ชวลี ช่วงวิทย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ชวลี ช่วงวิทย์
ชวลี ช่วงวิทย์ ในวัยสาว
ชวลี ช่วงวิทย์ ในวัยสาว
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467
ชนอ ช่วงวิทย์
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต11 เมษายน พ.ศ. 2534 (67 ปี)
จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย
คู่สมรสประกาศ นิลประสิทธิ์
อาชีพนักร้อง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2485 - 2534
ผลงานเด่นสั่งใจ โพ้นขอบฟ้า ขอให้ได้ดังใจนึก จากรัก ไห้หา ชะรอยบุญ กำพร้าคู่ บึงน้ำรัก รักไม่เป็น เป็นต้น
สังกัดวงดนตรีสุนทราภรณ์

ชวลี ช่วงวิทย์ (12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 - 11 เมษายน พ.ศ. 2534) นักร้องยุคต้นของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นเจ้าของบทเพลงอมตะหลายเพลง เช่น ริมฝั่งน้ำ รักสลาย เริงฤทัย ไห้หา โพ้นขอบฟ้า ขอให้ได้ดังใจนึก และอื่นๆ อีกมากมาย เจ้าของฉายา สาริกาน้อยเสียงใส , ห้องสมุดเคลื่อนที่ และ สาวสองพันปี

ประวัติ[แก้]

ชวลีย์ ช่วงวิทย์ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 ที่กรุงเทพมหานคร เดิมชื่อ "ชนอ ช่วงวิทย์" สำเร็จการศึกษามาจากโรงเรียนสายปัญญา และสอบเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่สละสิทธิ์เพื่อจะร้องเพลงตามที่ใจรัก ด้านชีวิตครอบครัว ชวลีสมรสกับประกาศ นิลประสิทธิ์ และมีบุตรธิดา2คน 1.นายชินการณ์ นิลประสิทธิ์(เปี๊ยก เมืองทอง) 2.นางสาวช่อแก้ว นิลประสิทธิ์ หรือที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ โชติมา ช่วงวิทย์ อดีตนักร้องนำวง ดอกไม้ป่า เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2559 ได้รับรางวัล บูรพศิลปิน จากกระทรวงวัฒนธรรม

วงการเพลง[แก้]

ชวลี ช่วงวิทย์ ชื่นชอบการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก แต่ได้เริ่มร้องเพลงอย่างจริงจัง เมื่อ พ.ศ. 2485 โดยชวลีได้เข้าวงดนตรีกรมโฆษณาการ ตามคำชักชวนของจมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) นับว่าเป็นนักร้องหญิงคนที่ 4 ของวง (ต่อจาก มัณฑนา โมรากุล, รุจี อุทัยกร, และสุปาณี พุกสมบุญ ) ชวลีได้นำเพลงมาขับร้องทดสอบกับเปียโนที่ครูสริ ยงยุทธบรรเลง 2 เพลง คือ เพลงดวงใจ และเพลงสาส์นรัก อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 เพลง ผลปรากฏว่า ชวลีผ่านการขับร้อง และได้รับบรรจุเป็นคีตศิลปิน กรมโฆษณาการ ในขณะอายุ 18 ปี[1]

เมื่อจะต้องร้องเพลงแล้ว ชื่อ "ชนอ ช่วงวิทย์" ก็เริ่มเป็นปัญหาในการขับร้องเพลง เพราะญาติไม่ต้องการให้ใช้ชื่อจริงในการขับร้องเพลง ครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงได้เปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น "ชวลี" แต่ใช้นามสกุลเดิม จึงเป็นชื่อชวลี ช่วงวิทย์เรื่อยมาตลอด (ชื่อของชวลี ช่วงวิทย์นั้น เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมานานว่าเป็น "ชวลี" หรือ "ชวลีย์" กันแน่ โดยทางทายาทยืนยันว่าเป็น "ชวลี" ตามหลักฐานที่ครูเอื้อได้เขียนนำเสนอเพลงที่จะบรรเลงขับร้องทางวิทยุคลื่นสั้น ต่อหัวหน้ากองวิทยุฯ ก่อนบรรเลงทุกครั้ง ในขณะที่ปกแผ่นเสียง เทป และซีดีที่มีอยู่นั้นมักจะเขียนเป็น "ชวลีย์")[2]

ชวลี ช่วงวิทย์ร้องเพลงในวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์มานานกว่า 30 ปี โดยมีผลงานเพลงที่บันทึกแผ่นเสียงไว้ค่อนข้างมาก โดยมักจะเป็นเพลงคู่กับ ครูเอื้อ สุนทรสนาน และ วินัย จุลละบุษปะ และด้วยเสียงที่สูง กังวาน และหวานทำให้ชวลี ช่วงวิทย์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ขับร้องบทเพลงพระราชนิพนธ์เป็นจำนวนมาก นับว่ามากที่สุดในบรรดานักร้องวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์ก็ว่าได้ เช่น คำหวาน,ยิ้มสู้,ยามเย็น,ยามค่ำ,อาทิตย์อับแสง,สายลม เป็นต้น

ในระหว่างที่อยู่ในวงดนตรีกรมโฆษณาการนั้น ได้มีการประกวดการร้องเพลงของนักร้องอาชีพด้วย ในครั้งนี้ ชวลีเข้าร่วมประกวดด้วย พร้อมกับมัณฑนา โมรากุล, สุภาพ รัศมิทัต และครูล้วน ควันธรรม โดยชวลีได้เลือกเพลงบัวงาม (เกียรติศักดิ์หญิงไทย) เข้าประกวด แต่ในครั้งนี้มัณฑนา โมรากุลชนะการประกวดฝ่ายหญิง

ชวลีร้องเพลงอยู่ในวงดนตรีกรมโฆษณาการนานเกือบ 30 ปี ก็ได้ลาออกจากราชการไปเมื่อ พ.ศ. 2513 ด้วยเหตุผลบางประการ แต่ยังไม่ละทิ้งชีวิตการร้องเพลงเสียทีเดียว เพราะชวลียังกลับมาขับร้องเพลงอยู่บ้างในบางโอกาสกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ เป็นต้น โดยครั้งสุดท้ายที่ชวลีออกมาร้องเพลง คือ งาน "สุนทราภรณ์ครึ่งศตวรรษ" เมื่อ พ.ศ. 2532

ภายหลังจากที่ชวลีออกจากวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ และ วงดนตรีสุนทราภรณ์แล้ว น้องสาวต่างมารดาของชวลียังเข้ามาเป็นนักร้องดาวรุ่งพรุ่งนี้ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ นั่นคือ ช่อฉัตร รัตนกมล เจ้าของเพลงคมปาก ปัจจุบันขับร้องอยู่กับคณะจารุกนก ในความควบคุมของโศภดาห์ เกตุผึ้ง

ที่มาของฉายา[แก้]

ชวลี ช่วงวิทย์ มีฉายาสำคัญถึง 3 ฉายา ได้แก่ สาริกาน้อยเสียงใส,สาวสองพันปี และห้องสมุดเคลื่อนที่ โดยมีที่มาต่างกัน ดังนี้

  • สาริกาน้อยเสียงใส เป็นฉายาที่มาจากเสียงร้องที่หวาน กังวาน และสูง แต่ตัวเหมือนกับนกสาริกา
  • สาวสองพันปี เป็นฉายาที่มาจากการแต่งตัวที่ฉูดฉาดเมื่อออกร้องเพลง ถึงแม้จะอายุมากแล้วก็ตาม
  • ห้องสมุดเคลื่อนที่ เป็นฉายาที่มาจากความจำอันเป็นเลิศของชวลี ที่สามารถจดจำเนื้อเพลงได้มาก และสามารถบอกครูเอื้อ สุนทรสนาน และ วินัย จุลละบุษปะได้ ในขณะร้องเพลงบนเวที

ผลงานเพลง[แก้]

ผลงานเพลงของชวลี ช่วงวิทย์ สามารถจำแนกออกมาได้เป็นหลายประเภทดังนี้[3]

1. เพลงพระราชนิพนธ์ เช่น คำหวาน, ยามเย็น, ยามค่ำ, ยิ้มสู้, สายลม เป็นต้น

2. เพลงขับร้องเดี่ยว เช่น ขอให้ได้ดังใจนึก, สั่งใจ, โพ้นขอบฟ้า, รอยรักร้าว, กำสรวลรัก, กล่อมวนา, กุลสตรี, ค่อนดึก, ความรักเหมือนฟองเบียร์, จำปีฟ้า, จากรัก, กล่อมใจ, ชื่นตาฟ้างาม, ชีวามาลา, ไซซี, ดาวเคลื่อนเดือนคล้อย, ดาวเจ้าชู้, ดอกท้อริมธาร, ถูกมนต์รัก, ถ้าฉันมีคนรัก, นี่แหละกรุงเทพฯ, บัวไกลตา, บัวงาม (เกียรติศักดิ์หญิงไทย), บัวบูชาธรรม, ฝันถึงคนรัก, เพลงลอยลม, พ้อรัก, เพลงจากดวงใจ, แม่, แม่ศรี, ยามดึก, เริงฤทัย, รักไม่ตาย(ร้องสด), รอรัก (ร้องสด), โรคขาดรัก, รักสลาย, รักนิรันดร์, ริมฝั่งน้ำ, สิรินธร, สุดหล้าฟ้าเขียว, สวรรค์บันดาล, สาวเล่นธาร, หาดสวรรค์, หัวหินสิ้นมนต์รัก, เห่หารัก, หนึ่งในดวงใจ, หนามกุหลาบ, หมั่นไส้ผู้ชายแสนงอน, ไห้หา, อุบลรัตน์ เป็นต้น

3. เพลงขับร้องคู่ (ชาย-หญิง) ที่มักจะร้องคู่กับครูเอื้อ สุนทรสนาน และ วินัย จุลละบุษปะ เช่น กำพร้าคู่(คู่วินัย), กระแต(คู่วินัย), ชะรอยบุญ(คู่วินัย), ดวงเดือน(คู่วินัย), นกสีชมพู(คู่วินัย), บึงน้ำรัก(คู่เอื้อ), กรุงเทพฯราตรี(คู่เอื้อ), กังหันต้องลม (ร้องสด), กุหลาบงาม, คติรัก(คู่เอื้อ), คูหาสวรรค์(คู่เอื้อ), คำรักคำขวัญ(คู่เอื้อ), ความดี(ร้องสด), คนธรรพ์กับพิณทิพย์ (คู่วินัย), จันทร์ลับเมฆ(คู่วินัย), กระท่อมรัก(คู่วินัย), เจ้าพระยา(คู่เอื้อ), จนนาง(คู่เอื้อ), จันทร์จูบฟ้า(คู่วินัย), ช่อรักซ้อน(คู่วินัย), ดาวประดับฟ้า(ร้องสด), ดอกไม้ในฝัน(ร้องสด), เดือนประดับใจ(คู่วินัย), ดีกันนะ(คู่วินัย), ใต้แสงเทียน(คู่วินัย), ตลาดนัด(คู่เอื้อ), ตัวไกลใจห่วง(คู่เอื้อ), ธาราธิษฐาน(คู่วินัย), ธารน้ำรัก(คู่วินัย), บางกอกลาที(คู่เอื้อ), บ่อโศก(คู่วินัย), ฝันหวาน(คู่วินัย), ฝากลมจูบ(คู่วินัย), พุ่มพวงดวงใจ(คู่วินัย), เพียงแค่ขอบฟ้า(คู่วินัย), พายเรือพลอดรัก(คู่วินัย), บนสายสวาทแห่งใจ(คู่วินัย), เมื่อฝนโปรย(คู่เอื้อ), ยอดเทพี(คู่วินัย), ราตรีประดับดาว(คู่วินัย), รวงทิพย์(คู่เอื้อ), เรือเร่เรือรัก(คู่วินัย),, ร่วมรัก(คู่เอื้อ), รักไม่เป็น(คู่เอื้อ), แรกพบสบรัก(คู่เอื้อ), ลมรัก(คู่วินัย), ลาวดวงดอกไม้(คู่วินัย), ลมเพ้อ(คู่วินัย), แว่วรัก(คู่วินัย), สวนสวรรค์(คู่เอื้อ), เสี่ยงเทียนเสี่ยงรัก(คู่วินัย), สุดแสนพิศวาส,(คู่วินัย) ห้าแต้ม(คู่วินัย), หนาวลมห่มรัก(คู่วินัย), หน้าผา(คู่วินัย), เหลือจะเชื่อ(คู่วินัย), เอื้องไพร(คู่วินัย), แอ่วซุ้ม(คู่วินัย), เพลงแห่งความหลัง(คู่วินัย,เอื้อ) เป็นต้น

4. เพลงขับร้องคู่ (หญิง) และเพลงขับร้องกลุ่ม-หมู่ เช่น เกาะสีชัง(คู่มัณฑนา), ขวัญข้าว, จับปลาสองมือ(คู่สุปาณี,เลิศ), ตามทุย(คู่ศรีสุดา), โธ่ผู้ชาย(คู่สุปาณี,มัณฑนา), ปรึกษารัก(คู่สุปาณี), ผู้ชายนี่ร้ายนัก(คู่จันทนา), ภาษารัก(คู่มัณฑนา), เลือกคู่(คู่เพ็ญศรี), สาวริมธาร(คู่เพ็ญศรี,มัณฑนา), มารักกันเถอะ(คู่จันทนา) , ฉันไม่ลอง(คู่จันทนา), ปัญหามีคู่(คู่จุรี) เป็นต้น

นอกจากนี้ ชวลียังแต่งเนื้อร้องเพลง "รำวงตอบรัก" ร่วมกับครูชอุ่ม ปัญจพรรค์ โดยใช้ทำนองเพลงหุ่นกระบอก แต่มีส่วนร่วมเล็กน้อย ชื่อผู้แต่งเพลงนี้จึงปรากฏเพียงชื่อของครูชอุ่ม ปัญจพรรค์

ถึงแก่กรรม[แก้]

ชวลี ช่วงวิทย์ถึงแก่กรรมที่บ้านในจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2534 สิริรวมอายุได้ 67 ปี

อ้างอิง[แก้]

  1. "ชวลีย์ ช่วงวิทย์ "สาริกาน้อยเสียงใส" แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-09. สืบค้นเมื่อ 2010-04-01.
  2. บ้านคนรักสุนทราภรณ์ เก็บถาวร 2016-03-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. "ชวลีย์ ช่วงวิทย์ "สาริกาน้อยเสียงใส" แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-09. สืบค้นเมื่อ 2010-04-01.