จิตวิญญาณธรรมศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อนุสาวรีย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริเวณหน้าตึกโดม สัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณธรรมศาสตร์

คำว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ เป็นคำที่นิยมใช้ติดปากในการกล่าวถึงเหตุการณ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คำว่า “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” นั้นกำเนิดเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่การหยิบยกคำนี้มาใช้ และการถกเถียงถึงนิยามความหมายของคำ ๆ นี้นั้น เข้มข้นเป็นอย่างมากในช่วงปี พ.ศ. 2544 เมื่อฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยประกาศเดินหน้าแผนการย้ายการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีทั้งหมด (ยกเว้นโครงการพิเศษบางโครงการ) ไปที่ศูนย์รังสิต ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ จากทั้งประชาคมธรรมศาสตร์ และบุคคลผู้สนใจทั่วไป โดยประชาคมธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการย้าย ซึ่งนำโดย ​นายชาญวิทย์​ ​เกษตรศิริ​ ​อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ และอดีต​ผู้​บริหารมหาวิทยาลัย ได้ยกคำนี้มาเป็นคำขวัญในการต่อสู้ และอ้างว่าการย้ายปริญญาตรีออกไปจากท่าพระจันทร์นั้น จะทำให้จิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้นสูญหายไป เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าสิ่งนี้ผูกพันเป็นอย่างมากกับท่าพระจันทร์[1][2] การนำจิตวิญญาณธรรมศาสตร์มาเป็นข้ออ้างนี้ ก่อให้เกิดการโต้เถียงเรื่องนิยามความหมายและการดำรงอยู่ของ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ในวงกว้าง ทั้งจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยโดยตรง และบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย โดยบางกลุ่มก็เห็นว่าจิตวิญญาณนี้อาจจะไม่ได้ดำรงอยู่อีกต่อไปแล้วก็ได้ หากจะมองมันในนิยามเดิม ๆ[2] ส่วนบางกลุ่มก็เห็นว่ายังมีอยู่ แต่อาจจะไม่ได้ยึดโยงอยู่เฉพาะกับธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์แต่เพียงอย่างเดียว[3]

ในความเข้าใจกว้าง ๆ ทั่วไปแล้ว สิ่งที่เรียกกันว่า “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” นั้นหมายถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคม[4] ดังจะเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยเกี่ยวพันกับการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะพัฒนาการของประชาธิปไตยของประเทศไทยมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อตั้ง โดยมหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลคณะราษฎรที่ได้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้การศึกษาวิชาการเมืองการปกครองแก่ประชาชนทั่วไป ดังที่ประกาศในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ว่า “โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า เมื่อได้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นการสมควรที่จะรีบจัดบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้ได้ระดับมหาวิทยาลัยในอารยประเทศ และให้แพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเร็ว จึ่งเป็นการสมควรที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเป็นพิเศษ”[5]

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตในบทความ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” จงไปสู่สุขคติ[2] ว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น ได้พัฒนาและเฟื่องฟูขึ้นในเงื่อนไขเผด็จการทหาร ที่กดขี่ข่มเหงและทุจริต ลิดรอน สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน โดยเป็นแสงสว่างทางปัญญาของสังคมไทยในช่วงที่ภาคประชาสังคมและชนชั้นกลางไทยยังอ่อนแอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพร้อมกับการอ่อนกำลังลงของระบอบเผด็จการทหาร (พิชิตเขียนบทความดังกล่าวใน พ.ศ. 2544 ห้าปีก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549) และประชาสังคมไทยได้พัฒนาเข้มแข็งขึ้น ความจำเป็นของ “กองหน้าปัญญาชน” เช่นในอดีตจึงหายไป จิตวิญญาณธรรมศาสตรจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อีกต่อไป โดยพิชิตเสนอว่า หากจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ หมายถึงจิตใจที่ต่อต้านเผด็จการ ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคมแล้ว จิตวิญญาณที่ว่านี้ ก็ได้ยกระดับไปสู่ประชาสังคมวงกว้างที่เริ่มตื่นตัวและรู้จักต่อสู้ด้วยตนเองแล้ว ดังจะเห็นได้ชัดจากการต่อสู้ครั้งพฤษภาทมิฬ ที่ไม่ได้มี “ขบวนการนิสิตนักศึกษา” หรืออาจารย์ธรรมศาสตร์เข้ามามีบทบาทโดยตรง แต่เป็นประชาสังคมไทยที่ลุกขึ้นต่อสู้ช่วงชิงประชาธิปไตยกลับคืนมากันเอง นับเป็นพัฒนาการสำคัญอีกก้าวหนึ่งของประชาสังคมไทย[2]

ในปาฐกถางาน “เดินประชาธิปไตย” เนื่องในวาระ 69 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อ พ.ศ. 2544 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเสนอว่าในการพิจารณาจิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น ไม่ควรจะติดอยู่เพียงเรื่องของจิตวัญญาณที่ศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะทบทวนในด้านอุดมการณ์ของการอุดมศึกษาให้ดี และเสนอต่อไปว่าหลักการสำคัญของอุดมการณ์การอุดมศึกษานั้นอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณของธรรมศาสตร์” และแม้จะชื่อว่าธรรมศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น โดยอ้างถึงคำกล่าวของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ในโอกาสการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ที่ว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา” กล่าวคือจิตวิญญาณธรรมศาสตร์คือการให้ความสำคัญกับหลักสิทธิเสรีภาพ และมองการแสวงหาความรู้ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนควรมี ไม่ใช่คิดว่าการศึกษาเป็นแต่เพียงการสร้างคนสร้างความรู้ไปตอบสนองธุรกิจและรัฐเท่านั้น ในตอนท้ายของปาฐกถา นิธิได้เสนอว่า ถ้าธรรมศาสตร์เคยเป็นหัวหอกของการต่อสู้อำนาจเผด็จการทหาร วันนี้ธรรมศาสตร์ต้องต่อสู้กับเผด็จการทุนและธุรกิจ เพราะจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์คือการต่อสู้กับเผด็จการ[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ปรีดีกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สถาบันปรีดี พนมยงค์
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์, “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” จงไปสู่สุขคติ
  3. 3.0 3.1 นิธิ เอียวศรีวงศ์, ด้วยจิตวิญญาณธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, พ.ศ. 2544. ปรับปรุงจากบทความ ฟื้นอุดมศึกษาไทย ด้วยจิตวิญญาณธรรมศาสตร์, ปาฐกถางาน “เดินประชาธิปไตย” เนื่องในวาระ 69 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475, 24 มิถุนายน 2544 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
  4. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, คำกล่าวต้อนรับ “เพื่อนใหม่” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2549 เก็บถาวร 2007-12-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  5. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476, ราชกิจจานุเบกษา