จีเอ็มเอ็ม มิวสิค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จีเอ็มเอ็มมิวสิก)
บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน)
ชื่อเดิมบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด
7 เมษายน พ.ศ. 2566 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2567
ประเภทบริษัทมหาชนจำกัด
อุตสาหกรรมดนตรี
ก่อตั้ง
  • บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด :
    7 เมษายน พ.ศ. 2566 (1 ปี 9 วัน)
  • บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) :
    11 มีนาคม พ.ศ. 2567 (0 ปี 36 วัน)
สำนักงานใหญ่50 อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพลส ถนนอโศกมนตรี แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา, ,
บุคลากรหลัก
ผลิตภัณฑ์
บริษัทแม่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
บริษัทในเครือ
  • จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล
  • จีสองร้อยเอ็ม
  • จีอาร์ โวคอล สตูดิโอ
  • วายจีเอ็มเอ็ม
เว็บไซต์gmmmusic.com

บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: GMM Music Public Company Limited) เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ประกอบธุรกิจเพลงและดนตรีอย่างครบวงจร ตั้งแต่การคัดเลือกศิลปิน การผลิตเพลง การทําการตลาดเพื่อส่งเสริมผลงานเพลง การบริหารและจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลง การจําหน่ายเพลงทั้งรูปแบบดิจิทัลและทางกายภาพ รวมถึงการจัดคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี และบริหารจัดการศิลปิน มีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่ใช่บริษัทจดทะเบียนในปัจจุบัน และเป็นบริษัทเรือธงสำหรับการประกอบธุรกิจเพลงของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีภาวิต จิตรกร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ก่อตั้ง บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด ขึ้นเป็นบริษัทย่อยเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2566 ต่อมาจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้รับโอนธุรกิจเพลงทั้งหมดจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มาประกอบเองตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน จากนั้นได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในนาม บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2567

ประวัติ[แก้]

ก่อนปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง[แก้]

โลโก้ของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2566 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้อนุมัติการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงครั้งใหญ่ของบริษัท โดยดำเนินการแยกธุรกิจ (Spin-off) ประกอบด้วยการโอนถ่ายทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบุคลากร สิทธิ หน้าที่ ความรับผิดต่าง ๆ และสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องในอุตสาหกรรมเพลง ออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทย่อยใหม่ เพื่อสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดําเนินธุรกิจ โดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะถือหุ้นในบริษัทย่อยใหม่จำนวน 100%[1]

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้แจ้งว่าได้ดำเนินการการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงขั้นแรก โดยจัดตั้งบริษัทย่อยในชื่อ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (อังกฤษ: GMM Music Co., Ltd.) โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน ด้วยทุนจดทะเบียน 4,000,000 บาท ซึ่งจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นในสัดส่วน 100% โดยมีไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เป็นประธานกรรมการ, ภาวิต จิตรกร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม เป็นรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร[2]

และเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้มีมติกำหนดให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เป็นบริษัทเรือธง (Flagship Company) ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สำหรับการประกอบธุรกิจเพลงแบบครบวงจร และอนุมัติแผนการนำจีเอ็มเอ็ม มิวสิค เข้าสู่กระบวนการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกในสัดส่วนไม่เกิน 30% และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค สามารถขยายธุรกิจและส่งเสริมอุตสาหกรรมดนตรีให้เป็นเศรษฐกิจดนตรีใหม่ (New Music Economy)[3] โดยมีเงื่อนไขในการเข้าจดทะเบียนรวม 7 ข้อ[4] และภายหลังการเสนอขายหุ้นแล้ว จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ยังคงเป็นบริษัทย่อยของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ตามเดิม[5]

ปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง[แก้]

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้แจ้งว่า ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงขั้นที่ 2 เรียบร้อยแล้ว โดยเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม คณะกรรมการบริหารกลุ่มได้อนุมัติข้อตกลงและเงื่อนไขในสัญญาโอนกิจการเพลง รวมถึงสัญญาและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และจีเอ็มเอ็ม มิวสิค และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้อนุมัติให้รับโอนกิจการเพลง และเข้าทําสัญญาโอนกิจการเพลงจากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ รวมถึงอนุมัติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค จากเดิม 4,000,0000 บาท เป็น 800,000,000 บาท โดยได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม จากนั้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้ดำเนินการโอนกิจการเพลง ซึ่งประกอบด้วยทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระผูกพันต่าง ๆ และบุคลากรในกิจการเพลง รวมถึงหุ้นสามัญจดทะเบียนเฉพาะส่วนที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือหุ้นอยู่ในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจเพลง ได้แก่ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (สัดส่วน 100%), บริษัท จีสองร้อยเอ็ม จำกัด (สัดส่วน 100%), บริษัท จีอาร์ โวคอล สตูดิโอ จำกัด (สัดส่วน 65%) และบริษัท วายจีเอ็มเอ็ม จำกัด (สัดส่วน 51%) ให้แก่จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ตามเงื่อนไขเข้าจดทะเบียนข้อที่ 1) จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงได้ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตนจากบริษัทที่ประกอบธุรกิจทั่วไป เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นบริษัทอื่นแทน และเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน คณะกรรมการของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้กำหนดให้จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน แต่หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกของจีเอ็มเอ็ม มิวสิคแล้ว จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะกำหนดให้บริษัท จีเอ็มเอ็ม โอ ช้อปปิ้ง จำกัด เป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนแทน[6]

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้เปลี่ยนโลโก้ เพื่อเตรียมความพร้อมขั้นสุดท้ายก่อนดำเนินการแยกธุรกิจ โดยมีจุดเด่นคือการใช้ลายเส้นและวางตำแหน่งตัวอักษร "US" ในคำว่า music ให้มีความโดดเด่น แตกต่าง โดยเฉพาะการเติมลายเส้นเชื่อมต่อ เพื่อให้สอดคล้องกับจุดมุ่งเน้นของบริษัทในอนาคตมากขึ้น[7] ต่อมาที่ประชุมผู้ถือหุ้นของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้อนุมัติการแปรสภาพบริษัทเป็นบริษัทมหาชนจำกัด (ตามเงื่อนไขเข้าจดทะเบียนข้อที่ 2) จึงได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในชื่อ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) (อังกฤษ: GMM Music Public Co., Ltd.) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2567[8] (ตามเงื่อนไขเข้าจดทะเบียนข้อที่ 3)

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่[แก้]

  • ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ภายหลังการเพิ่มทุนจดทะเบียนของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค[6]
ลำดับที่ รายชื่อผู้ถือหุ้น จำนวนหุ้นสามัญ สัดส่วนการถือหุ้น
1 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) 79,999,998 100.00%
2 นาย ภาวิต จิตรกร 1 0.00%
3 นาย ฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม 1 0.00%
รวม 80,000,000 100.00%

บริษัทและธุรกิจในเครือ[แก้]

บริษัทในเครือ[แก้]

ปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มีบริษัทในเครือจำนวน 4 บริษัท ดังนี้

  • บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค พับลิชชิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
  • บริษัท จีสองร้อยเอ็ม จำกัด
  • บริษัท จีอาร์ โวคอล สตูดิโอ จำกัด (จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ถือหุ้น 65%)
  • บริษัท วายจีเอ็มเอ็ม จำกัด (จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ถือหุ้น 51%)

การประกอบธุรกิจ[แก้]

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มีรายได้จาก 5 แหล่งธุรกิจหลัก ดังนี้[3]

  • ธุรกิจเพลงดิจิทัล (Music Digital Business)
  • ธุรกิจจัดการศิลปินดนตรี (Music Artist Management Business)
  • ธุรกิจโชว์บิซ (Showbiz Business)
  • ธุรกิจการจัดการสิทธิ (Right Management Business)
  • ธุรกิจเชิงกายภาพ (Physical Business)

ศิลปินในสังกัด[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ชลยา พร้อมศรี (2023-02-27). "การปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง" (PDF). จดหมายถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-08-02.{{cite press release}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. "GRAMMY ปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง แยกตั้งบริษัทใหม่ "จีเอ็มเอ็ม มิวสิค"". ประชาชาติธุรกิจ. 2023-07-04. สืบค้นเมื่อ 2023-08-02.
  3. 3.0 3.1 "'แกรมมี่' เตรียม Spin-Off 'จีเอ็มเอ็ม มิวสิค' เข้าตลาด สร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมเพลง". TODAY Bizbiew. สำนักข่าวทูเดย์. 2023-08-01. สืบค้นเมื่อ 2023-08-02.
  4. ชลยา พร้อมศรี (2023-07-31). "แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับแผนการเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering)และการนําหุ้นสามัญของบริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด เข้าจดทะเบียนเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย" (PDF). จดหมายถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-08-02.{{cite press release}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. "GRAMMYส่ง "จีเอ็มเอ็ม มิวสิค" ขาย IPO 30 % เข้า SET". ผู้จัดการออนไลน์. 2023-07-31. สืบค้นเมื่อ 2023-08-01.
  6. 6.0 6.1 "สิ่งทีส่งมาด้วย : สารสนเทศเกี่ยวกับการปรับรูปแบบการประกอบธุรกิจจากบริษัทที่มีการประกอบธุรกิจทั่วไป (Operating Company) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) การกำหนดธุรกิจหลัก และการกำหนดบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักที่ไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน" (PDF). ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย: 3–13. 15 พฤศจิกายน 2023. สืบค้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2023.
  7. "GMM Music อวดโลโก้ใหม่ รับแผน Spin-Off ย้ำแนวคิด "ดนตรีของเราทุกคน"". ฟอบส์ ประเทศไทย. 15 กุมภาพันธ์ 2024. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2024.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. "ข้อมูล บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน)". matchlink.asia. สืบค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2024.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]