หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จุลลดา ภักดีภูมินทร์)

ศรีฟ้า มหาวรรณ

เกิด26 มกราคม พ.ศ. 2473
วังมหาสวัสดิ์ ตำบลคลองมหาสวัสดิ์ กรุงเทพ
เสียชีวิต16 เมษายน พ.ศ. 2556 (83 ปี)
โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
นามปากกาศรีฟ้า ลดาวัลย์
จุลลดา ภักดีภูมินทร์
สีฟ้า
อาชีพนักเขียน
คู่สมรสนายบุญทัศน์ มหาวรรณ (พ.ศ. 2504 - 2556)

หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ (26 มกราคม พ.ศ. 2473 - 16 เมษายน พ.ศ. 2556) นักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น และสารคดีเกี่ยวชีวิตเจ้านายในวัง เจ้าของนามปากกา "ศรีฟ้า ลดาวัลย์" "สีฟ้า" และ "จุลลดา ภักดีภูมินทร์" ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2539 และมีผลงานเล่มแรกคือเรื่อง ปราสาทมืด

ประวัติ[แก้]

กำเนิด[แก้]

หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ มีนามเดิมว่า หม่อมหลวงศรีฟ้า ลดาวัลย์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2473 ที่วังมหาสวัสดิ์ เป็นธิดาของหม่อมราชวงศ์สนั่น ลดาวัลย์ (โอรสหม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ กับหม่อมห่วง ลดาวัลย์ ณ อยุธยา) กับนางบัวจันทร์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา โดยมารดาเสียชีวิตไปตั้งแต่ท่านอายุได้ 5 ขวบ หม่อมหลวงศรีฟ้ามีน้องสาว คือ หม่อมหลวงศรีทอง ลดาวัลย์ (ถึงแก่กรรม) ซึ่งเป็นนักเขียนเช่นกัน ใช้นามปากกาว่า "ข.อักษราพันธ์" เป็นผู้เขียนนวนิยายเรื่อง ภาพอาถรรพณ์ , ดาวพระศุกร์ , ดอกโศก , พลับพลึงสีชมพู , มรสุมสวาท , โรงแรมวิปริต และ สายรักสายสวาท

การศึกษา[แก้]

หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ จบการศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ และศึกษาต่อที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่เลิกเรียนเมื่ออยู่ชั้นปีที่ 3 แล้วไปเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟศรีราชา โรงเรียนพณิชยการพระนคร และโรงเรียนพณิชยการบพิตรพิมุข จนถึงปี พ.ศ. 2516 จึงลาออกมาเป็นนักเขียนอาชีพจนถึงแก่กรรม

งานเขียน[แก้]

หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ เริ่มงานเขียนเรื่องสั้นตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายเมื่อ พ.ศ. 2489 ใช้นามปากกา "ภัฏฏินวดี" ตีพิมพ์ในนิตยสารเดลิเมล์ และไทยใหม่ ต่อมาได้ใช้นามปากกา "จุลลดา ภักดีภูมินทร์" เขียนนวนิยายเรื่อง "ปราสาทมืด" ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ เมื่อ พ.ศ. 2498 ได้รับความนิยมมาก ตีพิมพ์ใหม่หลายสิบครั้ง และมีผู้นำไปสร้างภาพยนตร์ไทยและละครโทรทัศน์หลายครั้ง ต่อมาได้ใช้นามปากกา "ศรีฟ้า ลดาวัลย์" เขียนเรื่องสั้น และนวนิยาย ส่วนนามปากกา "จุลลดา ภักดีภูมินทร์" ใช้เขียนนวนิยายชีวิตครอบครัว ในระยะหลังได้ใช้นามปากกานี้ เขียนสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเชื้อพระวงศ์ในวัง ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย [1]

หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ เขียนนวนิยายสะท้อนสังคม โดยใช้นามปากกาว่า "สีฟ้า" ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ตั้งให้โดยมานิต ศรีสาคร (สีน้ำ) เป็นนามปากกาที่สร้างชื่อเสียง ผลงานได้รับรางวัล และถูกนำไปสร้างภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก เช่นเรื่อง "วงเวียนชีวิต" "ข้าวนอกนา" "ทำไม" "แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์" "ใต้ฟ้าสีคราม" "เศรษฐีนี" "ตะวันไม่เคยเลยลับ" โดยเฉพาะเรื่องข้าวนอกนา และ ใต้ฟ้าสีคราม ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยมูลนิธิโตโยต้า และถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์

สมรส[แก้]

หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ สมรสกับนายบุญทัศน์ มหาวรรณ นักธุรกิจ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504

ถึงแก่กรรม[แก้]

หม่อมหลวงศรีฟ้า มหาวรรณ ถึงแก่กรรมเมื่อเวลา 17.45 น. ของวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556 ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า​ สิริอายุได้ 83 ปี 2 เดือน 21 วัน [2] โดยทายาทและลูกศิษย์ได้กำหนดจัดสวดพระอภิธรรมที่ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร​ ถนนกรุงเกษม แขวงวัดเทพศิรินทร์เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย​ ตั้งแต่วันที่ 18-24 เมษายน โดยมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และเก็บศพไว้บำเพ็ญกุศลเป็นเวลา 100 วัน และขอพระราชทานเพลิงศพ

ผลงาน[แก้]

นามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์

  • บ่วง (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง 2535และ2555 ช่อง3)
  • หลอน
  • ริษยา
  • เพื่อนรัก
  • ขมิ้นกับปูน (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 4 ครั้ง 2528 ช่อง9, 2533​ ช่อง7, ​2544 ช่อง3​ และ​ 2559 ช่อง7 )
  • วันหนึ่ง
  • อันความดี
  • ลางรัก
  • แม่ม่าย
  • เรือนแรม
  • บ้านโลกย์
  • ปราสาทมืด (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 4 ครั้ง 2525 ช่อง5 2531 ช่อง7 2537และ2552 ช่อง3)
  • เจ้านาย
  • อรุณสวัสดิ์ (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 3 ครั้ง 2535 ช่อง7 2542 ช่อง3 2557 ช่องโมโน29)

นามปากกา ศรีฟ้า ลดาวัลย์

  • ใครกำหนด (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2545 ช่อง 7)
  • กุหลาบไร้หนาม (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2553 ช่อง3)
  • ชลาลัย
  • ผู้มีชัย
  • สวรรค์ยังมีที่
  • หัวใจนั้นอ่อนนุ่ม
  • พรหมไม่ได้ลิขิต (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2538 ช่อง3 และ 2561 ช่องวัน)
  • หลานสาวคุณหญิง
  • สาวแก่
  • ไม้อ่อน
  • เศรษฐีนี
  • บุญบรรพ์
  • ความเอย...ความรัก
  • เครื่องแบบสีขาว
  • กนกลายโบตั๋น (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2533 ช่อง 7)
  • เงารัก
  • ครอบ(บ้าน)ครัว(เดียว)
  • ตุ๊กตามนุษย์ฯ
  • สมการวัย (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2532 ช่อง 7)
  • ประทีปอธิษฐาน
  • โสนบานเช้า คัดเค้าบานเย็น (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2543 ช่อง7)
  • คนกลางเมือง
  • รักเร่ เร่ร้างรัก
  • สามอนงค์
  • เกาะแก้วกรุงอินทร์
  • ฤๅสักแต่ว่าเป็นนารี
  • เงารัก

นามปากกา สีฟ้า

  • บ้านเกิด
  • เจ้าหล่อน
  • เปลือก
  • มุกดามะดัน
  • โอ้มาดา (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2538 ช่อง 7)
  • เก้าอี้ทอง
  • นายอำเภอที่รัก
  • เกิดแล้วเป็นคน
  • เมืองแก้ว
  • หลง
  • ใต้ฟ้าสีคราม
  • คอนโดมิเนียม
  • วงเวียนชีวิต
  • กิ่งไผ่ (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2540 ช่อง 7)
  • ชัยชนะ
  • มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ
  • หัวใจดวงน้อย
  • ความรักสีเพลิง
  • อีสา และ รวีช่วงโชติ (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 3 ครั้ง 2531 และ 2541 ช่อง 7 , 2556 ช่อง 5)
  • ทางโค้ง
  • หุ้นชีวิต
  • ข้าวนอกนา (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2533 ช่อง 7)
  • รวีช่วงโชติ
  • ชมพูเบิกฟ้า
  • แก่นกระพี้
  • คนบาป
  • อรุณรุ่ง...ทุกพรุ่งนี้
  • โอ้..โลกีย์สุข
  • เหตุเกิดในครอบครัว
  • เท้งเต้ง
  • ภรรยาจอมปลอม
  • ตะวันไม่เคยเลยลับ
  • ผู้เป็นที่รัก...นิรันดร์
  • ช่องที่ไม่ว่าง
  • ตะวันในดวงใจ
  • คุณหมอช่วยด้วย
  • ครูซ่อนกลิ่น
  • ทำไม?
  • เหตุเกิดบนฟ้า
  • พิกุลแกมเกดแก้ว

เรื่องสั้น และ สารคดี

  • นกขมิ้นในเวียนนา
  • ปลายทางของดารา
  • เหตุเกิดบนฟ้า
  • เชอรี่บนต้นโสน
  • เลาะวัง : บุคคล สถานที่ และ เหตุการณ์สำคัญ
  • เลาะวัง : พระราชโอรสธิดา ในพระราชวงศ์กรุงธนบุรี และ พระบรมราชจักรีวงศ์
  • เลาะวัง : พระอัครมเหสี พระภรรยาเจ้า และเจ้าจอม ในรัชกาลที่ 1-10
  • ชีวิต ความคิด และ นวนิยาย
  • เวียงวัง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

ลำดับสาแหรก[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. นามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ มาจากพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลดาวัลย์ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ผู้เป็นทวด และเป็นต้นราชสกุลลดาวัลย์
  2. "สิ้น'ศรีฟ้า ลดาวัลย์'นักเขียนนิยายดัง จากคมชัดลึก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-18. สืบค้นเมื่อ 2013-04-17.
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-10-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๒๙ ข หน้า ๑๙, ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๐
  • ประทีป เหมือนนิล. 100 นักประพันธ์ไทย. กรุงเทพ : สุวีริยาสาส์น, 2542. หน้า 479. ISBN 974-8267-78-4