ฉากแท่นบูชาเกนต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิวเมื่อเปิดบานพับภาพ
วิวเมื่อปิดบานพับภาพ

ฉากประดับแท่นบูชาเกนต์ (ดัตช์: Gents altaarstuk; อังกฤษ: Ghent Altarpiece) หรือ ลูกแกะของพระเจ้า (ดัตช์: Het Lam Gods; อังกฤษ: Adoration of the Mystic Lamb) เป็นบานพับภาพเขียนเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1432 ที่เขียนแบบตระกูลการเขียนภาพแบบเนเธอร์แลนด์เริ่มแรกซึ่งเคยตั้งอยู่ที่โบสถ์น้อยโยสต์ ไฟต์ (Joost Vijdt) ในมหาวิหารเซนต์บาโวที่เมืองเกนต์ในประเทศเบลเยียม แต่ต่อมาย้ายไปอยู่อีกส่วนหนึ่งของมหาวิหารเพื่อความปลอดภัย

ประวัติ[แก้]

บานพับภาพเกนต์จ้างให้ทำโดยโยโดกึสหรือโยสต์ ไฟต์ (Jodocus Vijdt) ผู้เป็นพ่อค้าผู้มีฐานะดี งานเขียนเริ่มโดยฮือเบิร์ต ฟัน ไอก์ (Hubert van Eyck) ผู้เสียชีวิตเมื่อ ค.ศ. 1426 ขณะที่ยังเขียนภาพนี้อยู่ งานนี้จึงมาเสร็จโดยยัน ฟัน ไอก์ ผู้เป็นน้องชาย บานพับภาพนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเขียนภาพแบบใหม่ซึ่งเป็นการเขียนที่นิยมความเป็นธรรมชาติแทนที่จะเป็นเขียนแบบจินตนาการนิยมศิลปะคลาสสิก[1]

ตัวบานพับภาพประกอบด้วยฉากทั้งหมด 24 ฉากซึ่งมองได้เป็นสองชุด ชุดเมื่อเปิดบานภาพและชุดเมื่อปิดบานภาพ แถวบนของบานเปิดตรงกลางเป็นภาพพระคริสตราชา สองข้างเป็นพระนางมารีย์พรหมจารีและยอห์นผู้ให้บัพติศมา ปีกถัดไปจากพระแม่มารีและนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมาเป็นภาพทูตสวรรค์ร้องเพลงสรรเสริญและเล่นดนตรี ด้านนอกสุดจากทูตสวรรค์เป็นอาดัมและอีฟ แถวที่สองตรงกลางเป็นภาพการชื่นชมของ "ลูกแกะของพระเจ้า" ซึ่งมีผู้ร่วมชื่นชมหลั่งไหลกันมามากมายภายใต้นกพิราบที่เป็นสัญลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ ในวันทำงานบานพับภาพจะปิดให้เห็นภาพด้านนอก "แม่พระรับสาร" และโยสต์ ไฟต์ ผู้อุทิศเงินสร้าง และลึสแบ็ตเตอ บอร์ลืต (Lysbette Borluut) ผู้ภรรยา

บนกรอบเคยมีตัวอักษรบ่งว่าฮือเบิร์ต ฟัน ไอก์ ผู้ "เหนือกว่าผู้ใด" (maior quo nemo repertus) เป็นผู้เริ่มเขียนภาพ และยัน ฟัน ไอก์ เรียกตนเองว่า "ช่างเขียนมือรอง" (arte secundus) เป็นผู้เขียนเสร็จในปี ค.ศ. 1432 แต่กรอบที่แกะสลักอย่างสวยงามรอบบานพับถูกทำลายระหว่างการปฏิรูปคริสตจักร สันนิษฐานกันว่าส่วนที่สูญหายไปอาจจะรวมทั้งกลไกที่ใช้ปิดเปิดบานพับซึ่งอาจจะรวมทั้งดนตรีประกอบด้วย[2]

กรอบล่างทางด้านซ้ายที่รู้จักกันในนาม "The Just Judges" ถูกขโมยไปเมื่อปี ค.ศ. 1934 กรอบที่เห็นเป็นภาพลอกโดยแย็ฟ ฟันเดอร์เฟเกิน (Jef Vanderveken) เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1945 ภาพที่ถูกขโมยเป็นส่วนสำคัญของนวนิยายเรื่อง "La chute" โดยอาลแบร์ กามูว์

แผงบนตอนหน้า[แก้]

ภาพสำคัญกลางสามภาพ[แก้]

ภาพของบุคคลสำคัญสามคนด้านหน้าก็ได้แก่พระแม่มารีย์ทางด้านซ้ายและยอห์นผู้ให้บัพติศมาทางด้านขวา แต่ใครคือบุคคลตรงกลางยังไม่ทราบเป็นที่แน่นอนและยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บางทฤษฏีกล่าวว่าเป็นภาพพระเยซูผู้มีชัย (Christ in trumph) ทรงเครื่องอย่างนักบวช[3] หรืออาจจะเป็น[[พระเจ้าrit[bfk]] หรืออาจจะเป็นพระตรีเอกภาพที่รวมอยู่ในภาพเดียวกันซึ่งจะเห็นได้จากมงกุฎที่สวมที่เป็นมงกุฏสามชั้นซึ่งอาจจะเป็นการสนับสนุนทฤษฏีหลังนี้

พระแม่มารีย์
พระเจ้าและพระเยซู
นักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมา

ทูตสวรรค์ร้องเพลงสรรเสริญ[แก้]

ทูตสวรรค์
ทูตสวรรค์ (รายละเอียด)

รอบบุคคลทั้งสามเป็นทูตสวรรค์เล่นดนตรีและร้องเพลงสรรเสริญ รายละเอียดของเครื่องดนตรีและเสื้อผ้าวาดอย่างละเอียด บทสอนเพลงสรรเสริญในสมัยนั้นจะบ่งได้ว่าใบหน้าทูตสวรรค์องค์ใดร้องตัวโน้ตใด เมื่อนักประวัติศาสตร์ศึกษารายละเอียดของใบหน้าก็สามารถบอกได้เช่นเดียวกัน และแม้แต่ออร์แกนที่นักบุญเซซีลีอานั่งเล่นก็มีรายละเอียดสมบูรณ์พอที่จะให้นักศึกษาการดนตรีสามารถสร้างออร์แกนจำลองจากภาพได้

อาดัมและอีฟ, เคนและเอเบล[แก้]

ด้านบนของบานพับทางปีกข้างซ้ายขวาเป็นภาพของอาดัมและเอวาที่มองมาทางกลางบานพับ ร่างคลุมด้วยใบไม้ อีฟถือผลไม้แต่ไม่ใช่แอปเปิลตามปกติแต่เป็นส้มผลเล็กที่รู้จักกันว่า "แอปเปิลของอาดัมแห่งสวนเอเดน" (Adam's Apple Garden of Eden) ตัวอาดัมแสดงท่าราวกับก้าวออกมาจากภาพได้ซึ่งทำให้ผู้ดูมีความรู้สึกว่าเป็นภาพสามมิติ

เหนืออาดัมและอีฟเป็นภาพเอกรงค์ (grisaille) ของเอเบลสังเวยแกะตัวแรกในฝูงแก่พระเจ้า และเคนถวายสิ่งที่เก็บเกี่ยว จากนั้นก็เป็นภาพเคนสังหารเอเบลด้วยกระดูกกรามของลาตามคัมภีร์ไบเบิลที่ว่าเคนอิจฉาที่พระเจ้ารับเครื่องสังเวยจากเอเบลก่อน ฟัน ไอก์วาดแบบรูปปั้นซึ่งทำให้ภาพมีรู้สึกว่าลึก

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 รูปเปลือยของอาดัม และ อีฟไม่เป็นที่ยอมรับภายในคริสตจักร ฉะนั้นแผงจึงถูกเขียนแทนด้วยภาพอาดัมและเอวาที่มีเครื่องปิดบังที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในมหาวิหารนอกโบสถ์น้อย Vijdt

แผงล่างด้านหน้า[แก้]

แผงกลางตอนล่าง[แก้]

ตอนล่างของแผงเป็นภาพการชื่นชมของลูกแกะของพระเจ้า โดยมีผู้คนมากมายจากทุกมุมมาสักการะ เหนือลูกแกะเป็นนกพิราบซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ[พระวิญญาณบริสุทธิ์]ที่ส่องแสงสว่างไปทั่วภาพ รอบแกะเป็นทูตสวรรค์สิบสี่องค์ ด้านหน้าเป็นน้ำพุแห่งชีวิต (fountain of life) ที่ไหลลงมาเป็นลำธารที่พื้นที่เต็มไปด้วยอัญมณี

ด้านหน้าทางซ้ายด้านล่างเป็นกลุ่มประกาศกชาวยิวคุกเข่าถือคัมภีร์ไบเบิลหรือหนังสือที่เกี่ยวกับพันธสัญญา ด้านหลังเป็นนักปรัชญาในลัทธินอกศาสนา และนักเขียนที่มาจากทั่วโลกซึ่งจะเห็นได้จากใบหน้าบางคนที่ออกไปทางตะวันออก และหมวกและเครื่องสวมหัวที่ต่าง ๆ กัน ผู้ที่แต่งเสื้อขาวอาจจะเป็นเวอร์จิล (Virgil) ผู้ที่เห็นกันว่าเป็น "Christian avant-la-lettre" ทางด้านขวาเป็นอัครทูต ด้านหลังของอัครทูตเป็นนักบุญชายและพระสันตะปาปาและนักบวชอยู่ด้านหน้า ในบรรดานักบุญก็มีนักบุญสเทเฟนที่ถือก้อนหินที่ถูกขว้าง

ด้านหลังของภาพจะเห็นมรณสักขีในศาสนาคริสต์, นักบวชทางซ้ายและผู้หญิงทางขวาต่างก็ถือใบปาล์ม ผู้หญิงบางคนก็ทราบได้ว่าเป็นใครจากสิ่งที่ถือ

มรณสักขีชาย
นักเขียนและผู้เผยพระวจนะชาวยิว
การนมัสการลูกแกะ
มรณสักขีหญิง
นักบุญชาย, พระสันตะปาปาด้านหน้า

บานข้างตอนล่าง[แก้]

จากแผงกลางจะเห็นเป็นผู้คนหลายกลุ่ม แผงสองแผงทางซ้ายเป็นภาพ "Just Judges" และ "อัศวินของพระคริสต์" (Knights of Christ) ทางด้านขวาเป็นฤๅษี, ผู้แสวงบุญรวมทั้งนักบุญคริสโตเฟอร์ผู้เป็นนักบุญผู้พิทักษ์ผู้เดินทาง

แผงล่างทางซ้ายสุด "Just Judges" ถูกขโมยเมื่องปี ค.ศ. 1934 แต่แม้ว่าจะมีคนอ้างว่าทราบที่ซ่อนแต่ก็ยังไม่พบและเชื่อกันว่าถูกทำลายไปแล้ว ภาพที่หายถูกแทนด้วยงานลอกโดย Jef Vanderveken ในปี ค.ศ. 1945

งานเลียนแบบ "Just Judges"
"อัศวินของพระเยซู"
เฮอร์มิต
ผู้แสวงบุญ

รายละเอียด[แก้]

ยัน ฟัน ไอก์ ตั้งใจเขียนรายละเอียดต่าง ๆ อย่างละเอียดไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรือเครื่องตกแต่ง น้ำพุ และธรรมชาติรอบ ๆ หรือโบสถ์และภูมิทัศน์ที่เป็นฉากหลังโดยเฉพาะภูมิทัศน์ที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยพฤกษานานาพันธุ์ซึ่งรวมทั้งพืชพันธุ์นอกยุโรป

บานเมื่อปิด[แก้]

การประกาศของเทพ[แก้]

บานหลักเมื่อปิดเป็นภาพแม่พระรับสารตลอดทั้งสี่แผงที่เขียนในลักษณะที่เรียกว่าจิตรกรรมเอกรงค์ ทางด้านซ้ายเป็นคำประกาศของกาเบรียล ทางด้านขวาเป็นคำตอบของพระแม่มารีย์ที่เหมือนกับงานแม่พระรับสารอีกชิ้นหนึ่งของยัน ฟัน ไอก์ที่เขียนคว่ำเพื่อให้พระเจ้าอ่านได้ คาดกันว่าทิวทัศน์จากหน้าต่างอาจจะเป็นทิวทัศน์จากที่ที่ฟัน ไอก์ทำงานที่เกนต์

กาเบรียล
พระแม่มารีย์

โยโดกึส ไฟต์ และลึสแบ็ตเตอ บอร์ลืต[แก้]

โยโดกึส (โยสต์) ไฟต์ ผู้จ้างเป็นพ่อค้าที่มั่งคั่งแต่ไม่มีบุตรธิดา

โยสต์ ไฟต์
ลึสแบ็ตเตอ บอร์ลืต

บานอื่น ๆ[แก้]

ระหว่างผู้อุทิศเป็นนักบุญยอห์นผู้ให้บัพติศมากับยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารเป็นรูปปั้นบนแท่นวาดแบบเอกรงค์ ด้านบนเป็นเศคาริยาห์ (ผู้เผยพระวจนะชาวฮีบรู) และมีคาห์มองลงมาดูว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำนายไว้เป็นจริง ซึ่งเขียนบนแถบลอยอยู่เหนือศีรษะของทั้งสองคน ระหว่างทั้งสองก็เป็นผู้ทำนายการมาของพระเยซู

อ้างอิง[แก้]

  1. Gombrich, E.H., The Story of Art, pages 236-9. Phaidon, 1995. ISBN 0-7148-3355-X
  2. Website with scanned reconstructions of the frame from Lotte Brand Philip's book, The Ghent Altarpiece (Princeton,1971), which originated some of these ideas.
  3. Lane, Barbara G,The Altar and the Altarpiece, Sacramental Themes in Early Netherlandish Painting, Harper & Row, 1984, ISBN 0-06-430133-8 - pp 109 ff

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ฉากแท่นบูชาเกนต์