จุดมืดดวงอาทิตย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จุดดับบนดวงอาทิตย์)
จุดมืดดวงอาทิตย์เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2547
แผนภาพจำนวนของจุดมืดในรอบ 400 ปี

จุดมืดดวงอาทิตย์ หรือ จุดดับบนดวงอาทิตย์ (อังกฤษ: Sunspot) คือ พื้นที่ส่วนหนึ่งบนชั้นโฟโตสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณโดยรอบ และมีสนามแม่เหล็กที่มีปั่นป่วนสูงมาก ซึ่งได้ทำให้เกิดการขัดขวางกระบวนการพาความร้อนบนพื้นผิวดวงอาทิตย์ เกิดเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มของแสงต่ำกว่าบริเวณโดยรอบ อย่างไรก็ตาม มันยังคงมีอุณหภูมิสูงถึง 3700-4000 เคลวิน เทียบกับบริเวณปกติโดยรอบที่มีอุณหภูมิประมาณ 5800 เคลวิน ถ้าเรานำจุดมืดออกมาจากดวงอาทิตย์มันจะสามารถเปล่งแสงสว่างได้มากกว่าแสงจากการเชื่อมเหล็ก เสียอีก จุดมืดยังเป็นสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์อีกมาก เช่น บ่วงโคโรนา (Coronal loop) และ การเชื่อมกันของสนามแม่เหล็ก (Magnetic reconnection) นอกจากนี้การระเบิดใหญ่บนดวงอาทิตย์ (Solar flare) และ การพ่นมวลโคโรนา (Coronal Mass Ejection) ก็ยังเกิดขึ้นในบริเวณสนามแม่เหล็กรอบๆ จุดมืดอีกด้วย

การแปรผันของจุดมืด[แก้]

จำนวนของจุดมืดมีการเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างเป็นคาบ มีช่วงเวลาหนึ่งรอบประมาณสิบเอ็ดปี นอกจากนี้ยังมีรอบใหญ่ที่มีระยะเวลากว่าอีกด้วย โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 ถึงทศวรรษที่ 2503 จะมีจำนวนจุดมืดโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่ตั้งแต่ทศวรรษที่ 2503 เป็นต้นมาจุดมืดกลับมีแนวโน้มลดลง

จำนวนของจุดมืดยังมีความสัมพันธ์กับการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ (Solar radiation) อีกด้วย ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ได้มีการส่งดาวเทียมวัดการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ออกสู่อวกาศ และทำให้เราทราบว่า เมื่อจุดมืดมีจำนวนมากจะทำให้การแผ่รังสีของดวงอาทิตย์มีปริมาณลดลง อย่างไรก็ตาม บริเวณโดยรอบจุดมืดกลับมีความสว่างเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายความว่า ในภาพรวมการที่ดวงอาทิตย์มีจุดมืดมากขึ้นจะทำให้ดวงอาทิตย์สว่างมากขึ้น แต่ความสว่างที่เพิ่มขึ้นนี้ก็น้อยมาก แค่ประมาณ 0.1% ของความสว่างตามปกติเท่านั้น

ในระหว่าง ช่วงต่ำสุดมอนเดอร์ ในศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงที่แทบจะไม่พบจุดมืดเลย ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงปีที่เรียกกันว่า "ยุคน้ำแข็งเล็กๆ" (Little Ice Age) ซึ่งอุณหภูมิทั่วโลกลดต่ำกว่าปกติ

การสังเกตจุดมืด[แก้]

การมองตรงไปที่ดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก และการใช้กล้องสองตา กล้องส่องทางไกล หรือกล้องโทรทรรศน์ส่องดูก็ยิ่งเป็นการเพิ่มความร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น นั่นคือเรตินาของดวงตาจะถูกทำลายลงอย่างถาวร การใช้แผ่นกระจกรมควันหรือฟิล์มกรองแสงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะถึงแม้ว่าจะสามารถลดทอนแสงจากดวงอาทิตย์ลงจนสามารถเห็นจุดมืดได้ก็จริง แต่วิธีนี้จะไม่ได้ลดทอนรังสีอัลตราไวโอเล็ต ซึ่งการรับรังสีนี้เข้าสู่ดวงตาโดยตรงจะมีผลทำให้เป็นต้อกระจกได้ วิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการสังเกตจุดมืดก็คือการฉายภาพของดวงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ลงบนฉากรับภาพสีขาว ซึ่งต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น