาไม่อาจละเลยความต้องการของสหรัฐอเมริกา และเขาไม่มีทางเลือกจึงต้องยุติการพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์[7][8] ชอนกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และอเมริกา ซึ่งอาจนำมาซึ่งจุดจบอย่างสำคัญของอำนาจเผด็จการอย่างยาวนานของพัก จองฮี และชุนอยากได้การรับรองอย่างถูกต้องของรัฐบาลของเขาตามกฎหมายจากสหรัฐอเมริกา

การปฏิรูปการเมือง[แก้]

ภายหลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ชอนจำกัดการติวนอกโรงเรียนและห้ามการสอนตัวต่อตัวหรือการติวแบบตัวต่อตัว

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2523 ชอนได้ยกเลิก กฎหมายที่กำหนดความผิดของการรวมกลุ่มสมาคม

ใน พ.ศ. 2524 ชอนได้ออกกฎหมาย "แคร์แอนคัสทูดี" (Care and Custody) ชอนเชื่อว่า อาชญากรที่พึ่งพ้นจากคุกมาจะไม่กระทำผิดซ้ำอีกทันทีที่กลับเข้าสู่สังคม

ในฤดูหนาวปี พ.ศ. 2527 ก่อนที่ชอนจะประกาศหยุดพักการชำระหนี้ของเกาหลีใต้ ชอนได้ไปเยือนญี่ปุ่นและขอกู้ยืมเงินหกพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

จากการรัฐประหารยึดอำนาจและการปะทะหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วประเทศ การเมืองภาคพลเมืองมีความต้องการที่จะไม่ใส่ใจ และในวิถีทางนโยบาย 3เอสคือ เอส-เซ้กส์,เอส-สกรีนและเอส-สปอร์ต นั่นผ่านความเห็นชอบ บนพื้นฐานในทางที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของนักกิจกรรมชาวญี่ปุ่น เซจิมะ เรียวโจ โดยชอนพยายามที่จะดึงดูดประชาชนเพื่อที่จะเป็นการรับประกันว่าการเตรียมการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนใน พ.ศ. 2531 จะประสบความสำเร็จ ชอนได้ออกกฎหมายหลายตัวอย่างรวดเร็วเพื่อทำสิ่งนี้ให้เสร็จสิ้น เช่น ร่างลีกเบสบอล,ฟุตบอลอาชีพ,เริ่มถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์สีให้ครอบคลุมทั่วประเทศบรรเทาการเซ็นเซอร์ที่อยู่ในภาพยนตร์และละคร,สร้างเครื่องแบบนักเรียนและอื่นๆ

ใน พ.ศ. 2524 ชอนได้จัดการเทศกาล "โคเรียน บรีซ" อย่างยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากรประชาชน

ความพยายามลอบสังหาร[แก้]

ความพยายามลอบสังการเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2526 โดยสายลับชาวเกาหลีเหนือ ระหว่างชอนไปเยือนพม่า ระเบิดในครั้งนั้นได้ทำให้ผู้ติดตามของชอน 17 คน รวมถึงคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ชาวพม่า 4 คน[9]

นโยบายด้านต่างประเทศ[แก้]

ช็อน ดู-ฮวันเป็นประธานาธิบดีในช่วงที่สงครามเย็นถึงจุดสูงสุด และนโยบายทางด้านการต่างประเทศของเขาทำให้มีการยุติกับประเทศคอมมิวนิสต์ไปรอบบริเวณ ไม่เพียงจากเกาหลีเหนือ อีกด้วย หลังจากนั้นเริ่มสถาปนาทางการทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน

ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา[แก้]

สหรัฐอเมริกาได้กดดันให้เกาหลีใต้ยุติแผนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น[แก้]

หนังสือพิมพ์ของญี่ปุ่นได้รายงานอย่างกว้างขวางว่าชอนเป็นผู้นำโดยพฤตินัย ของประเทศหนึ่งเดือนก่อนที่เขาจะเคลื่อนไหวสู่การเป็นประธานาธิบดี

ความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ[แก้]

ใน พ.ศ. 2525 ชอนได้ประกาศ "โครงการการรวมชาติอย่างสันติของประชาชนชาวเกาหลี" แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากเกาหลีเหนือว่าโครงการนี้ไม่สามารถที่จะเริ่มต้นได้

ความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์[แก้]

จาก พ.ศ. 2529 ถึง 2531 ชอนและประธานาธิบดีคอราซอน อากีโนของฟิลิปปินส์ ได้พูดคุยกันระหว่างสองประเทศเพื่อที่จะสร้างเศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ให้แข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งทางด้านสังคมและความสัมพันธ์ที่ดีของทั้งสองประเทศ

การสิ้นสุดสาธารณรัฐที่ 5[แก้]

โน ชินยอง[แก้]

จากจุดเริ่มต้นในการเป็นประธานาธิบดีของชอนได้จัดเตรียมการให้ โน ชินยองเป็นผู้สืบทอดอำนาจของเขา ใน พ.ศ. 2523 ขณะที่เป็นเอกอัครราชทูตประจำอยู่ที่เจเนวา โนชินยองได้ถูกเรียกกลับ และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาใน พ.ศ. 2525 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ และใน พ.ศ. 2528 ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เมื่อเรื่องนี้เป็นที่แพร่หลาย ผู้สนับสนุนชอนได้ทำการวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการเลือกผู้สืบทอดอำนาจ ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้มีส่วนกับกองทัพ ซึ่งเชื่อว่าผู้สืบทอดอำนาจของชอนก็ต้องมาจากกองทัพเช่นเดียวกัน ไม่ใช่มาจากตำแหน่งทางการเมือง และในที่สุดแล้วชอนก็ได้ทำให้กระจ่างโดยการเปลี่ยนตำแหน่งของโน ไม่ให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจของเขา

ถนนสู่ประชาธิปไตย[แก้]

รัฐธรรมนูญปี 2524 ได้กำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นได้หนึ่งสมัย สมัยละ 7 ปี ในขณะที่ชอนไม่พยายามที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังนั้นชอนสามารถที่จะกลับมาทำงานได้อีกครั้งในปี พ.ศ. 2530 ทำให้เขามีข้ออ้างในการต่อต้านประชาธิปไตย

ในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2530 ชอนได้กล่าวสุนทรพจน์ "การปกป้องรัฐธรรมนูญ" เขาประกาศว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขาสามารถที่จะจัดการกับอำนาจเหนือกองทัพที่สนับสนุนเขาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 บนพื้นฐานของการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยทางอ้อมคล้ายกับการเลือกตั้งของชอนเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา คำประกาศดังกล่าวทำให้ผู้รักประชาธิปไตยในเกาหลีใต้โกรธแค้น และในการทำเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่องที่กระทำร่วมกันของรัฐบาลชอนในปีนั้น ทำให้ผู้ประท้วงเริ่มเคลื่อนไหวอีกครั้ง เริ่มด้วยการประกาศสุนทรพจน์ที่โบสถ์โซลอีพิสคะเพิลแอนเจลลิก และในที่สุดก็นำไปสู่การเคลื่อนไหวทางประชาธิปไตยในเดือนมิถุนายน

เพื่อที่จะควบคุมสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะควบคุมไม่ได้ รัฐบาลของชอนจึงต้องประนีประนอม และในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2531 เขาประกาศว่าโนห์ แทวู เป็นตัวแทนจากพรรคยุติธรรมประชาธิปไตย (ดีเจพี) และนี่จะเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งแรกในรอบ 30 ปีของเกาหลี ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 ชอนประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคดีเจพี เหลือเพียงตำแหน่งประธานผู้ทรงคุณวุฒิ แต่ก็ยังให้เป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการที่จะสามารถควบคุมการเลือกตั้งที่จะมาถึงของ โนห์

การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2530[แก้]

ครบสมัยการเป็นประธานาธิบดีของชอน และในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 โนห์ชนะการเลือกตั้งในการเลือกตั้งโดยตรงครั้งแรกในรอบ 30 ปีของเกาหลี โดยชนะคู่แข่งอย่าง คิม แดจุง และ คิม ยองซัม

ชีวิตหลังจากตำแหน่งประธานาธิบดี[แก้]

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2531 ในการลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีเพราะสิ้นสุดสมัยของเขา ชอนยังมีชื่อเป็นประธานของคณะกรรมการรัฐบุรุษแห่งชาติ และจากตำแหน่งนี้ทำให้เขายังมีอิทธิพลในการเมืองระดับชาติอยู่ และในปีนั้นพรรคดีเจพีเสียที่นั่งในการเลือกตั้งสภาระดับชาติให้กับฝ่ายค้านหลายที่นั่ง ปูทางไปสู่สิ่งที่เรียกว่า "การไต่สวนสาธารณรัฐที่ 5" การไต่สวนนี้รัฐสภาได้จุดประกายเรื่องเหตุการณ์ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจูและจะเป็นผู้รับผิดชอบอย่างไรกับการฆาตกรรมหมู่ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ชอนได้ออกแถลงการณ์ขอโทษต่อหน้าสาธารณชนทั่วประเทศ และให้เงินของเขากลับคืนสู่ประเทศชอนลาออกจากทั้งตำแหน่งประธานคณะกรรมการรัฐบุรุษแห่งชาติและตำแหน่งในพรรคดีเจพี

โน แทอู[แก้]

ช็อนเป็นผู้ให้การสนับหลักในการเป็นประธานาธิบดีของโนห์ แทวู

คิม ยองซัม[แก้]

ภายหลังคิม ยองซัมทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีใน พ.ศ. 2536 คิมประกาศว่าระหว่างสมัยของ ช็อน ดู-ฮวัน กับสมัยของ โนห์ แทวู นั้นมีการรับสินบนถึง 4 แสนล้านวอน และพวกเขาต้องถูกควบคุมตัวเพื่อไต่สวนพิสูจน์ความจริง

การสืบสวน ชอนและโนห์[แก้]

ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 ประชาชนพากันร้องไห้อย่างเสียงดัง ในเรื่องเกี่ยวกับการรัฐประหาร 12 ธันวาคม พ.ศ. 2521 และเหตุการณ์นองเลือดในกวางจู ดังนั้น คิม ยองซัมได้ประกาศเริ่มต้นการเคลื่อนไหวออกกฎหมายเอาผิดย้อนหลัง ที่มีชื่อว่า ร่างรัฐบัญญัติพิเศษ 5-18 การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่าการกระทำของชอนขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้พนักงานอัยการเริ่มทำการสืบสวนอีกครั้ง ในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ชอนและอีก 16 คนถูกจับกุมในข้อหาสมคบคิดและก่อการกบฏ ในเวลาเดียวกันการสืบสวนในเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวงในช่วงที่เป็นประธานาธิบดีก็ได้เริ่มต้นขึ้น

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2539 การไต่สวนต่อสาธารณชนก็เริ่มต้นขึ้น วันที่ 26 สิงหาคม ศาลเขตกรุงโซลก็มีคำพิพากษาประหารชีวิต ต่อมาในวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2539 ศาลสูงเขตกรุงโซลได้ออกคำพิพากษาให้จำคุกและจ่ายค่าปรับคำนวณ 220,500,000,000 วอน ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2540 การตัดสินคดีได้มาถึงที่ศาลสูง ชอนได้ถูกพิพากษาว่ามีความผิด เป็นผู้นำในการก่อการจลาจล,สมคบคิดในการก่อจลาจล,เข้าไปมีส่วนร่วมในการจลาจล,ออกคำสั่งเคลื่อนย้ายกำลังพลโดยมิชอบ,ละทิ้งหน้าที่ระหว่างกฎอัยการศึก,ฆาตกรรมข้าราชการระดับสูง,พยายามฆาตกรรมข้าราชการระดับสูง,ฆาตกรรมนายทหารผู้ใต้บังคับบัญชา,เป็นผู้นำในการก่อการกบฏ,สมคบคิดในการก่อกบฏ,เข้าไปมีส่วนร่วมในการกบฏ,ฆาตกรรมโดยมีเหตุจูงใจเพื่อก่อกบฏและอาชญากรรมอย่างหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบน

ภายหลังศาลได้อ่านคำพิพากษา ชอนเริ่มต้นชีวิตในเรือนจำ ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2540 คำพิพากษาของชอนได้รับการลดโทษโดยประธานาธิบดี คิม ยองซัม ด้วยคำแนะนำของคิม แดจุง แต่ชอนไม่ได้รับการลดโทษในส่วนที่เกี่ยวกับค่าปรับ เขาได้จ่ายจ่ายเพียง 53,200,000,000 วอน ไม่ถึงหนึ่งในสี่ส่วนของค่าปรับทั้งหมดที่ศาลพิพากษา ชอนได้กล่าวคำพูดที่มีชื่อเสียง โดยกล่าวว่า "ทั้งเนื้อทั้งตัวฉันมีเงินเพียง 25,000 วอนเท่านั้นที่อยู่ในชื่อของฉัน" ที่เหลืออีก 167,300,000,000 วอนนั้น ชอนไม่เคยได้จ่ายเลย

การเรียกคืนเหรียญตราทางทหาร[แก้]

จากกฎหมาย "รัฐบัญญัติพิเศษ 18 พฤษภาคม" เหรียญตราทั้งหมดสำหรับทหารในการเข้าแทรกแซงขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในกวางจูได้ถูกเรียกกลับคืนสู่รัฐบาล แต่ก็ยังเหลืออีก 9 เหรียญที่ยังไม่ได้คืนให้รัฐบาล

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Former South Korean military dictator Chun Doo-hwan dies at 90
  2. 2.0 2.1 2.2 Choi Jin (최진) (30 October 2008). "대통령의 아버지, 누구인가?…가난한 농사꾼에서 거제도 갑부까지 ①" [Who is the father of the president?...From a poor farmer to a rich man of Geoje Island]. JoongAng Ilbo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-04. สืบค้นเมื่อ 31 October 2009.
  3. 3.0 3.1 3.2 "전두환" [Chun Doo-hwan] (ภาษาเกาหลี). Nate People (Nate 인물검색). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-01. สืบค้นเมื่อ 4 November 2009.
  4. 4.0 4.1 Jo, Gap-je (조갑제) (7 December 1997). "(박정희의 생애) "내 무덤에 침을 뱉어라!"... (48)" [(Biography of Park Chung-hee) "Spit on my grave!"... (48)] (ภาษาเกาหลี). The Chosun Ilbo. สืบค้นเมื่อ 1 November 2009. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  5. United States Government Statement on the Events in Gwangju, Republic of Korea, in May 1980
  6. Jeon, Jae-ho (전재호) (2000). 반동적 근대주의자 박정희 [Reactionary Modernist, Park Chung-hee (Bandongjeok geundaejuuija Bak Jeong-hui)] (ภาษาเกาหลี). South Korea: 책세상 (Chaeksesang). pp. 112–113. ISBN 9788970131481.
  7. Park, Jong-jin (박종진) (23 September 2004). "(한반도 핵) 무궁화 꽃이 피었습니까?". Hankooki (ภาษาเกาหลี). สืบค้นเมื่อ 4 November 2009.
  8. Seo, Byeong-gi (서병기) (18 July 2005). "'제5공화국' 전두환,핵무기개발 포기 방영후 네티즌 비난" [After the broadcasting of 'The 5th Republic' that the President, Chun Doo-hwan gave up developing nuclear weapons, Netizens criticized] (ภาษาเกาหลี). Korea Herald Business. สืบค้นเมื่อ 4 November 2009.
  9. 2 get death for info leak เก็บถาวร 2012-09-09 ที่ archive.today News24
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นายเชิน ดู ฮวาน เก็บถาวร 2014-12-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๐, ตอน ๑๐๒ , ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ ,ฉบับพิเศษหน้า ๑๒