จาโกโป ซานโซวีโน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก จาโคโป ซานโซวิโน)
จาโกโป ซานโซวีโน

จาโกโป ซานโซวีโน (อังกฤษ: Jacopo Sansovino) มีชื่อเต็มว่า จาโกโป ดันโตนีโอ ซานโซวีโน (Jacopo d’Antonio Sansovino) (2 กรกฎาคม ค.ศ. 1486 – 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1570) เป็นสถาปนิกและประติมากรชาวอิตาลี เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ชื่อที่ได้รับตอนเกิดคือ จาโกโป ตัตตี (Jacopo Tatti) ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากอันเดรอา ซานโซวีโน (Andrea Sansovino) หลังจากนั้นได้เปลี่ยนนามสกุลตามอาจารย์

เมื่อครั้งอยู่ในโรม ได้มีผลงานประติมากรรมที่ทำให้ศิลปินและสถาปนิกระดับปรมาจารย์ เช่น บรามันเต (Bramante) และ ราฟาเอล (Raphael) ซานโซวีโน ย้ายกลับมาพำนักที่ฟลอเรนซ์ในปี 1511 และได้รับการว่าจ้างให้ปั้นรูปจำลองของเซนต์เจมส์ ให้โบสถ์ประจำเมืองฟลอเรนซ์ (Basilica di Santa Maria del Fiore) รูปปั้นที่เขาวางแผนที่จะปั้นให้กับโบสถ์แห่งเมืองซานลอเรนโซ ได้รับการปฏิเสธโดยมีเกลันเจโล บัวนาร์โรตี (Michelangelo) ซึ่งเป็นสถาปนิกใหญ่ขณะนั้น หลังจากที่แบบร่างได้ถูกเสนอ โดยซานโซวีโนได้เขียนจดหมายประท้วงอย่างรุนแรงในปี 1518

ในช่วงนี้ซานโซวีโนได้พำนักกับเพื่อนศิลปินซึ่งเป็นจิตรกรเลื่องชื่อ นาม อันเดรอา เดล ซาร์โต และต่อมาเขาได้เดินทางกลับไปโรม โดยพำนักอยู่เป็นเวลาเก้าปี และหนีออกจากโรมไปพำนักที่เวนิสเนื่องจากภาวะสงคราม ในเหตุการณ์เข้าตีกรุงโรม โดยจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทางตอนเหนือ นำโดยสมเด็จพระจักรพรรดิชาร์ลส์ที่ 5 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ในปี 1529 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสถาปนิกสูงสุด (Protomagister) ขึ้นตรงต่อผู้ว่าของเขตซานมาร์โกของเวนิส ทำให้เขากลายมาเป็นศิลปินที่มีอิทธิพลที่สุดในเมือง งานสถาปัตยกรรมชั้นเอกของเขาเป็นงานที่ยังได้รับการเยี่ยมชมโดยนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองเวนิสมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งได้แก่ อาคารทุกหลังที่อยู่ ณ จัตุรัสมาร์โค (Piazza San Marco) โดยเฉพาะอาคารที่เรียกว่า เซกกา (Zecca) หอคอยแห่งจัตุรัส นอกจากนี้เขายังได้ทำการปั้นประติมากรรมหลายชิ้นให้กับมหาวิหารซานมาร์โค

งานที่สำคัญมากชิ้นหนึ่งคือห้องสมุดแห่งมาร์โค (Biblioteca Marciana) เป็นอาคารที่ได้รับการตกแต่งอย่างวิจิตรมากที่สุดอาคารหนึ่งในเวนิส เป็นความสำเร็จของการผสมผสานหลักการพื้นฐานที่เรียบง่ายของสถาปัตยกรรมคลาสสิก เข้ากับการตกแต่งประดับประดาอย่างวิจิตรในแบบของเมืองเวนิสได้อย่างลงตัว ซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อหลักการออกแบบสถาปัตยกรรมของอานเดรอา ปัลลาดีโอ